นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : MultiJournalism
โดย ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย
โดย ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย
ถ้าบอกว่าเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ก็คงไม่ผิดสำหรับความคิด
ความรู้สึกของผมกับ “นักข่าวสายพันธุ์ใหม่” เพราะเนื้อหา (Content) นั้นเป็นของเดิม แต่วิธีการผลิตที่ง่ายและมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นในการสื่อสารออกไป
ทำให้หลายองค์กรสื่อต้องบอกนักข่าวให้ปรับตัว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ
และเพื่อขยายฐานของผู้รับสารมากขึ้น
ผมย้อนอ่านบทความ
และรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆ ยุคพ่อยุคแม่ ที่พอจะมีคนแสกนแล้วเอาลงอินเตอร์เน็ตไว้ให้ได้ลองสืบค้นดู
อ่านแล้วก็คิดว่า บางทีนักข่าวยุคก่อนก็รายงานข่าวได้ดีกว่ายุคนี้ด้วยซ้ำไป
และยิ่งตอกย้ำความรู้สึกลงไปอีกเมื่อผมย้อนดูคลิปสกู๊ปเก่าๆของไอทีวียุคต้นในยูทูป
พี่ๆที่ทำข่าวในเวลานั้น ทำได้กระชับและน่าสนใจกว่านักข่าวยุคปัจจุบัน
ผมอดแชร์คลิปนี้ลงในเฟซบุ๊คของตัวเองไม่ได้ ผมเขียนในโพสนั้นด้วยว่า “เก่าแต่เก๋า รุ่นเราจะทำได้กระชับ รอบด้าน น่าสนใจแบบนี้มั้ยหนอ”
นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ถูกพูดถึงหลังจากที่คนในสังคมได้รู้จักกับอินเตอร์เน็ต
และการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วจนเกิดมือถือที่สามารถถ่ายภาพได้
นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ก็บูมมากขึ้นหลังจากนั้น
ปี 2549 หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ โดยแฟรงค์
อาเรนส์
ได้นำเสนอเรื่องราวแนวคิดและความเคลื่อนไหวของค่ายหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มบริษัทกาเน็ตต์
เจ้าของกลุ่มหนังสือพิมพ์ในเครือกว่า 90 ฉบับ รวมถึง “ยูเอสเอทูเดย์” ที่สะท้อนแนวโน้มหนังสือพิมพ์ยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
“แฟรงค์” เปิดเรื่องราวของเขาได้น่าสนใจด้วยการจับสังเกตการทำงานของ “ชัค ไมรอน” ผู้สื่อข่าววัย 27 ปีของหนังสือพิมพ์ฟอร์ท ไมเออร์ นิวส์เพรส
หนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่กลุ่มกาเน็ตต์ เป็นเจ้าของ ชัคเป็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกขนานนามว่า
กลุ่มโมโจส์ (mojos: mobile journalists) ผู้มีออฟฟิศอยู่ในรถยนต์ส่วนตัว จับตามองความเคลื่อนไหวรอบตัว
คอยสัมภาษณ์บุคคลที่น่าจับตาในท้องถิ่น และพร้อมจะส่งข่าวผ่านโน้ตบุ๊คประจำตัว
รายงานของวอชิงตันโพสต์ อธิบายว่า ผู้ทำหน้าที่สื่อข่าวกลุ่มโมโจส์นี้
มักจะมีอุปกรณ์ไฮเทค เช่น โน้ตบุ๊ค เครื่องอัดเสียงดิจิตอล และกล้องวิดีโอดิจิตอล
ประกอบการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะทำงาน เก้าอี้ หรือออฟฟิศ
และจะใช้เวลาอยู่ตามท้องถนนเพื่อมองหาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งข่าวหลายชิ้นต่อวันเข้าสู่เว็บไซต์รวมถึงฉบับพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ที่สังกัด
วิธีการทำงานของพวกเขาก็คือ
รายงานความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเกี่ยวกับสิ่งที่มีความเป็นท้องถิ่นโดยเฉพาะ
เน้นเนื้อหาที่สดใหม่บนเว็บ โละแบบแผนดั้งเดิมในเรื่องคุณค่าข่าว ทั้งหมดนี้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเป็นผู้นำของหนังสือพิมพ์กับรูปแบบออนไลน์
ปี 2556 เราเห็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่
แบบชัคมากขึ้นในวงการสื่อสารมวลชนไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ความสะดวก
เร็วรวดในกระบวนการผลิตข่าว
ตอบสนองความต้องการรับรู้ข่าวสารของคนยุคนี้ได้อย่างทันทีทันใด
นักวิชาการเรียกพวกเขาว่า
นักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานหลายสื่อ (multijournalism) เนื่องเพราะการกระจายธุรกิจจากสื่อสิ่งพิมพ์ ไปสู่สื่อแพร่ภาพและเสียง
สื่อออนไลน์
เรียกร้องให้นักข่าวรุ่นใหม่ต้องมีทักษะในการทำงานหลายสื่อในขณะเดียวกัน
ถึงกระนั้น เราคงเคยสังเกตุเห็นว่า
ความรวดเร็วในกระบวนการผลิตข่าว ก็นำมาซึ่งการขาดความรอบครอบ
และดูเหมือนว่าจรรยบรรณในวิชาชีพจะถูกท้าทายด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ด้วย
จึงพบว่ามีข่าวปล่อย ข่าวผิด ข่าวลือให้เห็นตามสื่อออนไลน์ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
สถานการณ์ของเทคโนโลการสื่อสารที่เติบโตไปอย่างรวดเร็ด
อุปกรณ์ชิ้นเดียว ชิ้นเล็กๆ ก็สามารถสามารถพิมพ์งาน ถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว
บันทึกเสียง พร้อมทั้งโทรเข้า โทรออกได้ ซึ่งบีบให้คนที่ทำธุรกิจสื่อมวลชน
บีบให้นักข่าวต้องปรับตัวในการทำงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตอีกทีหนึ่ง
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์
Chicago
Sun-Times ของสหรัฐฯ ประกาศโล๊ะช่างภาพประจำทั้งหมด 28 คน วิธีการทดแทนช่างภาพที่หายไปจากห้องข่าวของเขาก็คือการฝึกนักข่าวให้ใช้ iPhone เพื่อถ่ายรูปแทนช่างภาพที่หายไป
แม้การเป็นนักข่าวสายพันธุ์ใหม่จะช่วยตอบโจทย์กับคนหลายกลุ่ม
ทั้งกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของสื่อ และกลุ่มคนที่เสพสื่อ แต่อย่าลืมว่าเนื้อหา หลักการ
วิธีการ และจริยธรรม จรรยาบรรณในการทำข่าวก็เป็นสิ่งที่เราถูกสอนต่อๆกันมา
และควรคงหลักการอันดีงามแบบนี้เอาไว้ สิ่งนี้ที่ผมขอเปรียบเทียบว่ามันคือ “เหล้าเก่า” ส่วนอุปกรณ์ที่มาช่วยทำให้เราสามารถผลิตข่าวได้เร็วมากขึ้น
และช่องทางการรับสารที่มีมากขึ้นก็คือ “ขวดใบใหม่”
ผมเห็นว่าเรากำลังตื่นเต้นกับนักข่าวสายพันธุ์ใหม่
จนบางทีอาจละทิ้งหลักการดีดีที่มีอยู่เดิม
มันก็เหมือนกับคนที่เห่อขวดเหล้าใบใหม่ที่มีรูปทรงสวยงาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ...เราต้องการจะลิ้มรสชาติของสิ่งที่อยู่ในขวดใบนั้น
มิใช่หรือ
///////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น