วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทสรุป - บันทึกการเดินทาง ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS


บทสรุป - บันทึกการเดินทาง  ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS


ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ เห็นรถข่าวไอทีวีวิ่งผ่านก็หวังว่าสักวันจะได้นั้งรถข่าวแบบนี้ออกไปทำข่าวบ้าง และเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นนักข่าว ท่ามกลางความอยากเป็นโน้น อยากเป็นนี้มากมายในตอนที่ตัวเองเป็นเด็ก

มาวันนี้ได้มีโอกาสนั่งรถข่าวไทยพีบีเอสที่มีโลโก้นกติดขนาบข้างนำพาผม และพี่ๆทีมงานรายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศ Thai PBS เดินทางไกล ไปที่ภาคใต้ เป็นการเดินทางที่สนุกสนาน นอกจากนั้นยังได้เห็นหลายสิ่ง หลายอย่างที่งดงาม และไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งน้ำใจของชาวบ้าน ความพยายามในการเรียนรู้   ขณะอบรมนักข่าวพลเมืองที่จังหวัดตรัง ผมจำได้ว่ามีชาวบ้านบางคนที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน แม้แต่เม้าท์ก็ยังใช้ไม่เป็น ผมได้มีส่วนในการช่วยสอน แนะนำจนชาวบ้านคนนั้นเริ่มที่จะใช้เม้าท์เป็นได้ ผมเข้าใจว่าสำหรับคนที่ไม่เคยใช้คอมมาก่อน กับครั้งแรกของการได้ลองใช้ในครั้งนี้ แล้วสามารถเรียนรู้ได้ขนาดนี้ ต้องนับถือว่าพวกเขามีความพยาพยามเป็นอย่างยิ่ง เป็นความพยาพยามที่ไม่ธรรมดาเพราะเกิดจากความต้องการที่จะช่วยเหลือและสื่อสารเรื่องราวในชุมชนของตัวเองให้สาธารณะชนได้รับรู้ ผ่านช่องทางนักข่าวพลเมือง Thai PBS

ผมใช้เวลาที่อยู่จังหวัดตรังเพียง 2 คืนครับ จากนั้นพวกพี่ๆ ทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS ก็เดินทางข้ามทะเลมาที่เกาะลันตาจังหวัดกระบี่ ที่นี่มีชาวอูรักลาโวยอาศัยอยู่  ดูภายนอกก็ดูเหมือนชาวบ้านทั่วไป แต่เมื่อได้สัมผัส ก็พบว่ามีตำนานที่น่าตืนตาตื่นใจ และมีประเพณีควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง น่าเสียดายถ้าชาวอูรักลาโว้ย ชาวบ้านธรรมดาๆ จะถูกเอารัดเอาเปรียบแบบนี้ต่อไป โดยที่ภาครัฐยังคงไม่เข้าใจ และไม่หยุดฟังเสียงของพวกเขาบ้าง

หลังการเดินทางครั้งนี้ ทำให้ผมแน่ใจว่า เมื่อเรียนจบแล้ว จะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีคุณภาพ นาทีนี้ยังคงจำคำพูดของชาวบ้านคนหนึ่งที่จังหวัดตรังได้ว่า เราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะไทยพีบีเอสช่วยเราอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน สื่อมวลชนทุกสื่อต่างมีอุดมการณ์ที่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะสื่อสาธารณะ หรือสื่อเสรี แต่จะเป็นรูปธรรมขึ้นได้นั้น ก็มาจากคนในองค์กรมีจิตวิญญาณของสื่อ ที่จะไม่ปล่อยให้ประชาชนโดดเดี่ยวอีกต่อไป 

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

บันทึกการเดินทาง ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS ตอนที่ 3 :: จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไร้เสียงทะเล และเกลียวคลื่น


บันทึกการเดินทาง  ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS
ตอนที่ 3 จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไร้เสียงทะเล และเกลียวคลื่น


ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เหตุใดกลุ่มคนชาติพันธ์อย่างชาวเขา ชาวเลจะต้องไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ หรือไม่ก็ถูกเอารัดเปรียบจากพวกนายทุน อย่างที่ทีมงานรายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศได้ลงพื้นที่มาถ่ายทำ ชีวิตของชาวอุรักลาโว้ยในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน

พี่เดี่ยว ทะเลลึก เล่าประวัติของชาวอูรักลาโว้ยให้ฟังว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว บรรพบุรุษของชาวอูรักลาโวยอาศัยอยู่ที่เกาะฆูนุงฌึรัย ประเทศอินโดนีเซีย ทำมาหากินด้วยการทำประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลาจนกระทั้งสังเกตเห็นว่าปลากระเบนราหูมักว่ายไปข้ามฝั่งไปอีกฝั่งหนึ่ง จึงคิดว่าพื้นที่ฝั่งนั้นต้องมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแน่ จึงออกเรือ อพยพติดตามปลากระเบนราหูเหล่านั้น จนมาขึ้นฝั่งที่เกาะลันตา จ.กระบี่ของประเทศไทย ชาวอูรักลาโวยเห็นว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ส่วนปลากระเบนราหูตัวนั้น ก็มาเกยตื้นที่ชายฝั่งทะเลเกาะลันตาเช่นเดียวกัน เวลาผ่านไปนานมาก ปลากระเบนราหูตัวนั้นก็กลายเป็นหิน ชาวอูรักลาโว้ยเรียกว่า สังกะอู้ และด้วยความสำนึกในบุญคุณที่ปลากระเบนราหูนำพวกเขามาตั้งถิ่นฐาน จึงเคารพ และขอพร “สังกะอู้ ก่อนออกไปหาปลากลางทะเลเพื่อความเป็นสิริมงคล และขอให้จับปลาได้เยอะๆ

สิ่งที่ชาวอูรักลาโว้ยกลัวที่สุดอาจไม่ใช่การไม่มีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย แต่เป็นวัฒนธรรมและประเพณีที่อาจจะหายไปพร้อมๆกับการพัฒนาทางธุรกิจ และความเจริญที่มีเข้ามาโดยลืมนึกถึงสิทธิของชุมชน และเห็นแก่ความเป็นเพื่อนมนุษย์

หลายวันที่ผมสัมผัสของความเป็นอยู่ของชาวอูรักลาโวย ก็สงสัยว่าพวกเขาอยู่อย่างมีความสุขหรือ เพราะถ้าไม่นับเรื่องการไล่ที่ทำกิน การเอาเปรียบจากนายทุน ความเป็นอยู่ของพวกเขาไม่ค่อยสะดวกสบายนัก ไม่มีเครืองอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ อย่างที่เราเคยชินในชีวิตประจำวัน ผมคุยกับชาวอูรักลาโวย พวกเขาบอกว่าในตอนกลางคืนน้ำทะเลจะขึ้นถึงบ้าน ชื่นเชอะแฉะไปหมด ต้องรอจนกว่าน้ำทะเลลดจึงจะนอนได้ หากแต่นี้ไม่ได้เป็นอุปสรรค์ในการดำเนินชีวิต แต่นี้เป็นวิถีชีวิตของพวกเขา   ว่ากันว่าชาวอูรักลาโว้ยอยู่ไม่ได้ถ้าไร้เสียงทะเล และเกลียวคลื่น...

//////////////////////////

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บันทึกการเดินทาง ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS :: ตอนที่ 2 น่าอิจฉา... คนที่อยู่ในป่า


บันทึกการเดินทาง  ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS
ตอนที่ 2 น่าอิจฉา... คนที่อยู่ในป่า


ฝนที่บ้านทับเขือ-ปลักหมูในเทือกเขาบรรทัด ตกๆหยุดๆ เป็นธรรมชาติของผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีครั้งหนึ่งผมกำลังยกกล้องขึ้นมาเพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้านให้ชี้ว่าเขตตรงไหนคือเขตโฉนดชุมชน ตรงไหนคือเขตอุทยานแห่งชาติ คุยกันอยู่ดีๆ ท้องฟ้าก็แจ่มใส แต่สักพักฝนก็ตกปรอยลงมา ผมวิ่งไปหลบในสวนต้นยางที่ยังพอจะกันฝนได้บ้าง ในขณะเดียวกันชาวบ้านกลับค่อยๆเดิน มาหลบฝน นึกในใจว่านี่เรากลัวฝนหรือนี่ หรือเพราะว่าเราอยู่ในเมืองนาน จนค่อยๆเหินห่างจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ในวันที่ 2 ที่ผมตามทีมพี่โต้ง Thai PBS ลงภาคใต้ไปอบรมนักข่าวพลเมือง จ.ตรัง ตามแผนการอบรมคือวันนี้จะให้ชาวบ้านที่มาอบรม ลงพื้นไปทำข่าวจริงๆ บางส่วนก็ทำข่าวอยู่ในบริเวณพื้นที่การฝึกอบรมนั่น บางส่วนก็เก็บภาพและมีประเด็นที่จะสื่อสารแล้ว และบางส่วนก็ไปทำข่าวที่บ้านทับเขือ-ปลักหมู เทือกเขาบรรทัด การเดินทางเข้าไปในบ้านทับเขือยากลำบากมากๆ ต้องใช้มอเตอร์ไซค์ที่เบรกแข็งแรง ขับไต่ขึ้นเขา ระหว่างที่ผมกำลังนั่งซ้อนมอเตอร์ของชาวบ้านเพื่อขึ้นไปทำข่าวนั่น ก็คิดว่า โห... เดินทางกันลำบากแบบนี้เวลาจะลงไปซื้อของ หรือซื้อกับข้าวล่ะทำยังไง ข้างบนนั่น Seven ไม่มีแน่ๆ พอขึ้นไปถึงที่บ้านทับเขือแล้วที่หนักกว่าไม่มี Seven เสียอีก คือที่นี่ไม่มีไฟฟ้า มีเพียงแผงโซล่าเซล ซึ่งผมคิดว่าให้ปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอแน่ๆ ผมเกิดคำถามขึ้นว่าถ้าเป็นเรา เราอยู่จะได้หรือไม่ แล้วชาวบ้านเขามีความคิดอย่างไรกับการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ โดยปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวก เหมือนกับที่เราเคยชิน

พี่จิ๋ว เป็นชาวบ้านทับเขือซึ่งพาผมกับชาวบ้านที่มาจากอีกชุมชนหนึ่งเดินดูชุมชนของตนเอง เมื่อผมมองไปรอบๆข้าง ก็มีแต่ต้นยางที่ปลูกตามแนวเชิงเขาตัดกับภูเขาสูงใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้า เมือหยุดตัวนิ่ง ก็ได้ยินแต่เสียงลมพัด และเสียงใบไม้ที่เสียดสีกัน เมือหายใจเข้าไปลึกๆ ก็มีแต่อากาศที่บริสุทธิ์ ที่ทำให้รู้สึกสดชื่น พี่จิ๋วชี้ให้ดูว่าที่นี่มีการทำเกษตร 4 ชั้นเพื่อปลูกพืชผักสวนครัว และปลูกผลไม้เก็บกิน

เกษตร 4 ชั้นเป็นการปลูกพืชที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชที่มีความสูงต่างกัน เพื่อรักษาระบบนิเวศ และความสมดุลตามธรรมชาติ และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พืชที่ปลูกในชั้นที่ 1  ซึ่งเป็นชั้นบนสุด เป็นไม้ยืนต้นเช่น ต้นยาง ทุเรียน หมาก จำปาดะ ชั้นที่ 2 จะปลูกต้นไม้ที่ความสูงกลางๆ เช่นมังคุด ลองกอง ชั้นที่ 3 ปลูกพืชที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้นเช่น พริก มะเขือ ผักเหลียง ผักป่า ส่วนชั้นที่ 4 ปลูกพันธุ์พืชที่มีหัวในดิน เช่น ข่า ขมิ้น กลอย เป็นต้น

ผมถามชาวบ้านหลายคนที่นั่นว่าถ้าให้เลือกระหว่างอยู่ในป่า กับอยู่ในเมือง พวกเขาจะเลือกอะไร คำตอบออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าขออยู่ในป่าดีกว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่าเคยลงไปอยู่ในเมืองมาแล้วตอนสมัยยังเป็นหนุ่มๆ ไปทำงานในเมือง วุ่นวายทั้งสังคม และวุ่นวายทั้งคน เราอยู่ของเราแบบนี้ดีกว่าสบายทั้งกาย และทั้งใจ

อาจเป็นเพราะธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่ง ส่งผลให้จิตใจของชาวบ้านที่นี่ ก็ไร้ซึ่งการปรุงแต่งเช่นเดียวกัน น่าคิดว่าสังคมเมืองที่มีแสงสี เต็มไปด้วยการการปรุงแต่งนั้น ส่งผลต่อจิตใจของคนเมืองด้วยหรือไม่ จนทำให้สังคมในเมืองวุ่นวาย และคนก็วุ่นวาย

ชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมู เทือกเขาบรรทัดจังหวัดตรังที่ผมได้ขึ้นมาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ ในครั้งนี้ คงจะมีความสุขมากกว่านี้ครับ ถ้าไม่ต้องต่อสู้กับรัฐ ที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกดำเนินคดีข้อหาทำให้โลกร้อนเพียงเพราะปลูกพืชผักสวนครัวและกรีดยางหารายได้เลี้ยงตัวเองเท่านั้น

ถ้ารัฐคือคนเมือง ที่ผมบอกว่าสังคมเมืองที่มีแสงสี เต็มไปด้วยการปรุงแต่งนั้น ส่งผลต่อจิตใจของคนเมืองด้วยหรือไม่ จนทำให้สังคมในเมืองวุ่นวาย และคนก็วุ่นวาย คงเป็นเรื่องจริง อย่างปฏิเสธไม่ได้ครับ คนในเมืองวุ่นวายยังไม่พอ ยังพลานวุ่นวายมาถึงคนในป่าอีกเสียด้วย ...

//////////////////////////////

บันทึกการเดินทาง ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS :: ตอนที่ 1 เราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป


บันทึกการเดินทาง  ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS
ตอนที่ 1 เราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป



เราไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป” เป็นคำพูดของชาวบ้านที่มาอบรมนักนักข่าวพลเมือง จังหวังตรัง ณ นาทีนั้นผมสามารถรับรู้ได้ทันทีถึงความรู้สึก และความหมาย ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่ขยายกว้างไปถึงความเป็นสื่อสาธารณะ ของ ThaiPBS เลยทีเดียว เพราะครั้งหนึ่งผมก็เคยมีความรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน

ภารกิจแรกของพี่โต้ง ในการลงมาภาคใต้ครั้งนี้คือการอบรมนักข่าวพลเมืองในจังหวัดตรังที่ห้องประชุมของมูลนิธิอันดา-มัน ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ชาวบ้านพากันมาเป็นกลุ่มๆ แบ่งตามพื้นที่ของตนเอง บางกลุ่มมาจากจังหวัดสุราษธานี  บางกลุ่มขี่มอเตอร์ไซค์ลงมาจากเทือกเขาบรรทัด คำถามเกิดขึ้นในใจของผมคือ เหตุใดพวกเขาจึงอยากมาอบรมนักข่าวพลเมืองขนาดนั้น

ผมมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านหลายคน แต่ละคนมีปัญหาในชุนชนของตนเองทั้งนั้น ทั้งปัญหาที่ดิน ปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านกับนายทุน และปัญหาสิทธิชุมชน ซึ่งมีอยู่ในชุมชนของพวกเขามาอย่างยาวนาน

ชาวบ้านทำทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเหล่านั้น ทั้งการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแม้ว่าจะเป็นแค่ชาวบ้าน เป็นเพียงเกษตรกรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นตาสี ตาสา จะไปสู้อะไรกับภาครัฐ กับนายทุน แต่สิ่งที่ผมเห็นกลับตรงกันข้าม พวกเขามีความรู้ และมีการหาข้อมูลเพื่อต่อสู้กับภาครัฐ หนึ่งในนั้นคือการเป็นนักข่าวพลเมือง สื่อสารเรื่องราวของตนเองสู่สาธารณะ หวังให้อิทธิพลของสื่อกระแสหลัก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นของชุมชน แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม

Thai PBS ประกาศตัวว่าเป็นสื่อสาธารณะ ได้รับภาษีจากประชาชนเพื่อทำทีวีดีดีสักช่อง เปิดพื้นที่ให้ประชาชนในฐานะเจ้าของได้ใช้ในการสื่อสารร่วมกัน และมีภารกิจจะต้องทำประโยชน์เพื่อสังคม ผมคิดว่านักข่าวพลเมืองตอบโจทย์ได้มากที่สุดสำหรับการเป็นสื่อสาธารณะของ Thai PBS แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยงานหรือบุคคลที่เป็นคนขับเคลื่อน หรือเป็นศูนย์กลางของนักข่าวพลเมืองมีจำนวนไม่มากนัก หรืออาจจะมีมากแต่ด้วยระบบและโครงสร้างของ สสท.หรือ Thai PBS ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างฝ่ายข่าว กับฝ่ายเครือข่ายสื่อภาคพลเมือง ก็ทำให้ดูสับสนและไม่เป็นระบบสักเท่าไหร่นัก

ผมสังเกตเห็นว่า มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำงานเพื่อชาวบ้านจริงๆ และกระตุ้นให้ชาวบ้านเริ่มสื่อสารเรื่องราวของชุมชนด้วยตนเองในนามนักข่าวพลเมือง แม้พวกเขาอาจไม่ถูกพูดถึงบ่อยนัก แต่เขาเหล่านี้แหละคือผู้ปิดทองหลังพระ ผู้ปิดทองหลังทีวีสาธารณะ ให้เป็นทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง 

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทนำ - บันทึกการเดินทาง ริมชายฝั่งอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS


บทนำ - บันทึกการเดินทาง ริมชายฝั่งอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS



ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีก่อน ชุมชนของผมที่ตำบลหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งในพื้นที่ แล้วส่งผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน ทั้งเสียงที่รบกวน และกลิ่นสี ที่เหม็นคละคลุ้งไปทั่ว ชาวบ้านบ้างรายล้มป่วย ผมในฐานะลูกหลานของชาวบ้านในชุมชนนี้ สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์และพอที่ช่วยเหลือชุมชนของตนเองได้บ้าง คือ นักข่าวพลเมือง  ThaiPBS สื่อสารเรื่องราวในชุมชนของตนเอง ออกสู่สาธารณะให้รับรู้ ผมมีอุปกรณ์พร้อมทั้งกล้อง คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต ที่จะสามารถส่งภาพให้ ThaiPBS ได้ และนี่เป็นที่มาที่ทำให้ผมรู้จักบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเป็น พี่ที่ผมรู้สึกสนิท และเรียนรู้ในหลายมิติของชีวิต ทั้งการทำงาน และการเป็นอยู่ ในขณะที่ผมกำลังฝึกงานที่  ThaiPBS คนที่ว่านั้นว่าคือ พี่โต้ง โปรดิวเซอร์นักข่าวพลเมือง Thai PBS”

การฝึกงานที่ Thai PBS มีข้อห้ามสำหรับนักศึกษาฝึกงานอยู่ว่า ห้ามปฏิบัติงานออกต่างจังหวัด เพราะเกรงว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับตัวนักศึกษา จึงให้ฝึกอยู่เพียงกรุงเทพมหานคร และปริมลฑลเท่านั้น หลังสิ้นสุดการฝึกงานเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ผมจึงเดินทางต่อเนื่องทันที ในช่วงบ่ายของวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ผม พี่โต้ง พี่บอย และน้ามารถ ทีมนักข่าวพลเมือง  Thai PBSออกเดินทางลงใต้เพื่อไปอบรมนักข่าวพลเมืองที่จังหวัดตรัง และบันทึกภาพ พร้อมกับสัมภาษณ์เพิ่มเติมในรายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศ ซึ่งออกอากาศทางไทยพีบีเอส เวลา 8:30 น. วันหยุดนักขัตฤทธิ์ 

ก่อนหน้านั้น ในขณะฝึกงานพี่โต้งรู้ดีว่า การนั่งอยู่ใน Office แทบไม่ได้อะไรเลย จึงชวนผมลงไปภาคใต้ด้วยกันหลังฝึกงานเสร็จแล้ว คือช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 9 มิถุนายน 2555 ขณะเดียวที่ช่วงเวลาดังกล่าว ตรงกับเทศกาลรับน้องที่มหาวิทยาลัยของผมพอดี และอาจารย์ก็อยากให้ลูกศิษย์รุ่นพี่ทุกคนไปร่วมงานนี้ ทำให้ผมตัดสินใจลำบากว่าจะเลือกไปไหน ระหว่างการไปรับน้องกับมหาวิทยาลัย หรือ ออกทริปไปกับทีมข่าว ThaiPBS


ผมตัดสินใจไปกับทีมข่าว ThaiPBS นำโดยพี่โต้ง โปรดิวเซอร์นักข่าวพลเมือง และรู้สึกว่าตนเองตัดสินไม่ผิด การเดินครั้งนี้ ผมได้ลงไปภาคใต้เป็นครั้งแรก และเป็นการเดินทางที่พิเศษสุดๆ ยาวนานที่สุด อย่างไม่เคยสัมผัสมาก่อน

มาตามครับ ... รับรองว่าท่านผู้อ่านจะไม่ผิดหวัง

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทสรุป - จากบางนา สู่บางเขน [การฝึกงานที่ ThaiPBS]


บทสรุป - จากบางนา สู่บางเขน [การฝึกงานที่ ThaiPBS]



:: การเดินทางมาฝึกงานของผมครั้งนี้ก็มาถึงปลายทาง

ผมได้เห็นความเหมือนและความแตกต่างระหว่างการเดินทางจากบางนา สู่บางเขน คุณสุทธิชัย หยุ่น ประธานเครือเนชั่นเคยกล่าวตอนเปิด Nation Channel ว่า ข่าวของเราเด็กป.4 ก็ต้องดูแล้วเข้าใจ ขณะที่คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบาย Thai PBS เคยกว่าต่อรัฐสภาว่า ข่าวของเราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ยังดี คำกล่าวของผู้กุมบังเหียนทีวี 2 ช่องนี้ปรากฎออกมาผ่านทางหน้าจอ และการทำงานหลังจออย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้ชัดว่า Nation Channel ส่วนใหญ่มีการนำเสนอข่าวในรูปแบบการเล่าข่าว ทำให้ผู้ชมเข้าใจง่าย ส่วน Thai PBS ส่วนใหญ่มีการนำเสนอแบบสกู๊ป จึงต้องไปสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในเมื่อสังคมต้องการความหลากหลาย การนำเสนอของทั้งสององค์กร ล้วนตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของสังคม และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม เป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นแต่และสื่อล้วนทำตามหน้าที่ ตามนโยบายของตน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง การวิเคราะห์ เจาะลึก ที่ตั้งอยู่ในจริยธรรม แม้จะต่างกันเพียงรูปแบบ แต่อุดมการณ์ไม่มีใครยิ่งหย่อนไปกว่าใคร


:: ผมประทับใจหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนที่อยู่ในไทยพีบีเอส

18 พฤษภาคม 2555 เป็นวันคล้ายวันเกิดของผม เย็นวันนั้นก่อนผมจะกลับบ้าน พี่ตุ วาระประเทศไทยถามว่า วันนี้วันเกิดแกไม่ใช่หรอหลังจากนั้นพี่ตุก็เป็นต้นเสียงร้องเพลง Happy Birthday แล้วพี่ๆที่นั่งอยู่ก็พากันร้องตามกันทั้งห้อง ผมประทับใจมากๆครับ ตามปกติวันเกิดของเพื่อนๆที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยถ้าเป็นรู้ว่าวันนี้เป็นวันเกิดของใครก็จะพากันร้องเพลง Happy Birthday ให้ แต่วันเกิดของผมไม่ได้อยู่ในช่วงเปิดเทอม ผมจึงมักเป็นฝ่ายร้องเพลง Happy Birthday ให้เพื่อนๆ แต่ไม่เคยเป็นฝ่ายถูกร้องให้เลย วันคล้ายเกิดปีนี้ที่ Thai PBS จึงเป็นวันคล้ายวันเกิดที่มีความหมายมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่มีคนร้องเพลง Happy Birthday แบบเป็นหมู่ให้ผม ความประทับใจเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ก็กลายเป็นการสร้าง “The Best Impression” ให้กับผมและพี่ๆ ใน Thai PBS

31 พฤษภาคม 2555 เย็นวันสุดท้ายของการฝึกงาน ผมนำหนังสือ เราจะเดินไปไหนกัน ของอาจารย์ประมวล เพ็ง-จันทร์ ไปคืนพี่แวว หลังจากที่พี่แววเคยให้ยืม ในวันที่ผมได้คุยกับพี่แววเป็นครั้งแรก การให้ยืมหนังสือ เราจะเดินไปไหนกัน ให้ผมอ่านระหว่างการฝึกงานนั้น ถือเป็นตำราอีกเล่มที่ได้อ่าน และนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เป็นไป และเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า

ความตอนหนึ่งในหนังสือเท่าที่จำได้ ผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า เขาเห็นมดกำลังกัดกินไส้เดือน ตัวเขาเองก็รู้สึกสงสาร และอยากช่วยเหลือ คิดไปคิดมา นี่คือวงจรตามธรรมชาติ เป็นการพึ่งพาอาศัยกันสังคมนี้ก็เหมือนกัน แม้จะกระทบกระทั้งกันมากเท่าไหร่ สุดท้ายผมก็ยังคงเห็นวงจรการพึ่งพิงอาศัย คนเราจะคิดอะไรมากมายไปทำไม ในเมื่อถ้าถามว่า เราจะเดินไปไหนกัน คำตอบที่เป็นสัจธรรมคือ เราเดินไปหาความตายด้วยกันทั้งนั้น กฎธรรมชาติข้อนี้น้อยนักที่ใครหลายคนจะนึกขึ้นได้ แต่ทันทีที่เรานึกถึงกฎข้อนี้ เราจะกลับมาสู่ปัจจุบัน และเห็นภาพที่อยู่ตรงหน้า ในอีกแง่มุมหนึ่ง แง่มุมที่เป็นเพียงธรรมชาติของมนุษย์




วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากบางนา สู่บางเขน (ตอนจบ) - ตอนที่ 6 : ฝึกงาน Thai PBS เป็นมากกว่าการเรียนรู้


จากบางนา สู่บางเขน (ตอนจบ)
ตอนที่
6 : ฝึกงาน Thai PBS เป็นมากกว่าการเรียนรู้ 



แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ 1 เดือน แต่ก็มากพอที่ผมจะได้เรียนรู้อะไรมากมาย นอกจากการเขียนข่าว การจับประเด็นแล้ว การใช้ชีวิตในที่ทำงาน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้สัมผัส และเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ย่อมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ตามความชอบ ความถนัด และความเข้าใจซึ่งกันและกันของแต่ละคน เข้าใจกันก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่เข้าใจกันก็มีกระทบกระทั้งกันบ้าง
ความจริงใจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตามมา ที่ผมกำลังเล่าอยู่นี้ไม่ใช่เพราะผมประสบมา แต่ด้วยความที่มีโอกาสได้นั่งนิ่งๆใน Office อยู่บ่อยครั้ง นอกจากจะนั่งอ่านหนังสือพิมพ์แล้ว หู และตาก็ได้ยิน และได้เห็นความเป็นไป ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ที่ตรงนั้น จนกระทั้งสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้เลยทีเดียว แต่ก็เก็บไว้ในใจนะครับ

ตามปกติผมก่อนที่ผมจากเข้ามาฝึกงานที่ Thai PBS ผมติดตามแทบทุกรายการ และข่าวของโต๊ะข่าวนโยบายสาธารณะ ผมเห็นพี่แวว ณาตยา แวววีรคุปต์ดำเนินรายการเสมอๆ ผมจำได้ และชื่นชมพี่แววเป็นพิเศษ และไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งจะได้มีโอกาสนั่งคุยกับพี่แววอย่างใกล้ชิด

ผมรู้มาว่าพี่แววเป็นหนึ่งในกบฎไอทีวี จึงได้สอบถามในหลายเรื่อง หลังพี่แววออกจากไอทีวีแล้ว ในใจยังคงมีความหวังว่าสักวันทีวีสาธารณะจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ทีแรกนึกว่าทีวีสาธาณะจะเกิดขึ้นตอนพี่อายุสัก 50 แต่คิดว่ามันต้องเกิดขึ้นยู่แล้วล่ะ เพราะมีแนวคิดนี้มานานแล้ว ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ พี่แววกล่าว ด้วยความเชื่อมั่นในทีวีสาธารณะ

แม้ว่าจะมีโอกาสไปนั่งคุยกับพี่แววเพียง 2 ครั้งแต่ก็ได้อะไรกลับไปคิดต่อมากมาย ที่จำได้แม่นคือพี่แววสอนว่าอย่าเพิ่งตัดสินใครอย่างรวดเร็ว เพราะประสบการณ์เราอาจมีจำกัด ตั้งคำถามได้ แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนค้นหาคำตอบ เพราะอายุเรายังน้อย ตอนนี้เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้









วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากบางนา สู่บางเขน - ตอนที่ 5 : โต๊ะข่าวของชาวบ้าน


จากบางนา สู่บางเขน
ตอนที่
5 : โต๊ะข่าวของชาวบ้าน

ปกติเราคุ้นชินกับข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวภูมิภาค ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา แต่มีอีกข่าวหนึ่งที่มีเฉพาะในสำนักข่าวที่ได้ชื่อว่าเป็น สื่อสาธารณะแห่งนี้นั่นคือ “ข่าวนโยบายสาธารณะ” ครับ ข่าวนี้จะเป็นข่าวการเมืองก็ไม่ใช่ ข่าวภูมิภาคก็ไม่เชิง

พี่แวว ณาตยา แวววีระคุปต์
บรรณาธิการข่าวนโนยบายสาธารณะ
ThaiPBS จัดกลุ่มข่าวเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มข่าวสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นข่าวอาชญากรรม ข่าวการเมือง ข่าวภูมิภาค กับกลุ่มข่าววาระทางสังคม เช่นข่าวนโยบายสาธารณะ
นั่นหมายความว่า “ข่าวนโยบายสาธารณะ” ไม่ใช่ข่าวรายวัน แต่เป็นข่าวที่ตามในประเด็นสาธารณะ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้าน อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ อย่างปัญหาที่ดิน การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า และการละเมิดสิทธิชุมชน เป็นต้น

ในโต๊ะข่าวนโยบายสาธารณะนี้ มีกลไกในการตามประเด็นต่างๆ ด้วยการใช้รายการ และช่วงข่าวดังต่อไปนี้ ช่วงวาระประเทศไทย และนักข่าวพลเมือง ในข่าวค่ำ จะเป็นตัวเปิดประเด็น ตามมาด้วยรายการเวทีสาธารณะที่จะรับไปตามประเด็นต่อ ด้วยการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหาทางออกร่วมกัน และ ปิดประเด็นด้วยรายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย ที่จะพาย้อนกลับไปดูรากเง้าของปัญหา จนกระทั้งถูกเสียงของประชาชนสะท้อนออกมา โดยทีมงานรายการนี้จะนำประเด็นปัญหานั้น ไปถามตรงต่อนักการเมือง หรือหน่วยงานราชการที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น



ที่น่าสนใจคือผู้กำหนดประเด็นข่าว หรือกำหนดวาระ นอกจากตัวกองบรรณาธิการจะเป็นผู้กำหนดเองตามบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนแล้ว อีกส่วนก็มาจากชาวบ้านเป็นที่ “นักข่าวพลเมือง” หลายครั้งที่ ชาวบ้านเป็นผู้เปิดประเด็น จนทำให้สื่อกระแสหลักตามประเด็นนั้นต่อ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การเปิดประเด็นของชาวบ้านจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่บนพื้นที่ของสื่อสาธารณะ สำคัญไปกว่านั้นคือการทำงานระหว่างหน้าจอ คือตัวคนในไทยพีบีเอสเอง กับหลังจอคือชาวบ้านนักข่าวพลเมืองในพื้นที่ ที่เป็นมากกว่าแหล่งข่าว เพราะพวกเขาต้องการที่จะสื่อสารด้วยตนเอง

พรุ่งนี้ติดตามตอนสุดท้าย ตอนที่ 6  : ฝึกงานไทยพีบีเอสเป็นมากกว่าการเรียนรู้

My Twitter : @tanpisitlive
My Facebook : Tanpisit Lerdbamrungchai

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากบางนา สู่บางเขน - ตอนที่ 4 : ตามคนข่าว Thai PBS ไปทำข่าว


จากบางนา สู่บางเขน
ตอนที่
4 : ตามคนข่าว Thai PBS ไปทำข่าว


 การตามพี่ผู้สื่อข่าว ออกหมายข่าว ไปทำข่าว เป็นสิ่งที่ผมชอบมากที่สุด เพราะนอกจากจะได้คุยกับพี่ช่างภาพในรถข่าวแล้ว สำคัญที่สุดคือ เรียนรู้การทำข่าว การจับประเด็น วิธีการทำงาน และการแก้ไขปัญหา ของผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะต้องนำไปปรับใช้ในอนาคตอย่างแน่นอน

พี่จ๋า วาระประเทศไทย นอกจากจะเปิดหน้าในสตูดิโอได้แล้ว ในสนามข่าวก็คือตัวจริงอีกคน พี่จ๋าทำการบ้านและหาข้อมูลอย่างรอบครอบ นอกจากนั้นยังเข้าไปคุยกับบรรณาธิการที่ถนัดในเรื่องนั้นๆ เพื่อขอคำแนะและทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อข่าวที่จะทำอย่างถ่องแท้  ก่อนจะมาวางแผน และจุดมุ่งหมายในการนำเสนอแต่ละตอน 

วาระประเทศไทยไม่ใช่รายการ แต่เป็นช่วงหนึ่งของข่าวค่ำ ThaiPBS ชื่อของวาระประเทศไทยบอกจุดมุ่งหมายการนำเสนอโดยตรง ว่าต้องนำเสนอเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิถีชีวิตของคนไทย

พี่แนน เปลี่ยนประเทศไทย  เป็นพี่ที่ผมตามไปทำข่าวข้างนอกบ่อยมากที่สุด เคยตามพี่คนนี้ทั้งตอนที่ไปกับทีมข่าว และไปกับทีมผลิต พี่แนนเป็นคนที่ใส่ใจรายละเอียดในการทำงาน จากการหาข้อมูลที่แม่นย้ำก็ ส่งผลในพี่แนนตั้งคำถามต่อแหล่งข่าวได้อย่างตรงประเด็น นอกจากนี้เรื่องยิบย่อย อย่างมุมกล้องก็ต้องสื่อความหมายได้ ต้องสวย และลำดับภาพต้องดี สอดคล้องกับบทอีกด้วย

เปลี่ยนประเทศไทยไม่ใช่ข่าว แต่คือรายการข่าว นำเสนอประเด็นของกระแสทางเลือกในสังคม ทุกแง่มุม ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จุดประกาย ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับ ผู้ชมทุกระดับ ไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันสังเคราะห์ วิเคราะห์ ในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน

พี่อีกคนที่อยู่รายการเปลี่ยนประเทศไทยเหมือนพี่แนน และเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการนี้อีกด้วย พี่คนนั้นชื่อว่าพี่ตือ แม้ว่าผมจะเคยตามพี่ตือออกไปทำข่าว ทำรายการเพียง 2 ครั้งแต่ก็เรียนรู้การทำงาน จากพี่คนนี้ไปมากพอสมควร ก่อนหน้านั้นผมเคยคุยกับพี่แวว ซึ่งเป็นบรรณาธิการข่าวนโยบายสาธารณะ บอกว่า “ควรจะเรียนรู้การทำงานจากพี่ตือ” ซึ่งดูขัดแย้งกับพฤติกรรมภายนอกที่ผมเห็นในขณะนั้น แต่ก็ตั้งความหวังไว้ว่าก่อนจบการฝึกงานคงได้ตามพี่ตือบ้าง จนกระทั้งได้ตามไปทำสกู๊ปเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกทม. ก็ได้เห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ ก่อนจะออกไปทำสกู๊ปชิ้นนี้ พี่ตือให้ผมช่วยหาข้อมูลไปคร่าวๆ พอช่วงบ่ายจึงออกเดินทางไปที่โรงเรียน โดยนัดแหล่งข่าวไว้ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ก่อนทำการสัมภาษณ์ มีการคุยประเด็นกับผอ.คนนั้นก่อน จึงบันทึกเทป

ใน office พี่ตือดูเป็นคนเฉยๆ น้อยนักที่พี่ตือจะเดินเข้ามาพูดค่อยกับเพื่อนๆในห้องข่าว 2 หากแต่สิ่งที่ผมเจอใน Office กับในสนามข่าว เป็นคนละอย่างเลยทีเดียว การสัมภาษณ์ผอ.คนนั้น พี่ตือตะล่อมถามให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด และถามไม่หลุดประเด็น ดูเป็นคนช่างเจรจา ผิดหูผิดตากับที่อยู่ใน Office เลยทีเดียว

ในความคิดของผม พี่ตือ เป็นบุคคลที่น่าเอาแบบอย่าง ทั้งการวางตัวในที่ทำงาน และเต็มที่กับการทำงาน เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพ

*** พรุ่งนี้ติดตามตอนที่ 5 โต๊ะข่าวของชาวบ้าน
My Twitter : @tanpisitlive
My Facebook : Tanpisit Lerdbamrungchai

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากบางนา สู่บางเขน - ตอนที่ 3 : เรื่องเล่าในรถข่าว Thai PBS


จากบางนา สู่บางเขน
ตอนที่
3 : เรื่องเล่าในรถข่าว Thai PBS


รถข่าวที่มีโลโก้นกไทยพีบีเอส  เมื่อก่อนเห็นเพียงแค่วิ่งผ่านไปบนท้องถนนก็รู้สึกว่า อยากนั่งรถข่าวแบบนี้บ้าง ดูเท่ดี หารู้ไม่ว่าในรถข่าวคันนี้มีอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อถึงเวลาที่ผมได้ขึ้นมานั่งออกไปทำข่าวจริงๆ จะได้ค้นพบเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเจ้าของเก่า ของรถคันนี้ “ตำนานไอทีวี ทีวีเสรี” ถูกเล่าอย่างสนุกสนานบนรถ ในช่วงที่จราจรติดขัด

ผมสังเกตว่าช่างภาพส่วนใหญ่ของไทยพีบีเอส เคยเป็นพนักงานของไอทีวีมาทั้งนั้น บางคนก็อยู่ตั้งแต่ยุคไอทีวีเปิดจนถึงยุคไทยพีบีเอสในปัจจุบัน พวกเขาเหล่านี้ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลง และเฝ้าดูความเป็นไปต่างๆ มาอย่างใกล้ชิด

จากคำบอกเล่าของช่างภาพที่อยู่ตั้งแต่ไอทีวียุคแรกบอกว่า “น้องเกิดผิดยุค น้องน่าจะเกิดและทันฝึกงานกับไอทีวี” ประโยคนี้ก็พอทำให้ผมเข้าใจได้ว่า ไอทีวีนั้น ข่าวเข้มข้นเพียงใด


ความกล้าหาญของไอทีวี ถูกนำมาพูดถึงไม่ว่าจะเป็น การเปิดโปงการเก็บส่วย การซ่อนกล้องแอบถ่าย และการทำข่าวสืบสวนสอบสวนอื่นๆ ที่ยุคนั้นหาทีวีช่องอื่นทำข่าวแบบนี้ไม่ได้ รวมทั้งระบบการทำงานในสมัยนั้นก็นำมาเล่าสู่กันฟังด้วย เราคุยกันในระหว่างที่รถติดก็อดเปรียบเทียบไอทีวี ทีวีเสรี กับ ไทยพีบีเอส ทีวีที่คุณวางใจไม่ได้ “ยุคก่อนไอทีวีทำข่าวอะไร ทุกช่องต้องคอยดู คอยตาม แต่ยุคนี้เราตามเขา” ช่างภาพคนหนึ่งกล่าว เราคุยกันต่อถึงสาเหตุที่อาจเป็นเพราะคนไอทีวีเก่งๆ กระจัดกระจายอยู่ตามช่องต่างๆก็เป็นได้

นอกจากเรื่องไอทีวีแล้ว ประสบการณ์สนุกๆ และเสี่ยงตายของช่างภาพก็ถูกนำมาเล่าด้วยเช่นกัน ตั้งแต่ไอทีวีจนถึงไทยพีบีเอส ช่างภาพคนหนึ่งเคยถ่ายสรยุทธตอนทำรายการไอทีวีทอล์ค ก็เล่าให้ฟังว่าสรยุทธเป็นยังไงก่อนจะโด่งดังมากในตอนนี้ แม้จะทั้งเหตุการณ์สลายการชุมนุม ปี 2553 ที่ช่างภาพต้องเป็นด่านหน้าเสี่ยงตายเพื่อเก็บภาพมาส่งที่สถานี

ต้องยอมรับว่ากลุ่มช่างภาพไทยพีบีเอส เป็นกลุ่มที่รักกันเหนียวแน่จริงๆ แม้ว่าในองค์กรใหญ่แห่งนี้ จะมีเรื่องที่พวกเขาอาจไม่ถูกใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่คิดจะย้ายไปไหน เขาบอกผมว่า “พี่น้องของผมที่อยู่ที่ ผมต้องอยู่กับพี่น้องของผมที่นี่”

ช่างภาพไทยพีบีเอส น่ารักทุกคนครับ เรื่องที่คุยกันมีหลายเรื่อง ผมฟังเพื่อฟัง โดยไม่ตัดสินใดใด

*** พรุ่งนี้ติดตาม ตอนที่ 4 ตามคนข่าวไปทำข่าว ...

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากบางนา สู่บางเขน - ตอนที่ 2 : โรงงานข่าว กับครอบครัวข่าว


จากบางนา สู่บางเขน
ตอนที่
2 : โรงงานข่าว กับครอบครัวข่าว


“สำนักงานของเรา ออกแบบมาให้เป็นเหมือนโรงงานข่าว” ผมได้ยินมาจากท่านผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ช่วย ผ.อ.เทพชัย หย่อง เมื่อผมได้ยินประโยคนี้ทำให้เกิดภาพขึ้นในหัวทันทีว่า การทำงานของที่นี่จะต้องเป็นระบบระเบียบอย่างแน่นอน

เข้าสู่วันที่ 2 ของการฝึกงาน ผมได้เรียนรู้กระบวนการผลิตข่าวของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ผ่านพี่ตุ โต๊ะวาระประเทศไทย ที่พาเยี่ยมชมสถานีพร้อมอธิบายการผลิตข่าวในเชิงเทคนิคอย่างเป็นขั้นตอน

พี่ตุ วาระประเทศไทย
เริ่มจากการคุยกันในโต๊ะเพื่อกำหนดประเด็น กำหนดผู้สัมภาษณ์ และกำหนดหมายนัดพบแหล่งข่าว

การออกหมายเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพเจอกันครบทีมแล้วจึงสามารถออกรถไปพบกับแหล่งข่าวที่นัดไว้ เพื่อสัมภาษณ์ และเก็บภาพประกอบรายงาน หรือภาพ Insert ได้ ในขั้นตอนนี้เองทำให้ผมรู้ว่ามีการแยกส่วนกันระหว่างกองบรรณาธิการ กับช่างภาพ ผมเข้าใจว่า Thai PBS แบ่งส่วนกันอย่างชัดเจนระหว่างการผลิต Content และ Production แต่ก็ยังคงมีบางรายการที่หนึ่งทีมสามารถผลิตได้ทั้ง Content และ Production รวมกัน อย่างเช่น รายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศเป็นต้น



ตอนผมเด็กๆ เคยจิตนาการไว้ว่าไมค์โครโฟนที่มีโลโก้ช่องติดอยู่คืออาวุธของนักข่าว แต่เมื่อมาฝึกงานจึงพบว่า แท้จริงคือการ์ดกล้องต่างหาก เพราะผู้สื่อข่าวจะต้องพกติดตัวไปจาก Office เพื่อนำไปให้ช่างภาพ และเมื่อช่างภาพบันทึกภาพเสร็จแล้ว ก่อนจะเข้า Office ก็จะถอดการ์ดคืนให้ผู้สื่อข่าว นำไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือนำภาพจากการ์ดไปลงที่ห้องอิงเจ็ท ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องนำการ์ดมาเพลย์ดูก่อน เพื่อจดนาทีที่ต้องการภาพ หรือนาทีที่แหล่งข่าวพูดในประโยคที่เราจะนำมาประกอบในสกู๊ป การนำภาพไปลงที่ห้องอิงเจ็ท ก็คือการนำภาพที่ถ่ายมาดิบๆ เข้าถังภาพกลางโดยมีรหัสกำกับ และดึงภาพที่ต้องการมาใช้ตัดต่อ ในห้องตัดต่อที่มีระบบเชื่อมโยงกับถังภาพกลาง 
ห้องอิงเจ็ท เป็นแบล็กกราวของฉากข่าวต้นชัวโมง
ขณะเดียวกันก็ต้องเขียนสคริปต์ของสกู๊ป ที่ต้องทำเป็นตารางแบ่ง เป็นสองช่องคือภาพและเสียงซึ่งอาจพิมพ์ใน Microsoft Word ก่อนแล้วค่อยนำเนื้อหาไปลงในโปรแกรม I-Script พร้อมกำหนดช่วงที่จะปล่อยเสียงสัมภาษณ์ และภาพประกอบให้ล้อไปกับสคริปต์ที่เขียนด้วย หากไม่มีภาพ Insert ก็จะค้นภาพในแฟ้มภาพเพื่อนำมาใช้ประกอบ และเมื่อเขียนสคริปต์เสร็จแล้วจึงลงเสียงในลำดับต่อไป
หลังทั้งภาพ และเสียง พร้อมแล้วจึงนำมาสู่ขั้นตอนการตัดต่อ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตัดต่อรับช่วงต่อ โดยจะตัดตามสคริปต์ที่ผู้สื่อข่าวได้เขียนกำหนดไว้ ทั้งภาพ Insert และช่วงปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของแหล่งข่าว เมื่อตัดต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปลายทางก็คือการนำออกอากาศสู่สาธารณะ

สังเกตดูตั้งแต่ต้น จะพูดว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดเปรียบเสมือนสายพานการผลิตในโรงงานก็คงไม่ผิดนัก นี่แหละคือโรงงานข่าว ผมนึกเปรียบเทียบกัน คำว่าโรงงานข่าว เป็นคำที่ใช้เปรียบเทียบการทำงานให้เห็นภาพ แต่มีอีกคำหนึ่งที่เป็นคำเปรียบเทียบการทำงานข่าวด้วยเช่นเดียวกันคือ ครอบครัวข่าว

“โรงงานข่าว กับครอบครัวข่าว” น่าคิดนะครับว่าปลายทางก็คือข่าว แต่กระบวนการนั้นมีความต่างกันอย่างแน่นนอน ระบบเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้งานมีคุณภาพสูง แต่ก็เป็นสาเหตุในเกิดความห่างเหินในการทำงาน ในขณะที่การทำงานแบบพี่ แบบน้องเป็นครอบครัว หลวมๆ ผู้ทำงานคงจะมีความสุขกับการทำงานเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าคิดว่างานจะออกมามีคุณภาพหรือไม่ เมื่อระบบหละหลวม
งานกับความรู้สึกระหว่างการใช้ชีวิต  ควรเป็นสิ่งที่คู่ขนานกันไป แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง กลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง สุดท้าย “เรา” ต้องเรียนรู้และปรับตัว ในคู่ขนานกันให้ได้ เพียงแค่เราจัดการ และทำความเข้าใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เท่านั้นเอง

ไม่ว่าจะโรงงานข่าว หรือครอบครัวข่าว ปลายทางก็คือข่าว ที่มีคุณค่าเหมือนกัน  แต่วิถีการทำงานอาจต่างกัน ก็ย่อมส่งผลให้มุมมองของข่าว ต่างกัน ด้วยเช่นกัน

พรุ่งนี้ติดตามตอนที่ 3 - เรื่องเล่าในรถข่าว Thai PBS

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากบางนาสู่บางเขน - ตอนที่ 1 : ทำไมต้องฝึกงานที่ Thai PBS


จากบางนาสู่บางเขน
ตอนที่
1 : ทำไมต้องฝึกงานที่ Thai PBS




ผมสนใจและติดตามการเปลี่ยนผ่านของทีวีเสรี หรือ ไอทีวี ไปสู่ทีวีสาธารณะ หรือ ไทยพีบีเอส มาอย่างต่อเนื่อง เพราะกระเทือนต่อวงการสื่อสารมวลชนไทยเป็นอย่างยิ่ง และด้วยความสนใจนี้เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนในสายนิเทศศาสตร์ เพื่อที่จะได้ทำงานในสายวิทยุโทรทัศน์ และเมื่อมีโอกาสได้เข้าฝึกงานตั้งแต่ปี 1 ผมจึงเลือกมาฝึกที่ Thai PBS ทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย

ในช่วงที่เข้าปฐมนิเทศนักศึกษาฝึกงาน Thai PBS วิทยากรถามกับนักศึกษาทุกคนว่าคาดหวังอะไรกับการฝึกงานที่ Thai PBS นักศึกษาแต่ละคนก็ตอบไม่ต่างกันว่า คาดหวังอยากเป็นผู้ประกาศข่าวบ้าง อยากทำงานที่นี่บ้าง หรือบางคนก็คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้ ... บ้าง แต่ผมคาดหวังกับการค้นหาคำตอบว่า Thai PBS เป็นทีวีที่คุณวางใจ จริงหรือไม่  ความคาดหวังของผมต่อเนื่องมาจากความสนใจในมหากาพย์โทรทัศน์สาธารณะไทย และนี่จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ผมจะได้มาสัมผัส มาอยู่ มาเรียนรู้ในที่ที่ผมอยากทำความรู้จักให้มากกว่านี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมา ผมสัมผัสกับ Thai PBS ผ่านเพียงหน้าจอ และตัวหนังสือในบทความ ในหนังสือต่างๆ เท่านั้น

ผมสังเกต และสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมข่าวของ Thai PBS จึงแตกต่างจากช่องอื่น ขณะที่ช่องต่างๆกำลังนำเสนอข่าวเดียวกัน แต่บางครั้ง Thai PBS ก็มักจะเสนอในอีกแง่มุมหนึ่ง บ้างครั้งก็เห็นชาวบ้านทำสกู๊ปลงเสียงออกทีวีด้วยตนเอง ผมคิดต่อมาถึงรูปแบบการนำเสนอ ในขณะที่ช่องอื่นๆ ตอนเช้าต้องคุยข่าว แต่ Thai PBS อ่านข่าว และชอบนำเสนอเป็นสกู๊ป มันไม่น่าเบื่อหรือ หรือที่ทำแบบนี้เพราะมีอะไรมากไปกว่านั้น



จากบางนาคือ Nation  เพราะผมเป็นนักศึกษามาจากม.เนชั่น สู่บางเขน เพราะผมมาฝึกงานที่ Thai PBS ซึ่งตั้งอยู่เขตบางเขน ผมอดที่จะเปรียบเทียบวิธีการทำข่าวของสำนักข่าวใหญ่ทั้ง 2 สำนักของไทยแห่งนี้ไม่ได้ เมื่อเคยสัมผัสจากอีกที่ แล้วมาสัมผัสกับอีกที่ จึงพบความแตกต่าง และความเหมือนที่ทำให้ผมเข้าใจในอะไรบางอย่างมากขึ้น บางอย่างที่ผมว่า ถ้าท่านอ่านรายงานเล่มนี้ดีดี ท่านจะพบคำตอบที่ซ้อนอยู่

การฝึกงานที่ Thai PBS ครั้งนี้ของผม ไร้ซึ่งแรงกดดัน เพราะตนพึ่งอยู่เพียงปี 1 ฉะนั้นการนั่งนิ่งๆใน Office ของผมในบางช่วงเวลา ที่บางครั้งก็รู้สึกยาวนาน ก็ทำให้ได้เรียนรู้ สัมผัส รับรู้ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

พรุ่งนี้ติดตามตอนที่ 2 “โรงงานข่าว” 


My Twitter : @tanpisitlive
My Facebook : Tanpisit Lerdbamrungchai