วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : เหรียญ 2 ด้าน

นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ : เหรียญ 2 ด้าน
โดย ธัญญา วาดวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่มหาวิทยาลัยเนชั่น

          คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ข่าวสารเรื่องราวต่างๆถึงเยอะแยะปรี่ล้นไปหมด? คุณจะไปไหนมาไหนหรือทำอะไร ก็มักเจอแต่ข่าว จนอาจเรียกได้ว่าข่าวก็เหมือนกับเงาซึ่งแทบจะวิ่งตามคุณอยู่ทุกขณะจิต หมดแล้วซึ่งยุคสมัยที่คนต้องดั้นด้นไปล่าข่าวหรือรอเสพข่าวจากสื่อกระแสหลัก เพราะเทคโนโลยีที่มนุษย์เรียกกันว่า สื่อใหม่ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีของสื่อมวลชน ให้กลายเป็นยุคสมัยที่ข่าวสารหันมาไล่ล่าคนข่าวอย่างดุเดือด
          จากภาพวาดบนผนังถ้ำ สัญลักษณ์แปลกๆ ตัวอักษรโบราณ พิราบส่งสาร ม้าเร็ว แท่นพิมพ์ ใบปลิว หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อเก่าเหล่านี้ หากมองอย่างเป็นกลางจะเห็นว่า ล้วนแต่มีช่องโหว่ทางการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารทางเดียว การผูกขาดทางข้อมูล ไหนจะการปิดหูปิดตาประชาชน การให้ความรู้ผิดๆ การหลอกใช้ และอื่นๆนี่คือตัวอย่างเล็กน้อยต่ออดีตอันมัวหมองของวงการสื่อมวลชน
           ทว่ายุคสื่อใหม่นี้ ขอเพียงแค่คุณมีสมาร์ทโฟนสักเครื่องผสานกับความสามารถในการใช้อุปกรณ์สักหน่อย คุณก็สามารถเป็นนักข่าวสมัครเล่น นักข่าวพลเมือง หรือนักข่าวกำมะลอ ได้ทั้งนั้น (ตามแต่ที่นักข่าวอาชีพจะสารพัดนิยาม)
          จึงไม่แปลกนัก ที่ทุกวันนี้ มนุษย์ทั้งหลาย จะเห่อเทคโนโลยี สื่อใหม่ กันอย่างคลั่งไคล้ เพราะในสื่อใหม่ พวกเขาสามารถสร้างโลกเสมือนบนอินเตอร์เน็ต ผ่านสิ่งที่เรียกว่า สังคมออนไลน์ ต่างๆ ทั้งเฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด ยูทูป ทวิตเตอร์ ฯลฯ ซึ่งปฏิวัติวงการสื่อเก่าอย่างเกินคาดเดา พวกเขาสามารถพูดคุย แสดงทัศนะวิจารณ์สังคม นำเสนอข่าวด่วนข่าวร้อนชนิดวินาทีต่อวินาที และเป็นการสื่อสารสองทางที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนประเทศใด ก็สามารถเข้ามาเสพเนื้อหาและแสดงความเห็นได้อย่างเสรี
กระทั่งคำว่า สื่อผูกขาด ถูกกลบทิ้งและแทนที่ด้วยคำว่า สื่อทางเลือกในที่สุด
          สื่อมวลชนอาชีพ ถูกการเปลี่ยนแปลงโจมตีเข้าอย่างหนัก ฉันมักเห็นสื่อมวลชนยุคสามสี่ปีมานี้ ชอบนำเสนอข่าวโดยนำข้อมูลรวมถึงรูปภาพของเฟสบุ๊คหรือเว็บไซต์ต่างๆมาอ้างอิง (เช่น ข่าวอุทกภัย54 , ข่าวรูปหลุดพระมิตซูโอะกับสีกาแอน) นักข่าวตัวจริงเริ่มหันมาเกาะติด ยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลง และพยายามปรับตัวให้รอดต่อวิวัฒนาการที่เกิดขึ้น
          เหรียญมีสองด้านฉันใด สื่อใหม่ก็มีมุมมืดแฝงเร้นฉันนั้น จริงอยู่ที่ประชาชนสามารถมีหูตาที่กว้างไกลขึ้น ทั้งยังสามารถวิพากษ์และตรวจสอบสื่อได้มากขึ้น แต่สื่อใหม่ก็ขาดศักยภาพในการตรวจสอบตนเองเช่นกัน ทำให้หลายข่าวสารหลายบทความหลายความเห็น มักถูกนำเสนออย่างไร้จรรยาบรรณ (ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ไม่จำเป็นว่าต้องประกอบอาชีพสื่อมวลชน) เช่น ข่าวสาวซีวิค ซึ่งผู้คนออกมาประณามเยาวชนที่อายุไม่ถึง18 ปี อย่างเจ็บแสบ ทั้งมีการนำรูปภาพของสาวน้อยซีวิคคนดังกล่าวออกมาเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้ง หรือเว็บไซต์ที่ให้ผู้คนสามารถหมิ่นสถาบันกษัตริย์ได้อย่างเต็มสตรีม เป็นต้น (หากเป็นสื่อกระแสหลัก แล้วเสนอข่าวด้วยพฤติกรรมดังกล่าว ต้องถูกรัฐดำเนินคดี)
          ดังนั้น ฉันจึงคิดว่า จะดีกว่าไหม หากเรานำเฉพาะข้อดีของนักข่าวทั้งสองสายพันธุ์(ใหม่และเก่า) มาประยุกต์ใช้กับตัวเอง นำการมองทิศทางข่าว การเสนอข่าว และจริยธรรมสื่อจำพวกหมาเฝ้าบ้าน (watchdog) และนายทวารข่าวสาร (gatekeeper) ของนักข่าวสายพันธุ์เก่า มาใช้กับความรวดเร็วร้อนแรงและลุ่มลึก ของนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ข่าวออกมาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
          ฉันคิดว่า นักข่าวสายพันธุ์ใหม่ต้องเป็นหมาเฝ้าบ้าน(watchdog) ที่สัตย์ซื่อต่อเจ้าของบ้าน(ประเทศ) มิใช่จะพยายามทำตัวให้เป็นหมาขี้เรื้อน ซึ่งมักจ้องแต่จะ เห่าและ กิน ไปเรื่อยโดยไร้สำนึก ทั้งเป็นกระจกที่สะท้อนสังคม บอกเล่าทุกเรื่องราว เป็นนายทวารข่าวสาร (gatekeeper) ซึ่งกลั่นกรอง จริงและเท็จ อย่างมีคุณธรรม
ท้ายสุดแล้วนักข่าวยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม(social responsibility) ผลักดันสังคมให้ก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เพราะคนข่าวมิได้มีหน้าที่แค่รายงานข่าวเท่านั้น
///////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น