มุมคิดมุมข่าวกับธนานุช “นางเอกหนังแผ่นแห่งเนชั่น”
ธนานุช สงวนศักดิ์ เป็นบรรณาธิการสารคดีเชิงข่าว แห่งสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เธอคร่ำหวอดในวงการสารคดีมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ปัจจุบันเธอทำงานไปด้วยและเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ไปด้วยธนานุชเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการข่าวโทรทัศน์เมืองไทยหลังจากที่รายการจุดชนวนความคิดที่มีเธอเป็นโปรดิวเซอร์ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. เมื่อปี 2546 ก่อนจะหลุดผังแล้วกลับคืนจอที่ช่องเนชั่น
ด้วยชิ้นงานและลักษณะการเล่าเรื่องในสารคดีที่มีความแตกต่างทำให้รายการของเธอคว้ารางวัลมาหลายรางวัล และมีผู้ชมคอยติดตามผลงานทั้งในจอทีวี และยูทูป
เธอบอกว่าหลายๆตอนของจุดชนวนความคิด ได้ถูกแหล่งข่าวนำไป copy ลงแผ่น DVD,VCD ด้วยตัวเอง จากนั้นก็นำไปแจกจ่าย อธิบายเรื่องราว/ปัญหาของพวกเขาเอง ทุกวันนี้เธอถูกขนานนามจากคนในวงการทีวีว่า “นางเอกหนังแผ่น”
+ ทำไมถึงเลือกทำสารคดีเชิงข่าว ?
ธนานุช: สารคดีเชิงข่าวจริงๆแล้วมันก็คือการทำข่าวที่ใช้รูปแบบในการเล่าเรื่อง ถ่ายทำ ในรูปแบบของสารคดี มันก็จะมีความประณีตมากกว่าอันนี้ในส่วนของรูปแบบ แต่ว่าในส่วนของเนื้อหามันเป็นเนื้อหาแบบทางเลือกนิดนึง อาจจะสืบเนื่องมาจากข่าวเหตุการณ์แล้วเรานำมาขยายให้มันลึกซึ้งขึ้น ให้มันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังมากกว่าข่าวปกตินี่คือสิ่งที่ทำ อันที่ 2 เพื่อเปิดประเด็นใหม่ แต่อาจจะไม่ใช่ใหม่แบบสุดๆ คือข่าวมันจะมี 2 ประเภทคือข่าวเหตุการณ์และปรากฎการณ์ ของครูจะดูว่าในข่าวที่เกิดขึ้นนั้นมีแง่มุมอะไรที่อาจจะยังไม่ได้นำเสนอ หรือนำเสนอน้อย เราก็จะทำในส่วนนั้น เพราะว่าข่าวเหตุการณ์ปกติเนี่ยมันมีคนทำเยอะแล้ว พอมันมีคนทำแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอย่างนั้นอีก ถามว่ามันจำเป็นมั้ย ของเขาก็จำเป็น แต่ว่าด้วยรูปแบบของเรามันเป็นสารคดีเชิงข่าวที่สามารถทำได้ลึกซึ้งกว่า ส่วนข่าว
ปรากฎการณ์มันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้าแล้วซ้ำเล่าแต่อาจไม่ได้รับการนำเสนอ หรืออาจจะนำเสนอน้อยไป อย่างเช่นปรากฎการณ์แม่ที่ฆ่าลูก มันก็เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนะ ก็คือเราจะเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าแม่ใจยักษ์ แม่ทิ้งลูก แม่ใจแตกอะไรก็ตามแต่ มันก็เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ว่าปรากฎการณ์นั้นไม่ได้ถูกหยิบมาอธิบายเพียงแต่เสนอปรากฎการณ์ที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็นำปรากฎการณ์นั้นน่ะมานำเสนอมาอธิบายว่ามันมีแง่มุมมองอะไรที่ยังไม่ถูกนำเสนอ หรือมีมุมมองที่แตกต่างออกไป หรือมันอาจจะมีประเด็นอะไรซ่อนอยู่ แต่ไม่ได้นำเสนอเราก็จะนำส่วนนั้นมานำเสนอ
+ ข้อท้าทายของการทำสารคดีเชิงข่าวที่ว่ายากคืออะไร?
ธนานุช: คือถ้าไม่นับถือเรื่ององค์กร ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีข้อท้าทายแตกต่างกันไป ถามว่า
ยากมั้ยก็ไม่ยากมันขึ้นอยู่กับเรา คือเราไม่อยากเป็นนักข่าวหรือสื่อมวลชนที่พูดอะไรลอยๆ เพราะฉะนั้นในการนำเสนอของเราก็ต้องพยายามหารูปธรรมที่มันจับต้องได้ ถ้าสมมติเราทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรารู้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง แต่มีแต่นักวิชาการพูด มีแต่เอ็นจีโอพูด แต่ว่าเจ้าของปัญหาที่แท้จริงไม่ได้พูดเพราะเราอาจจะหาเคสไม่ได้ หรือไม่มีข้อมูลแต่เรานำเสนอออกไป มันก็กลายเป็นเรื่องเบาๆ เพราะเจ้าของปัญหาจริงๆ เจ้าของเรื่องแท้จริงไม่ได้ออกมานำเสนอ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเป็นความยากซะเลยก็ไม่ใช่ ข้อท้าทายของมันก็คือว่าคุณจะไปเอาหลักฐานชิ้นนั้นมาแสดงให้ผู้ชมดู หรือไปเอาคนๆนั้นที่เป็นเจ้าของเรื่องเจ้าของปัญหานี้ มานำเสนอได้อย่างไรอันนี้สำคัญมากกว่า
+ จุดเริ่มต้นให้ต้องทำงานข่าวคืออะไร?
ธนานุช: ตอนเด็กๆก็อยากเป็นโน้นเป็นนี่ แต่ว่าพอได้มาเรียนนิเทศศาสตร์ (...สมัยที่ครูเป็นวัยรุ่นนิเทศมันฮิตนะ) แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นนักข่าว ไม่ได้คิดไปไกล คิดแค่ว่าเรียนจบก็จะหางานทำในสิ่งที่เราเรียนมา เราเรียนวิทยุโทรทัศน์ เราก็คิดแค่ว่าเราเรียนจบก็จะหางานทำที่มันเกี่ยวกับที่เรียนมา แต่ยังไม่ได้คิดไปถึงขนาดว่าจะต้องมาเป็นนักข่าว นักทำสารคดี ไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น พอจบมาก็มาทำข่าวหนังสือพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ทำข่าวเศรษฐกิจ จากนั้นเราก็คิดว่าเราเรียนวิทยุโทรทัศน์มานี่ เราไม่ได้เรียนหนังสือพิมพ์ เราก็อยากทำงานในแวดวงวิทยุโทรทัศน์ แต่ก็ทำหนังสือพิมพ์อยู่ปีหนึ่ง เผอิญมีเพื่อนคนหนึ่งเรียนจบแล้วเขาทำโปรดักชั่นเฮาท์ผลิตรายการให้กับหลายๆช่อง ก็มีรายการเล็กๆรายการหนึ่งทำให้กับช่อง 9 เป็นสารคดีข่าวสั้น 5 นาที เราก็ทำไปจนปี 40 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งบริษัทก็เจ๊งไม่ได้จ่ายเงินเดือน ก็ออกมาทำอีกบริษัทหนึ่งทำสารคดีเหมือนเดิมนี่แหละ ต่อมาสักปีสองปี เนชั่นแชนแนลเปิดในปี 43 ก็มาสมัครงานที่นี่ เราไม่ค่อยคิดถึงอาชีพอื่นสักเท่าไหร่ แต่ถามว่าฝันเริ่มต้นจะเป็นนักข่าวมั้ยมันก็ไม่ใช่ ก็แค่ว่าเราเรียนมาทางนี้ ก็ต้องทำอาชีพแบบนี้แหละพอมาอยู่เนชั่นก็ได้ทำสกู๊ปรายงานพิเศษมาตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั้งปี 46 มีรูปแบบรายการจุดชนวนความคิดขึ้นมาที่ออกอากาศที่ช่อง 9
+ มีเช้าวันไหนที่ไม่อยากลุกขึ้นมาทำงาน หรือรู้สึกท้อมั้ย?
ธนานุช: อุ้ยมีเยอะ...คุณมันชิวิตนะ มันไม่อยาก มันก็ต้องทำ อย่างสมมติเราลงไปทำแล้วเรารู้สึกไม่ค่อยเวริก ไม่อยากทำแล้วมันก็มี คนเรามันก็จะมีเรื่องส่วนตัว มีอะไรอยู่นะ แต่เวลาเราลงไปแล้ว เราไปเจอแหล่งข่าวแล้ว เขาให้เวลาเราแล้ว เราจะไม่อยากทำมันก็ไม่ได้ ในที่สุดมันก็ต้องทำอย่างเต็มที่ แม้ว่าในสภาพจิตใจเราขณะนั้นศักยภาพของเราอาจจะไม่เต็มที่ก็ได้ในความเป็นจริง แต่เราก็ต้องพยายามเต็มที่ที่สุดเท่าที่เราทำได้
+ ท้อแล้วทำอย่างไร ?
ธนานุช: เวลาเรามีปัญหาเราก็จะมีคนที่เรานึกถึงเหมือนกัน อาจารย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว สอนอยู่มช. ถ้าเกิดเรามีปัญหา สำหรับครูนะครูคิดว่า ถ้าในกรณีนี้อ.กนกจะคิดยังไงนะ (อาจารย์กนก ฤกษ์เกษม เป็นอดีตอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) คือเราสนิทกันในฐานะแหล่งข่าว แกเหมือนเป็นพ่อคนที่สอง สมมติบางทีเราท้ออาจจะเกิดจากในที่ทำงาน เราก็เคยไปเล่าให้เขาฟังว่าการเมืองเยอะมากเลย แกก็จะบอกว่าก็ชัวร์แล้วคุณคาดหวังอะไร คาดหวังว่าโลกจะให้อะไรคุณ คือเขาจะพูดแบบนักเลงนักเลง มีหลายเรื่องที่คุยกันจนเรานึกออกเลยว่าถ้าอยู่ในสถานการณ์นี้แกจะพูดว่าอะไร ข้อเสียของอ.กนกมีอยู่อย่างเดียวเสียชีวิตเร็วไป วิธีการของแกก็คือให้เข้าใจชีวิตว่ามันก็เป็นแบบนี้แหละ พอแกพูดอย่างนี้มันก็จะได้สติ
+ คาดหวังอะไรกับวิชาชีพสื่อมวลชน?
ธนานุช: อืม...ก็คาดหวังเยอะอะนะ แน่นอนแหละเวลาเราทำข่าว ...คือถ้ามันเป็นข่าว
เหตุการณ์เนี่ยมันมีคนทำนำเสนอเยอะอยู่แล้ว เกิดระเบิดที่ไหน เกิดนั่นที่ไหนคือมันมีคนดู ถ้าเป็นเรา พอเราไปทำเราก็คาดหวังว่ามันจะมีคนดู เช่นว่าเรื่องนั้นมันอาจจะเป็นปัญหามีแง่มุมที่มันจะต้องแก้ไข เราก็คาดหวังว่ามันจะนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจ นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา เราก็คิดอย่างนั้นเพราะว่า เป้าหมายในการนำเสนอของเราก็คือว่าอย่างน้อย ต้องเป็นการข้อมูลให้กับสังคมให้มีแง่มุมที่ทำให้ผู้ชมได้คิด ได้อะไรขึ้นมา แล้วก็จะได้มีความเข้าอกเข้าใจในเรื่องนั้นมากขึ้น พอเข้าใจมากขึ้นก็จะนำไปสู่... คือประชาธิปไตยมันจะเกิดขึ้นได้เนี่ยเพราะประชาชนต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อว่าในการนำเสนอเนี่ย มันอาจจะเป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่งอีกชิ้นหนึ่ง ที่ไปเป็นส่วนหนึ่งให้ประชาชนได้ตัดสินใจในเรื่องนั้นในนโยบายนั้นมากขึ้น
+ ครูมักพูดเสมอว่าอย่าตัดสินแทนคนดู?
ธนานุช: คุณก็เป็นคนดูคนหนึ่ง แล้วคุณตัดสินได้มั้ยล่ะเราก็ดูทีวีใช่มั้ย เราก็อ่านหนังสือพิมพ์ใช่มั้ยเราก็คือผู้บริโภคเราก็คือผู้ชม เราก็คือประชาชน แล้วถ้าพูดถึงแม่เราเขาใช่คนดูมั้ยล่ะ พี่ชายพี่สาวเราเขาก็คือคนดู เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องมีวิจารณาญในการตัดสินได้ เพียงแต่ว่าเราจะต้องมีการนำเสนอข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจของเขา แต่ในส่วนของรูปแบบเราก็ไม่ใช่ว่าเอาข้อมูลขึ้นมาดื้อๆ ต้องนำเสนอให้มันมีศิลปะ ไม่ใช่ว่าเนี่ยโยนขึ้นไปแล้ว ผู้ชมคิดนะ..มันก็ไม่เชิง มันก็ต้องมีศิลปะในการนำเสนอ แน่นอนเราไม่ได้บิดเบือน หมายความว่าถ้าคุณทำเรื่องคุณต้องมีการเล่าเรื่อง ต้องมีการไฮไลท์ในเรื่องของคุณให้น่าสนใจ ดูโด่ดเด่น ไม่เช่นนั้นมันจะพูดว่ารายงานพิเศษหรอ เพราะฉะนั้นมันต้องอาศัยความสามารถของคนทำว่าเรื่องของคุณเนี่ยมันจะทำอย่างไรให้ผู้ชมสนใจ เช่นฉันทำเรื่องนี้ดีมากเลย แต่มันค่อยไม่น่าสนใจ เปรียบเหมือนอาหาร อาหารฉันมีประโยชน์มากเลย แต่มันไม่ค่อยน่ากินนะ แต่พอเป็นทีวีเรากดหนีได้ไง ก็เหมือนกันถ้าเป็นยาขม...โอเคเรายอมกิน แต่ถ้าเป็นคนดูทีวีไม่ดูข่าวนี้ก็ไม่ตายนี่หว่า ในขณะที่เทคโนโลยีก็ไปไกลมากช่องทางก็เยอะ ข้อมูลข่าวสารก็หลั่งไหลมาเยอะ เราจะไฮไลท์เรื่องของเราอย่างไรเพื่อให้ผู้ชมสนใจ อันดับแรกต้องเรียกร้องความสนใจให้เขาต้องดูก่อน เรื่องบางเรื่องอย่างเรื่องโรฮิงญาถ้าจะเอาประวัติโรฮิงยา ก็ไปเสริชในกูเกิ้ลได้ข้อมูลมากกว่าสารคดีที่ครูทำอีก แล้วทำไมคนเขาถึงมาดูสารคดีครู เพราะอะไร ก็เพราะมันมีชีวิต มันเรื่องเล่า มันมีความไกล้ชิด เราได้รู้จักคนคนนั้นที่เป็นเจ้าของปัญหาจริงๆ อันนี้มันต้องอาศัยตัวของคนทำว่าเราจะมีทักษะ เราจะมีความพยายามแค่ไหนที่ทำให้มันน่าสนใจ
+ คิดว่าวงการข่าวทีวีทุกวันนี้เป็นอย่างไร?
ธนานุช: ในเรื่องช่องทางอีกหน่อยก็จะมีช่องข่าวในทีวีดิจิทัลมากขึ้น ในเรื่องของช่องทางมีมากขึ้นแต่ปัญหาคือครูมองว่าถ้าช่องทางมันมากขึ้น ก็ต้องเข้าไปดูว่าเนื้อหามันหลากหลายตามช่องทางนั้นด้วยหรือเปล่า คุณสังเกตุดูว่าข่าวเนี่ย คุณดูช่องนี้แล้วคุณไปดูอีกช่องหนึ่งมันก็เหมือนกัน ปรากฎการณ์ที่มันเคยเกิดมาก็คือว่า เนื้อหาไม่ได้เยอะไปตามจำนวนของช่องที่มีอยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเรียกว่าน่าจะเป็นปัญหาเหมือนกัน แล้วเราก็จะมาโทษกัน เวลาเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆนาๆ ก็จะมีการพูดกันว่า เพราะว่าประชาชนไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ว่าจริงๆแล้วสื่อมวลชนโดยเฉพาะพวกเราเนี่ย เราต้องย้อนถามตัวเองว่า แล้วที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวของเรา มันให้ข้อมูลอย่างเพียงพอกับประชาชนหรือเปล่า เราก็บอกทำไมประชาชนถึงยุคนี้แล้วไม่รู้เรื่อง แล้วเราล่ะทำหน้าที่นั้นหรือเปล่าในฐานะที่สื่อมวลชนก็เป็นสถาบันหนึ่ง เป็นสถาบันที่กำหนดความรู้ สถาบันกำหนดความรู้มันก็มีหลายอย่างนะเช่นสถาบันการศึกษา ในส่วนของสื่อมวลชนก็เป็น Knowledge Maker เหมือนกันซึ่งตรงนี้เราทำหน้าที่ได้ดีพอหรือยัง
+ หลักในการทำข่าวของครูคืออะไร ?
ธนานุช: บทบาทหน้าที่มันใช่อยู่แล้วในการกำหนดความรู้ เราไม่ใช่แค่ช่องทาง ถ้าเราเป็นแค่ช่องทางนะเยอะแยะไปหมด เดี๋ยวนี้มันมียูทูปมีกูเกิ้ลมีอะไร แต่ว่าเราไม่ใช่เพียงแค่ช่องทาง นักข่าวไม่ใช่แค่ว่าครูไปสัมภาษณ์รัฐมนตรี แล้วก็ใหผู้ชมดู ถ้าคุณทำได้แค่นี้เด็กๆก็ทำได้ ใครก็ทำได้ โอเคเราไม่ได้เสริมแต่ง แต่เรากำลังจะพูดถึงว่าในการไปสัมภาษณ์รัฐมนตรี เราต้องนำเสนอ ต้องอธิบาย เราต้องมีบริบทด้วย อย่างสมมติว่าเขาบอกว่าเนี่ย ผู้เสพคือผู้ป่วย รัฐมนตรีพูดมาอย่างนี้ คุณได้เข้าไปดูหรือเปล่าว่าสิ่งที่เขาพูดน่ะ ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงก็คือ มันอาจจะไม่ใช่ผู้เสพคือผู้ป่วย แล้ววิธีมันคืออะไร สิ่งที่มันถูกต้องคืออะไร แล้วสิ่งที่เขาทำจริงๆที่ปฏิบัติกันอยู่มันคืออะไร ไม่ใช่เราเป็นแค่กาคาบข่าว เขาพูดมาอย่างนี้ แล้วเราก็นำเสนอไป เพราะฉะนั้นเราต้องอธิบาย ต้องรู้ถึงบริบทในเรื่องนั้น สิ่งที่นำเสนอ คือการอธิบายข่าว การตีความข่าว
+ อยากจะฝากอะไรไปถึงนักศึกษาที่กำลังจะจบนิเทศศาสตร์แล้วจะมาเป็นนักข่าว?
ธนานุช: อาชีพนักข่าวเนี่ยเป็นอาชีพที่ลำบาก ต้องอาศัยความเสียสละเหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่อาชีพที่สบายไง อย่างที่บอกเราไม่ใช่เป็นแค่ช่องทาง เราจะต้องนำเสนอบริบท เราจะต้องมีความรู้ แน่นอนเวลาเรานำเสนอข่าว สกู๊ปข่าว สารคดีเชิงข่าวอะไรก็ตามมันก็มีประโยชน์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นแล้วล่ะ สมมติว่ามันออนแอร์วันนี้ มันก็มีประโยชน์ ณ ตัวมันแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราคิดว่ามันมีประโยชน์กับผู้ชม มีประโยชน์กับเจ้าของเรื่อง ประโยชน์มันก็เกิดขึ้นได้ทันที และแน่นอนว่าถ้ามันนำไปสู่การแก้ไขปัญหามันก็ดีมาก แต่ ณ เวลานั้นที่มันได้ออกอากาศ มันก็มีประโยชน์แล้วนะ แต่ว่าตัวนักข่าวเองมันเป็นอาชีพที่เหนื่อย เราไม่ได้พูดถึงตัวพิธีกรหรือผู้ประกาศที่อาจจะมีชื่อเสียงมากๆ อันนั้นก็จะในเรื่องของผลตอบแทน เรื่องของอะไรก็จะได้ตามมา แต่พูดถึงเรื่องนักข่าวทั่วๆไป มันเป็นอาชีพที่ต้องขยัน แล้วมันเหนื่อย แต่ก็ต้องเสียสละ คือการเป็นนักข่าวมันอาจจะอยู่ในช่องที่เป็นของรัฐ ช่องที่เป็นของสาธารณะ หรือในช่องที่เป็นธุรกิจ แต่โดยรวมๆแล้วมันเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะไม่ว่าคุณจะอยู่ในสังกัดใดก็ตาม สมมติว่ามีข่าวมาข่าวหนึ่ง คุณอาจจะอยู่ช่องสาธารณะ ช่องของรัฐ หรือเอกชนแต่ข่าวๆนั้นมันก็ทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอาชีพที่โดยมากต้องเสียสละ และที่สำคัญเงินเดือนนักข่าวก็ไม่เยอะมาก
+ อาชีพนักข่าวมีเกียรติอย่างไร?
ธนานุช: คือมันก็มีเกียรตินะ มันอาจจะไม่ได้มาในรูปของยศถาบรรดาศักดิ์ แต่เรารู้สึกว่ามันมีเกียรติก็เพราะว่าบางทีเราก็ไปทำเรื่อง เรื่องบางเรื่องจากเรื่องที่มันสำคัญมันมีประโยชน์แต่มันก็อยู่ของมันเฉยๆ แต่ว่าถ้าเราได้ไปหยิบได้นำเสนอขึ้นมา มันก็ให้เรื่องนั้นเป็นที่รับรู้ขึ้นมาจะมากจะน้อยต่างกันไป แต่คนทำก็จะรู้สึกว่าเออ... เราก็ทำประโยชน์ เราก็ทำในสิ่งที่มันถูกต้อง โอเคมันอาจจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยแต่ว่าในก็ มันก็มีเกียรติด้วยตัวของมัน ด้วยชิ้นงานของมัน เพราะมันได้ออกอากาศ ออกหนังสือพิมพ์ ออกอะไรก็ตามแต่ มันก็เป็นเพราะเราก็ได้ไปหยิบมา เรื่องบางเรื่องมันสำคัญมากนะ แต่ไม่เคยมีนักข่าวไปทำเลย
.....
ท่านสามารถอ่านในรูปแบบหนังสือพิมพ์อิเล็คโทรนิค (E-Newspaper) ได้ที่นี่ http://issuu.com/tanpisitlerdbamrungchai/docs/nj_print_new_2-2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น