วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

“หลอมรวมสื่อ”ในวิถีชีวิตจริง ที่นักศึกษาเนชั่นอย่างผมรู้จัก

“หลอมรวมสื่อ”ในวิถีชีวิตจริง ที่นักศึกษาเนชั่นอย่างผมรู้จัก


เป็นความตั้งใจโดยไม่ได้เรียกร้อง แต่อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมและสภาพการณ์ของสื่อยุคปัจจุจันที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคหลอมรวมอย่างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องตั้งวงคุยกันเกี่ยวกับการหลอมรวมสื่ออีกต่อไป เพราะ ณ วันนี้เลิกคุยเรื่องแนวคิดได้แล้ว ต่อจากนี้คือเรื่องจริงของคนทำข่าว คนที่มีอาชีพเล่าเรื่อง ที่ต้องเล่าผ่านได้ในหลายช่องทาง

เรื่องที่ผมอยากเล่าก็คือ “ผลกระทบหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง” สื่อทุกสื่อต่างนำเสนอ แต่ผมถ้าผมได้เป็นคนนำเสนอเรื่องนี้ ผมอยากจะเล่าในแบบของผม แบบที่คนมีคำถาม แล้วกำลังจะไปค้นหาคำตอบ มันอาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าพี่ๆในสื่อกระแสหลัก แต่มันจะให้มุมบางอย่าง และคงจะแตกต่างถ้าได้ลองทำดู

การฝึกงานที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นทำให้ผมได้รู้จักกับพี่กั้ง เป็นบรรณาธิการข่าวทั่วไปของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่พี่กั้งสนใจ และมักได้รับหมายข่าวเกี่ยวกับส่งแวดล้อมอยู่สม่ำเสมอ ผมไปคุยไว้ล่วงหน้ากับพี่กั้ง หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วได้ไม่กี่วันว่า “ถ้ามีกลุ่มเพื่อนเยาวชน ที่จะลองไปฟื้นฟูหรือไปทำกิจกรรมใดใด ที่เกาะเสม็ดให้บอกผมด้วย”

หนึ่งเดือนหลังจากนั้นพี่กั้งก็ได้หมายข่าวของกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กำลังจะลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบด้านกายภาพ (สิ่งแวดล้อม – ระบบนิเวศ – สิ่งมีชีวิต) ของชายหาดบริเวณนั้น พี่กั้งจึงแนะนำหมายนี้มาให้ผม พร้อมบอกว่าให้ทำเป็นรายงานหนังสือพิมพ์มาด้วย

ขณะเดียวกันในฝั่งของโทรทัศน์ ผมได้สัมปทานผลิตรายการแซ่บระวังภัย เทปละเดือน (ได้สัมปทาน-เป็นคำเฉพาะที่ผมกับเพื่อนๆเรียกกันแบบติดตลก อะไรเพิ่มเติมคือรายการแซ่บระวังภัยเป็นรายการเยาวชน พี่กาญจน์ โปรดิวเซอร์รายการนี้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเนชั่น และผมก็เรียนที่เนชั่น จึงตกลงปลงใจ – สัญญาใจกันว่า ผมและเพื่อนของผมจะขอทำเป็นสารคดีสักเทปต่อเดือน เพื่อออกอากาศจริงๆ ในเนชั่นแชนแนล และคมชัดลึกทีวี)

ทำให้ผมมีภารกิจในการเล่าเรื่องผลกระทบน้ำมันรั่ว ผ่านทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์ (สื่อเก่า) พร้อมกัน หากเรียกว่าเป็นการ “หลอมรวมสื่อ” ก็คงไม่ผิดนัก และที่สำคัญก็คือว่าการ “หลอมรวมสื่อ” ครังนี้ไม่ได้มีหลักการที่ตำราอธิบายไว้เป็นตั้งๆ แต่มันกำลังเกิดขึ้นให้ผมได้เรียนรู้ในวิถีชีวิตจริง โดยไม่ต้องมีตัวหนังสืออธิบายแต่อย่างใด

ในระหว่างลงพื้นที่ ผมใช้ Facebook – Twitter (สื่อใหม่) ลงภาพคราบน้ำมัน และสภาพของหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดล่าสุด ว่าเป็นอย่างไร พร้อมกับลงคำให้สภาษณ์ของอาจารย์ที่ไปในทริปนั้นด้วยกัน คร่าวๆ สั้นๆ

ผสานสื่อเครือเนชั่น

การบริหารทรัพยากรในการทำข่าวครั้งนี้ เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจเมื่อต้องทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกันทั้งรายงานหนังสือพิมพ์ และสารคดีโทรทัศน์ ผมเลือกจองรถฝ่ายรายการเพราะมีพี่ช่างภาพของฝ่ายรายการเป็นด้วย ส่วนภาพนิ่งผมและเพื่อนสามารถถ่ายได้เอง

หลังจากลงพื้นที่กลับมาที่กรุงเทพ ผมเลือกเขียนเล่าเรื่องเป็นแบบหนังสือพิมพ์ก่อน ด้วยเพราะรูปแบบของหนังสือพิมพ์ที่มีความละเอียดของข้อมูล แล้วจึงมาดูภาพดิบ (Footage) พร้อมกับปรับการเล่าเรื่องแบบหนังสือพิมพ์ ให้เป็นแบบโทรทัศน์โดยใช้ภาพเล่าเรื่องและจังหวะการปล่อยเสียงประกอบกัน เป็นหลัก

สารคดีโทรทัศน์ของผมที่ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล และคมชัดลึกทีวี (ชมคลิป)



ก่อนที่รายการโทรทัศน์จะออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล และก่อนที่เรื่องจะได้ลงตีพิมพ์ในเดอะเนชั่น ผมใช้ Facebook – Twitter โปรโมทเชิญชวนให้คนมาดู มาอ่าน และหลังจากที่รายการออกอากาศ และเรื่องตีพิมพ์แล้วก็นำลง YouTube Website และ Blog แชร์ส่งต่อด้วย Facebook – Twitter ด้วย

รายงานพิเศษของผมในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (คลิกลิ้งค์ เพื่ออ่าน)
http://www.nationmultimedia.com/national/Students-visit-Samet-to-see-things-for-themselves-30214670.html

“ผสานสื่อที่หลากหลาย เพื่อเข้าถึงทุกครัวเรือน” เป็นวิสัยทัศน์ของเครือเนชั่นที่มีมานานแล้ว และผมถ้าจะเรียกว่าเป็นหลักการของคนทำสื่อยุคนี้ก็คงไม่ผิด ยิ่งเรื่องถูกเล่าในหลายสื่อ ก็ยิ่งมีผู้คนได้ฟัง ได้อ่าน และได้รับรู้เรื่องที่เราเล่ามากขึ้นเท่านั้น และเมื่อเรื่องที่เราเล่ามีผู้คนรับรู้ในจำนวนมาก ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในทิศทางที่ดีขึ้น หรือปัญหาที่เรานำเสนอได้รับการแก้ไ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่ผมอยากเล่า ด้วยความที่ตัวผมเองเรียนที่เนชั่น อยู่ที่เนชั่นมา 3 ปี ตั้งแต่วันแรกที่มหมาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดขึ้นมา ผมก็โตมาพร้อมกับบรรยากาศที่คึกคัก พร้อมกับพี่ป้าน้าอา (อา-อาจารย์) ที่ปรับตัวอย่างคึกคักอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ที่เห็นอยู่ทุกวันมันก็แทรกซึมในวิถีชีวิตของผม การผสานสื่อเครือเนชั่นครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อย่างสนุกสนาน

ทุกวันนี้เรื่องที่ผมเล่าไม่ได้รู้กันอยู่เพียงแค่กลุ่มเพื่อน แต่คนอื่นๆ ทั่วประเทศ และทั่วโลก ก็สามารถฟัง / อ่านในสิ่งที่ผมเล่าได้อย่างสะดวกสบาย

/////////////////////////////////