วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

15 ปี 660 ล้านรั้งแพนด้า คุ้มได้ไม่คุ้มเสีย?

15 ปี 660 ล้านรั้งแพนด้า คุ้มได้ไม่คุ้มเสีย?




มูลนิธิเพื่อนช้างตั้งคำถามคุ้มไม่คุ้มรั้ง “หลินปิง” อยู่ไทยกับการเทงบวิจัย 15 ปี 660 ล้าน แล้วช้างไทยอยู่ไหน? ด้านที่คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ เห็นผลพลอยได้จากการลงทุนโครงการวิจัยแพนด้า ต่อยอดงานวิจัยพันธุ์สัตว์ชนิดอื่น ขณะสัตวแพทย์กรมอุทยานแนะทำข้อตกลงยกระดับช้างไทยเทียบแพนด้าจีน
ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร ศูนย์วิจัยป่าไม้ ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดประเด็นในวงเสวนาวิชาการสังคมไทย ได้-เสีย อะไรจากโครงการวิจัยหมีแพนด้า ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า กรมป่าไม้ของไทยได้หารือกับรัฐมนตรีสำนักงานป่าไม้แห่งชาติของจีน เพื่อหาข้อสรุปให้แพนด้าอยู่ที่ประเทศไทยต่อไป โดยหลังจากที่หลินปิงกลับไปหาคู่ที่ประเทศจีนในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ แล้วจะกลับมาอยู่ที่ไทยพร้อมคู่อีก 15 ปี โดยไทยจะต้องจ่ายค่าสนับสนุนแพนด้าให้กับรัฐบาลจีนปีละ 44 ล้านบาท 15 ปี 660 ล้านบาท

“พอเอาเรื่องเงินมาจับก็ดูเยอะกับสัตว์เพียงไม่กี่ตัว ทำให้สังคมบางส่วนคลางแคลงใจกับงบประมาณที่ลงทุนไปสูงเช่นนี้ ถ้ามองในเชิงสัตว์สัญลักษณ์ก็ถูกเปรียบเทียบกับช้างไทยซึ่งรับการดูแลที่ไม่เท่าเทียมกับแพนด้า ในขณะที่ถ้ามองในมุมอนุรักษ์ ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะแพนด้าใกล้สูญพันธุ์” ผศ.ดร.ขวัญชัยกล่าว

วิจัยแพนด้าจำเป็น

รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีโครงการวิจัยแพนด้า เพราะว่าแพนด้าเป็น Flagship Species สามารถดึงดูดความสนใจของสังคมได้ และในฐานะทูตแห่งการอนุรักษ์ ก็ทำให้สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่นๆไปด้วย ที่ผ่านมามีการเจียดงบประมาณจากโครงการวิจัยแพนด้ามาทำการวิจัยเพาะพันธุละมั่งในหลอดแก้ว กวางผา และสมเสร็จ

ส่วนในเชิงเศรษฐกิจ สังคมต่างสนใจเข้าชมแพนด้า สร้างการหมุ่นเวียนทางเศรษฐกิจในกับจังหวัด และสร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์ หากมีการเปรียบเทียบรายได้ของสวนสัตว์เชียงซึ่งมีแพนด้า กับสวนสัตว์สงขลาซึ่งไม่มีแพนด้า รายได้ของสวนสัตว์เชียงใหม่ถึงว่ามีสูงกว่าหลายเท่า

“หลินปิงเกิดขึ้นท่ามกลาง ความวุ่นวายทางการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดงจากการนำเสนอข่าวหลินปิงของสื่อมวลชน ทำให้คนไทยพอยิ้มได้บ้าง ผมคิดว่าแพนด้าไม่ผิดอะไร แพนด้าไม่ใช่ปัญหา แต่เราจะทำอย่างไรให้โครงการวิจัยแพนด้าไปช่วยต่อยอดงานวิจัยชิ้นอื่นๆ” รศ.ดร.นริศ บอก

เอาแต่พลพลอยได้

อย่างไรตาม ดร.สุรพล ดวงแข มูลนิธิเพื่อนช้าง เห็นแย้งว่าการรอผลพลอยได้จากงบวิจัยแพนด้า เป็นการแก้ไขปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ในการบริหารจัดการงบวิจัยพันธุ์สัตว์ ขณะเดียวกันการทุ่มงบประมาณที่สูงมากในการจ่ายให้แพนด้าอยู่ต่อ และตามมาด้วยงบประชาสัมพันธ์อีกมหาศาลก็ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และเป็นที่น้อยอกน้อยใจของคนที่เห็นว่าช้างก็เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทย แต่เหตุใดจึงไม่ได้รับการดูและที่เท่าเทียมเสมอกับแพนด้าซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจีน

ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนช้าง บอกอีกว่าเรื่องค่านิยมการโชว์สัตว์แปลกในสวนสัตว์ควรจะยกเลิกไปได้แล้ว วันนี้สวนสัตว์ต้องอนุรักษ์สัตว์ควบคูไปด้วย แม้ว่าสวนสัตว์จะหารายได้จากการโชว์สัตว์แปลกๆ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องให้ทุนในการอนุรักษ์สัตว์อื่นๆ

“ไม่ได้อยากเกี่ยวโยงเรื่องการเมืองแต่สังเกตุดูจากจังหวัดที่มีพรรคการเมืองคอยหนุนอยู่ก็มีการสร้างสวนสัตว์ อย่างที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคชาติไทย และจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์” ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนช้าง ระบุ

ยกระดับช้างไทยเทียบแพนด้าจีน

ขณะที่นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชบอกว่าสัตว์ป่าเป็นสัตว์ไรพรมแดน ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ ทุกประเทศในโลกต้องช่วยดูแลกันอย่างเท่าเทียม ด้วยสภาพร่างกาย และวิธีการใช้ชีวิตแบบแพนด้า ที่กิน กับ นอน ก็ทำให้เสี่ยงต่อการถูกล่า และสูญพันธุ์มากพออยู่แล้ว มนุษย์ก็พยายามหาวิธีการช่วยรักษาแพนด้าเอาไว้ เราก็เป็นหนึ่งในนั่น

อย่างไรก็ตามเรื่องช้างไทย ตนเห็นว่าก็ควรมีการยกระดับให้เท่าเทียมกับแพนด้าของจีน โดยนำโมเดลการดูแลแพนด้าของรัฐบาลจีนมาเป็นตัวอย่าง เช่นการทำระเบียบข้อตกลงโครงการความร่วมมือในการวิจัยและอนุรักษ์แพนด้า เราก็ใช้ข้อกำนดเดียวกันแต่เปลี่ยนจากแพนด้า มาเป็นช้างไทย เราต้องแสดงความเป็นเจ้าของ ช้างทุกเชือกรวมทั้งลูกช้างที่เกิดจากการตกลูก เป็นสมบัติของไทย ลูกที่เกิดจะต้องกลับประเทศไทยเมื่ออายุได้ 5 ปี และทุกชิ้นส่วนรวมทั้งผลิตผลของช้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และที่ได้รับจากไทยรวมทั้งชิ้นส่วนที่ CITES ได้อธิบายไว้ เป็นสมบัติของไทย ของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ได้

นายสัตวแพทย์ภัทรพล บอกอีกว่าสำหรับโครงการวิจัยแพนด้า ที่ผ่านมานักวิจัยไทยได้โอกาสในการศึกษาเกี่ยวกับโฮโมนของแพนด้า และคนไทยเองก็สามารถผสมเทียมแพนด้าได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความหลากหลายทางชนิดไผ่ในไทย ที่แพนด้าสามารถกินได้ ส่วนห้องแล็บที่เกิดขึ้นจากงบวิจัยแพนด้ายังสามารถใช้วิจัยเพาะพันสัตว์ชนิดอื่นได้อีก

///////////////////////////////////////////////////////

ข่าวที่เขียนลง The Nation ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2556

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไป ‘คลอดหลอด’ ตอนกลางวัน โล่งเชียว ...

ไป ‘คลอดหลอด’ ตอนกลางวัน  โล่งเชียว ...


กทม.เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยคลองหลอด กำหนดหยุดขายทุกวันจันทร์ และ ขายได้เฉพาะกลางคืนกระทบ ผู้ค้ากว่า 1,000 ชีวิต ขณะที่เอ็นจีโอถามหามาตรการรองรับคนไร้บ้าน 40%


คุณปัง คลองหลอด  แกนนำพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอด บอกว่าบริเวณริมคลองหลอดมีการขายสินค้า 2 ช่วงเวลา คือ กลางวันตั้งแต่ 8.00 – 15.00 น.และกลางคืนตั้งแต่ 19.00 – 03.00 น. โดยมีจำนวนผู้ค้ารวมกันประมาณ 1,000 ราย สำหรับท่าทีการอนุญาตให้มีการขายสินค้าเฉพาะเวลากลางคืนซึ่งแม้จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารอบกลางวันจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับได้

ป้าอ้อย คลองหลอด อายุ 65 ปี แม่ค้าขายน้ำอัดลม ผู้ได้รับผลกระทบจากการห้ามขายของในเวลากลางวันที่คลองหลอด กล่าวว่าต้องย้ายเวลาขายจากกลางวันมาเป็นกลางคืน แถมต้องแย่งกับคนที่เขาขายตอนกลางคืนอยู่แล้วอีกด้วย ปัจจุบันมีหลานต้องส่งเรียน ถ้าไม่มีกฎระเบียบนี้ออกมา ก็อาจขายทั้งตอนกลางวัน และกลางคืนเพื่อเพิ่มรายได้ แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงต้องไปหาเงินกู้มาส่งหลานเรียน

นายดวง คลองหลอด อายุ 27 ปี พ่อค้าขายของมือสอง บอกว่าปกติขายของช่วงกลางคืนอยู่แล้วและเห็นด้วยกับการจัดเบียบของกทม.เพราะไม่ได้ห้ามไม่ให้ขายเลย ยังให้ขายในช่วงกลางคืนได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนก็มาเดินซื้อของช่วงกลางคืนมากกว่า

ป้านก คลองหลอด  อายุ 50 ปี แม่ค้าขายขนมหวาน บอกว่าการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยที่ระบุให้ขายได้ตอน 19.00 น. ก็ถือว่ากระทบกับรายได้ เพราะปกติตนมาตั้งร้านตอน 17.00 น. แล้วก็เริ่มขายทันที ฉะนั้นกว่าจะถึงตอน 19.00 น.ก็ทำรายได้ไปกว่า 200 บาทแล้ว

ผลกระทบคนเร่รอน

ขณะที่คุณนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ผู้ทำงานช่วยเหลือคนเร่ร่อนและคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะบริเวณดังกล่าวเปิดเผยว่า ร้อยละ 40 ของพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอด คือผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ ที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดและบางส่วนเป็นคนเร่ร่อนไร้ที่พักพิง ผู้อาศัยในที่สาธารณะเหล่านี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยโดนไล่จากสนามหลวง หมดหนทางทำมาหากิน แสดงให้เห็นถึงหลักคิดของกทม.ที่แก้ไขปัญหาโดยยึดเอาสถานที่เป็นที่ตั้ง และละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนซึ่งอาศัยอยู่มาก่อน

คุณนทีเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขนี้ร่วมกันกับประชาชน ที่ผ่านมากทม.จัดระเบียบอะไรอย่างไร ไม่เคยมาสอบถามเลย อย่างน้อยก็ควรมาคุย มาเจรจาหาจุดร่วมร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

“ต้องยอมรับว่าคนเร่รอนที่ผันตัวเองมาทำอาชีพค้าขายในคลอดหลอดกว่าครึ่งมีประวัติอาชญากรรมมาก่อนทั้งนั้น และเมื่อมีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนี้ ซึ่งกระทบกับแนวทางทำมาหากิน เมื่อพวกเขาไม่มีอาชีพ ก็อาจจะกลับมาก่ออาชญกรรมได้อีก” คุณนที บอก

เราสังเกตุพบว่า ในช่วงบ่ายบริเวณคลอดหลอดไม่พบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ตั้งร้านขายของแต่อย่างใด พบเพียงผู้ค้าที่เข็นรถเข็น มาขายกับข้าวจึงเข้าไปสอบถาม ชื่อนางเวียงสวรรค์  แก้วสาลี อายุ 38 ปี ขณะกำลังประกอบอาหารเป็นข้าวไข่เจียวให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นคนเร่ร่อน และรถเข็นของเธอ ติดป้ายไว้ด้วยว่า บริจาค 25 บาทเอื้อเฟื้อข้าวไข่เจียวให้คนเร่รอนไร้บ้านได้ 1 จาน



คุณเวียงสวรรค์ บอกว่า ตนเป็นเคยคนเร่ร่อน มาก่อนจะทำอาชีพค้าขาย ตอนนี้เช่าบ้านอาศัยอยู่ในย่านนี้ แม้ว่าจะมีการระเบียบหาบเร่แผงลอย แต่ตนใช้รถเข็นขายของ เข็นไปเข็นมาไม่ได้ปักหลักอยู่เป็นที่ทาง เป็นทาง เวลาเทศกิจมาก็เข็นหลบออกไป ที่ต้องทำแบบนี้เพราะยังต้องการรายได้ ยิ่งช่วงนี้ลูกไกล้เปิดเทอม จึงมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องเร่งสร้างรายรับ

ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามผู้ที่สัญจรไปมาย่านนั้น อย่างคุณธี นักศึกษา อายุ 20 ปี บอกว่าก่อนหน้านี้ทั้งคนเร่ร่อน และหาบเร่แผงลอยมีเกลื่อนเต็มพื้นที่คลอดหลอดสร้างความสกปรกมาก และ เคยได้ข่าวว่าคนเร่ร่อนแถบนี้อุจจาระ ปัสสาวะลงคลองหลอด แล้วพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ก็เอาน้ำในคลองหลอดมาล้างภาชนะต่อ ก็นับว่าสมควรให้มีการจัดระเบียบให้เรียบร้อย จะได้เป็นหน้าเป็นตาแก่ประเทศ เพราะบริเวณนั้นก็มีนักท่องเทียวเป็นจำนวนมากและอยู่ไกล้กับพระบรมมหาราชวัง

ด้านคุณปริม นักศึกษา อายุ 19 ปีบอกว่า ตอนกลางวันอากาศร้อนๆ ผู้สัญจรแถวนี้ก็ต้องการเครื่องดื่มเย็นๆ อาหารกลางวันก็ต้องทาน ให้ย้ายไปขายกลางคืนก็อันตรายต่อตัวแม่ค้าด้วย ไหนจะไปแย่งเจ้าถิ่นขาย ไหนจะเรื่องโจรผู้ร้าย ถ้าจะแก้ปัญหาที่ดีก็ควรพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สำหรับขายของตอนกลางวันดีกว่า แบ่งเป็นช่วงเวลา จัดสัดส่วนให้ดีๆ เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและคนขายมากกว่าอีก

กทม.เดินหน้าจักระเบียบทุกพื้นที่

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  บอกว่าตลาดคลองหลอดเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสกปรกอยู่มาก ดังนั้น จึงจะต้องมีการจัดระเบียบ เพื่อให้มีความสะดวกสบายแก่ประชาชน และตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ผู้ค้าต้องเก็บอุปกรณ์ริมคลองคูเมืองเดิมออกไปให้หมด กทม.ไม่อนุญาตให้ขายสินค้าในเวลากลางวันเด็ดขาด กำหนดเวลาขายตั้งแต่ 19.00- 03.00 น. ส่วนบริเวณหน้าศาลฎีกา จะเลื่อนเวลาให้ขายได้ตั้งแต่ 20.00-03.00 น. จากเดิม 22.00-03.00 น. ส่วนผู้ค้าที่ขายช่วงกลางวัน ต้องไปขายช่วงกลางคืนทั้งหมด

“อย่างไรก็ตาม กทม.ได้หารือร่วมกับศาลฎีกา จะผ่อนปรนให้ผู้ค้าวางอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ริมรั้วและด้านหลังของศาลฎีกาได้ในระยะนี้ แต่ต่อไปต้องทยอยเก็บออกไปให้หมด เพื่อไม่ให้กีดขวางทางจราจร หากมีการฝ่าฝืน กทม.จะบังคับใช้กฎหมาย ครั้งแรกๆ จะตักเตือน แต่ถ้ามีครั้งต่อไปจะเปรียบเทียบปรับและแจ้งความดำเนินคดี” พล.ต.ต.วิชัย ระบุ

ด้าน ผศ.ดร.ผุสดี ตามไทย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านประชาสังคม บอกว่าการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่คลอดหลอด กทม.ได้เริ่มจากการคัดกรองตรวจสุขภาพให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งพบผู้มีอาการวัณโรคระยะแพร่เชื้อ 3 คน โดยกทม.จะติดตามดูแลเฝ้าระวังบุคคลกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ส่วนผู้ไร้ที่พักพิงที่สมัครใจ จะจัดให้เข้าสู่ที่พักบ้านอิ่มใจ บริเวณแยกแม้นศรี ซึ่งสามารถรองรับได้ถึง 200 คน ส่วนผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบการจากจัดระเบียบ ตนจะหารือในที่ประชุมอีกครั้ง แต่ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้กทม.จะจัดหาพื้นที่ค้าขายให้ใหม่ แต่ผู้ค้าก็มักไม่ยอมไปขายในที่ที่จัดหาไว้ให้ ตนขอยืนยันว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของกทม.คือการเจรจา ด้วยสันติ ไม่มีการใช้กำลังแต่อย่างเด็ดขาด ก็ต้องค่อยๆคุยกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้จุดที่ยอมรับร่วมกันได้ สำหรับกรณีม็อบกลุมธรรมาธิปไตย ที่มาชุมชนอยู่บริเวณสนามหลวง กทม.ก็ได้ใช้วิธีการเจราเช่นกัน และตอนนี้ก็เริ่มมีทยอยกลับไปบ้างแล้ว

“ขอย้ำว่า กทม.ดูแลทุกชีวิตอย่าเท่าเทียมกัน ไม่มี 2 มาตรฐานแน่นอน พื้นที่บริเวณคลอดหลอดก็ต้องประเมินทั้ง 2 ด้านทั้งด้านประชาชนที่สัญจรอยู่ในบริเวณนั้น ก็ต้องเอาใจใส่ด้วยว่าเขาจะได้รับความปลอดภัยหรือไม่ พื้นที่คลองหลอด มีการก่อเหตุอาชญกรรมบ่อยครั้ง และมีทั้งคนเร่รอน และผู้ค้าของวางกันระเกะระกะ ก็จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบโดยสันติวิธีและการเจรจา สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน”  ผศ.ดร.ผุสดี กล่าว

สำหรับการประกาศจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบริเวณคลองหลอดของกทม.ครั้งนี้ นับเป็นการไล่รื้อพื้นที่บริเวณคลองหลอดครั้งแรก หลังจากเมื่อปี 2553 มีการจัดระเบียบและไล่รื้อพื้นที่บริเวณสนามหลวงเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ ทำให้คนเร่ร่อน ไร้บ้าน และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยกว่า 1 พันชีวิตได้รับผลกระทบ ขณะที่บางส่วนได้ย้ายมาอาศัยอยู่บริเวณริมคลองหลอดนับจากนั้น

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จึงจะจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในอีก 4 จุด ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยามสแควร์ ตลาดโบ๊เบ๊ และปากคลองตลาด โดยเบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ พร้อมขอความร่วมมือกับผู้ค้า เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ทางเท้า และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจ เข้มงวดเรื่องการค้าขายบนสะพานลอย และสกายวอล์ก รวมทั้งขอทานทุกพื้นที่โดยห้ามค้าขายอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

///////////////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation

รถโมบายของมูลนิธิอิสรชน ที่กำลังให้บริการแก่คนเร่รอนที่คลองหลอด

ผู้ชายที่นั่งอยู่ด้านขวามือ คือคุณนที ผู้ขับเคลื่อนประเด็นผลกระทบของคนเร่รอน จากนโยบาย กทม.

คนเร่รอน ที่ทำอาชีพขายลูกโปง เป็นอาชีพ เพื่อหารายได้

รถเข็นขายกับข้าว ของคุณเวียงสวรรค์ที่ยังขายอยู่หลังมีนโยบายจัดระเบียบของ กทม.

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างฟุ่มเฟือย !!!

ไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างฟุ่มเฟือย !!!



ไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สูงถึง 75,000 – 300,000 ล้านบาทต่อปี  วช.เร่งทำวิจัย เผยแพร่ความรู้ต่อประชาชน หวังลดการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  ศาสตราจารย์ ดร.สนิท  อักษรแก้ว บอกว่ารายงานของธนาคารโลก (World Bank) ได้ประมาณว่าชุมชนต่างๆในประเทศไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (ป่า แม่น้ำ ทะเล พืช สัตว์ ฯลฯ) ในแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึง 75,000 – 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ บริโภค และพึ่งพาทัรพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่คำนึงถึงขีดจำกัดและศักยภาพในการฟื้นตัวของทรัพยากรชีวภาพ ส่งผลกระบทต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ดังจะเห็นได้จากการแผ้วถางป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน บุกรุกทำลายป่าไม้ การใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากธรรมชาติที่ไม่คุ้มค่า เช่นต้นไม้หนึ่งต้นอาจใช้ได้ทั้งใบ กิ่ง ลำต้นจนถึงราก แต่ชาวบ้านไม่รู้ตัดมาใช้แต่ใบอย่างเดียว  และพืชบางชนิดหายากใกล้สูญพันธุ์แล้ว ชาวบ้านไม่รู้ก็ถอน ตัดมาบริโภค

อาจารย์สนิท ย้ำว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่จะต้องเร่งหยุดยั้งและวางแนวทางที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่อย่างประหยัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศไทยสามารถธำรงรักษาขุมทรัพย์อันทรงคุณค่ามหาศาลจากความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยั่งยืน

วช.เร่งทำวิจัย

ดร.สนิท  อักษรแก้ว  บอกอีกว่าสำหรับยุทธศาสตร์การวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ.2556 – 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นี้จะมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ รวบรวมข้อมูลพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายาก ส่งเสริมให้มีกฎหมาย ระเบียบ เครื่องมือและกลไกเพื่ออนุรักษ์และลดการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับสมรรถนะของระบบนิเวศในการรองรับภัยคุกคาม และการเพิ่มพูนความยืดหยุ่น ความคงทนของระบบนิเวศ รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ และวิจัยถึงผลดีผลเสียของการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อีกด้วย

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่าประเทศไทยมีความมั่งคั่งของทรัพยากรพันธุกรรมและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนโดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการบริหารจีดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และสอดคล้องกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมดั่งเดิม รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมท้องถิ่น และพืชพื้นบ้าน

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จของยุทธศาสตร์การวิจัยคือรัฐบาล ต้องจัดงบประมาณเพื่อการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเพียงพอ ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และนำผลไปสู่การปฏิบัติจริง และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลอย่างจริงจัง” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร ระบุ

นักวิชาการต้องพูดให้รู้เรื่อง

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์  ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  บอกว่าหลังงานวิจัยนี้เสร็จสิ้น หน่วยงานราชการท้องถิ่นก็ควรนำงานวิจัยไปเผยแพร่ ให้ความรู้กับชาวบ้าน และนอกจากนี้ตนเสนอให้มีการโพสต์ข้อมูลวิจัยเหล่านี้ลงเฟซบุ๊ค โดยมีคำอธิบายที่เข้าใจง่าย ประกอบกับอินโฟกราฟฟิก ประชาชนจะได้เข้าถึงข้อมูลและเข้าใจมากขึ้น ที่ผ่านมาสังคมมักมอกว่านักวิชาการ นักวิจัย คุยไม่รู้เรื่อง ถ่ายทอดไม่เป็น เราเองต้องก็ปรับตัวในจุดนี้

ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  กล่าวเสริมยุทธศาสตร์ในงานวิจัยว่า ส่วนที่ให้ส่งเสริมกฏหมายในการลดการการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพว่า ควรมีการประเมินผลกระทบจากการใช้กฎหมายด้วย เพราะที่ผ่านมามีกรณีชาวบ้านที่โดนคดีโลกร้อน และคิดค่าปรับในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ และอื่นๆ อีกนับแสนบาท ขณะที่นายทุนและผู้ประกอบการไม่โดนคดีนี้ แต่กลับเป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามาอย่างยาวนานเสียเอง นักวิจัยจะต้องมีส่วนร่วมในการตีความกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ละเอียดและ  เป็นธรรม เพราะเราย่อมรู้ดีกว่านักนิติศาสตร์ในเรื่องนี้

“ ชาวบ้านหลายชุมชนฉลาดในการสร้างกลไกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างเช่นการบวชป่า การกำหนดเขตพื้นที่ตายายไว้เป็นพื้นที่สงวน และการสร้างกติกาป่าชุมชน และจะดีมากถ้าชาวบ้านมีความรู้ทางกฏหมายในการลดการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเสริมให้กลไกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนที่มีอยู่เดิม แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ดร.อาภารัตน์ ระบุ

///////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

‘ปะการังเทียม’ ช่วยแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

‘ปะการังเทียม’ ช่วยแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง


ม.สงขลาฯ เผยผลวิจัยปะการังเทียมเถ้าลอยลิกไนต์ สามารถแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลได้จริง กฟผ.หนุนงบวิจัย 10 ล้านบาท นำร่องหาดชะอำ ขณะที่ชาวเพชรบุรียังไม่วางใจรอพิสูจน์ช่วงมรสุม


ผศ.ดร.พยอม รัตนมณี หัวหน้าโครงการวิจัย  ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ บอกว่าจากการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พบว่าทั้งประเทศญี่ปุ่น หมู่แคริเบียน และรัฐฟอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างใช้ปะการังเทียมวางซ้อนกันเป็นแนวในทะเลที่มีความลึก 2 - 3 เมตร จำนวน 3 แถวบ้าง 5 แถวบ้าง ปรากฎว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งได้จริง

หัวหน้าโครงการวิจัย  ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์  เล่าให้ฟังว่า ได้ศึกษา แบบปะการังเทียม ทั้ง 30 แบบทั่วโลก จึงได้เลือกมา 1 รูปที่เหมาะสมกับพื้นที่ทะเลอ่าวไทย เป็นลักษณะโดมระฆังคว่ำ มีรูรอบข้าง 16 รู โดยเพิ่มฐานสี่เหลียมเข้าไปเพื่อให้วางตั้งในทะเลได้ง่าย หลังจากนั้นทำการทดลองในห้องแล็บเป็นเวลา 2 ปี ก็พบว่าสามารถชะลอคลื่นและลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้จริง

“ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย และอันดามันกำลังเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งการทำเขื่อนกันคลื่น การสร้างรอดักทราย และการก่อกำแพงกันคลืน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังทำลายทัศนียภาพของชายหาดอีกด้วย แม้จะมีมาตรการแก้ไขเชิงอนุรักษ์อย่างการปลูกป่าชายเลน ก็ไม่สามารถปลูกในพื้นทรายได้ และการแก้ไขโดยการถมทราย บนชายหาดก็เป็นการถลุงงบชั้นดี เพราะท้ายที่สุดน้ำทะเล ก็กวาดเอาทรายที่ถมเพิ่มลงทะเลเช่นเดิม” อาจารย์พยอมบอก

ทำไมต้องปะการัง “เถ้าลอยลิกไนต์”

คุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อธิบายว่า ปะการังเทียมเถ้าลอยลิกไนต์ เป็นการนำเถ้าลอยลิกไนต์ ซึ่งเป็นวัสดุพลอยได้จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งมีมากถึง 3 ล้านตันต่อปี นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำเถ้าลอยลิกไนต์ในอัตราส่วนร้อยละ 30 ผสมกับซีเมนต์ในอัตราส่วนร้อย 70 จะได้คอนกรีตที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อนจากความเค็มในน้ำทะเล (ซัลเฟต) ได้มากกว่าปะการังเทียมชนิดอื่นๆที่เคยใช้ในประเทศไทย



 ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บอกอีกว่า ต้นทุนของเถ้าลอยลิกไนต์ มีราคาถูกกว่าซีเมนต์ (เถ้าลอยลิกไนต์ ราคา 30 สตางค์ต่อกิโลกรัม / ซีเมนต์ราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม) จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตปะการังเทียมมีราคาต่ำกว่า ทั้งนี้ โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในลาว ล้วนนำเถ้าลอยลิกไนต์เป็นส่วนผสมในการก่อสร้างเขื่อน เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มคุณสมบัติของเขื่อนให้มีความคงทนแข็งแรง ไม่มีปัญหาการซึมผ่านของน้ำ นอกจากนี้คุณสมบัติของเถ้าลอยลิกไนต์ยังใช้เป็นส่วนผสมของงานด้านโยธา ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เช่นเสาเข็ม คอนกรีตแผ่น ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อีกด้วย

คุณสุทัศน์ บอกถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงว่า  ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการประมงชายฝั่ง ซึ่งกฟผ.ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้มอบทุนสนับสนุนโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการศึกษาและทดลองประยุกต์ใช้ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยนำล่องที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นจำนวนเงิน 10.67 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552-ปัจจุบัน)

ทั้งนี้ผลวิจัยยังพบด้วยว่าปะการังเทียมที่มีส่วนผสมของเถ้าลอยลิไนต์อยู่นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อทะเล และไม่มีการปล่อยมลสารใดๆ จึงได้ทำการทดลองในพื้นที่นำล่องคือที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ชาวบ้านยังไม่วางใจ

คุณชัยรัตน์ ทับทอง รองประธานชุมชนบ่อแขมใต้ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี บอกว่ายังไม่วางใจว่าจะปะการังเทียมเถ้าลอยลิกไนต์จะช่วยแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ เพราะที่ผ่านมาเห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหานี้มาหลายแนวทาง ยาวนานมาหลายสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตามต้องรอดูช่วงมรสุมคือตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะมีคลื่นลมแรง จะเป็นการพิสูจน์ปะการังเถ้าลอยลิกไนต์ ทนทานและสามารถชะลอคลื่นได้มากน้อยแค่ไหน ตนขอเสนอว่าในปีหน้า (2557) ขอเชิญนักข่าว และนักวิจัยมาติดตามดูอีกทีว่า มันแก้ไขได้จริงหรือไม่


ด้านนายสมใจ น้อยสะอาด ประธานชุมชนบ้านห้วยใสเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี บอกว่ารู้สึกดีใจที่เห็นม.สงขลานครินทร์ กับกฟผ.เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ที่ผ่านมาเห็นทั้งการสร้างเขื่อนกันคลื่น สร้างกำแพงกันคลื่น น้ำทะเลก็เซาะพังหมด ปะการังเทียมนี้ มันอยู่ใต้น้ำ น้ำก็เซาะไม่ได้ และหวังว่ามันจะช่วยชะลอคลื่นทะเลและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ตามที่อาจารย์พยอมบอก

สำหรับการวางแนวปะการังเทียมกันคลื่นใต้น้ำ ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ประกอบด้วยแท่งปะการัง จำนวน 286 แท่ง มี 3 ขนาดด้วยกัน คือขนาดเล็ก 114 แท่ง ขนาดกลาง 116 แท่ง และขนาดใหญ่ 59 แท่ง โดยนำมาวางซ้อนกันในทะเลที่มีความลึก 2-3 เมตร จำนวน 5 แถว ยาวประมาณ 100 เมตร แนวปะการังเทียมจะทำหน้าที่เป็นกำแพงใต้น้ำกั้นคลื่นให้สลายตัวก่อนกระทบชายฝั่ง เป็นบ้านอยู่อาศัยของสัตว์ทะเล เป็นที่เกาะเกี่ยวและขยายพันธุ์ของปะการัง เป็นสถานที่อนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ทะเล อีกทั้งเป็นท่ี่หลบภัยของสัตว์ทะเลอีกด้วย หากการทดลองวางปะการังเทียมเถ้าลิไนต์สามารถแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้จริง จะนำไปใช้ในพื้นที่ที่ประสบปัญหานี้ เริ่มจาก ปัตตานี กระบี ตรัง และสตูลตามลำดับ

คลิปวางปะการัง


/////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation (15/5/56) เรียบเรียงใหม่ (24/5/56)
ข่าวที่ผมเขียนลง The Nation ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2556

ผมร่วมเดินทางไปทำข่าวนี้ ถ่ายรูปกับปะการังเทียมเป็นที่ีระลึก


วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผู้ลี้ภัย / ผู้พลัดถิ่น : เราก็คน เขาก็คน

ผู้ลี้ภัย / ผู้พลัดถิ่น : เราก็คน เขาก็คน


“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” องค์กรด้านสิทธิมนุษชนชื่อดัง ยกปัญหาผู้ที่อยู่อาศัยนอกประเทศตนเอง โดยไม่มีทรัพย์สินหรือสถานภาพใดๆ เป็นประชากรที่ถูกเอาเปรียบมากที่สุดในโลก ลันทดสุด ! อยู่อย่างยากลำบาก หลบๆ ซ่อนๆ ขณะเดียวกันเผยรายงานปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ยังคงเป็นเรื่องความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เอี่ยว ม.112 !

ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คุณปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล บอกว่า โลกใบนี้กำลังเป็นพื้นที่อันตรายมากขึ้นสำหรับผู้พลัดถิ่น อันเนื่องมาจากการเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก อย่างชาวซีเรียนับว่าเป็นการปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไปอีกหนึ่งปี เพราะแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยกเว้นจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนของประชาชนนับล้านคนที่ต้องอพยพพลัดถิ่นเพราะความขัดแย้ง โดยที่ทั่วโลกยังคงเฝ้าดูอย่างหน้าตาเฉย ในขณะที่กองทัพซีเรียปฏิบัติการโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า มีทั้งการบังคับบุคคลให้สูญหาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ ในขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธเองก็จับตัวคนเป็นประกัน และทำการสังหารอย่างรวบรัดและมีการทรมานบุคคลแม้จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม

“ในปี 2555 ประชาคมโลกได้เห็นสถานการณ์การณ์ฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย ผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากหลบหลีกมายังที่ปลอดภัยในประเทศของตนเองหรือข้ามพรมแดน อย่างประเทศเกาหลีเหนือ ประเทศมาลี ประเทศซูดานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ประชาชนต้องอพยพหลบหนีจากบ้านเกิดของตนเพื่อแสวงหาที่พักพิงอันปลอดภัย”คุณปริญญา บอก

ขณะที่สภาพยุโรปนำมาตรการควบคุมพรมแดนมาใช้ เป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองเกิดความเสี่ยงภัย ทั้งยังไม่ช่วยคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนที่หลบหนีจากภัยความขัดแย้งและการคุกคามได้ ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองทั่วโลกถูกคุมขังในสถานที่ต่างๆ เป็นประจำ และในกรณีที่เลวร้าย บางคนอาจถูกขังไว้ในกรงหรือถูกขังไว้ในตู้คอนเทนเนอร์

“สิทธิของผู้พลัดถิ่นกว่า 214 ล้านคนในโลกไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในประเทศของตนเอง และประเทศที่ตนไปอยู่อาศัย ผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนนี้ ทำงานในสภาพที่ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเหมือนแรงงานทาส เนื่องจากรัฐบาลปฎิบัติกับพวกเขาเหมือนเป็นอาชญากร และเนื่องจากบรรษัทการค้า สนใจผลกำไรมากกว่าสิทธิของคนงานเป็นเหตุให้คนงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น” ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุ

ด้านนายซาลิล เซ็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ส่งผลในเกิดพลเมืองชั้นสองของโลก ที่เราไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของคนที่หลบหนีภัยความขัดแย้งเลย รัฐบาลหลายประเทศกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการเข้าเมืองทั้งๆ ที่เป็นมาตรการควบคุมด้านพรมแดนที่ไม่ชอบธรรม

“มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้หลบหนี้ลี้ภัยจากความขัดแย้ง และผู้ลี้ภัยหลายล้านคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และสืบเนื่องจากนโยบายต่อต้านการอพยพเข้าเมือง เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อโดยที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ นอกจากนี้ยังมีการใช้วาทศิลป์เพื่อจูงใจประชาชนให้สนับสนุนการละเมิดของผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นโดยอ้างว่าบุคคลเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาในประเทศ”  นายซาลิล กล่าว

เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวอีกว่า ข้ออ้างที่ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาในประเทศ ได้ถูกใช้เพื่อสกัดกั้นปฏิบัติการระดับสากลในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ อย่างเช่นในกรณีของซีเรีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงและเป็นผู้นำในประเด็นปัญหาระดับโลก ยังคงล้มเหลวที่จะทำให้เกิดมาตรการทางการเมืองอย่างเป็นเอกภาพและไปในทิศทางเดียวกัน

“เราจะต้องไม่ปล่อยให้ปัญหาผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกลายเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉย เราทุกคนมีความรับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ โลกสมัยใหม่กับการสื่อสารที่ไร้พรมแดน โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ทำให้การปกปิดข้อมูล และการละเมิดสิทธิในประเทศ ทำได้ยากยิ่งขึ้น” เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ

นายซาลิล เซ็ตติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ที่อยู่อาศัยนอกประเทศตนเอง โดยไม่มีทรัพย์สินหรือสถานภาพใดๆ เป็นประชากรที่ถูกเอาเปรียบมากที่สุดในโลก พวกเขามักต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบากเพราะต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อนาคตที่เป็นธรรมของพวกเขาสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของพวกเขา โลกไม่อาจปล่อยให้เกิดพื้นที่ที่ห้ามคนอื่นเข้าใด้ หากต้องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนระดับโลกให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเสมอกันสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม




ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย

ข้อมูลจากรายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2556 ได้รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดปี 2555 ระบุปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยว่าความขัดแย้งกันด้วยอาวุธยังดำเนินต่อไปในภาคใต้ เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบยังพุ่งเป้าโจมตีทำร้ายพลเรือน ส่งผลให้มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในจังหวัดชายแดนใต่ ทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางส่วนของสงขลา ครูและโรงเรียนรัฐได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ ส่งผลให้มีการปิดโรงเรียนหลายครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้นำการก่อความไม่สงบกล่าวหาฝ่ายความมั่นคงว่าได้ทำการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายในยะลา การลอยนวลพ้นผิดยังคงเกิดขึ้นต่อไปสำหรับการละเมิดสิทธิส่วนใหญ่ที่เป็นการกระทำของฝ่ายความมั่นคงในภาคใต้ ส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็ยังคงมีผลบังคับใช้ตลอดทั้งปี โดยรัฐบาลต่ออายุทุกสามเดือน เป็นกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าของรัฐ ที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน

เสรีภาพในการแสดงออกยังถูกปราบปรามต่อไป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ้งให้อำนาจคุมขังบุคคลที่เชื่อว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความพยามที่จะให้มีการทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2555 ล้มเหลว ในเดือนตุลาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในเดือนพฤศจิกายน รัฐสภาได้ปฏิเสธที่จะบรรจุร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าสู่วาระการพิจารณา

ด้านความรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมือง รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจ่ายเงินเยียวยา ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุ่นแรงเมืออปี 2553 ในเดือนพฤษภาคม มีการเสนอร่าง พรบ.ปรองดองแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้อง กับความรุนแรงในปี 2553 แต่กระบวนการพิจารณาร่างได้ชะงักในเดือนกรกฎาคม หลังจากศาลระบุว่าฝ่ายมั่นคงมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ผู้ประท้วงนปช. ที่ถูกสังหารเมือเดือนพฤษภาคม 2553 ได้มีการแจ้งข้อหาฆ่าคนตายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม นับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รายแรกๆ ที่ถูกตั้งข้อหาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 นอกจากนี้การไต่สวนคดีก่อการร้ายต่อแกนนำนปช. 24 คน ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเช่นกัน

ขณะที่ผู้แสวงหาที่พักพิงยังคงเผชิญกับความเสี่ยงต่อการจับกุม และควบคุมตัวเป็นเวลานาน และเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับประเทศของตนที่ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย ภายหลังจากการเจรจากับรัฐบาลพม่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แสดงท่าทีว่าผู้ลี่ภัยจากพม่าจำนวน 146,900 คนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถกลับไปในประเทศของตนเองได้ภายเวลา 1 ปี แม้จะยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า และไม่มีมาตรการคุ้มครองเพื่อประกันกระบวนการส่งกลับบุคคลที่ปลอดภัย อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นไปโดยสมัคร

คนงานข้ามชาติทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารทางการ ยังคงเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับในช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

ส่วนโทษประหารชีวิต ไม่ปรากฎว่ามีรายงานการประหารชีวิตในปีที่ผ่านมา ศาลยังคงกำหนดโทษประหารชีวิตตลองทั้งปี ในเดือนสิงหาคม รัฐได้ลดโทษให้กับนักโทษประหาร 58 คนให้เหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต

///////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ถ้าที่ประชุมมรดกโลกแตะเรื่องปราสาทพระวิหาร! ไทยจะต้องทำยังไง?

ถ้าที่ประชุมมรดกโลกแตะเรื่องปราสาทพระวิหาร! 
ไทยจะต้องทำยังไง?



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ออกมากำหนดท่าทีของไทย ถ้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ยืนยันพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดินแดนและอธิปไตย เหนือดินแดนของไทย ไทยจะคัดค้านและไม่เข้าร่วมการประชุม

22 พ.ค. 54 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงท่าทีของประเทศไทย ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ที่จะมีขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 16 – 26 มิถุนายน 2556 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกว่า ได้ติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบันยังไม่มีการบรรจุวาระเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าสู่ที่ประชุมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ได้จัดเตรียมการจัดทำท่าทีของประเทศไทยในประเด็นปราสาทพระวิหาร หากมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม ตามมติของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันอังคารที่ 26 พ.ค. นี้
สำหรับท่าทีของไทยต่อการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 37 คือ ถ้าคณะกรรมการมรดกโลกยืนยันที่จะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดินแดนและอธิปไตย เหนือดินแดนของไทย ไทยจะคัดค้านและไม่เข้าร่วมการประชุม นอกจากนี้หากมีผลกระทบกระเทือนต่ออธิไตยของไทย ไทยจะไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยจะยึดถืออธิปไตยของชาติเหนือสิ่งอื่นใด และจะดำเนินการตามขบวนการภายในประเทศต่อไป

ในกรณีที่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ไทยควรให้เหตุผลว่าเป็นการการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งข้อ B4 ของคำสั่งศาลฯ ระบุว่าให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ข้อพิพาทในศาลทวีความรุนแรงหรือแก้ไข ได้ยากขึ้น ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงไม่ควรกระทำกิจกรรมใดๆ บริเวณปราสาทพระวิหารจนกว่าศาลฯ จะมีคำสั่งตัดสินในคดีตีความปราสาทพระวิหาร ปีพ.ศ.2505 รวมทั้งควรรอผลการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย กัมพูชา (JBC) และควรเสนอให้ปราสาทพระวิหารออกจากกลไก การติดตามตรวจสอบ (Reinforced Monitoring Mechanism: RMM)

ในกรณีที่วาระเงินช่วยเหลือจากกองทุนมรดกโลก มีการให้การสนับสนุนกัมพูชา เพื่อกิจกรรมใดๆ ของกัมพูชา ที่เป็นการดำเนินการในพื้นที่ของไทยเช่นการสร้างที่จอดรถ การสร้างบ้านพัก การซ่อมแซมตลาดเชิงบันใดนาค และก ไทยควรคัดค้าน เพื่อไม่ให้มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น และกิจกรรมอื่นๆของกัมพูชา ขอให้ศูนย์มรดกโลก และ/หรือ คณะกรรมการมกดกโลก ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนมรดกโลกของกัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณะแหล่งมรดกโลก

กรณีปราสาทพระวิหารอาจปรากฎในวาระที่ 7B: State of Conservation of World Heritage Properties Inscribed on the World Heritage List (สถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมปราสาทพระวิหาร) โดยกัมพูชาอาจเสนอเป็นวาระเพิ่มเติมเข้ามา ดังนั้น ไทยควรเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างข้อตัดสินใจ (Draft Decision) และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่างๆ ด้วย เช่นสรุปรายงานการอนุรักษ์ปราสาทโดยศูนย์มรดกโลก เพื่อโต้แย้งหรือชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกหากมีการพิจารณาร่างข้อตัดสินใจนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้อนถึงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งที่ผ่านมาว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 31 ปี พ.ศ.2550 ที่ กัมพูชาได้เสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่คณะกรรมการมรดกโลกชะลอไว้ก่อน ต่อมาการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 32 ปี พ.ศ.2551 กัมพูชาเสนอเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ตัวแทนเข้าไทยร่วมประชุมในเวลานั้น เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิตามคำตัดสินของศาลโลก คือตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ต่อมาการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 35 ปี พ.ศ.2554 กัมพูชาเสนอร่างข้อตัดสินใจ เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ขณะที่สุวิทย์ คุณกิตติ ตัวแทนเข้าไทยร่วมประชุมในเวลานั้น ตัดสินใจนำประเทศไทยถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลก ทำให้คณะกรรมการมรดกโลก มีการปรับข้อกำหนดต่างๆ และการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 36 ปี พ.ศ.2555 ไม่มีการบรรจุวาระเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเข้าที่ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 37 ปีนี้ ประเทศกัมพูชาทำหน้าที่ประธานการประชุม และประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่รองประธานการประชุม ร่วมกับรัฐภาคีอื่นๆ อีกประเทศ ได้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐเซเนกัล และสมาพันธรัฐสวิส โดยจะมีการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะกรรมการมรดกโลกทุกวัน ก่อนการประชุม เพื่อกำหนดและทบทวนวาระที่จะเข้าประชุมในแต่ละวัน

จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะเฝ้าระวังหากมีการบรรจุวาระปราสาทพระวิหารในการประชุมฯ ซึ่งไทยสามารถทักท้วง และยืนยันท่าทีของไทยได้ ขอย้ำว่าจากการติดตามวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่ปรากฎวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารแต่อย่างใดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุ

สำหรับคณะผู้แทนจากประเทศไทยที่จะเดินทางไปร่วมประชุมฯ ครั้งนี้ นายพิทยา พุกกะมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยนายธัชชยุติ ภักดี เอกอัครราชทูตไทย ประจำกัมพูชา ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมแผนที่ทหาร ร่วมคณะ

ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ไทยจะรายงานสถานการณ์ของ ป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ซึ่งมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย (ประเภทมรดกโลกทางธรรมชาติ)  ที่ยังมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีความหลายหลากทางชีวภาพอยู่ และจะได้เสนอขึ้นทะเบียนวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเป็นมกดกโลก ประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม อีกด้วย

/////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; TheNation

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทักษะการสื่อสาร คือกุญแจไขสู่ความก้าวหน้าในการงาน

ทักษะการสื่อสาร คือกุญแจไขสู่ความก้าวหน้าในการงาน

ม.เนชั่น” วางแผนผลิตบัณฑิตป้อนตลาดแรงงานไทย ที่สื่อสารได้ ทำงานเป็น เก่งภาษาอังกฤษ รับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558


19 พ.ค.56 นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างงาน “เปิดบ้าน” ของมหาวิทยาลัยเนชั่น ศูนย์เนชั่นบางนา ว่า มหาวิทยาลัยเนชั่นให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ไม่ใช่เฉพาะกับคณะนิเทศศาสตร์เท่านั้น ทั้งคณะบริหารธุรกิจ คณะสาธารณสุขศาสตร์ หรือคณะใดก็ตาม การสื่อสารล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับทุกอาชีพ และทุกวิถีของการใช้ชีวิตประจำวัน คนที่สื่อสารได้ดี มักจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และมีลักษณะของความเป็นผู้นำ

ด้านนายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น กล่าวเช่นกันว่า กระบวนการสำคัญที่จะทำให้นักศึกษาสื่อสารได้ ทำงานเป็น และที่สำคัญต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ คือการเรียนกับมืออาชีพ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ที่จะมีการแข่งขันสูงมากขึ้น ตนเคยรับพนักงานมามากนับพันคน ส่วนใหญ่ก่อนเรียนจบ นักศึกษาก็มักจะพากันไปฝึกงานตามหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือทีวีช่องใหญ่ๆ กันที 10 – 20 คน ซึ่งมีพี่เลี้ยงให้ไม่ทั่วถึง สุดท้ายการเป็นการฝึกงานที่เลวร้ายแทบไม่ได้เรียนรู้อะไร แต่สำหรับที่มหาวิทยาลัยเนชั่นให้เริ่มฝึกงานสัมผัสกับการทำงานจริงตั้งแต่ปี 1 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของที่นี่

ขณะที่นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานบริหารบริษัทเนชั่น บรอดแคสติง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเนชั่นใช้ระบบการเรียนการสอนที่คู่ขนานไปกับการปฏิบัติงานจริงในที่ทำงานจริง ตั้งแต่เรียนปี 1 ขณะนี้ได้เห็นนักศึกษารุ่นแรกที่กำลังจะขึ้นปี 3 มีพัฒนาการมาก สามารถทำงานได้แล้ว ผู้ที่ส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ก็รับรองได้เลยว่าทำงานเป็นแน่นอน หลายครั้งผู้ประกอบการบ่นว่า เรียนจบนิเทศศาตร์ รู้อะไรไม่ลึกเลยสักเรื่อง แต่ด้วยการสัมผัสกับการทำงานจริง จะช่วยสร้างการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆนอกห้องเรียนได้

“อีกไม่กี่เดือนจะมีการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีอนาล็อกเป็น ทีวีดิจิทัล และทำให้มีช่องฟรีทีวีเกิดขึ้นใหม่อีกนับ 10 ช่อง ตลาดแรงงานด้านสื่อมวลชนคงต้องการคนไปทำงาน ผู้ประกอบการก็คาดหวังเช่นกันว่า จะได้คนที่ทำงานเป็น ไม่ต้องมาฝึกงานซ้ำ ซึ่งม.เนชั่นตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี” นายอดิศักดิ์ กล่าว

ส่วนนายต่อบุญ พ่วงมหา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มาร่วมมือกับคณะบริหารฯ เปิดวิชาโทด้านการเงินการธนาคาร โดยนักศึกษานอกจากเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถไปฝึกงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนักศึกษาที่จบจากคณะบริหารธุรกิจด้วยเกรดเฉลี่ย 2.75 จะสามารถเข้าทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทันที

ด้าน ม.ล.จุฑานุวัฒน์ สุทัศนีย์ อายุ 18 ปี จากโรงเรียนบดินทร์เดชา 3 และกำลังจะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเนชั่น ศูนย์เนชั่นบางนา เห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์ผู้บริหารเครือเนชั่น ที่ต้องการสร้างคนให้สื่อสารได้ ทำงานเป็น เก่งภาษาอังกฤษ ที่ระบุว่า ตนเลือกเรียนที่นี่ เพราะอยากได้โอกาสในการเรียนรู้กับมืออาชีพ คู่ขนานกับการทำงานจริงโดยไม่รอให้ถึงปี 4

นางสาวอังวิภา อภิรักษ์ธนสิน อายุ 18 ปี จบจากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว และกำลังจะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเนชั่น ศูนย์เนชั่นบางนา เช่นกัน บอกว่า การสื่อสารมีความสำคัญกับทุกอาชีพจริง เพราะขณะที่ตนกำลังให้สัมภาษณ์นี้ก็ถือว่ากำลังสื่อสารอยู่ด้วยเช่นกัน และการที่เนชั่นเน้นการสื่อสาร สอนให้ทำงานเป็น และจะมีเสริมเรื่องภาษาอังกฤษเพื่อรับการเปิดประชาคมอาเซียน ก็ตรงกับที่ตนเองคาดหวัง

ขณะที่นายจิรสิน แสงซื่อ อายุ 18 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนชลราษฎรบำรุง จ.ชลบุรี เลือกแอดมิชชั่นเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยเนชั่น กล่าวว่า รู้จักมหาวิทยาลัยเนชั่นจากทีมแนะแนวของทางมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านั้นตนจะเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยของรัฐหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แต่ต้องการประสบการณ์ที่แปลกใหม่จึงเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ศูนย์เนชั่นบางนา เพราะคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้การทำงานจริง เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าตนเองชอบงานเบื้องหลังหรือเบื้องหน้า คงต้องใช้เวลาเรียนรู้ในสถานศึกษาแห่งนี้ต่อไป

ส่วนนางทิพวรรณ วิกรานต์วานิช อายุ 45 ปี ผู้ปกครองของนายจิรสิน กล่าวว่า รู้ข่าวการรับสมัครจากช่องเนชั่นแชนแนล ส่วนตัวชอบคุณกนก รัตน์วงสกุล เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และรู้ว่าเครือเนชั่นมีความมั่นคงมายาวนาน ทำให้วางใจได้ว่า ที่นี่จะเป็นครอบครัวที่สองของบุตรชายตนเองได้

มหาวิทยาลัยเนชั่นทั้งที่ลำปางและกรุงเทพฯ เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 ผู้สนใจในหลักสูตรที่ลำปางสอบถามได้ที่หมายเลข 054-820-099 ส่วนที่กรุงเทพฯ สามารถเข้ามาสอบถามได้ที่ อาคารมหาวิทยาลัยเนชั่น ศูนย์เนชั่นบางนา ตั้งแต่เวลา 09.00 -18.00 น.  ทุกวันไม่เว้นวันหยุด หรือ โทรมาพูดคุยได้ที่ 02-338-3777 หรือ คลิกมาดูรายละอียดเพิ่มเติมที่ www.nation.ac.th



////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Facebook : กับการเคลื่อนไหวของพีมูฟ

Facebook : กับการเคลื่อนไหวของพีมูฟ

“การสื่อสารจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดิฉันเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลทำให้คนเชื่อถือ และสร้างความเข้าใจเห็นใจได้” ฮาริ บัณฑิตา อายุ 33 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสาร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวในขบวนการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินและโฉนดชุมชน


“ฮาริ” เป็นชาวจังหวัดตรังแต่กำเนิด เธอเรียนจบจากคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีไทย มหาวิทยาลัยอิสลามปัตตานี หลังจากนั้นไปลองเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอยู่สักพัก แต่รู้สึกไม่ใช่ตัวตน และได้ทราบปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้านในเทือกเขาบรรทัด จึงผันตัวมาเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ดินกับชาวบ้านอย่างจริงจัง

“ความจริงชาวบ้านที่นี่มีการขับเคลื่อนรวมตัวกันอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยุคของฉันโชคดีที่มีเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ซึ่งใช้งานได้ดีมีนักข่าว นักสังคมสงเคราะห์ และเพื่อนคนอื่นๆจำนวนหลักพันติดตามเรื่องของชาวบ้านเทือกเขาบรรทัด เพราะฉันคอยอัพเดทความเคลื่อนไหวของเครือข่ายเทือกเขาบรรทัดอยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างคลิปที่ชาวบ้านถ่ายเจ้าหน้าอุทยานตัดสะพานในหมู่บ้าน แล้วมีการกราบเท้าวิงวอนก็ไม่ยอมหยุด ถูกแชร์ต่อๆกันเป็นจำนวนมาก ทำให้โทรทัศน์หลายช่องมาทำข่าว เรื่องก็เลยแดงขึ้น ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงรับปากแก้ไขปัญหา” ฮาริกล่าว

ฮาริบอกว่า  ทุกวันนี้เรื่องยังไม่จบ ยังคลุมเคลืออยู่หลายอย่าง ตนจึงต้องการพื้นที่ทางสังคมที่สามารถป่าวประกาศได้ว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ นักข่าวจากส่วนกลางก็ไม่ได้ใส่ใจลงข่าวมากนัก หากตนไม่ได้ออกมาประท้วงหรือชุมนุม ที่ผ่านมาตนจึงให้ความสำคัญกับสื่อทางเลือกอย่าง Facebook ในการขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ เห็นใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่ อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์  อายุ 23 ปีแกนนำเยาวชนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เธอเป็นเจ้าของประเด็นที่ลงมาสื่อสารด้วยตนเอง ปัจจุบันเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ (กศน.) ในระดับม.ปลายและกำลังจะจบการศึกษาในปลายปีนี้ ที่เธอเรียนช้าเพราะมีปัญหาเรื่องสัญชาติ

“อาอีฉ๊ะ” บอกว่ารุ่นพ่อแม่ที่เป็นไทยพัดถิ่นต้องออกไปเดินขบวนเก็บขยะ พร้อมๆกับอธิบายเรื่องไทยพลัดถิ่นให้เพื่อนบ้านเข้าใจ แต่ในรุ่นของตนมีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์มากมายในการแพร่เผยเนื้อหา และคลิปภาพ  ตนจึงเลือกที่จะสื่อสารผ่าน ภาพยนตร์สั้น สำหรับเรื่องที่ทำออกมาแล้วได้กระแสตอบรับดีคือเรื่อง “ปากกาที่เขียนไม่ติด” ได้ออกอากาศทาง Thai PBS ในรายการ HOT SHOT FLIM หลังจากนั้นผู้คนภายนอกก็รู้จักและเข้าใจไทยพลัดถิ่นมากขึ้น

“ที่เลือกสื่อสารผ่านหนังสั้นเพราะให้อารมณ์ และความรู้สึกได้ดี สมัยฉันเรียนอยู่ป.6 ครูถามฉันทุกวันว่าทะเบียนบ้านอยู่ที่ไหน ฉันตอบครูว่าลืมค่ะ แต่นานๆเข้าก็ต้องบอกความจริงว่า หนูไม่มีทะเบียนบ้าน ครูก็ถามว่าเป็นพม่าหรอ เพื่อนก็ขำและล้อเลียน จึงเอาเรื่องจริงที่ตัวเองเจอนี่แหละมาทำเป็นหนังสั้น” อาอีฉ๊ะกล่าว

อาอีฉ๊ะ บอกอีกว่าอนาคตคงเดินตามรอยพี่ฮาริ จากเครือข่ายเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง คือเป็นผู้ประสานงานให้กับเครือข่ายประชาชน ตนจะเคลื่อนไหวในประเด็นไทยพลัดถิ่น ให้มีสัญชาติไทยต่อไป

ด้าน “คำปิ่น อักษร” อายุ 37 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำโขง เป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด เธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์ เอกพละศึกษา แต่มาเป็นผู้ช่วยทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้มีโอกาสลงพื้นที่ลุ่มแม่นำโขง แล้วเห็นว่างานวิจัยเมื่อทำจบแล้ว แต่ปัญหาของชาวบ้านยังไม่จบ จึงผันตัวเองมาเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำโขงอย่างเต็มตัว
“คำปิ่น” บอกว่า เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ง่าย เป้าหมายคือคนชนชั้นกลาง ตนใช้ Facebook ในการสื่อสารเรื่องราวของเครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำโขง โดยหยิบเอาตัวอย่างของชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง (เคส) ขึ้นมาเพื่อสะท้อนปัญหาในภาพรวม อีกอย่างตนเป็นคนชอบถ่ายรูป ชอบนำเสนอก็เลยถูกจริต

“เราไม่ได้นั่งอยู่หน้าสรยุทธทุกวัน สื่อกระแสหลักไม่นำเสนอเรื่องของเราหรอก คนในพื้นที่เอง ที่ต้องหัดที่จะสื่อสารออกมา ยุคนี้มีสื่ออนไลน์หลายอย่าง แต่ต้องยอมรับว่าชาวบ้านอีกจำนวนมากเขายังไม่เข้าถึง ที่โพสลงเฟซก็เพื่อให้เรื่อง เป็นที่รับรู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางให้เข้าใจปัญหา และเห็นใจพวกเรา บางทีมันอาจเป็นกระแสกระเทือนถึงรัฐบาลก็ได้ ” คำปิ่นกล่าว

คำปิ่นกล่าวอีกว่า ยังนึกภาพไม่ออกว่าถ้าไม่มี Facebook จะสื่อสารให้คนนอกเข้าใจย่างไร แต่ก่อนเคยเขียนข่าวส่งไปที่หนังสือพิมพ์บางฉบับเขาลงบ้างไม่ลงบ้าง  ตอนนี้เราก็เป็นนักข่าวพลเมืองด้วยตนเอง และสื่อสารออกไปผ่านสื่อทางเลือกที่เรามี ถามว่ามันส่งผลเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายมากหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าไม่มาก แต่กระบวนการยอมรับในสังคมมีมากขึ้น

หมายเหตุ :- เฟซบุ๊คของ ฮาริ บันตา www.facebook.com/Haribandita , เฟซบุ๊คของ อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ www.facebook.com/chaarecha.khaewnobparath , เฟซบุ๊คของ คำปิ่น อักษร www.facebook.com/kumpinaksorn

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พีมูฟชุมนุมทวงสัญญาปฏิรูปที่ดิน – คืนสัญชาติ

พีมูฟชุมนุมทวงสัญญาปฏิรูปที่ดิน – คืนสัญชาติ



ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จากทั่วประเทศปักหลักชุมนุมหลังทำเนียบรัฐบาล  หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องนายกฯ แก้ไขปัญหาที่ดิน สัญชาติ รอมติครม. และคำสั่งที่เป็นรูปธรรม จะเดินทางกลับ คาดชุมนุมนานเป็นเดือน

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย  1) เครือข่ายปฏรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)  2) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)  3) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)  4) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)   5) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)  6) เครือข่ายสลัม 4 ภาค  7) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูน (สคจ.)  และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถามแกนนำเครือข่ายหลายๆคน ระบุตรงกันว่ามีจำนวนผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 2000 คน และโดยสารมาจากพื้นที่ต่างๆ ด้วยรถไฟฟรี โดยขนเสบียงอาหารมาจากท้องถิ่นของตนเอง และใช้เงินลงขันกันครัวเรือนละ 200 บาท ทั้งนี้เครือข่ายบ้านคลองโยน จังหวัดนครปฐมเป็นผู้ส่งเบียงหลัก เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร

เครือข่ายเทือกเขาบรรทัดปัญหาที่ดินทับซ้อนป่าอุทยาน

นางกัลยา มันกิติ เกษตรกรปลูกยาง สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง อายุ 50 ปี เล่าว่าตนมีที่ดินทำกินอยู่ในบริเวณเทือกเขาบรรทัด จำนวน 30 ไร่ และถูกกล่าวหาว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า จังหวัดตรัง ทำให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ บุกลุกไล่ที่ทำกินของตน ทั้งๆที่ตนเองได้อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่บริเวณมาก่อนที่จะถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อคดีโลกร้อน หลังจากตัดต้นยางหมดอายุอีกด้วย จึงต้องออกมาชุมชนเรียกร้องความเป็นธรรม ก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้ขับเคลื่อนเรื่องโฉนดชุมชน แต่ก็เงียบหายไป

ในสมัยรัฐบาลชุดนี้มาชุมนุนกันเป็นครั้งที่ 4 แล้วทุกครั้งก็รับปากจะที่ตั้งคณะกรรมการแก้ไข หรือไม่ก็ประสานให้หน่วยงานในท้องที่ดูแล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ครั้งนี้เราจะชุมนุมรอจนกว่าจะมีมติครม.หรือมีคำสั่งใดๆเพื่อแก้ไขปัญหาของเรานางกัลยา กล่าว




เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ทวงสัญชาติไทย

นางรสิตา ซุยยัง ชาวไทยพลัดถิ่น แกนนำเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง – ประจวบ สมาชิกเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง อายุ 30 ปี เล่าว่าบรรพรุษของตนเป็นคนไทย อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย แต่เมื่อครั้งมีการขีดเส้นเขตแดนเมื่อปี พศ.2411 จึงทำให้ตนตกอยู่ในเขตประเทศพม่าไปโดยปริยาย อีกทั้งโดนทหารพม่าคิดว่าเป็นชนกลุ่มน้อย และถูกจับไปใช้แรงงานจึงตัดสินใจย้ายข้ามมาอยู่ฝั่งไทย เพราะมีญาติอาศัยอยู่ที่นี่อีกส่วนหนึ่ง

แต่พอย้ายมาอยู่ฝั่งไทย ก็ถูกมองว่าเป็นต่างด้าว เป็นคนหลบหนีเข้าเมืองเราพยามทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้านด้วยกันได้ แต่ภาครัฐกลับมีทัศนคติในเชิงลบ ไม่ยอมทำเรื่องให้สัญชาติ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีกฎหมายเรื่องนี้ออกม แต่ตนก็ถือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรเลขศูนย์อยู่ และอยู่ระหว่างรอพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นซึ่ง จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้านางรสิตา กล่าว




สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เรียกร้องตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน

นายรังสรรค์ แสนสองแคว ประธานสหกรณ์โฉดนชุมชน จังหวัดลำพูน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ อายุ 56 ปี บอกว่าตนและสมาชิกในเครือข่ายเข้าไปทำเกษรกรรมในที่ดินรกล้างซึ่งคิดว่าไม่มีเจ้าของ หลังจากนั้น 2 ปีผ่านไป ถูกเอกชนฟ้องร้องข้อหาบุกรุก ทั้งนี้เกษตรกรทั้งหมดเป็นคนยากจน ไม่มีที่ดินมากพอที่จะทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพจึงขอร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อซื้อที่ดินกับเอกชนมาเป็นที่ทำกินแก่ชาวบ้าน แล้วเราก็มาผ่อนเงินกับรัฐบาล

ก่อนจะมาร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ก็เคยอยู่ในกลุ่มสมัชชาคนจนมาก่อน ตอนนี้มีหลายกลุ่มหลายเครือข่ายเข้าร่วมกันมากขึ้น จึงรวมกันเป็นขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อขับเคลื่อนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของชาวบ้านอย่างจริงจัง เรามาชุมนุมกันนับครั้งไม่ถ้วน ครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย และเราจะรอมติครม.ว่าจะแก้ไขปํญหาของเราอย่างไร แล้วจะเดินทางกลับ ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องชุมนุมไม่ต่ำกว่า 1 เดือนนายรังสรรค์กล่าว



สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ พิพาทที่ดินกับเอกชน ถูกข่มขู ตายแล้ว 2

นายสุรพล สงฆ์รักษ์ เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จังหวัดสุราษธานี สมาชิกเกษตรกรภาคใต้ อายุ 61 ปี บอกว่าในชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎธานี ซึ่งตนอาศัยอยู่นี้ ถูกประกาศเป็นพื้นที่ นส.3และเอกชนได้สัมปทานให้ใช้พื้นที่ส่วนนี้ปลูกสวนปาล์ม ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม ชาวบ้านควรจะได้ใช้พื้นที่ นส.ในการทำเกษตรกรรมร่วมด้วย ไม่ใช่แต่เพียงเอกชนเท่านั้น จึงขอเรียกร้องให้มีการมีออกโฉนดชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ทำเกษตรกรรม เลี้ยงชีพ

รัฐบาลก็แปลก เห็นเราเป็นอะไร เราไม่ใช่คนเหมือนกันหรือ? ทำไมเลือกปฏบัติ หรือเพราะว่าเราเป็นคนจนเลยไม่มีใครอยากคุยด้วย ในพื้นที่เราถูกคุกคามข่มขู่สารพัด เพื่อนบ้านของเราถูกยิงตายไปแล้ว 2 คน ไม่ให้เข้าไปทำเกษตรกรรมในพื้นที่ ความยุติธรรมมันไม่ได้ได้มาง่ายๆเลยนายสุรพลกล่าว

เครือข่ายสลัม ภาค  นโยบายบ้านมั่นคงทำพิษ สลัมไร้ทะเบียนบ้าน

นางประทิน เวคะวากยานนท์ ชาวพุทธมณฑล แกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค อายุ 66 ปีเล่าว่ามีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายบ้านมั่นคง ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างชัดเจน และโครงการนี้มีปัญหาอุปสรรคมากมายตั้งแต่เรื่องขอผัง แบบบ้าน รวมไปถึงเรื่องการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งตนได้รับผลกระทบจนกระทั่งไม่ได้ใบอนุญาตก่อสร้าง และทำให้ไม่มีทะเบียนบ้าน แต่บ้านของตนเองปลูกเสร็จมา 2 ปีแล้ว

ไม่มีทะเบียนบ้าน นี่ลำบากนะเพราะไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆได้ บัตรประชาชนยังไม่ได้เลย สวัสดิ์การจากรัฐต่างๆก็ไม่ได้ ส่วนตัวเรียกร้องมา 2 ปี ตอนนี้ได้แล้วแต่ยังมีเพื่อนๆอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการย้ายคนออกจากพื้นที่สร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็ออกมาชุนนุมกันในวันนี้ด้วยนางประทินกล่าว



สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูน ร้องทำประมงไม่ได้ เขื่อนปิดทางปลา

นางมาลี ตามศรีวัลย์ ทำประมงเลี้ยงชีพ อยู่ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี สมาชิกสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูน อายุ 45 ปี บอกว่าหลังจากมีการสร้างเขื่อนปากมูน ก็ไปปิดเส้นทางของปลาในแม่น้ำมูน ส่งผลกระทบต่อการทำประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั่งเดิม

มีคนมาแนะนำให้ทำไม้กวาดขายแทนทำประมง ซึ่งยากลำบากกว่ามาก กว่าจะนำดอกหญ้ามาสานเป็นไม้กวาด ขายได้ในราคาด้ามละเพียง 9 บาทเท่านั้น รายได้ก็ต่างจากการทำประมงที่สามารถขายปลาได้กิโลกรัมละ 30 - 40 บาท มันกระทบทั้งวิถีชีวิตดั่งเดิม และรายได้ที่น้อยลงนางมาลีกล่าว

//////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamringchai; The Nation

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คนแก่นำ ลูกหลานตาม : โมเดลการรักษาผืนป่าที่ยั่งยืน

 คนแก่นำ ลูกหลานตาม : โมเดลการรักษาผืนป่าที่ยั่งยืน

 ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย
The Nation
 
"ถ้าวันหนึ่งไม่มีป่าเลย จะเป็นอย่างไร" สุริโย สุโรพันธ์ หรือโย อายุ 17 ปี ประธานกลุ่มละอ่อนฮักป่า จังหวัดน่าน ตั้งคำถามถึงอนาคต ที่ดูเหมือนว่าคำตอบจะปรากฎอยู่ในเวลานี้

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผยให้เห็นว่า เมื่อปี 2519 พื้นที่ป่าจังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 73 ของพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด แต่ป่าไม้ได้ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง ในตลอดช่วง 26 ปีที่ผ่านมา เมื่อปี 2545 พบว่าจังหวัดน่านเหลือพื้นที่ป่าเพียง 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด

ล่าสุดปี 2554 มีการสำรวจพื้นที่ป่าอีกครั้ง และพบว่าจังหวัดน่านเหลือพื้นที่ป่า เพียง 39.87% จากพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งนี่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำและป่าไม้อย่างประเมินค่าไม่ได้ ที่เห็นได้ชัดคือภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี

เรื่องราวเหล่านี้ปรากฎอยู่ในข่าวโทรทัศน์ และตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน “สุริโย” ไม่รอแล้ว เขาต้องทำอะไรสักอย่างที่จะทำให้ป่าไม้คงอยู่ต่อไป เขาเชื่อในพลังเล็กๆของกลุ่มเยาวชน และเขาจะเริ่มต้นจากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ นั่นคือที่บ้านหนองผุก ตำบลปรือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 

การรวมกลุ่มของเด็กๆบ้านหนองผุกค่อยๆก่อตัวขึ้น ในช่วงแรกมีสมาชิกเพียง 10 คน ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 80 คนหรือเรียกว่าเด็กในหมู่บ้านแทบทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่มละอ่อนฮักป่า มีทั้งเด็กนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 23 ปี ซึ่งรุ่นพี่ทีโตขึ้น แล้วต้องไปเรียนต่อหรือไปทำงานในเมือง หรือในกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีการติดต่อกัน และส่งไม้ต่อให้กับรุ่นน้องได้ทำงานสืบสาน ทำกิจกรรมอนุรักษ์ป่าไม้ต่อไป

ไม่ใช่เพียงแต่การเคลื่อนไหวของเด็กๆเท่านั้น การอนุรักษ์ป่าไม้จะเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ชาวบ้านในชุมชนต้องเป็นหลักให้กับเด็กๆในการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โชคดีที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ รวมทั้งครูที่โรงเรียน และหน่วยงานรัฐท้องถิ่นให้การสนับสนุน

“คนแก่นำ ลูกหลานตาม ทำให้เกิดกลุ่มละอ่อนฮักป่า หรือเยาวชนคนรักษ์ป่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายของเราได้ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมที่เป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยสอดแทรกภูมิปัญญาชาวบ้าน และกุศโลบายในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างแยบยล อย่างเช่นการบวชป่า ด้วยความที่ชาวบ้านที่นี่เป็นพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระภิกษุสงฆ์ ดังนั้นต้นไม้ต้นใดที่ผ่านการบวชแล้วก็เสมือนหนึ่งว่าต้นไม้ตั้นนั้นอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาชาวบ้านจะไม่ตัดเด็ดขาด นอกจากนี้อย่างสอนให้ทำฝ่ายชะลอน้ำ การทำแนวกันไฟป่า รวมไปถึงการหาสมุนไพรที่มีอยู่ในป่าอีกด้วย” สุริโยกล่าว


“เครือวัลย์ สุโรพันธุ์” ประธานเกษตรครบวงจรบ้านหนองผุก ผู้เป็นป้าของ “โย สุริโย สุโรพันธุ์” เล่าว่าในอดีตเกษตรกรที่นี่ทำไร่ข้าวโพด และปลูกใบยาสูบทำให้ใช้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก จึงต้องบุกรุก แผ้วถางป่าไม้เพื่อทำเกษตรกรรม เมื่อป่าถูกตัดทำลาย  เวลามีลมมีพายุมามันน่ากลัวมาก น้ำป่าไหลหลากรุนแรง ช่วงหน้าแล้งก็แล้ง และอากาศร้อนระลุ วิถีชีวิตคนกับป่าดั้งเดิมสมัยรุ่นพ่อ รุ่นแม่เริ่มหายไป จึงฉุกคิดในใจว่าป่านี้สำคัญเป็นเรื่องไกล้ตัว และต้องช่วยกันรักษาไว้ พอดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามาแนะนำให้ปลูกฟัก ปลูกแฟงนอกจากจะใช้พื้นที่ไม่มาก ยังมีราคาพอๆกับข้าวโพด และใบยาสูบอีกด้วย”

สอดคล้องกับผู้ใหญ่บ้านของบ้านหนองผุก “วิเวก ซ้อนพุฒ” บอกว่าในชุมชนได้สร้างกฎ ระเบียบ กติกา ข้อบังคับ การดูแลรักษาป่าไม้และสิ่งแวดล้อม บางครอบครัวชักชวนลูกหลานไปร่วมเรียนรู้ อยากให้ผจญภัย อยากให้มีกำไรชีวิต ในกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้จะมีความลำบาก ความเหนื่อยล้า แต่ก็แฝงไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น ได้พบได้เห็นได้ผจญภัย ทำให้เยาวชนที่ไปร่วมกิจกรรมกับผู้ปกครองได้เล่าประสบการณ์ให้เพื่อนฝูงฟัง จากนั้นมากิจกรรมที่เกี่ยวกับป่าย่อมจะมีเยาวชนร่วมด้วยทุกครั้ง ในรุ่นหลังต่อมาผู้นำชุมชนจึงได้สนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าให้กับกลุ่มเยาวชน เน้นความรักความสามัคคี และให้ทุกคนรัก หวงแหนทรัพยากรป่าไม้
 
“ชุมชนบ้านหนองผุกรวมชื่อชาวบ้านกว่า 50 คนยื่นจดทะเบียนพื้นที่ป่ารอบชุมชน ให้เป็นป่าชุมชน กับกรมป่าไม้เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน และองค์กรชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นป่าที่ประชาชนเข้าไปใช้สอยตามวิถีชีวิตของคนทุกคนในชุมชน ทั้งเรื่องการทำมาหากิน ระบบครอบครัวเครือญาติ ประเพณีความเชื่อ อำนาจและกฎระเบียบในชุมชน” ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองผุกกล่าว

ด้านนายกิตติพร บุญญกิจ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กรมป่าไม้ เผยว่าป่าชุมชนของชุนชนบ้านผุกมีเนื้อที่ทั้งหมด 3,726 ไร่ ในอดีตบริเวณนี้ผ่านสัมปทานทำไม้ มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของชาวบ้าน รวมทั้งการทำไร่เลื่อนลอยของเกษตรกรในพื้นที่เอง 

“การขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนแล้วชุมชนจัดการเองได้นั้น มันดีกว่าที่จะให้รัฐ หรือกรมป่าไม้เข้าไปควบคุมอยู่แล้ว เพราะชาวบ้านจะช่วยกันดูแลปกป้องผื่นป่าด้วยความรัก ของรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ ใครที่จะเข้ามาบุกรุกป่าในพื้นที่นี้ก็จะกระทำได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นต้องยอมรับว่าชุมชนที่นี่เข้มแข็ง มีการส่งต่ออุดมการณ์ให้ลูกหลานดูแลผืนป่า จนได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่น ด้านเยาวชนคนรักษ์ป่าเมื่อปี 2554 ที่ผ่านนี้ด้วย” กิตติพรกล่าว

ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม ภาคเหนือ ประจำปี 2556 
 
รางวัลป่าชุมชนดีเด่น ด้านเยาวชนคนรักษ์ป่า คงจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่าป่าชุมชนแห่งนี้พอจะสามารถเป็นโมเดลเยาวชนอนุรักษ์ป่าไม้ ให้กับชุมชนอื่นๆได้ ทำให้ค่ายเยาวชนกล้ายิ้มภาคเหนือถูกจัดขึ้นที่นี่โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และกรมป่าไม้ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่า และสืบทอดการบริหารจัดการป่าชุมชนในอนาคต

ค่ายเยวชนกล้ายิ้มภาคเหนือครั้งนี้ ได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชนจาก 10 จังหวัดในภาคเหนือคือน่าน แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา และเชียงราย ที่มีอายุระหว่าง 13- 15 ปี จำนวน 80 คนเข้าร่วมกิจกรรม “เรียนรู้วิถีชีวิตการอยู่กับป่าอย่างยั่งยื่นของป่าชุมชน กิจกรรม “เรียนรู้สู้โลกร้อน” กิจกรรม “เยาวชนกล้างยิ้มสร้างสวนสมุนไพร” และกิจกรรม “อนาคตของป่าชุมชน”

“บุญทิวา ด่านสมสถิต” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการระดมความคิดในหัวข้อ “อนาคตของป่าชุมชน” ได้ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนรู้จักคิด รู้จักสังเกตป่าชุมชนของตนเอง รู้จักเก็บประสบการณ์และสิ่งที่พบเห็นมาต่อยอดวางแผนป่าชุมชนของตนในอนาคตข้างหน้า อะไรที่ดีอยู่แล้วก็พัฒนาให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นได้ ส่วนที่ยังขาดก็นำสิ่งดีๆ ที่ได้จากค่ายมาประยุกต์ใช้  บริษัทฯ เชื่อว่ากระบวนการนี้จะสามารถกระตุกต่อมคิดจิตสำนึกของเยาวชนให้ตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานมากขึ้น

ด้าน ด.ช.สราวุธ เศษห้า อายุ 14 ปี โรงเรียนบ้านหนองปลาสะวาย ตัวแทนเยาวชนจากจ.ลำพูน ที่มาเข้าค่ายกล้ายิ้มครั้งนี้ บอกว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปบอกกับเพื่อนๆที่โรงเรียน และพ่อแม่ อย่างเช่นเรื่องการทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพด เพราะที่บ้านปลูกข้าวโพดเหมือนกันและมีซังข้าวโพดเหลือทิ้ง ที่บ้านก็จะเอาไปเผา แต่คราวนี้ผมจะให้ที่บ้านเอามาทำเป็นปุ๋ยหมักและไม่ต้องเผาซังข้าวโพดอีกต่อไป

ส่วนทางด้าน น.ส.พวงผกา ราชจักร์ อายุ 17 ปี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ ตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดอุตรดิตถ์ มองอนาคตของป่าชุมชนว่าเป็นไปได้ใน 2 แนวทางคือถ้าคนชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ก็ทำให้ป่ามีอยู่ต่อไป แต่แบบนี้จะมีสักกี่ชุมชน เพราะส่วนตัวเห็นว่าหลายพื้นที่ก็จะยังมีการบุกรุกทำลายป่าอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายทุน ที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเป็นแบบนี้ป่าจะลดน้อยลงเรื่อยๆ และแน่นนอนว่าภัยธรรมชาติก็อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

เยาวชนคนรักษ์ป่าบ้านหนองผุกถือเป็นเยาวชนต้นแบบที่มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และมุ่งมั่นทำงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้คงอยู่ต่อไป มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สมัครสมานสมานสามัคคีและที่สำคัญเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม  บทบาทของเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากชุมชนเป็นอย่างดี เป็นภาพของ “คนแก่นำ ลูกหลานตาม” ช่วยกันอนุรักษ์และมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

------------------------------------------