<<<(ชมคลิป) >>>
ตอนเช้าเสียงเจื้อยแจ้วของนักเรียนท่องสูตรคูณดังขึ้น ในขณะที่ช่วงบ่ายจะถูกแทนที่ด้วยเสียงกระทบจากกี่ทอผ้า นี่เป็นวิถีการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาแคววัวดำ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย มีจำนวนนักเรียนเพียง 39 คนและครูอีก 3 คน นวัตกรรมการเรียนการสอนแบบคละชั้น ที่ออกแบบโดย สพฐ.จึงถูกนำใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และมีจำนวนเด็กน้อยของโรงเรียนแห่งนี้อย่างจริงจัง
การเรียนแบบคละชั้นของที่นี่ก็คือ ป.1 เรียนรวมกับ ป.2, ป.3 เรียนรวมกับ ป.4 และป.5 เรียนรวมกับป.6 ในชั้นเรียนจะมีการตั้งข้อตกลงในการทำงานกลุ่ม ทำงานเดี่ยว และการใช้สัญญาณเพื่อสื่อสารในการลงลึกเนื้อหาของแต่ละระดับชั้นที่ต่างกัน อาจให้งานเด็กเล็กให้ทำการบ้าน แล้วก็ผลัดมาสอนเด็กโต ดังนั้นจะมีตารางกิจกรรมที่บูรณาการทุกชั้นเรียน แบ่งเป็นเรียนภาคเช้าเน้นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนภาคบ่ายจะเน้นให้เป็นห้องเรียนชุมชนฝึกทักษะอาชีพ โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามาช่วยสอน
“ผมยอมรับว่าการสอนแบบคละชั้นทำให้การเดินเนื้อหาในแต่ละวิชาเป็นไปอย่างเชื่อมช้า เพราะไม่สามารถทำการสอนแบบม้วนเดียวจบเฉพาะเด็กชั้นเดียวได้ ต้องสอนรอ และผลัดกันระหว่างชั้นหนึ่งกับอีกชั้นหนึ่ง และถ้าจะให้เรียนผ่าน ครูตู้ (การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) เด็กๆที่นี่ก็เรียนตามไม่ทันที่ครูตู้สอน นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็กที่นี่ก็เป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะว่าเด็กๆเหล่านี้พูดไทยแค่เฉพาะตอนมาเรียนหนังสือ ในขณะที่สิ่งแวดล้อมที่บ้านของเขาพูดภาษากระเหรี่ยง เราจึงจัดกิจกรรมรักการอ่าน เพื่อแก้ไขการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ในทุกๆเช้า หลังกิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมโฮมรูมเป็นเวลา 50 นาที ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้” เลอพงศ์ กล่าว
ชุมชนบริเวณโรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาแคววัวดำ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าคือกระเหรี่ยง ลาหู่ และอาข่า ทุกๆเช้าเด็กในระแวกนี้จะเดินข้ามสะพานแขวนที่คนญี่ปุ่นสร้างไว้มาโรงเรียน นักเรียนที่นี่มีฐานะยากจนไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่อื่นได้ ผู้ปกครองทำอาชีพเกษรกรรมทำไร่ทำสวน ส่วนใหญ่ทิ้งลูกบุตรหลานให้ผู้สูงอายุดูแล เนื่องจากครอบครัวแตกแยก บิดามารดาเสียชีวิต หรือต้องโทษคดีค้ายาเสพติดบริเวณชายแดน
“ถ้าไม่มีโรงเรียนแห่งนี้เด็กๆที่นี่ก็เสี่ยงที่จะเข้าไปพัวพันกับขบวนการยาเสพติดบริเวณชายแดน อย่างที่พ่อแม่ของเด็กหลายคนเคยประสบมา” เลอพงศ์กล่าวด้วยความกังวลใจ
นาก่อ วากู หญิงชราชาวลาหู่ไม่ทราบอายุตนเอง และไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ พูดได้แต่ภาษากระเหรี่ยง เธอเลี้ยงหลานสาวตามลำพัง โดยที่พ่อแม่ของเด็ก รับจ้างทำไร่ - รับจ้างทั่วไปเพราะไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เธอบอกว่า อยากให้หลานได้เรียนหนังสือ จะได้พูดภาษาไทยได้ และไม่ต้องโง่แบบเธอที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำมาค้าขาย หรือสื่อสารกับคนอื่นได้ ส่วนตัวไม่อยากให้มีการยุบโรงเรียนนี้ เพราะหลานเรียนได้ที่นี่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าเทอม ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน เพราะมีให้กินฟรี และนอกจากนี้หลานก็ยังเล็กอยู่ยังไม่อยากส่งไปเรียนโรงเรียนไกลบ้าน เพราะการเดินทางที่ยากลำบาก
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินทางไปกลับ มายังโรงเรียนที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา ริมแม่น้ำกกแห่งนี้ ถ้าเริ่มนับระยะทางจาก สพป.เชียงรายเขต 1 ถึงโรงเรียนก็มีระยะไกลกว่า 35 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นทางขึ้นเขา สลับกับถนนลาดยาง และลูงรัง ใช้เวลาเดินโดยรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที และถ้ารวมเวลาไปกลับก็ร่วม 3 ชั่วโมง
โรงเรียนที่ใกล้ที่สุดกับโรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาแคววัวดำ ก็คือโรงเรียนผาขวางวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ของโรงเรียนสาขาที่ว่านี้ ระยะทางอยู่ห่างออกไป 12 กิโลเมตร ถนนหนทางเป็นสภาพลาดยางสลับกับทางลูกรังเช่นเดียวกัน มันจึงสะดวกกว่าที่ชาวบ้านจะเลือกให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน และถ้ายุบโรงเรียนใกล้ ก็เป็นไปได้ว่าชาวบ้านจะไม่ส่งลูกหลานไปโรงเรียนไกลๆอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกันกับโรงเรียนบ้านป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ การเดินทางเข้ามายังโรงเรียนแห่งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากไม่ต่างจากโรงเรียนที่ว่ามาแล้ว เพราะตั้งอยู่บนภูเขาหลังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ต้องนั่งรถจากตัวอำเภอดอยสะเก็ดออกมาด้วยระยะทาง 8 กิโลเมตร จนถึงสันเขือนแล้วนั่งเรือต่อไปอีกฟากหนึ่งของเขื่อน ใช้เวลา 25 นาที จากนั้นนั่งรถกะบะต่อเข้ามาที่โรงเรียนแห่งนี้อีก 3 กิโลเมตร รวมระยะเวลาการเดินทางกว่า 1 ชั่วโมง
ที่นี่เปิดการเรียนการสอนในระดับป.1 – ป.6 มีจำนวนนักเรียนเพียง 9 คน ครู 2 คนและผู้อำนวยการ 1 คน ถ้าโรงเรียนบ้านป่าสักงาม ถูกยุบรวมกับโรงเรียนที่ไกลที่สุดในระแวกนี้ ก็เห็นจะเป็นคือโรงเรียนชลประทานผาแตก ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษามีจำนวนนักเรียน 455 คนและครูอีก 21 คน ถ้าเป็นเช่นนี้เด็กๆจากโรงเรียนบ้านป่าสักงาม ก็จะต้องนั่งเรือข้ามเขื่อมแล้วต่อรถไปโรงเรียนดังกล่าวอีก 5 กิโลเมตร
สุริยน สุริโยดร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าสักงาม บอกว่าที่นี่มีการเรียนการสอนแบบคละชั้น คือจัดให้ป.1 ป.2 ป.3 เรียนรวมกันและ ป.4 ป.5 ป.6 เรียนร่วมกัน จึงทำให้เรียนนี้มีเพียง 2 ห้องเรียน กับครู 2 คน
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจัดการเรียนการสอน แต่อยู่ที่ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆอย่างไฟฟ้าที่ไม่ค่อยเสถียร ติดๆดับๆ ทำให้การเรียนการสอนที่ต้องใช้เทคโนโลยีไม่สามารถทำได้ และสำหรับเรื่องจำนวนครูผู้สอนจริงอยู่ที่จำนวนครู 2 คนกับนักเรียนอีก 9 คนเป็นจำนวนที่สมดุลในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงการจัดการเรียนการสอนในแต่ละวิชา ถือว่ายังไม่เพียงพอ” สุริยน บอก
อย่างไรก็ตามทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุน เพราะมีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วเช่นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ของศูนย์การศึกษาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมากจากพระราชดำริ และการเข้ามาเป็นครูอาสาของชาวบ้านสอนการปลูกผัก และเลี้ยงไก่ไข่เป็นต้น เท่านั้นยังไม่พอชาวบ้านเองนี่แหละที่มาช่วยลงแรงสร้างเล้าไก่ให้กับโรงเรียน อย่างน้อยในช่วงที่ไข่ไก่มีราคาแพง ไข่ไก่โรงเรียนก็พอช่วยลดรายจ่ายได้บ้าง ส่วนโครงการอาหารกลางวันก็มีมูลนิธิต่างๆเข้ามาให้การสนับสนุน
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าสักงาม อธิบายถึงสาเหตุที่เด็กที่นี่ลดลงเหลือเพียง 9 คน ก็เพราะว่าผู้ปกครองย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองแล้วเอาลูกไปด้วย เนื่องจากในชุมชนไม่มีงานให้ทำ ไม่สามารถหารายได้ได้ ชาวบ้านที่เหลือคือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ที่มีรายได้ที่ไม่แน่นอน แต่กระนั้นในปีการศึกษาหน้าศูนย์เด็กเล็กของอบต.จะส่งเด็กมาเรียนที่นี่อีก 4 คนในขณะที่เด็กป.6 จะเรียนจบและไปเรียนต่อที่โรงเรียนชลประทานผาแตก อีก 4 คน ก็ยังคงเหลือจำนวนเด็กอยู่ 9 คนเท่าเดิม
ศรีเรือน ไทยย้อย ชาวชุมชนบ้านป่าสักงาม ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป อายุ 35 ปี ให้ความเห็นว่าการสร้างสะพานข้ามเขื่อนแม่กวงอุดมธาราในระยะทาง 4 กิโลเมตรจะทำให้อะไรอะไรในชุมชนดีขึ้น ทั้งการเดินทางไปเรียนหนังสือของเด็กที่จบป.6 แล้วต้องไปเรียนต่อมัธยมในตัวเภอ และการเดินทางไปประกอบอาชีพของชาวบ้าน
ชาวชุมชนบ้านป่าสักงาม เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นชุมชนบ้านป่าสักงามเป็นชุมชนขนาดใหญ่ติดต่อกับชุมชนอื่นๆ แต่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทันที เมื่อมีการสร้างเขื่อนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านที่นี่ไม่ยอมให้ถูกเวนคืนที่ดิน จึงต้องจำยอมกับการถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเช่นนี้ แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามขอร้องไปยังอำเภอและจังหวัดให้มีการสร้างสะพานข้ามเขื่อน แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ
สำหรับผลการทดสอบทางการศึกษา ของนักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนบ้านป่าสักงามเมื่อปี 2555 ที่มาผ่านมามีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 45.8 ซึ่งเมือเทียบกับโรงเรียนอื่นๆก็ถือว่าไม่น้อยหน้า แต่มีข้อสังเกตุว่าอาจเพราะมีเด็กที่ทำการทดสอบ และวัดค่าเพียงคนเดียวจึงทำให้ค่าไม่กระจาย และมีค่าเฉลี่ยที่ค้อนข้างสูง
พงษ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าการติดตามคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กจะดูที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทุกๆปีจะมีการสอบ O-net ดังนั้นเราสามารถทราบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละที่ได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนนั้น
“อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการ จะให้การสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ถูกยุบต่อไปเพื่อให้มีคุณภาพ อย่างแรกคือการส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากสถานีโทรทัศน์โรงเรียนไกลกังวล และสถานีโทรทัศน์ OBEC TV (ทีวีสพฐ.) ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาชีพ เช่นการทอผ้า จักรสานเพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ อีกทั้งส่งครูสัญจรมาช่วยสอนเสริมในวิชาที่ครูประจำโรงเรียนไม่ถนัด” พงษ์เทพ กล่าว
ทว่าครูสัญจรก็คือครูที่ประจำในโรงเรียนต่างๆ มีภาระงานสอนเหมือนกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอธิบายว่าการบริหารจัดการที่ดี จะทำให้หลายโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนร่วมกันได้ เดิมใช้อาจใช้ครู 12 คนพอบริหารจัดการร่วมกันใช้อาจใช้ครูแค่ 5 คน ที่เหลือก็ไปช่วยสอนให้โรงเรียนขนาดเล็กได้
“เวลามองเรื่องคน เราต้องมองในภาพรวมของประเทศก่อน สมมติว่าเรามีครูอยู่ 500,000 คน ไม่ใช่ว่าเราจะขอเพิ่มเป็น 600,000 - 700,000 คนได้ เมื่อถูกจำกัดเพียง 500,000 คน ครู 500,000 คนก็ต้องสอนเด็กสมมติว่า 7,000,000 คน ความจริงวันนี้เฉลี่ยครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าครูถูกดึดไป ไปอยู่ในโรงเรียนที่ครู 5 คน นักเรียน 7 คนครูก็จะขาดแคลนในโรงเรียนอื่น” พงษ์เทพ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องส่งเสริมพัฒนาครู รวมทั้งพัฒนาแผนจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ, ส่งเสริมสื่อการเรียนการสอน เช่นแท็บเล็ตนี้ช่วยได้มาก ยุคนี้เด็กไม่ต้องเข้าห้องแล็บภาษาเหมือนแต่ก่อน เพียงแค่มีเทียบแท็บเล็ตก็สามารถเรียนรู้ภาษา สำเนียงอังกฤษได้, ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรม เข้ามาเติมเต็ม
ส่วนเรื่องงบประมาณรายหัวนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กจะถูกเพิ่มขึ้นเป็น 500 บาท แต่เมื่อนำเงินรายหัวของนักเรียนมาคูณกับจำนวนเด็กไม่กี่คน จำนวนเงินก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ในส่วนของภาครัฐเราก็ให้ได้ในส่วนที่ได้รับจัดสรรมาให้ แต่โดยปกติการจัดการศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐอย่างเดียว เป็นเรื่องของชุมชน การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนร่วมด้วย ที่ต้องช่วยกัน
“การควบรวมโรงเรียนเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2536 เป็นเวลา 20 ปีแล้วและมีการดำเนินการมาโดยตลอด เพราะมันเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้การศึกษาดีขึ้น สมัยคุณชินวร (พรรคปชป.) ก็มีการควบรวมโรงเรียน อย่างไรก็ตามสำหรับกระแสคัดค้านการยุบโรงเรียนที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ เป็นการหยิบประเด็นของคนบางกลุ่มแล้วนำมาตีความไปต่างๆนาๆ ซึ่งตนขอยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีการตั้งเป้าจะยุบโรงเรียน เป้าหมายของเราคือจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างไร” พงษ์เทพ ระบุ
เจ้ากระทรวงศึกษาย้ำประเด็นที่ว่ายุบโรงเรียนแล้วจะไม่มีการเรียนการสอนนั้นไม่เป็นความจริง มีโรงเรียนหลายแห่งที่ได้รับการควบรวม หลังจากนั้นปรากฎว่าผลการเรียนการสอนดีขึ้น ครูเองก็พอใจ นักเรียนพอใจ ผู้ปกครองพอใจ เพราะผมเชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนไม่ได้สักแต่ว่าได้ไปส่งลูกไปเรียนเพียงอย่างเดียว แต่อยากได้ไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพด้วย
เหตุผลหลักของการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็เพราะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพการศึกษาได้ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ต้องยุบรวมไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งไกลๆกัน ซึ่งมีนักเรียนมากกว่า เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างครูกับนักเรียนให้สามารถทำการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น สำหรับชุมชนที่อยู่กลางป่า กลางเขา การยุบโรงเรียนในชุมชนนั้น อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก แต่การคิดนวัตกรรมการเรียนการสอนให้เข้ากับโรงเรียนขนาดเล็ก และมีการติดตาม ส่งเสริมอย่างไกล้ชิด ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้ชุมชนรอบโรงเรียนมีความคึกคักขึ้นมา พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นอีกด้วย
//////////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation
ข่าวที่เขียนลง THE NATION ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2556 |
สือมวลชนที่ร่วมลงพื้นที่ไปทำข่าวนี้ด้วยกัน |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น