ปิดเทอมครึ่งปีรับอาเซียนนศ.แห่ฝึกงาน
ผู้ประกอบการแนะรัฐจัดคอร์สเรียนพิเศษไม่เสียตังค์ หวั่นเด็กว่างเดี๋ยวจะเป็นปัญหาสังคมได้
มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ.จะเลื่อนการเปิดภาคเรียนให้พร้อมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน
โดยเมื่อสิ้นเทอม 2 ปีการศึกษา 2556 จากเดิมที่จะเปิดเทอม
1 ปีการศึกษา 2557 ในเดือนมิถุนายน ก็เลื่อนเป็นช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือน
สิงหาคม ปี 2557 ขณะที่ผู้ใหญ่หวั่นเด็กอยู่ว่าง 6 เดือนเดี๋ยวจะเป็นปัญหาทางสังคมได้
เพราะไม่มีรายได้อีกทั้งช่วงปิดเทอมเด็กก็คงไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย
เผลอๆอาจกลายเป็นปัญหาในครอบครัว
นายพงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม
ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่นกล่าวว่าตามปกติมหาวิทยาลัยในไทยจะเปิดภาคเรียนที่
1 ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และภาคเรียนที่
2 ในเดือน พฤศจิกายน-มีนาคม แต่การเปิดเเบบสากล
จะเปิดภาคเรียนที่ 1 ในช่วงเดือนกันยายน- ธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเข้าเป็นประชาคมอาเซียนปี 2558
ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม กล่าวว่าการปรับเปลี่ยนการเปิดเทอมของสถาบันการศึกษาของไทยให้สอดคล้องกับประเทศอาเซียนอื่นๆนั้นจะมีผลดีทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษา
และอาจารย์ในภูมิภาคนี้กว้างขวางขึ้น อีกทั้งยังจะมีผลทำให้การพัฒนามาตรฐานสูงขึ้น
และการเทียบโอนรายวิชาก็สามารถจะทำได้อย่างสะดวกมากขึ้นเช่นกัน
“เท่าที่พอจะประเมินได้ ณ ขณะนี้ความพร้อมของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของไทยที่พร้อมจะเข้าสู่ระบบอาเซียน
เช่นว่านี้มีอยู่ประมาณ 10 แห่งจากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน
200 กว่าแห่งที่อยู่ในกลุ่ม ทปอ.หรือประมาณ
5% ซึ่งคงจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ปีแรกที่มีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิดเทอม
และเชื่อว่าน่าจะมีการทยอยปรับตัวได้มากขึ้นในปีต่อๆไป” นายพงษ์อินทร์
ระบุ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น กล่าวต่อว่าเมื่อทุกภาคส่วนในประเทศมีความตื่นตัวต่อการปรับตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวเป็น
“ประชาคมอาเซียน” ในอีกสองปีข้างหน้าโดยเฉพาะภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชนในทุกๆ
ด้านแล้ว สถาบันการศึกษาซึ่งควรจะเป็นแถวหน้าแห่งการผลักดันให้เกิดการปรับตัวให้ทันกับการเพิ่มพลวัตของภูมิภาคก็ย่อมจะต้องเร่งรัดการยกระดับของตนเองอย่างคึกคักเช่นกัน
นักศึกษาแห่ฝึกงาน
นางสาวธัญญา วาดวงษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น ปี 3 กล่าวเห็นด้วยกับการเปิดภาคเรียนพร้อมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนเพื่อความเป็นสากล
และกระตุ้นให้นักศึกษาด้วยกันตื่นตัวกับการเปิดประชาคมอาเซียนมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาดูไม่คึกคักเท่าที่ควร
“ส่วนตัวอยากแนะนำเรื่องการประชาสัมพันธ์ของทางมหาวิทยาลัย(เนชั่น) ที่ตอนนี้จะไม่มีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะเปิดตามอาเซียนแน่นอน
สำหรับแผนที่วางไว้ในช่วงเปิดเทอมที่ยาวถึง 6 เดือนคงจะไปหาที่ฝึกงาน
เพื่อเป็นการหาประสบการณ์และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์” ธัญญากล่าว
นางสาวมุกระวี ดีบุกคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น ปี
2 กล่าวว่าเพื่อนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเปิดเรียนในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
นำไปก่อนแล้วเป็นห่วงว่ามหาวิทยาลัยของตนจะตามไม่ทัน สำหรับการเปิดเรียนตามอาเซียนตนให้การยอมรับเพื่อความเป็นสากล
“ในช่วงปิดเทอมที่ยาวนานจะไปหาที่ฝึกงานเช่นกัน ฝึกแบบเต็มที่ไปเลย
6 เดือนเต็ม จะได้เป็นงานและใช้เวลาค้นหาตัวเองอย่างจริงจัง”
มุกระวี กล่าว
นางสาวพรหมพร อ่วมมณฑา นักศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น ปี
3 กล่าวว่าตนกำลังวางแผนไป
Work and Travel (ทำงานด้วยและเที่ยวด้วย) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
เพื่อเปิดโลกของตนเอง พร้อมทั้งฝึกฝนภาษาอังกฤษให้สามารถใช้งานได้จริง
ส่วนนางสาวบุษราคำ เพ็ชวงษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี
4 กล่าวว่าที่มหาวิทยาลัยของตนเริ่มเปิดภาคเรียนพร้อมอาเซียนไปตั้งแต่ปีการศึกษา
2555 แล้ว โดยรุ่นพี่ปี 4 เมื่อปีการศึกษา
2555 จบเร็วกว่าปกติ ส่วน ปี 4 รุ่นของตนเองนั้นถือว่าเป็นรุ่นอาเซียนรุ่นแรก
หวั่นเด็กว่าง 6 เดือนมีปัญหา
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เนชั่นบรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการควรหารือว่าจะทำอย่างไรกับช่วงว่าง
6 เดือนนี้สำหรับมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา และนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วต้องรอ
การคัดเลือกเข้ามา
“เด็กว่าง 6 เดือนเดี๋ยวมันจะเป็นปัญหาทางสังคมได้
เพราะเด็กไม่มีรายได้ แล้วช่วงหยุดก็คงไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย มันก็อาจจะเกิดปัญหาในครอบครัวได้
ฉะนั้นกระทรวงศึกษาธิการ หรือรัฐบาลควรเปิดคอร์สเรียนพิเศษสอนภาษา หรือฝึกทำอะไรก็ได้ที่เด็กสนใจ
เช่น โปรแกรมตัดต่อ โปรแกรมสอนภาษาหรืออะไรต่างๆ เรื่องความรู้เป็นหลักสูตรที่ไม่ต้องเสียเงิน
ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน หรือจะให้นักศึกษาช่วยงานรัฐเล็กๆน้อยๆ เช่น การสำรวจประชากรเป็นต้น”
นายอดิศักดิ์กล่าว
กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน) กล่าวต่อว่า เรื่องการฝึกงานคงไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผู้ประกอบการ
ว่าจะฝึกสั้นหรือฝึกยาว แต่หากความต้องการฝึกงานของนักศึกษามีจำนวนมาก ก็ต้องคัดเลือกจำกัดจำนวน
เพราะจำนวนนักศึกษาที่เยอะเกินไปพี่เลี้ยงไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึงได้
////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น