วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างฟุ่มเฟือย !!!

ไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างฟุ่มเฟือย !!!



ไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สูงถึง 75,000 – 300,000 ล้านบาทต่อปี  วช.เร่งทำวิจัย เผยแพร่ความรู้ต่อประชาชน หวังลดการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  ศาสตราจารย์ ดร.สนิท  อักษรแก้ว บอกว่ารายงานของธนาคารโลก (World Bank) ได้ประมาณว่าชุมชนต่างๆในประเทศไทยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (ป่า แม่น้ำ ทะเล พืช สัตว์ ฯลฯ) ในแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึง 75,000 – 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ บริโภค และพึ่งพาทัรพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่คำนึงถึงขีดจำกัดและศักยภาพในการฟื้นตัวของทรัพยากรชีวภาพ ส่งผลกระบทต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ดังจะเห็นได้จากการแผ้วถางป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน บุกรุกทำลายป่าไม้ การใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากธรรมชาติที่ไม่คุ้มค่า เช่นต้นไม้หนึ่งต้นอาจใช้ได้ทั้งใบ กิ่ง ลำต้นจนถึงราก แต่ชาวบ้านไม่รู้ตัดมาใช้แต่ใบอย่างเดียว  และพืชบางชนิดหายากใกล้สูญพันธุ์แล้ว ชาวบ้านไม่รู้ก็ถอน ตัดมาบริโภค

อาจารย์สนิท ย้ำว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่จะต้องเร่งหยุดยั้งและวางแนวทางที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่อย่างประหยัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศไทยสามารถธำรงรักษาขุมทรัพย์อันทรงคุณค่ามหาศาลจากความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยั่งยืน

วช.เร่งทำวิจัย

ดร.สนิท  อักษรแก้ว  บอกอีกว่าสำหรับยุทธศาสตร์การวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ.2556 – 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นี้จะมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ รวบรวมข้อมูลพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายาก ส่งเสริมให้มีกฎหมาย ระเบียบ เครื่องมือและกลไกเพื่ออนุรักษ์และลดการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับสมรรถนะของระบบนิเวศในการรองรับภัยคุกคาม และการเพิ่มพูนความยืดหยุ่น ความคงทนของระบบนิเวศ รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ และวิจัยถึงผลดีผลเสียของการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อีกด้วย

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่าประเทศไทยมีความมั่งคั่งของทรัพยากรพันธุกรรมและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนโดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการบริหารจีดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และสอดคล้องกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมดั่งเดิม รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมท้องถิ่น และพืชพื้นบ้าน

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จของยุทธศาสตร์การวิจัยคือรัฐบาล ต้องจัดงบประมาณเพื่อการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเพียงพอ ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และนำผลไปสู่การปฏิบัติจริง และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลอย่างจริงจัง” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร ระบุ

นักวิชาการต้องพูดให้รู้เรื่อง

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์  ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  บอกว่าหลังงานวิจัยนี้เสร็จสิ้น หน่วยงานราชการท้องถิ่นก็ควรนำงานวิจัยไปเผยแพร่ ให้ความรู้กับชาวบ้าน และนอกจากนี้ตนเสนอให้มีการโพสต์ข้อมูลวิจัยเหล่านี้ลงเฟซบุ๊ค โดยมีคำอธิบายที่เข้าใจง่าย ประกอบกับอินโฟกราฟฟิก ประชาชนจะได้เข้าถึงข้อมูลและเข้าใจมากขึ้น ที่ผ่านมาสังคมมักมอกว่านักวิชาการ นักวิจัย คุยไม่รู้เรื่อง ถ่ายทอดไม่เป็น เราเองต้องก็ปรับตัวในจุดนี้

ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  กล่าวเสริมยุทธศาสตร์ในงานวิจัยว่า ส่วนที่ให้ส่งเสริมกฏหมายในการลดการการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพว่า ควรมีการประเมินผลกระทบจากการใช้กฎหมายด้วย เพราะที่ผ่านมามีกรณีชาวบ้านที่โดนคดีโลกร้อน และคิดค่าปรับในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ และอื่นๆ อีกนับแสนบาท ขณะที่นายทุนและผู้ประกอบการไม่โดนคดีนี้ แต่กลับเป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามาอย่างยาวนานเสียเอง นักวิจัยจะต้องมีส่วนร่วมในการตีความกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ละเอียดและ  เป็นธรรม เพราะเราย่อมรู้ดีกว่านักนิติศาสตร์ในเรื่องนี้

“ ชาวบ้านหลายชุมชนฉลาดในการสร้างกลไกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างเช่นการบวชป่า การกำหนดเขตพื้นที่ตายายไว้เป็นพื้นที่สงวน และการสร้างกติกาป่าชุมชน และจะดีมากถ้าชาวบ้านมีความรู้ทางกฏหมายในการลดการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเสริมให้กลไกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนที่มีอยู่เดิม แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ดร.อาภารัตน์ ระบุ

///////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น