วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ท่าเรือริมฝั่งบางปะกง กระทบวิถีชุมชน - สิ่งแวดล้อม

ท่าเรือริมฝั่งบางปะกง กระทบวิถีชุมชน - สิ่งแวดล้อม


“อยากจะฝากว่าให้ช่วยรักษาลมหายใจของเราไว้ด้วยนะคะ ถ้าคุณทำแบบนี้เหมือนกับว่าคุณทำลายลมหายใจของคุณเอง เพราะทั้งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทุกสิ่งทุกอย่าง จะเปลี่ยนไปหมด ทำลายทัศนียภาพ ระบบนิเวศ การเป็นอยู่ วิถีชีวิต” น้องศิ ศิริรัตน์ พลทำ ประธานชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ฝากไปถึงผู้ใหญ่ และนายทุนที่กำลังรุกที่ดินริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม

เดินทางออกจากโรงเรียนพุทธิรังสีพิบูลไปราว 1 กิโลเมตรจะถึงแม่น้ำบางปะกงที่นับวันจะถูกลุกล้ำโดยการสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และโกดังเก็บสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ

คุณครูอรวรรณ เรืองนภารัตน์ ครูที่ปรึกษาชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ
โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่วัดกระทุ่ม ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง โดยอีกฝั่งหนึ่งพบว่ามีการก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าอย่างขมักเขม้น และมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 30 แล้ว
คุณครูอรวรรณ เรืองนภารัตน์ ครูที่ปรึกษาชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูลบอกว่าปัญหาท่าเรือขนส่งสินค้าก็เป็นอีกปัญหาเรื่องที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ หลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง และที่ผิดสังเกตุคือเอกชนที่เข้ามาทำการก่อสร้างพยาพยามหลีกเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตามที่กฎหมายกำหนด

“การหลีกเลี่ยงการทำรายการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ของเอกชนที่เข้ามาสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าคือใช้ช่องโหว่งทางกฎหมายที่ระบุว่าการสร้างท่าเรือที่มีขนาด 995 ตารางเมตรขึ้นไปต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เมื่อเป็นเช่นนี้เอกชนก็สร้างท่าเรือให้มีขนาน 831 ตารางเมตร เพียงเท่านี้ก็ต้องไม่ทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว และยิ่งน่ากังวลต่อไปอีกหลังจากได้ยินว่ามีเอกชนเตรียมแผนสร้างอีก 7 ท่า โดยเริ่มกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านริมแม่น้ำบางปะกงเอาไว้แล้ว” คุณครูอรวรรณ กล่าวด้วยความวิตกกังวล...

ครูที่ปรึกษาชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ บอกอีกว่าลำน้ำบางปะกงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพราะเป็นน้ำก่อยอยู่ไกล้ทะเล จึงมีสัตว์น้ำหลายชนิดขึ้นมาวางไข่ สัตว์อนุบาลตัวอ่อนๆ อาศัยอยู่ ดังนั้นหากมีการเดินเรือขนส่งสินค้าก็จะทำให้เกิดคลื่น และทำให้ผิวของก้นแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำกว่า 200 ชนิดหายไปด้วย

น้องศิ ศิริรัตน์ พลทำ ประธานชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ
โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล จังหวัดฉะเชิงเทรา 
“น้องศิ” ประธานชมรมนักรบสิ่งแวดล้อมนักสืบสายน้ำ สะท้อนถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิติของชาวชุมชนลาดขวาง ลุ่มแม่น้ำบางปะกงว่า วิถีชีวิตแบบชาวประมงของคนที่นี่เปลี่ยนไปแน่นอน เมื่อมีท่าเรือก็ต้องมีเรือบรรทุกสินค้าลำใหญ่ลอยลำเข้ามา ส่งผลให้เกิดคลื่น ที่อาจเซาะตลิ่งให้ทรุดลงมาได้

“หนูกังวลว่าถ้ามีการเดินเรือเข้าออกหลายครั้งจะทำให้เกิดปัญหามลพิษทางเสียง และถ้าเกิดเรือรั่วทำให้น้ำมันไหลออกมา ก็จะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำอย่างที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ตรงโรงไฟฟ้าบางปะกง ย่านนั้นกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมไปแล้ว”

ห่างจากวัดกระทุ่ม ออกไปอีกราว 10 กิโลเมตรบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงพบว่าทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเต็มไปด้วยท่าเรือขนส่งสินค้า และเรือบรรทุกสินค้าลอยลำอยู่เต็มไปหมด มีการระบายน้ำเสียลงแม่น้ำอย่างโจ่งแจ้ง และได้กลิ่นแป้งหมักที่อยู่บนเรือบรรทุกสินค้าเหม็นคละคลุ้มเป็นวงกว้าง ชาวบ้านแถบนั้นอยู่ด้วยความชินชา และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

วิถีชุมชุนของชาวจังหวัดฉะเชิงเทราได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ จากวิถีเกษตรกรรม เป็นวิถีอุตสาหกรรม แต่เดิมจังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นฐานด้านการเกษตร มีประชาชนร้อยละ 70 ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 27,681 ล้านบาทต่อปี ผลผลิตที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดในด้านพืช ได้แก่  ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน มะพร้าว มะม่วง และหมาก เป็นต้น ด้านประมง มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิเช่น กุ้งขาวแวนนาไมท์ กุ้งกุลาดำ ปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และกิจการประมงทะเล

ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทราได้รับอิทธิพลการขยายตัวของสังคมเมือง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม มีการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลต่อการจ้างแรงงานในภาคเกษตรกรรมให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ประเภทอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนและมีแนวโน้มในการลงทุนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากเหล็กและโลหะ และอุสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะสนใจลงทุนในเขต อำเภอบางปะกง อำเภอเมือง อำเภอพนมสารคาม อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางคล้า และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จะมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่หนาแน่น เพราะมีวัตถุดิบและเส้นทางคมนาคมที่สะดวก

แม้วันนี้ภาพของความเสื่อมโทรมของธรรมชาติที่เกิดขึ้นบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ยังไม่ได้เกิดขึ้นในชุมชนลาดขวาง แต่ด้วยระยะทางที่ห่างเพียง 10 กิโลเมตร ประกอบกับมีสัญญาณของการคืบคลานของเอกชน ที่เริ่มรุกล้ำเข้ามาให้พื้นที่ นอกจากความเข้มแข็งของชุมชน และข้อมูลที่รวบรวมอยู่ในมือ เยาวชนกลุ่มนี้กำลังถามถึง “สิทธิชุมชน” ที่มีอยู่ในกฎหมายว่ายังให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาได้อยู่หรือไม่


///////////////////// TANPISIT LERDBAMRUNGCHAI

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชาวท่าเรือ จ.อยุธยา หน่ายน้ำท่วมหวังหน้าน้ำปีนี้จะไม่ท่วมอีก

ชาวท่าเรือ จ.อยุธยา หน่ายน้ำท่วมหวังหน้าน้ำปีนี้จะไม่ท่วมอีก


อดิศัย วัฒนาวณิช
เป็นปัญหาที่ชาชินและคุ้นเคยกันดีจนสามารถปรับตัวรับกันได้สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต.ท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ต้องลุ้นกันปีต่อปีว่าจะท่วมหรือไม่... ไม่ใช่วิสัยปกติของชาวบ้านทำมาค้าขายที่จะนั่งต้องเช็คระดับน้ำในเขื่อนบ่อยๆ เยี่ยงวิศวกรกรมชลประทาน แต่เพราะปัญหาที่เรื้องรังมานาน ก็ทำให้ “อดิศัย วัฒนาวณิช” เจ้าของโกดังรับฝากรถมอเตอร์ไซค์ หน้าสถานีรถไฟท่าเรือต้องเปิดเว็บของกรมชลฯเช็คระดับน้ำในเขื่อน ยิ่งหน้าน้ำที่ผนตกหนักแบบนี้ ก็ยิ่งเช็คแบบวันต่อวันกันเลยทีเดียว

เพราะปัญหาน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับอาชีพที่ต้องทำมาหากินแบบรายวัน หากวันไหนไม่รับฝากรถก็จะเสียรายได้ไปเยอะ ไม่ต้องพูดถึงช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ท่วมขังอยู่นานนับเดือน รายได้หดหายมากมิใช่น้อย โชคดีที่ครอบครัวของอดิศัย รู้จักอดออมจึงมีเงินเก็บ สามารถดึงออกมาใช้ในยามคับขัน

ชายวัย 50 ปีร่างท่วมผู้นี้วิเคราะห์ให้เราฟังว่าปัญหาน้ำท่วมทุกวันนี้เกิดจากการบริหารน้ำที่ไม่ดีพอ และน้ำป่าไหลหลากจึงแนะว่าควรขุดบ่อพักน้ำป่าในจุดที่เหมาะสมใกล้ตีนเขา และหยุดทำลายป่าไม้ที่ทุกวันนี้ยังพบเห็นได้ทั่วไปว่ามีการลับลอบตัดไม้ทำลายป่าตามข่าวที่ออกอยู่บ่อยๆ

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ก็คือบริหารน้ำในเขื่อน เรื่องง่ายๆอย่างการระบายน้ำในก่อนที่น้ำจะมา อาศัยข้อมูลอากาศของกรมอุตุวิทยาให้เป็นประโยชน์ เคยได้ยินข่าวว่ามีอยู่ปี ที่เขื่อนแห่งหนึ่งเร่งระบายน้ำจนท่วมพื้นที่ชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่ใส่ใจ และขาดวางแผนที่ดี

เจ้าของโกดังรับฝากรถมอเตอร์ไซค์ หน้าสถานีรถไฟท่าเรือเปรียบเทียบคลองและแม่น้ำเหมือนกับโอ่งน้ำ ถ้ามีขนาดใหญ่ก็จะสามารถบรรจุน้ำได้ในปริมาณมาก แต่ถ้าโอ่งน้ำขนาดเล็กก็บรรจุน้ำได้ในปริมาณน้ำที่น้อย เช่นเดียวกับแม่น้ำถ้าลึกก็สามารถรับน้ำได้มาก ดังนั้นควรขุดลอกแม่น้ำลำคลองต่างๆให้มีความลึกมากขึ้น

เมื่อราวต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเทศบาลท่าเรือได้หารือกับชาวบ้านในการป้องกันท่วมน้ำในพื้นที่ อดิศัยจึงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการรับรู้แนวทางการป้องกันน้ำท่วมของตำบลท่าเรือในครั้งนี้ด้วย เขาจึงเล่าในสิ่งที่ตนได้เห็นทุกครั้งก่อนที่น้ำจะเอ่อท่วมบ้านของเขาว่าน้ำมักมาตามท่อระบายน้ำ และเอ่อท่วมพื้นที่เป็นวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรสร้างประตูเปิด-ปิดปากท่อระบายน้ำ เป็นการยืดเวลาให้น้ำเอ่อท่วมช้าลงเพื่อให้มีเวลาขนของ หรือไม่ท่วมเลย

อดิศัยบอกว่าเทศบาลท่าเรือมีแผนจะสร้างผนังกั้นน้ำสูง 2 เมตรริมแม่น้ำป่าสัก และจะยกระดับถนนให้สูงขึ้นเพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม ซึ่งตนไม่มีปัญหา สำหรับระดับน้ำในเขื่อนเท่าที่ประเมินดูสถานการณ์น้ำยังไม่น่าเป็นห่วง

///////////////////////////// TANPISIT LEDBAMRUNGCHAI

ครั้งแรกที่สอนทำข่าวโทรทัศน์ “ค่ายพิราบน้อย 16” สัญญาณปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์

ครั้งแรกที่สอนทำข่าวโทรทัศน์ “ค่ายพิราบน้อย 16” สัญญาณปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์


ผม (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพร่วมกับพี่ๆวิทยากรพิราบน้อย 16 ที่มาจากทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์



มีสองค่ายที่คนเรียนด้านสื่อสารมวลชนรู้จักกันดีคือ “ค่ายพิราบน้อย” และ “ค่ายสายฟ้าน้อย”
ค่ายพิราบน้อยเป็นค่ายของนักข่าวหนังสือพิมพ์ ทำข่าวหนังสือพิมพ์-สื่อสิ่งพิมพ์จัดโดยสมาคมนักข่าวนักนักสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ส่วนค่ายสายฟ้าน้อย เป็นค่ายของนักข่าวโทรทัศน์ ทำสกู๊ป จัดโดยนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย [อ่านประกอบข่าวเปิดอบรมนักข่าวพิราบน้อยรุ่นที่ 16 http://www.thairath.co.th/content/edu/362263]

ผมมีโอกาสส่งเรียงความเรื่องนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ เพื่อคัดสรรเข้าค่ายพิราบน้อย ปรากฎว่าได้รับการคัดเลือก [อ่านประกอบนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : MultiJournalism http://www.oknation.net/blog/tanpisit/2013/07/28/entry-3 ]

ผมเลือกมาค่ายพิราบน้อยเพราะว่าเชื่อว่าหลักการทำข่าวของนักหนังสือพิมพ์ที่เข้มข้นมากกว่า ละเอียดมากกว่าข่าวโทรทัศน์ แต่ส่วนตัวชอบทำข่าวโทรทัศน์ และคิดว่าตัวเองก็ควรทำข่าวแบบหนังสือพิมพ์ให้เป็นด้วย

ที่มหาวิทยาลัยเนชั่นที่ผมเรียนอยู่ นิเทศศาสตร์มีให้เลือก 2 สาขาคือวิทยุโทรทัศน์ และสาขาโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผมเรียนสาขาวิทยุโทรทัศน์ แต่เนื้อหาในการเรียนเน้นให้ทำได้ทุกสื่อเพื่อรับกับอนาคตของวงการสื่อสารมวลชนที่กำลังเปลี่ยนไปตามกระแส  “NEWS CONVERJENCE” ที่มีอินเตอร์เน็ตและสมาทร์โฟนเป็นเหตุทำให้ช่องการรับสารของคนเราถูกหลอมรวม

ผมได้ข่าวมาว่าทางผู้จัดค่ายพิราบน้อยใช้เวลาถกเถียงกันยาวนานว่าควรจะยัดหลักการทำข่าวโทรทัศน์ไปในการฝึกอบรมข่าวหนังสือพิมพ์ครั้งนี้ด้วยหรือไม่

ปรากฎว่าพวกเขาตัดสินใจนำหลักการทำข่าวโทรทัศน์มาสอนในค่ายพิราบน้อยครั้งที่ 16 นี้ด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่ค่ายปั้นนักสื่อสารมวลชนสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในประเทศ มีสอนเรื่องการถ่ายภาพวิดีโอ และการรายงานข่าวผ่านทวิตเตอร์

ค่ายพิราบน้อยครั้งที่ 16 จึงถือเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการสื่อสารมวลชนไทย ที่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยี

เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในไทย กำลังปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ภาพของนักข่าวที่ต่อจากนี้ต้องรายงานได้ทุกสื่อ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ...

ประเด็นจำเป็นต้องหวือหวา?

ไม่ว่าการสื่อสารเทคนิควิธีการทำข่าวจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่ประเด็นก็ยังคงสำคัญมากที่สุด ไฮไลท์ของค่ายพิราบน้อยคือแต่ละกลุ่มต้องออกไปหาข่าวในพื้นที่ใกล้ๆที่พัก หรือไกลกว่านั้นเท่าที่จะไปกันได้

ลุงไสวเป็นเกษตรกรที่ชาวนครนายกให้การยอมรับนับถือในด้านการทำเกษตรกรรมแบบผสมสาน มีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ลุงรู้ แต่คนอื่นไม่รู้ ทำให้ที่บ้านของลุงไสวคึกคักตลอดทั้งวันมีผู้คนเข้า-ออก จิบน้ำชา พูดคุยซักถาม มีนักเรียนที่โรงเรียนจัดมาทัศนศึกษาซึ่งลุกไสวก็ทำหน้าที่ครูชาวบ้านได้อย่างดี [อ่านประกอบลุงไสว ต้นไม่คือหัวใจ บันใดสู่ความสุข http://www.stou.ac.th/stoukc/elder/main3_31.html]

มีสองกลุ่มที่ไปทำเรื่องลุงไสวเหมือนกัน และประเด็นต่างกันกลุ่มหนึ่งไปทำเรื่องลุงไสวสามารถรวมผลไม้ 15 ชนิดไว้ในต้นเดียวกันได้ อีกกลุ่มไปทำเรื่องลุงไสวเตือนเพื่อนชาวนาด้วยกันว่าทำนาตลอดปีมีโทษ หลังเห็นชาวบ้านแถบนั้นทำนาปีละ 3 หน

ในการนำเสนอชิ้นงานหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติวิทยากรซึ่งเป็นนักข่าวมืออาชีพก็อดที่จะเปรียบเที่ยบประเด็นของทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ และทำการตัดสินด้วยวาจาไปอย่างรวดเร็วทำนองว่า เรื่องที่ลุงไสวสามารถรวมผลไม้ 15 ชนิดไว้ในต้นเดียวกันได้ น่าสนใจ

หลังจากวิทยากรได้วิพากษ์วิจารณ์งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเขาจึงเปิดโอกาสให้เพื่อนได้แลกเปลี่ยนพูดคุย มีเพื่อนคนหนึ่งลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องลุงไสวไว้อย่างน่าสนใจ และวงการสื่อสารมวลชนคงต้องกลับมาทบทวนและคิดให้มากขึ้น

เขายอมรับว่าเรื่องที่ลุงไสวสามารถรวมผลไม้ 15 ชนิดไว้ในต้นเดียวกันได้น่าสนใจกว่า เรื่องที่ลุงไสวออกมาเตือนเพื่อนชาวนาด้วยกันว่าทำนาตลอดปีมีโทษ หลังจากที่เห็นชาวบ้านแถบนั้นทำนาปีละ 3 หน แต่เขามองในมุมที่สื่อต้องออกมาอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่าทำนาตลอดปีเป็นโทษอย่างไร แล้วในข่าวเขาก็ไปถามชาวนาที่ปลูกข้าว 3 ครั้งต่อปีด้วยว่าเพราะมีเหตุผลอย่างไร แล้วก็ให้ลุงไสวบอกวิธีด้วยว่าถ้าไม่ปลูกข้าว 3 ครั้งต่อปี ช่วงที่เว้นว่างอยู่น่าจะปลูกอะไร ให้มีรายได้งอกงาม เขาคิดว่าว่าถ้าชาวบ้านแถบนั้นได้มีโอกาสอ่านข่าวชิ้นนี้ น่าจะทำให้อะไรอะไรมันขึ้น

“ผมไม่ปฏิเสธการแข่งขันกันอย่างรุ่นแรงในวงการสื่อที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ แต่การนำเสนอข่าวบางทีก็ต้องคิดว่าเสนอไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ มันจะดีมากถ้าข่าวทำให้คนอ่านเกิดแรงบันดาลใจ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช้เพียงนำเสนอปรากฎการณ์แบบสนุกปากแล้วก็จบ”

บางอย่างชี้ถูกชี้ผิด ดีกว่า แย่กว่าไม่ได้ บางทีคนเรามันก็มีเหตุผลที่เลือกทำในสิ่งนั้น

//////////////////////////////////////

ภาพค่ายพิราบน้อย 16


อ.จักร์กฤษเพิ่ม พูลกำลังอธิบายเรื่องจริยธรรมสื่อโดยยกกรณีเจนี่เป็นตัวอย่าง

บรรยากาศตอนกองบรรณาธิการ

รับเกียรติบัตร
จำลองสถานการณ์แถลงข่าวกลับไทยของสมีคำ

ภาพข่าวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ


หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของแต่ละกลุ่ม

อันดับหนึ่ง
อันดับสอง
อันดับ 3
อันดับ 4
อันดับ 5
////////////////////////////////////////// TANPISIT LERDBAMRUNGCHAI