วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : MultiJournalism

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : MultiJournalism
โดย ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย

ถ้าบอกว่าเป็น เหล้าเก่าในขวดใหม่ก็คงไม่ผิดสำหรับความคิด ความรู้สึกของผมกับ นักข่าวสายพันธุ์ใหม่เพราะเนื้อหา (Content) นั้นเป็นของเดิม แต่วิธีการผลิตที่ง่ายและมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นในการสื่อสารออกไป ทำให้หลายองค์กรสื่อต้องบอกนักข่าวให้ปรับตัว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ และเพื่อขยายฐานของผู้รับสารมากขึ้น

ผมย้อนอ่านบทความ และรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆ ยุคพ่อยุคแม่ ที่พอจะมีคนแสกนแล้วเอาลงอินเตอร์เน็ตไว้ให้ได้ลองสืบค้นดู อ่านแล้วก็คิดว่า บางทีนักข่าวยุคก่อนก็รายงานข่าวได้ดีกว่ายุคนี้ด้วยซ้ำไป และยิ่งตอกย้ำความรู้สึกลงไปอีกเมื่อผมย้อนดูคลิปสกู๊ปเก่าๆของไอทีวียุคต้นในยูทูป พี่ๆที่ทำข่าวในเวลานั้น ทำได้กระชับและน่าสนใจกว่านักข่าวยุคปัจจุบัน ผมอดแชร์คลิปนี้ลงในเฟซบุ๊คของตัวเองไม่ได้ ผมเขียนในโพสนั้นด้วยว่า เก่าแต่เก๋า รุ่นเราจะทำได้กระชับ รอบด้าน น่าสนใจแบบนี้มั้ยหนอ
นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ถูกพูดถึงหลังจากที่คนในสังคมได้รู้จักกับอินเตอร์เน็ต และการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วจนเกิดมือถือที่สามารถถ่ายภาพได้ นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ก็บูมมากขึ้นหลังจากนั้น

ปี 2549 หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ โดยแฟรงค์ อาเรนส์ ได้นำเสนอเรื่องราวแนวคิดและความเคลื่อนไหวของค่ายหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มบริษัทกาเน็ตต์ เจ้าของกลุ่มหนังสือพิมพ์ในเครือกว่า 90 ฉบับ รวมถึง ยูเอสเอทูเดย์ที่สะท้อนแนวโน้มหนังสือพิมพ์ยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

แฟรงค์เปิดเรื่องราวของเขาได้น่าสนใจด้วยการจับสังเกตการทำงานของ ชัค ไมรอนผู้สื่อข่าววัย 27 ปีของหนังสือพิมพ์ฟอร์ท ไมเออร์ นิวส์เพรส หนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่กลุ่มกาเน็ตต์ เป็นเจ้าของ ชัคเป็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกขนานนามว่า กลุ่มโมโจส์ (mojos: mobile journalists) ผู้มีออฟฟิศอยู่ในรถยนต์ส่วนตัว จับตามองความเคลื่อนไหวรอบตัว คอยสัมภาษณ์บุคคลที่น่าจับตาในท้องถิ่น และพร้อมจะส่งข่าวผ่านโน้ตบุ๊คประจำตัว 

รายงานของวอชิงตันโพสต์ อธิบายว่า ผู้ทำหน้าที่สื่อข่าวกลุ่มโมโจส์นี้ มักจะมีอุปกรณ์ไฮเทค เช่น โน้ตบุ๊ค เครื่องอัดเสียงดิจิตอล และกล้องวิดีโอดิจิตอล ประกอบการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะทำงาน เก้าอี้ หรือออฟฟิศ และจะใช้เวลาอยู่ตามท้องถนนเพื่อมองหาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งข่าวหลายชิ้นต่อวันเข้าสู่เว็บไซต์รวมถึงฉบับพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ที่สังกัด 

วิธีการทำงานของพวกเขาก็คือ รายงานความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเกี่ยวกับสิ่งที่มีความเป็นท้องถิ่นโดยเฉพาะ เน้นเนื้อหาที่สดใหม่บนเว็บ โละแบบแผนดั้งเดิมในเรื่องคุณค่าข่าว ทั้งหมดนี้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเป็นผู้นำของหนังสือพิมพ์กับรูปแบบออนไลน์
ปี 2556 เราเห็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ แบบชัคมากขึ้นในวงการสื่อสารมวลชนไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ความสะดวก เร็วรวดในกระบวนการผลิตข่าว ตอบสนองความต้องการรับรู้ข่าวสารของคนยุคนี้ได้อย่างทันทีทันใด

นักวิชาการเรียกพวกเขาว่า นักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานหลายสื่อ (multijournalism) เนื่องเพราะการกระจายธุรกิจจากสื่อสิ่งพิมพ์ ไปสู่สื่อแพร่ภาพและเสียง สื่อออนไลน์ เรียกร้องให้นักข่าวรุ่นใหม่ต้องมีทักษะในการทำงานหลายสื่อในขณะเดียวกัน

ถึงกระนั้น เราคงเคยสังเกตุเห็นว่า ความรวดเร็วในกระบวนการผลิตข่าว ก็นำมาซึ่งการขาดความรอบครอบ และดูเหมือนว่าจรรยบรรณในวิชาชีพจะถูกท้าทายด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ด้วย จึงพบว่ามีข่าวปล่อย ข่าวผิด ข่าวลือให้เห็นตามสื่อออนไลน์ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

สถานการณ์ของเทคโนโลการสื่อสารที่เติบโตไปอย่างรวดเร็ด อุปกรณ์ชิ้นเดียว ชิ้นเล็กๆ ก็สามารถสามารถพิมพ์งาน ถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บันทึกเสียง พร้อมทั้งโทรเข้า โทรออกได้ ซึ่งบีบให้คนที่ทำธุรกิจสื่อมวลชน บีบให้นักข่าวต้องปรับตัวในการทำงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตอีกทีหนึ่ง

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Chicago Sun-Times ของสหรัฐฯ ประกาศโล๊ะช่างภาพประจำทั้งหมด 28 คน วิธีการทดแทนช่างภาพที่หายไปจากห้องข่าวของเขาก็คือการฝึกนักข่าวให้ใช้ iPhone เพื่อถ่ายรูปแทนช่างภาพที่หายไป
าพประจำออก ก็เพื่อหันไปให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาที่เป็นวีดีโอไปกับข่าว และเพื่อที่จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ก็จะต้องปรับวิธีการบริหารสื่อหลากหลาย รวมถึงการทำงานด้านภาพ

แม้การเป็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่จะช่วยตอบโจทย์กับคนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของสื่อ และกลุ่มคนที่เสพสื่อ แต่อย่าลืมว่าเนื้อหา หลักการ วิธีการ และจริยธรรม จรรยาบรรณในการทำข่าวก็เป็นสิ่งที่เราถูกสอนต่อๆกันมา และควรคงหลักการอันดีงามแบบนี้เอาไว้ สิ่งนี้ที่ผมขอเปรียบเทียบว่ามันคือ เหล้าเก่าส่วนอุปกรณ์ที่มาช่วยทำให้เราสามารถผลิตข่าวได้เร็วมากขึ้น และช่องทางการรับสารที่มีมากขึ้นก็คือ ขวดใบใหม่

ผมเห็นว่าเรากำลังตื่นเต้นกับนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ จนบางทีอาจละทิ้งหลักการดีดีที่มีอยู่เดิม มันก็เหมือนกับคนที่เห่อขวดเหล้าใบใหม่ที่มีรูปทรงสวยงาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ...เราต้องการจะลิ้มรสชาติของสิ่งที่อยู่ในขวดใบนั้น มิใช่หรือ


///////////////////////////////////////////

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : เปลียนแปลงอย่างไรให้จริยธรรมคงเดิม

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : เปลียนแปลงอย่างไรให้จริยธรรมคงเดิม
โดย ฌาวิตรา พัฒนาอารยสกุล


ในยุคที่การสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป สู่ยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดมิติใหม่ทางด้านสัมพันธภาพของมนุษย์ ทั้งการสนทนาระหว่างบุคคล และการสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลอย่างไร้พรมแดน แน่นอนว่า เมื่อการสื่อสารเปลี่ยน องค์ประกอบของการสื่อสารก็ย่อมเปลี่ยนด้วยเช่นกัน


วิชาชีพหนึ่งที่ต้องพึงระวังในเรื่องของการสื่อสารเป็นอย่างมาก คืออาชีพนักข่าว ยิ่งการสื่อสารภายในโลกโซเชียลมีเดียด้วยแล้วยิ่งต้องระมัดระวังเป็นสองเท่า 

ปัจจุบันการนำเสนอข่าวสารหรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดเรื่องราว ไปยังประชาชนมีหลากหลายช่องทางให้นักข่าวเลือกสรรค์ ทั้งช่องทางที่เป็นสื่อดั้งเดิมอย่าง วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อใหม่ในโลกโซเชียลมีเดียอย่าง เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ดาราและบุคคลทั่วไปอย่างอินตราแกรม

อย่างไรก็ตาม ช่องทางที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นช่องทางที่ประชาชนใช้ในการส่งสารและรับสารด้วยเช่นกัน  เมื่อประชาชนมีความต้องการที่จะรับรู้ข่าวสารข้อมูลมากขึ้น การทำหน้าที่ของนักข่าวจึงบกพร่องไม่ได้เป็นอันขาด   และด้วยความต้องการที่จะรับรู้ข่าวสารของประชาชนในโลกโซเชียลมีเดียนี่เอง ทำให้นักข่าวต้องเร่งพัฒนาฝีไม้ลายมือในการรายงานข่าวและความเคลื่อนไหวต่างๆในสังคม จนกลายเป็น นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ ”  ที่มีบทบาทในโลกโซเซียลมีเดียเพิ่มขึ้น

การรายงานข่าวสารผ่านตัวอักษรในรูปแบบประโยคที่กระชับ  สั้นง่าย ได้ใจความ และคนที่ติดตามข่าวสารที่เราเป็นคนรายงานลงไปนั้น ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกลับได้เช่นกัน 

การใช้สื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นอีกโลกหนึ่งของข่าวสาร ได้สร้างความท้าทายในการทำงานให้กับนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องปรับตัวด้านเนื้อหามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องของเนื้อหาข่าวสารนั้นยิ่งต้องระวังในการใช้ถ้อยคำในการสื่อสารพร้อมทั้งต้องคำนึงว่าการนำเสนอข่าวสารชิ้นนั้น ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากในทางที่เสียหาย

ดังนั้นนักข่าวยุคนี้จึงต้องคำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการนำเสนอข่าวอย่างเคร่งครัด  เพราะในโลกออนไลน์หากเกิดการผิดพลาดก็ยากที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องมาจากความรวดเร็วของการเสพสื่อทางโซเชียลมีเดียที่ผู้รับสารอาจจะขาดการไตร่ตรองและใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว จนบางครั้งส่งผลให้เกิดการส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาดและเกิดผลกระทบต่อสังคมตามมาอย่างมากมาย  


/////////////////////////////////////////////////////////////////

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : เหรียญ 2 ด้าน

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : เหรียญ 2 ด้าน
โดย ธัญญา วาดวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่มหาวิทยาลัยเนชั่น

          คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ข่าวสารเรื่องราวต่างๆถึงเยอะแยะปรี่ล้นไปหมด? คุณจะไปไหนมาไหนหรือทำอะไร ก็มักเจอแต่ข่าว จนอาจเรียกได้ว่าข่าวก็เหมือนกับเงาซึ่งแทบจะวิ่งตามคุณอยู่ทุกขณะจิต หมดแล้วซึ่งยุคสมัยที่คนต้องดั้นด้นไปล่าข่าวหรือรอเสพข่าวจากสื่อกระแสหลัก เพราะเทคโนโลยีที่มนุษย์เรียกกันว่า สื่อใหม่ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีของสื่อมวลชน ให้กลายเป็นยุคสมัยที่ข่าวสารหันมาไล่ล่าคนข่าวอย่างดุเดือด
          จากภาพวาดบนผนังถ้ำ สัญลักษณ์แปลกๆ ตัวอักษรโบราณ พิราบส่งสาร ม้าเร็ว แท่นพิมพ์ ใบปลิว หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อเก่าเหล่านี้ หากมองอย่างเป็นกลางจะเห็นว่า ล้วนแต่มีช่องโหว่ทางการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารทางเดียว การผูกขาดทางข้อมูล ไหนจะการปิดหูปิดตาประชาชน การให้ความรู้ผิดๆ การหลอกใช้ และอื่นๆนี่คือตัวอย่างเล็กน้อยต่ออดีตอันมัวหมองของวงการสื่อมวลชน
           ทว่ายุคสื่อใหม่นี้ ขอเพียงแค่คุณมีสมาร์ทโฟนสักเครื่องผสานกับความสามารถในการใช้อุปกรณ์สักหน่อย คุณก็สามารถเป็นนักข่าวสมัครเล่น นักข่าวพลเมือง หรือนักข่าวกำมะลอ ได้ทั้งนั้น (ตามแต่ที่นักข่าวอาชีพจะสารพัดนิยาม)
          จึงไม่แปลกนัก ที่ทุกวันนี้ มนุษย์ทั้งหลาย จะเห่อเทคโนโลยี สื่อใหม่ กันอย่างคลั่งไคล้ เพราะในสื่อใหม่ พวกเขาสามารถสร้างโลกเสมือนบนอินเตอร์เน็ต ผ่านสิ่งที่เรียกว่า สังคมออนไลน์ ต่างๆ ทั้งเฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด ยูทูป ทวิตเตอร์ ฯลฯ ซึ่งปฏิวัติวงการสื่อเก่าอย่างเกินคาดเดา พวกเขาสามารถพูดคุย แสดงทัศนะวิจารณ์สังคม นำเสนอข่าวด่วนข่าวร้อนชนิดวินาทีต่อวินาที และเป็นการสื่อสารสองทางที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนประเทศใด ก็สามารถเข้ามาเสพเนื้อหาและแสดงความเห็นได้อย่างเสรี
กระทั่งคำว่า สื่อผูกขาด ถูกกลบทิ้งและแทนที่ด้วยคำว่า สื่อทางเลือกในที่สุด
          สื่อมวลชนอาชีพ ถูกการเปลี่ยนแปลงโจมตีเข้าอย่างหนัก ฉันมักเห็นสื่อมวลชนยุคสามสี่ปีมานี้ ชอบนำเสนอข่าวโดยนำข้อมูลรวมถึงรูปภาพของเฟสบุ๊คหรือเว็บไซต์ต่างๆมาอ้างอิง (เช่น ข่าวอุทกภัย54 , ข่าวรูปหลุดพระมิตซูโอะกับสีกาแอน) นักข่าวตัวจริงเริ่มหันมาเกาะติด ยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลง และพยายามปรับตัวให้รอดต่อวิวัฒนาการที่เกิดขึ้น
          เหรียญมีสองด้านฉันใด สื่อใหม่ก็มีมุมมืดแฝงเร้นฉันนั้น จริงอยู่ที่ประชาชนสามารถมีหูตาที่กว้างไกลขึ้น ทั้งยังสามารถวิพากษ์และตรวจสอบสื่อได้มากขึ้น แต่สื่อใหม่ก็ขาดศักยภาพในการตรวจสอบตนเองเช่นกัน ทำให้หลายข่าวสารหลายบทความหลายความเห็น มักถูกนำเสนออย่างไร้จรรยาบรรณ (ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ไม่จำเป็นว่าต้องประกอบอาชีพสื่อมวลชน) เช่น ข่าวสาวซีวิค ซึ่งผู้คนออกมาประณามเยาวชนที่อายุไม่ถึง18 ปี อย่างเจ็บแสบ ทั้งมีการนำรูปภาพของสาวน้อยซีวิคคนดังกล่าวออกมาเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้ง หรือเว็บไซต์ที่ให้ผู้คนสามารถหมิ่นสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเต็มสตรีม เป็นต้น (หากเป็นสื่อกระแสหลัก แล้วเสนอข่าวด้วยพฤติกรรมดังกล่าว ต้องถูกรัฐดำเนินคดี)
          ดังนั้น ฉันจึงคิดว่า จะดีกว่าไหม หากเรานำเฉพาะข้อดีของนักข่าวทั้งสองสายพันธุ์(ใหม่และเก่า) มาประยุกต์ใช้กับตัวเอง นำการมองทิศทางข่าว การเสนอข่าว และจริยธรรมสื่อจำพวกหมาเฝ้าบ้าน (watchdog) และนายทวารข่าวสาร (gatekeeper) ของนักข่าวสายพันธุ์เก่า มาใช้กับความรวดเร็วร้อนแรงและลุ่มลึก ของนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ข่าวออกมาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
          ฉันคิดว่า นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ต้องเป็นหมาเฝ้าบ้าน(watchdog) ที่สัตย์ซื่อต่อเจ้าของบ้าน(ประเทศ) มิใช่จะพยายามทำตัวให้เป็นหมาขี้เรื้อน ซึ่งมักจ้องแต่จะ เห่าและ กิน ไปเรื่อยโดยไร้สำนึก ทั้งเป็นกระจกที่สะท้อนสังคม บอกเล่าทุกเรื่องราว เป็นนายทวารข่าวสาร (gatekeeper) ซึ่งกลั่นกรอง จริงและเท็จ อย่างมีคุณธรรม
ท้ายสุดแล้วนักข่าวยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม(social responsibility) ผลักดันสังคมให้ก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เพราะคนข่าวมิได้มีหน้าที่แค่รายงานข่าวเท่านั้น
///////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

THE NATION พักงานบก.-นักข่าวหลังลงข่าวผิด, กก.จริยธรรมสื่อชื่มชม มีสปริตรับผิดชอบ

THE NATION พักงานบก.-นักข่าวหลังลงข่าวผิด, กก.จริยธรรมสื่อชื่มชม  มีสปริตรับผิดชอบ
ภาพจาก http://www.manager.co.th/0

ภาพจาก http://www.manager.co.th/0


กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ชี้กรณี THE NATION ลงข่าวว่านายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นสามีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แล้วออกมายอมรับผิดโดยไม่ชักช้า  ถือว่าได้แสดงความรับผิดชอบตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพแล้ว

นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขียนข้อความถึงกรณีการลงข่าวผิดพลาดของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ในกลุ่มเฟซบุ๊ค วารสารศาสตร์แห่งอนาคต (Journalism of the Future)ว่า จากกรณีที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เสนอข่าวคลาดเคลื่อนในบทความ เรื่อง ‘Many wonder about Yinglucks ice-cream gang and its power ซึ่งเมื่อรู้ว่าข้อความในบทความมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนอันอาจนำความเสียหายแก่บุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เมื่อ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ได้ลงข้อความขอโทษนายกรัฐมนตรีและผู้ที่ถูกพาดพิงซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากบทความ และเมื่อ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ยังได้ออกคำชี้แจง พร้อมทั้งส่งคำขอโทษและแสดงความเสียใจไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกคำรบหนึ่ง 

กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เขียนต่อไปอีกว่าการกระทำของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นโดยไม่ชักช้า เมื่อรู้ว่าเกิดข้อผิดพลาด เป็นไปตามข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๑๒ "ในกรณีที่มีการเสนอข่าวผิดพลาดหนังสือพิมพ์ต้องลงพิมพ์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว โดยไม่ชักช้า" ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ยังมีการลงโทษผู้รับผิดชอบในกองบรรณาธิการ นอกเหนือจากการส่งหนังสือขอขมาและแสดงความเสียใจไปยังผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและผู้เกี่ยวข้องอีกทางหนึ่งด้วย 

ผมจึงเห็นว่าหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้แสดงความรับผิดชอบตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพแล้วนายบรรยงค์ ระบุ

ในวันเดียวกัน  ผู้บริหารหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้สั่งพักงานผู้สื่อข่าวประจำโต๊ะข่าวการเมืองรายหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือนและค่าจ้าง ส่วนบรรณาธิการ และ น.ส.จินตนา ปัญญาอาวุธ บรรณาธิการบริหาร ถูกพักงาน 1 สัปดาห์ หลังจากที่หนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 ก.ค.) โต๊ะข่าวการเมืองได้ตีพิมพ์รายงานพิเศษในหัวข้อ "Many wonder about Yinglucks ice-cream gang and its power." ซึ่งกล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวหาว่ามีแก๊งไอติมคอยติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมทั้งสั่งให้ติดต่อขอโทษกับผู้เสียหายโดยตรง
      
ตอนหนึ่ง รายงานพิเศษระบุว่า บุคคลที่เรียกว่าแก๊งไอติมในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ล้วนแล้วแต่เป็นคนวงในทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง และอาจมี พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. อย่างไรก็ตาม พบว่ารายงานชิ้นนี้มีความผิดพลาด เนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ในรายงานระบุว่าเป็นสามีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
      
“It is widely believed that the second ice-cream gang includes the inner circle at Government House. They include PM's secretary-general Suranand Vejjajiva; the government spokesman team; Yingluck's husband Settha Thaweesin; Public Health Minister Pradit Sinthawanarong; Deputy Prime Minister and Finance Minister Kittiratt Na-Ranong; and perhaps even Thawee Sodsong, secretary-general of the Southern Border Provinces Administration Centre.” รายงานพิเศษของ นสพ.เดอะเนชั่น ระบุ
      
เมื่อวานนี้ 7 ก.ค. นสพ.เดอะเนชั่น ได้ประกาศขออภัย โดยระบุว่า เกิดความผิดพลาดในการระบุตำแหน่งของนายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจ ขออภัยอย่างลึกซึ้งและสำนึกผิดอย่างไม่มีเงื่อนไขในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และขอโทษจากใจจริงไปยังนายเศรษฐา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดครั้งนี้

คำชี้แจงจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

 จากกรณีที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นฉบับวันที่6 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ได้นำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนในบทความเรื่อง “Many wonder about Yinglucks ice-cream gang and its power ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างในบทความเป็นอย่างมาก 

 หลังทราบถึงความผิดพลาดดังกล่าวทางกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้มีการลงข้อความขอโทษน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่อาจจะได้รับผลกระทบจากบทความชิ้นนี้ทันทีในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 

 กองบรรณาธิการเดอะเนชั่นยังได้มีการแจ้งไปยังนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในทันทีเพื่อแสดงความขอโทษและความเสียใจ และยังได้ประสานเพื่อส่งหนังสือขอขมาต่อนายกรัฐมนตรีในความผิดพลาดครั้งนี้อย่างเป็นทางการด้วย

 นอกจากนี้กองบรรณาธิการเดอะเนชั่นยังได้มีการส่งคำขอโทษและคำแสดงความเสียใจไปยังนายเศรษฐาทวีสิน   

 กองบรรณาธิการเดอะเนชั่นรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอน้อมรับความผิดพลาดครั้งนี้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียบเรียงและการแปลข่าวซึ่งทางกองบรรณาธิการเดอะเนชั่นได้สั่งลงโทษรีไรท์เตอร์รวมทั้งบรรณาธิการ และบรรณาธิการบริหาร ขั้นรุนแรงด้วยการสั่งพักงาน 

 กองบรรณาธิการเครือเนชั่นตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความเสียหายที่มีต่อความน่าเชื่อถือของสื่อในเครือจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทบทวนระบบการทำงานภายในเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้อีก

 กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น
 8 กรกฎาคม พ.ศ.2556

////////////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; Nation U News Club

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ต้องชำแหละเนื้อหาการสอนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน ! รับอาเซียน

ต้องชำแหละเนื้อหาการสอนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน ! รับอาเซียน



สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย จี้ศธ.ชำแหละเนื้อหาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ถากถางชาติเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมพร้อมด้านทัศนะคติสู่อาเซียน ขณะเดียวกันได้ร่อนจดหมายถึงรมว.ศธ.คนล่าสุดให้ปฎิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง พัฒนาคุณภาพครู และเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น
6 ก.ค. 2556 ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยได้จัดวงเสวนา “ทิศทางนักเรียนไทยในอนาคต” โดยนายกิตติ วิวัฒน์สัตยา นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นผู้ดำเนินการสนทนาได้กล่าวว่า ปัจจุบันเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ยอมระบุไว้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบ ไม่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ในแง่ลบของชาติตนเอง เช่นการที่ไทยเคยตีเมืองลาว และกัมพูชาด้วยความรุนแรง หนักยิ่งกว่าพม่าตีกรุงกรุงอยุธยาจนทำให้เสียกรุงครั้งที่ 2 อีกทั้งเรื่องที่พม่ารีดทองจากกรุงศรีอยุธยากลับไปบ้านเมืองของตนยังถูกพูดถึงในสังคมไทย และในชั้นเรียนกันอยู่ ขณะที่อีก 2 ปีข้างเราก็ต้องเป็นหนึ่งกับประชาคมอาเซียน เราจึงควรมีความรู้สึกกับประเทศเพื่อนบ้านที่ดีมากกว่านี้
“ประวัติศาสตร์มักถูกเขียนขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเล่าประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันต่อไปอีกหน่อย อาจทำลายผลประโยชน์ของคนกลุ่มนั้นลงทันที อย่างประวัติศาสตร์ที่ไกล้ๆยุคเราเช่น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 หรือไกล้เข้ามาอีกเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เรายังเล่าต่างกัน และต่างฝ่ายก็เล่าไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็ควรวิพากย์วิจารณ์และตั้งคำถามกับตัวละครที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้ ควรศึกษาความผิดพลาดในอดีต เพื่อเป็นบทเรียนกับเราทั้งในปัจจุบัน และอนาคต” กิตติ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าว
ด้านนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย กล่าวว่าภาครัฐต้องหยุดยัดเยียดอุดมการณ์รักชาติ หรือความเป็นไทยต่างๆ ต้องสอนให้นักเรียนกล้าตั้งคำถาม แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะรัฐต้องการควบคุมคน จึงเป็นไปได้ยากที่จะสอนให้เด็กกล้าตั้งคำถาม นักเรียนและผู้ปกครองผู้ตื่นรู้จึงควรรวมมือกัน เพื่อให้ลูกหลานในอนาคตมีสติปัญญา มีวิจารณญาณโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้ใหญ่ตลอดเวลา
ขณะที่นายภัสนัย จิรฤกษ์มงคล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าวเสริมถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าว่านักเรียนไทยยังไม่รู้จัก AEC มากพอในแง่ของการศึกษาจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย หนึ่งในนั้นคือด้านภาษาอังกฤษ เมื่อภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารแต่ว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทย ยังเรียนไวยากรณ์เพื่อใช้สอบ คนที่ทำข้อสอบไวยากรณ์ได้ แต่กลับพูดสื่อสารไม่ได้มีให้เห็นมากมาย
“เราเคยไปดูการศึกษาประเทศอื่นหรือไม่ ว่าเขาจัดการศึกษากันอย่างไร ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาถึง 28% ของงบประมาณทั้งปี แต่ทำไมการศึกษาของเรามันไปไม่ถึงไหน งบประมาณที่ใช้ไปเป็นจำนวนมากมันเหมือนสูญเปล่า” ภัสนัย นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าว
ในวันเดียวกันตัวแทนสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย ได้อ่านแถลงการณ์ของสมาพันธ์ฯ ฉบับล่าสุดเขียนถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรียนร้องให้ปฎิรูปการศึกษาไทยอย่างจริงจัง ทั้งการปลูกฝังให้เยาวชนกล้าตั้งคำถาม และกล้าถกเถียงด้วยเหตุผล
เยาวชนกลุ่มนี้มองว่า การศึกษาไทยควรปรับปรุงตั้งแต่บุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากผลการสอบครูผู้ช่วย  เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สอบผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 7.06 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า คุณภาพของครูรุ่นใหม่ตกต่ำมาก เพราะฉะนั้นควรมีการส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพครู โดยอาจจัดสวัสดิการที่ดีให้แก่ครู เพื่อจูงใจให้คนเก่งมาทำอาชีพนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับในต่างประเทศ
สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ข้อสอบ ยังไม่มีความไม่เป็นธรรมกับเด็กทั้งประเทศ   เพราะข้อสอบยากเกินไป จนจำเป็นต้องเสียเงินกวดวิชาอีกทั้งข้อสอบยังเกิดความผิดพลาดทุกปี และไม่ได้ค่อยตรงตามเนื้อหาในชั้นเรียน
 “ในข้อสอบ O-Net วิชาสุขศึกษา ผมต้องทำข้อสอบแบบคนดี และตอบแบบโกหก ซึ่งบางคำถามก็สามารถตอบได้หลายทาง แต่ละคนก็มีความคิดเห็น มุมมองที่ต่างกัน ไม่มีใครถูกใครถูก แค่ข้อสอบก็จำกัดสิทธิเสรีภาพแล้ว” กิตติ วิวัฒน์สัตยา นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าว
ด้านเลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเริ่มเห็นความพยายามจากภาครัฐ ในการปฎิรูประบบการศึกษาไทยหลายอย่าง เช่น กรณีทรงผมนักเรียน และการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ที่จะมีความชัดเจนในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ คือความกล้าตั้งคำถาม  กับกฎระเบียบเดิม ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย
ทั้งนี้ สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษจิกายน 2555 โดยมีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  รับหน้าที่เลขาธิการสมาพันธ์ฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้  สังคมเปิดรับความคิดเห็นของเยาวชนมากขึ้น  ส่งเสริมให้เยาวชน  ตระหนักถึงความเท่าเทียมของมนุษย์ และส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการเมือง สังคม การศึกษา และประวัติศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาของสมาพันธ์ฯ เช่น นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์  นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์  ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนางสาวรสนา โตสิตระกูล

///////////////////////////////////////