ผมขอเล่าเรื่อง “ตอบโจทย์”
เป็นคนสุดท้าย
สำนวนที่ว่า “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”
น่าจะเหมาะกับบรรยากาศในไทยพีบีเอสเป็นอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ หัวค่ำของคืนวันที่ 15
มีนาคม 2556 พี่ที่ผมรู้จักในไทยพีบีเอสแชทมาบอกทางเฟซบุ๊คว่า
ให้รอดูข่าวตอบโจทย์ หลังข่าวในพระราชสำนัก เพราะกองบรรณาธิการต้องการจะบอกกับคนดูว่า
ตอนนี้มีคนมาชุมนุมอยู่ในไทยพีบีเอสตั้งแต่เที่ยง เพื่อไม่ให้ออกอากาศเทป “ตอบโจทย์
ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยมีจำนวนคนมาชุมชนราว 30 แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่เกลี้ยวกาจ
แม้ผู้บริหารจะพยามอธิบายอย่างใจเย็น แต่สถานการณ์กลับไม่ได้เย็นตามใจของผู้บริหารที่เข้ามาเจรจา
บก.ตอบโจทย์แจง เคารพความเห็นต่าง
ก่อนหน้านั้นช่วงเที่ยง
เทปตอบโจทย์ ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส
วาระเร่งด่วน ผลปรากฎว่าสามารถนำออกอากาศได้ ตามหลักการของสื่อสาธารณะ ที่ต้องการให้พื้นที่กับคุนทุกฝ่าย
นำมาสู่ข่าวภาคค่ำ ในช่วงหลังข่าวในพระราชสำนักประมาณ
2 ทุ่มเศษๆ ในคืนวันเดียวกัน ไทยพีบีเอสยืนยันว่ายังคงนำเทปตอบโจทย์ออกอากาศต่อไป
พร้อมกับคำอธิบายจากทีมงานรายการตอบโจทย์
“บรรณาธิการรายการตอบโจทย์
ตระหนักว่า ประเด็นเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่อ่อนไหว
และถูกสอบถามถึงวัตถุประสงค์ของการนำเสนอรายการ
ในวันนี้ได้มีผู้ชมส่วนหนึ่งสะท้อนความคิดเห็น
และขอให้ยุติการออกอากาศรายการตอบโจทย์ ในค่ำวันนี้ ทีมงานบรรณาธิการรายการตอบโจทย์ประเทศไทย
เคารพความเห็นต่างอย่างหลากหลายพร้อมทั้งรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อห่วงใยของผู้ชมทุกภาคส่วน
และชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ ของผลิตรายการในประเด็นนี้
เพื่อเปิดพื้นที่ในการพูดคุยถึงประเด็นขัดแย้งทางสังคมที่มีอยู่จริงอย่างใครคร่วญตามแนวทางสันติ โดยมีความคาดหวังว่า ผู้ชมรายการทุกตอนจะชั่งน้ำหนักเหตุและผลของทุกๆฝ่าย
เพื่อประกอบการใช้วิจารณญาณ โดยคำตอบของคำถามทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งของเทปรายการที่จะออกอากาศในค่ำคืนนี้”
15 นาทีก่อนตอบโจทย์ออกอากาศ
นั่นเป็นเพียงข่าวที่ออกมาเมื่อเวลาประมาณ
2 ทุ่มเศษ
และเป็นข่าวที่นำมาซึ่งการตัดสินของผอ.ไทยพีบีเอส สมชัย สุวรรณบรรณ ในเวลาต่อมา พี่ที่ผมรู้จักเล่าให้ผมฟังว่า
สถานการณ์หลังจากข่าวที่บอกว่าจะเดินหน้าออกอากาศไปต่อนั้น
สร้างความไม่พอใจให้กับคนที่มาชุมนุมอยู่ราว 30 คน
และตัวเลขเพียง 30 คนนี่เองที่นำมาซึ่งคำถามว่า ถึงกับต้องระงับการออกอากาศเชียวหรือ
พี่ที่ผมรู้จักบอกต่อไปว่า ก็เพราะบรรยากาศช่วงนั้นอึมครึมมาก เสียงดัง
และข่มกันว่า จะเรียกให้พรรคพวกมาเพิ่มอีก ดูเหมือนจะรุ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ
สอดคล้องกับ
คำอธิบายของคุณสมชัย ผอ.ไทยพีบีเอสที่บอกว่า
ไม่มีข่าวไหนสำคัญไปมากกว่าความปลอดภัยของคนข่าว ในฐานะผู้บริหารสูงสุด
การตัดสินใจก่อนรายการจะออกอากาศอีกเพียง 15 นาทีข้างหน้าอย่างฉับพลันครั้งนี้
เป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยขององค์กร
และถนอมน้ำใจของผู้ชุมนุมจนยอมกลับบ้านในคืนนั้น
พลันเวลา 21.45
น. ซึ่งเป็นเวลาออกอากาศของเทปตอบโจทย์ ตอนสถาบันกษัตริย์
ก็ถูกเปลี่ยนเป็นตอนอื่นทันที พร้อมกับตัววิ่งที่อธิบายราวกับว่า เป็นการแบรนเทปนี้
ด้วยคำที่มีความหมายคลุมเคลือ คือ “ระงับ” ก่อนภายหลังจะออกมาว่า ชะลอการออกอากาศ
ก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะหลังจากนั้นคนในสังคมก็แบ่งข้างกันทันที
สะท้อนผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียดุเดือด และชัดเจน
นักวิชาการแนะแนวทางนำเสนอประเด็นอ่อนไหว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า
ประเด็นเรื่องพระมหากษัติย์ ในสังคมไทย เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้
แต่ก็ปฏิเสธความคิดเชิงวิพากษ์ ตามระบบสังคมประชาธิปไตยที่มีสิทธิเสรีภาพในการถกเรื่องนี้
ตามหลักเหตุและผลไม่ได้เช่นกัน หลักการของสื่อสาธารณะ ตีความคำว่าสาธารณะอย่างง่ายๆ
คือ เป็นทีวีของทุกคนทุกฝ่าย ที่สามารถใช้พื้นที่สื่อนี้ได้ไม่ว่าจะมีแนวคิดแบบใด
บนพื้นฐานของเหตุและผล เป็นไปอย่างอารยะ
ขณะเดียวข้อจำกัดในการนำเสนอประเด็นอ่อนไหว
ก็ต้องใช้ศาสตร์ และศิลป์แห่งการสื่อสาร อย่างรอบด้าน นักทำสารคดีอิสระอย่าง อาจารย์พิภพ
พานิชภักดิ์ ยกหลักการทางนิเทศศาตร์ที่เข้าใจง่ายๆ ว่า
“สำหรับคนทำทีวีเป็น
เราจะตระหนักดีว่า ถึงแม้นเราทำอะไรเป็นชุด หรือ เป็นตอน ๆ
ความสมบูรณ์ของเนื้อหาต้องจบในตอน ความรอบด้านต้องมีอยู่ในทุกตอน
เราไม่สามารถกล่าวอ้างว่าถ้า (ทน)
ดูจนจบแล้วจะเข้าใจความตั้งใจทั้งหมดของผู้ผลิตเนื้อหา กติกาทนดูจนจบพบได้ในภาพยนตร์
และ หนังสือ แต่ไม่ใช่กติกาของรายการโทรทัศน์
เพราะเราตระหนักถึงความจริงที่ว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะไม่ได้ติดตามดูทุกตอน
โทรทัศน์จึงไม่ง่ายอย่างที่คิด ธรรมชาติของ Broadcast จึงไม่เหมือน Niche Media จำพวก หนังสั้น และ
นิตยสาร ข้ออ้างที่บอกว่าช่วยไม่ได้ วัฒนธรรมการผลิตและชมทีวี จำเป็นต้องเปลี่ยน
เป็นข้ออ้างที่มักง่าย เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และ ไม่แสดงความรับผิดชอบ
ของคนที่ทำทีวีไม่เป็น”
“ภิญโญ
ยุติทำรายการตอบโจทย์”
ตอบโจทย์
เป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศพูดถึงเพียงชั่วข้ามคืน สำนักข่าวอิสรา
น่าจะเป็นสำนักข่าวที่ใส่ใจข่าวนี้มากเป็นพิเศษ ถึงกับสามารถรายงานเบื้องลึก
เบื้องหลังการระงับการออกอากาศตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี มีการเปิดชื่อบรรณาธิการที่ตบเท้า
คุยกับผอ.ให้ระงับออกอากาศ ต่อมาสำนักข่าวอิศราแก้ข่าวต่อว่าไม่มีการตบเท้า
เป็นการประชุมพร้อมกัน ของบรรณาธิการ 14 คน
ข่าวที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของสำนักข่าวอิศรา ทำให้คนในไทยพีบีเอสส่วนหนึ่งวิพากษ์
วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม
ตกบ่ายของวันที่ 16 มีนาคม “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” ประกาศยุติรายการ ด้วยถ้อยแถลงอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน
“เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน
ต่อการข่มขู่ คุกคาม และการแทรกแซงการทำงานจากภายใน อย่างไม่เป็นมืออาชีพ
ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และเพื่อแสดงออกต่อความไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย
ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 5 ผมและทีมงานทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอยุติการทำรายการตอบโจทย์ประเทศไทย
นับจากบัดนี้เป็นต้นไป เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป
ว่าเรายังจะรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร
เรายินดีเลือกที่จะสละรายการ เพื่อรักษาหลักการ
เรายินดีที่จะถูกประนาม
คุกคาม
เพื่อจะจุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขลาดกลัวต่อการสนทนาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
ให้สว่างไสว เพื่อนำการกล่าวร้ายโจมตีในที่มืดออกสู่ที่แจ้ง ให้คนได้ถกแถลงแสดงเหตุผลและหักล้างกันด้วยปัญญา
มิใช่อารมณ์
“เพื่อเป็นการยุติข่าวลือทางร้าย
ในนามรายการผมขอชี้แจงว่า การยุติการออกอากาศรายการนั้น
มิได้เกิดจากการแทรกแซงของรัฐบาล ของบุคคลใกล้ชิดหรือเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่างที่มีความพยายามจะกล่าวร้าย อีกทั้งมิได้เป็นการกดดันในระดับนโยบาย
แต่กระบวนการตรวจสอบภายในสู่ภายนอกอย่างโปร่งใสและไม่สมยอมเท่านั้น
ที่จะทำให้ฝ่ายบริหารตอบสังคมได้อย่างตรงไปตรงมาว่า เหตุผลที่แท้นั้นคืออะไร ในการตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย
และนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยพีบีเอสต้องร่วมกันตอบ ก่อนจะตอบโจทย์ประเทศไทยต่อไปได้”
ไทยพีบีเอส ตอบโจทย์ “ภิญโญ”
คืนของวันที่ 18
มีนาคม ไทยพีบีเอสก็ตอบโจทย์ของ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา”
ด้วยการเดินหน้าออกอากาศ เทป ตอบโจทย์ ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็สายเสียแล้วไปเพราะ
“ภิญโญ” คงไปแล้วไปลับไม่กลับมา และไปกันทั้งทีมอีกด้วย
มาถึงตรงนี้เรื่องชัดเจนแล้วว่า
ไม่มีการแทรงแซงจากอำนาจใดๆ ในการระงับการออกอากาศ แต่กลับซับซ้อนยิ่งขึ้นในเรื่องความขัดแย้งภายในองค์กร
เราคงต้องแยกระหว่างรายการของไทยพีเอส
กับข่าวของไทยพีบีเอส รายการตอบโจทย์ที่ผ่านมาอยู่สังกัดฝ่ายข่าว
ต่อมาตั้งแต่เดือนมกราคม ย้ายไปอยู่กับฝ่ายรายการ มีเพียง “อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์” คนจากฝ่ายข่าว ที่เป็นคนดิวระหว่างฝ่ายข่าว กับทีมงานรายการตอบโจทย์
ในฐานะบรรณาธิการรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” เพียงคนเดียว
แน่นอน การเลือกประเด็นในการคุยกัน
ในการรายการตอบโจทย์ ถ้าสังกัดฝ่ายข่าว กองบรรณาธิการก็คงจะเป็นผู้กำหนดประเด็น
เป็นไปตามระบบ บรรณาธิการ แต่หากอยู่สังกัดฝ่ายรายการ ผู้ผลิตรายการ และทีมงานก็คงเป็นคนกำหนดประเด็น
ระบบบรรณาธิการไทยพีบีเอสมีปัญหา
ความผิดปกติตรงนี้
ทำให้สุทธิชัย หยุ่น ปธ.เครือเนชั่น ตั้งข้อสังเกตุว่า ระบบบรรณาธิการของไทยพีบีเอสกำลังมีปัญหา
“คณะบรรณาธิการ หรือ Editorial Board ที่ประกอบด้วยหัวหน้าฝ่ายข่าว
รายการ สารคดี และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย โดยมีผู้อำนวยการสถานีเป็นประธาน Editorial
Board นี่เอง คือ ผู้วางแผน พิจารณา ตรวจสอบ
กำกับดูแลให้คุณภาพของเนื้อหาทุกรายการของสถานีได้มาตรฐานและตรงกับหลักจริยธรรม
วิถีปฏิบัติ (Best Practices) และร่วมในการวางผังรายการของสถานี”
“ผมไม่ทราบว่า ไทยพีบีเอส มีกลไกทำนองเป็น
Editorial Board หรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นไปตามข่าว คือ
บรรณาธิการบางคนต้อง “ตบเท้า” ไปหาผู้อำนวยการสถานีก่อนรายการนั้นออกอากาศเพียง
15 นาที
ก็แปลว่าสถานีไม่มีกระบวนการและกลไกของการพิจารณาใคร่ครวญตรวจสอบภายใน
ให้ได้มาตรฐานอันควรก่อน”
ใบตองแห้งเชื่อมโยงความขัดแย้งองค์กร
ถ้าเรื่องตอบโจทย์ไม่ถูก
ใบตองแห้ง แห่งประชาไทนำไปเล่า และสืบค้นข้อมูลเชิงลึกก็คงแปลก ใบตองแห้งได้เปิดเผยจดหมาย
โต้กันของบรรณาธิการ 2 คน เนื้อหาเป็นการถกเถียงเรื่องรายการตอบโจทย์
ใบตองแห้งนำความขัดแย้งนี้เชื่อมโยงเข้ากับความผิดปกติของการสังกัดส่วนงานของรายการตอบโจทย์
ที่ควรจะอยู่ฝ่ายข่าว แต่กลับไปอยู่ฝ่ายรายการ โดยอ้างตัวละคร 2 คนคือ ณาตยา แวววีรคุปต์ ตัวแทนจากฝ่ายข่าว กับ อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์
ตัวแทนจากรายการตอบโจทย์ ที่โดดไปอยู่ฝ่ายรายการ เชื่อมโยงต่อไปที่เรื่องราว
ที่ณาตยาและเพื่อนบรรณาธิการ ตบเท้าหาผอ.ให้ระงับออกอากาศ จนนำมาซึ่งการถอดตัวของทีมตอบโจทย์เพื่อแสดงจุดยืนในวันรุ่งขึ้น
ราวกับว่าจะเอาคืนเสียให้ได้
ความจริงเรื่องนี้ไม่น่ามีความซับซ้อนเลย
การถกเถียงกันน่าจะเป็นเรื่องปกติในกองบรรณาธิการ ในองค์กรไหนๆ ก็คงมีการส่งเมลล์โต้กันแบบนี้
ผมรู้มาว่า พี่เหน่ง “อรพิน” กับ พี่แวว “ณาตยา”
เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาแต่สมัยไอทีวี มิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนานน่าจะคุยกันได้
หลังจากนี้
ตอนนี้รายการตอบโจทย์
ยังไม่ได้หายไปไหน และกลับมาอยู่สังกัดฝ่ายข่าวเช่นเดิม ตอบโจทย์ในวันที่ไม่มี “ภิญโญ”
อาจดูน่าเบื่อไปนิด เพราะลุคพิธีกรเป็นผู้ประกาศ เหมือนถามตามสคริปต์ แต่เชื่อว่า
คน พัฒนาได้ถ้าให้โอกาส รายการตอบโจทย์ก็เช่นกัน เป็นรายการแม่ของไทยพีบีเอส
วันนี้เกิดอุบัติเหตุ ก็ต้องนับหนึ่งใหม่
บทเรียนราคาแพงของ “ไทยพีบีเอส”
ผมยอมรับว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงจะหาคนถูก คนผิดไม่ได้ บทสรุปคือผลกระทบที่เกิดขึ้นคือกับไทยพีบีเอสที่อาจจะกลายเป็นทีวีที่ยังไม่เป็นที่วางใจของคนทุกฝ่าย
แต่ประเทศไทยยังคงต้องการทีวีสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง ทีวีสาธารณะที่เราเพรียกหาว่าเป็นอิสระ
เป็นพื้นที่ทางความคิดของทุกคน เป็นที่พึ่งในยามวิกฤตของประชาชน
อย่างที่ไทยพีบีเอสได้ทำมาดีแล้ว ในเก่าก่อน
แม้วันนี้จะผิดพลาดไปบ้าง
ก็คงเป็นบทเรียนราคาแพง
ที่จะทำให้ไทยพีบีเอสมีแนวทางในการเป็นสื่อสาธารณะที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต
หลังจากที่ผมติดตามข่าวตอบโจทย์
มาตั้งแต่ต้น
ข้อมูลหลายด้านที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้ผมสับสน จนวันนี้ผมต้องเดินทางมาที่ไทยพีบีเอสด้วยตนเอง
เพื่อพิสูจน์ว่าแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ผมได้คุยกับคนมากมายตั้งแต่เพื่อนฝึกงาน
พี่ฝ่ายเทคนิค พี่โปรดิวเซอร์ ไปจนถึงบรรณาธิการ ก็พบคำตอบว่า ไทยพีบีเอสยังคงเต็มเปี่ยมด้วย
ความมุ่งมั่นในการเป็นสื่อสาธารณะเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน และหลังจากผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไป
ก็ดูเหมือนว่า คนไทยพีบีเอสจะ “รัก” กันมากขึ้นไปด้วยซ้ำ
ต่อแต่นี้ไทยพีบีเอสต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้
...
ว่ากันว่า ภาวะวิกฤติของบ้านเมืองเป็นช่วงเวลาของการพิสูจน์บทบาทของสื่อมวลชน
-----------------------------------------