วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นักวิชาชีพ-นักวิชาการชี้ตรงกัน สื่อกระแสหลักต้องทำข่าว มี“ความน่าเชื่อถือ” ได้ทุกแพลตฟอร์ม

นักวิชาชีพ-นักวิชาการชี้ตรงกัน 
สื่อกระแสหลักต้องทำข่าว มี“ความน่าเชื่อถือ” ได้ทุกแพลตฟอร์ม



มหาวิทยาลัยเนชั่น ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “ความท้าท้ายและอนาคตของสื่อ” ชี้ยุคโซเชี่ยลมีเดีย สื่อกระแสหลักต้องเป็นเสียงที่ดังกว่า และมีความน่าเชื่อถือ แนะเตรียมตัวรับอาเซียน ภาษาอังกฤษสำคัญ เผยความท้าทายคนข่าวยุคใหม่ต้องทำข่าวได้ในทุกแพลตฟรอม

ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร หัวหน้าภาควิชาวารสารศาสตร์สารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัจจุบันเราเช็คข่าวผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้บทบาทของหนังสือพิมพ์ถูกท้าทาย มีจำนวนผู้อ่านลดลง อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ก็ยังคงมีบทบาทอยู่ เปลี่ยนจากเดิมอ่านแล้วทิ้ง ตอนนี้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องพัฒนาให้มีลักษณะสวยงามน่าซื้อเก็บ

ทั้งนี้ ทุกสื่อต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากโซเชี่ยลมีเดีย ตัวอย่างเช่นโซเชี่ยลทีวีที่ทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้สื่อหลักยังต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วย

“ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วขนาดไหนจิตวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์ต้องยังคงต้องมีอยู่ คือเรื่องจริยธรรม และจรรยาบรรณในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของสื่อสิ่งพิมพ์ให้มีอยู่ต่อไป”  ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าว

นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น เปรียบเทียบโซเชี่ยลมีเดียว่าเป็นเหมือนเวทีการสนทนาที่มีแต่เสียงอื้ออึง ถ้าสื่อกระแสหลักไม่ปรับตัวให้ดี ก็จะเป็นเพียงหนึ่งเสียงในหลายร้อยหลายพันเสียงของโลกแห่งความอื้ออึงนั้น

“ความท้าทายของสื่อกระแสหลักคือทำอย่างไรให้เราออกมาจากเสียงอื้ออึงนั้น แล้วกลายเป็นเสียงที่มีเหตุผล เป็นเสียงที่มีที่มาที่ไปชัดเจน คนฟังแล้วเกิดความน่าเชื่อถือ” นายเทพชัย ระบุ

บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น กล่าวอีกว่า นักนิเทศศาสตร์ยุคใหม่ต้องมีความรู้ในภูมิภาคอาเซียนด้วย และภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็นมาก นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองที่คุกคามสื่ออยู่ในเวลานี้ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย และซับซ้อน สำหรับนักข่าวรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

ด้านนายเทพพิทักษ์ มณีพงษ์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ ปี 3 ไม่ปฏิเสธว่าโซเชี่ยลมีเดียเป็นสื่อที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพียงแต่เราจะเป็นผู้รับสารเท่านั้นยังทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารด้วย ทำให้ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นนักข่าวได้ เมื่อข่าวจากคนธรรมดาถูกแชร์ ถูกรีทวิตส่งต่อกันมากๆ ก็มีกระแสเท่ากับสื่อกระแสหลัก

อย่างไรก็ตามสื่อกระแสหลักมีการการกลั่นกรอง มีระบบบรรณาธิการ จริงอยู่ที่การที่ทุกคนเป็นนักข่าวได้เป็นเรื่องดี แต่ตนมีความเป็นห่วงเรื่องความถูกต้องของข้อมูล และข่าวลวง

“เราในฐานะสื่อกระแสหลัก ควรทำหน้าที่กลั่นกรองข่าวสาร เป็นหลักให้กับสังคม และตรวจสอบข่าวลวงเพื่อลดความตื่นตระหนกของสังคมโดยไม่จำเป็น” นายเทพพิทักษ์ กล่าว

นายธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น คณะนิเทศศาสตร์ ปี 3 ยกตัวอย่างการปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย เช่นการจัดค่ายพิราบน้อย ครั้งที่ 16 ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการปรับหลักสูตร ในการอบรมหลักทำข่าวดิจิตอลเป็นครั้งแรก

“ผมเจอเพื่อนจากจุฬาฯ ได้แลกเปลี่ยนกัน เขามีลักษณะของความเป็นนักหนังสือพิมพ์สูงมาก โจไม่ค่อยชอบการทำข่าวแบบโทรทัศน์มากนัก ไม่ถนัดทั้งการถ่ายภาพ และการตัดต่อวีดีโอ แต่หลังจากที่ได้มาเจอการสอนทำข่าวโทรทัศน์ในค่ายพิราบน้อยซึ่งเป็นค่ายของนักหนังสือพิมพ์ เขาเข้าใจว่าตอนนี้วงการสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคหลอมรวมสื่อ นักข่าวหนึ่งคนต้องมีความสามารถผลิตชิ้นงานออกได้ในหลายช่องทาง” นายธัญพิสิษฐ์ กล่าว

นักศึกษามหาวิทยาลัยเนชั่น กล่าวอีกว่า ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลโดยไม่ต้องง้อสื่อกระแสหลัก สื่อมวลชนจึงต้องทำหน้าที่มากกว่าการรายงานข่าวสาร และจะเห็นได้ว่ากลไกส่วนราชการของรัฐไม่ทำงาน ทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางมาร้องเรียนกับสื่อมวลชนจึงมีคนสั่งการให้แก้ไขปัญหา ดังนั้นสื่อจึงไม่เพียงแต่รายปรากฎการณ์อีกต่อไป แต่ต้องนำเสนอข่าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อนาคตภาพการทำหน้าที่ของสื่อเช่นนี้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

///////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น