วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากบางนา สู่บางเขน - ตอนที่ 2 : โรงงานข่าว กับครอบครัวข่าว


จากบางนา สู่บางเขน
ตอนที่
2 : โรงงานข่าว กับครอบครัวข่าว


“สำนักงานของเรา ออกแบบมาให้เป็นเหมือนโรงงานข่าว” ผมได้ยินมาจากท่านผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ช่วย ผ.อ.เทพชัย หย่อง เมื่อผมได้ยินประโยคนี้ทำให้เกิดภาพขึ้นในหัวทันทีว่า การทำงานของที่นี่จะต้องเป็นระบบระเบียบอย่างแน่นอน

เข้าสู่วันที่ 2 ของการฝึกงาน ผมได้เรียนรู้กระบวนการผลิตข่าวของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ผ่านพี่ตุ โต๊ะวาระประเทศไทย ที่พาเยี่ยมชมสถานีพร้อมอธิบายการผลิตข่าวในเชิงเทคนิคอย่างเป็นขั้นตอน

พี่ตุ วาระประเทศไทย
เริ่มจากการคุยกันในโต๊ะเพื่อกำหนดประเด็น กำหนดผู้สัมภาษณ์ และกำหนดหมายนัดพบแหล่งข่าว

การออกหมายเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะเมื่อผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพเจอกันครบทีมแล้วจึงสามารถออกรถไปพบกับแหล่งข่าวที่นัดไว้ เพื่อสัมภาษณ์ และเก็บภาพประกอบรายงาน หรือภาพ Insert ได้ ในขั้นตอนนี้เองทำให้ผมรู้ว่ามีการแยกส่วนกันระหว่างกองบรรณาธิการ กับช่างภาพ ผมเข้าใจว่า Thai PBS แบ่งส่วนกันอย่างชัดเจนระหว่างการผลิต Content และ Production แต่ก็ยังคงมีบางรายการที่หนึ่งทีมสามารถผลิตได้ทั้ง Content และ Production รวมกัน อย่างเช่น รายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศเป็นต้น



ตอนผมเด็กๆ เคยจิตนาการไว้ว่าไมค์โครโฟนที่มีโลโก้ช่องติดอยู่คืออาวุธของนักข่าว แต่เมื่อมาฝึกงานจึงพบว่า แท้จริงคือการ์ดกล้องต่างหาก เพราะผู้สื่อข่าวจะต้องพกติดตัวไปจาก Office เพื่อนำไปให้ช่างภาพ และเมื่อช่างภาพบันทึกภาพเสร็จแล้ว ก่อนจะเข้า Office ก็จะถอดการ์ดคืนให้ผู้สื่อข่าว นำไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือนำภาพจากการ์ดไปลงที่ห้องอิงเจ็ท ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องนำการ์ดมาเพลย์ดูก่อน เพื่อจดนาทีที่ต้องการภาพ หรือนาทีที่แหล่งข่าวพูดในประโยคที่เราจะนำมาประกอบในสกู๊ป การนำภาพไปลงที่ห้องอิงเจ็ท ก็คือการนำภาพที่ถ่ายมาดิบๆ เข้าถังภาพกลางโดยมีรหัสกำกับ และดึงภาพที่ต้องการมาใช้ตัดต่อ ในห้องตัดต่อที่มีระบบเชื่อมโยงกับถังภาพกลาง 
ห้องอิงเจ็ท เป็นแบล็กกราวของฉากข่าวต้นชัวโมง
ขณะเดียวกันก็ต้องเขียนสคริปต์ของสกู๊ป ที่ต้องทำเป็นตารางแบ่ง เป็นสองช่องคือภาพและเสียงซึ่งอาจพิมพ์ใน Microsoft Word ก่อนแล้วค่อยนำเนื้อหาไปลงในโปรแกรม I-Script พร้อมกำหนดช่วงที่จะปล่อยเสียงสัมภาษณ์ และภาพประกอบให้ล้อไปกับสคริปต์ที่เขียนด้วย หากไม่มีภาพ Insert ก็จะค้นภาพในแฟ้มภาพเพื่อนำมาใช้ประกอบ และเมื่อเขียนสคริปต์เสร็จแล้วจึงลงเสียงในลำดับต่อไป
หลังทั้งภาพ และเสียง พร้อมแล้วจึงนำมาสู่ขั้นตอนการตัดต่อ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตัดต่อรับช่วงต่อ โดยจะตัดตามสคริปต์ที่ผู้สื่อข่าวได้เขียนกำหนดไว้ ทั้งภาพ Insert และช่วงปล่อยเสียงสัมภาษณ์ของแหล่งข่าว เมื่อตัดต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปลายทางก็คือการนำออกอากาศสู่สาธารณะ

สังเกตดูตั้งแต่ต้น จะพูดว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดเปรียบเสมือนสายพานการผลิตในโรงงานก็คงไม่ผิดนัก นี่แหละคือโรงงานข่าว ผมนึกเปรียบเทียบกัน คำว่าโรงงานข่าว เป็นคำที่ใช้เปรียบเทียบการทำงานให้เห็นภาพ แต่มีอีกคำหนึ่งที่เป็นคำเปรียบเทียบการทำงานข่าวด้วยเช่นเดียวกันคือ ครอบครัวข่าว

“โรงงานข่าว กับครอบครัวข่าว” น่าคิดนะครับว่าปลายทางก็คือข่าว แต่กระบวนการนั้นมีความต่างกันอย่างแน่นนอน ระบบเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้งานมีคุณภาพสูง แต่ก็เป็นสาเหตุในเกิดความห่างเหินในการทำงาน ในขณะที่การทำงานแบบพี่ แบบน้องเป็นครอบครัว หลวมๆ ผู้ทำงานคงจะมีความสุขกับการทำงานเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าคิดว่างานจะออกมามีคุณภาพหรือไม่ เมื่อระบบหละหลวม
งานกับความรู้สึกระหว่างการใช้ชีวิต  ควรเป็นสิ่งที่คู่ขนานกันไป แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง กลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง สุดท้าย “เรา” ต้องเรียนรู้และปรับตัว ในคู่ขนานกันให้ได้ เพียงแค่เราจัดการ และทำความเข้าใจกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เท่านั้นเอง

ไม่ว่าจะโรงงานข่าว หรือครอบครัวข่าว ปลายทางก็คือข่าว ที่มีคุณค่าเหมือนกัน  แต่วิถีการทำงานอาจต่างกัน ก็ย่อมส่งผลให้มุมมองของข่าว ต่างกัน ด้วยเช่นกัน

พรุ่งนี้ติดตามตอนที่ 3 - เรื่องเล่าในรถข่าว Thai PBS

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น