วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผู้ลี้ภัย / ผู้พลัดถิ่น : เราก็คน เขาก็คน

ผู้ลี้ภัย / ผู้พลัดถิ่น : เราก็คน เขาก็คน


“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” องค์กรด้านสิทธิมนุษชนชื่อดัง ยกปัญหาผู้ที่อยู่อาศัยนอกประเทศตนเอง โดยไม่มีทรัพย์สินหรือสถานภาพใดๆ เป็นประชากรที่ถูกเอาเปรียบมากที่สุดในโลก ลันทดสุด ! อยู่อย่างยากลำบาก หลบๆ ซ่อนๆ ขณะเดียวกันเผยรายงานปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ยังคงเป็นเรื่องความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เอี่ยว ม.112 !

ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คุณปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล บอกว่า โลกใบนี้กำลังเป็นพื้นที่อันตรายมากขึ้นสำหรับผู้พลัดถิ่น อันเนื่องมาจากการเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก อย่างชาวซีเรียนับว่าเป็นการปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไปอีกหนึ่งปี เพราะแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยกเว้นจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนของประชาชนนับล้านคนที่ต้องอพยพพลัดถิ่นเพราะความขัดแย้ง โดยที่ทั่วโลกยังคงเฝ้าดูอย่างหน้าตาเฉย ในขณะที่กองทัพซีเรียปฏิบัติการโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า มีทั้งการบังคับบุคคลให้สูญหาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ ในขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธเองก็จับตัวคนเป็นประกัน และทำการสังหารอย่างรวบรัดและมีการทรมานบุคคลแม้จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม

“ในปี 2555 ประชาคมโลกได้เห็นสถานการณ์การณ์ฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย ผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากหลบหลีกมายังที่ปลอดภัยในประเทศของตนเองหรือข้ามพรมแดน อย่างประเทศเกาหลีเหนือ ประเทศมาลี ประเทศซูดานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ประชาชนต้องอพยพหลบหนีจากบ้านเกิดของตนเพื่อแสวงหาที่พักพิงอันปลอดภัย”คุณปริญญา บอก

ขณะที่สภาพยุโรปนำมาตรการควบคุมพรมแดนมาใช้ เป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองเกิดความเสี่ยงภัย ทั้งยังไม่ช่วยคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนที่หลบหนีจากภัยความขัดแย้งและการคุกคามได้ ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองทั่วโลกถูกคุมขังในสถานที่ต่างๆ เป็นประจำ และในกรณีที่เลวร้าย บางคนอาจถูกขังไว้ในกรงหรือถูกขังไว้ในตู้คอนเทนเนอร์

“สิทธิของผู้พลัดถิ่นกว่า 214 ล้านคนในโลกไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในประเทศของตนเอง และประเทศที่ตนไปอยู่อาศัย ผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนนี้ ทำงานในสภาพที่ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเหมือนแรงงานทาส เนื่องจากรัฐบาลปฎิบัติกับพวกเขาเหมือนเป็นอาชญากร และเนื่องจากบรรษัทการค้า สนใจผลกำไรมากกว่าสิทธิของคนงานเป็นเหตุให้คนงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น” ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุ

ด้านนายซาลิล เซ็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ส่งผลในเกิดพลเมืองชั้นสองของโลก ที่เราไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของคนที่หลบหนีภัยความขัดแย้งเลย รัฐบาลหลายประเทศกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการเข้าเมืองทั้งๆ ที่เป็นมาตรการควบคุมด้านพรมแดนที่ไม่ชอบธรรม

“มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้หลบหนี้ลี้ภัยจากความขัดแย้ง และผู้ลี้ภัยหลายล้านคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และสืบเนื่องจากนโยบายต่อต้านการอพยพเข้าเมือง เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อโดยที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ นอกจากนี้ยังมีการใช้วาทศิลป์เพื่อจูงใจประชาชนให้สนับสนุนการละเมิดของผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นโดยอ้างว่าบุคคลเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาในประเทศ”  นายซาลิล กล่าว

เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวอีกว่า ข้ออ้างที่ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาในประเทศ ได้ถูกใช้เพื่อสกัดกั้นปฏิบัติการระดับสากลในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ อย่างเช่นในกรณีของซีเรีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงและเป็นผู้นำในประเด็นปัญหาระดับโลก ยังคงล้มเหลวที่จะทำให้เกิดมาตรการทางการเมืองอย่างเป็นเอกภาพและไปในทิศทางเดียวกัน

“เราจะต้องไม่ปล่อยให้ปัญหาผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกลายเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉย เราทุกคนมีความรับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ โลกสมัยใหม่กับการสื่อสารที่ไร้พรมแดน โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ทำให้การปกปิดข้อมูล และการละเมิดสิทธิในประเทศ ทำได้ยากยิ่งขึ้น” เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ

นายซาลิล เซ็ตติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ที่อยู่อาศัยนอกประเทศตนเอง โดยไม่มีทรัพย์สินหรือสถานภาพใดๆ เป็นประชากรที่ถูกเอาเปรียบมากที่สุดในโลก พวกเขามักต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบากเพราะต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อนาคตที่เป็นธรรมของพวกเขาสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของพวกเขา โลกไม่อาจปล่อยให้เกิดพื้นที่ที่ห้ามคนอื่นเข้าใด้ หากต้องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนระดับโลกให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเสมอกันสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม




ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย

ข้อมูลจากรายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2556 ได้รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดปี 2555 ระบุปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยว่าความขัดแย้งกันด้วยอาวุธยังดำเนินต่อไปในภาคใต้ เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบยังพุ่งเป้าโจมตีทำร้ายพลเรือน ส่งผลให้มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในจังหวัดชายแดนใต่ ทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางส่วนของสงขลา ครูและโรงเรียนรัฐได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ ส่งผลให้มีการปิดโรงเรียนหลายครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้นำการก่อความไม่สงบกล่าวหาฝ่ายความมั่นคงว่าได้ทำการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายในยะลา การลอยนวลพ้นผิดยังคงเกิดขึ้นต่อไปสำหรับการละเมิดสิทธิส่วนใหญ่ที่เป็นการกระทำของฝ่ายความมั่นคงในภาคใต้ ส่วนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็ยังคงมีผลบังคับใช้ตลอดทั้งปี โดยรัฐบาลต่ออายุทุกสามเดือน เป็นกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าของรัฐ ที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน

เสรีภาพในการแสดงออกยังถูกปราบปรามต่อไป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ้งให้อำนาจคุมขังบุคคลที่เชื่อว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความพยามที่จะให้มีการทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2555 ล้มเหลว ในเดือนตุลาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในเดือนพฤศจิกายน รัฐสภาได้ปฏิเสธที่จะบรรจุร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าสู่วาระการพิจารณา

ด้านความรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมือง รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจ่ายเงินเยียวยา ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุ่นแรงเมืออปี 2553 ในเดือนพฤษภาคม มีการเสนอร่าง พรบ.ปรองดองแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้อง กับความรุนแรงในปี 2553 แต่กระบวนการพิจารณาร่างได้ชะงักในเดือนกรกฎาคม หลังจากศาลระบุว่าฝ่ายมั่นคงมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ผู้ประท้วงนปช. ที่ถูกสังหารเมือเดือนพฤษภาคม 2553 ได้มีการแจ้งข้อหาฆ่าคนตายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม นับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รายแรกๆ ที่ถูกตั้งข้อหาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 นอกจากนี้การไต่สวนคดีก่อการร้ายต่อแกนนำนปช. 24 คน ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเช่นกัน

ขณะที่ผู้แสวงหาที่พักพิงยังคงเผชิญกับความเสี่ยงต่อการจับกุม และควบคุมตัวเป็นเวลานาน และเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับประเทศของตนที่ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย ภายหลังจากการเจรจากับรัฐบาลพม่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แสดงท่าทีว่าผู้ลี่ภัยจากพม่าจำนวน 146,900 คนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถกลับไปในประเทศของตนเองได้ภายเวลา 1 ปี แม้จะยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า และไม่มีมาตรการคุ้มครองเพื่อประกันกระบวนการส่งกลับบุคคลที่ปลอดภัย อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นไปโดยสมัคร

คนงานข้ามชาติทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสารทางการ ยังคงเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับในช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

ส่วนโทษประหารชีวิต ไม่ปรากฎว่ามีรายงานการประหารชีวิตในปีที่ผ่านมา ศาลยังคงกำหนดโทษประหารชีวิตตลองทั้งปี ในเดือนสิงหาคม รัฐได้ลดโทษให้กับนักโทษประหาร 58 คนให้เหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต

///////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น