วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไป ‘คลอดหลอด’ ตอนกลางวัน โล่งเชียว ...

ไป ‘คลอดหลอด’ ตอนกลางวัน  โล่งเชียว ...


กทม.เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยคลองหลอด กำหนดหยุดขายทุกวันจันทร์ และ ขายได้เฉพาะกลางคืนกระทบ ผู้ค้ากว่า 1,000 ชีวิต ขณะที่เอ็นจีโอถามหามาตรการรองรับคนไร้บ้าน 40%


คุณปัง คลองหลอด  แกนนำพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอด บอกว่าบริเวณริมคลองหลอดมีการขายสินค้า 2 ช่วงเวลา คือ กลางวันตั้งแต่ 8.00 – 15.00 น.และกลางคืนตั้งแต่ 19.00 – 03.00 น. โดยมีจำนวนผู้ค้ารวมกันประมาณ 1,000 ราย สำหรับท่าทีการอนุญาตให้มีการขายสินค้าเฉพาะเวลากลางคืนซึ่งแม้จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารอบกลางวันจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับได้

ป้าอ้อย คลองหลอด อายุ 65 ปี แม่ค้าขายน้ำอัดลม ผู้ได้รับผลกระทบจากการห้ามขายของในเวลากลางวันที่คลองหลอด กล่าวว่าต้องย้ายเวลาขายจากกลางวันมาเป็นกลางคืน แถมต้องแย่งกับคนที่เขาขายตอนกลางคืนอยู่แล้วอีกด้วย ปัจจุบันมีหลานต้องส่งเรียน ถ้าไม่มีกฎระเบียบนี้ออกมา ก็อาจขายทั้งตอนกลางวัน และกลางคืนเพื่อเพิ่มรายได้ แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงต้องไปหาเงินกู้มาส่งหลานเรียน

นายดวง คลองหลอด อายุ 27 ปี พ่อค้าขายของมือสอง บอกว่าปกติขายของช่วงกลางคืนอยู่แล้วและเห็นด้วยกับการจัดเบียบของกทม.เพราะไม่ได้ห้ามไม่ให้ขายเลย ยังให้ขายในช่วงกลางคืนได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนก็มาเดินซื้อของช่วงกลางคืนมากกว่า

ป้านก คลองหลอด  อายุ 50 ปี แม่ค้าขายขนมหวาน บอกว่าการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยที่ระบุให้ขายได้ตอน 19.00 น. ก็ถือว่ากระทบกับรายได้ เพราะปกติตนมาตั้งร้านตอน 17.00 น. แล้วก็เริ่มขายทันที ฉะนั้นกว่าจะถึงตอน 19.00 น.ก็ทำรายได้ไปกว่า 200 บาทแล้ว

ผลกระทบคนเร่รอน

ขณะที่คุณนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ผู้ทำงานช่วยเหลือคนเร่ร่อนและคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะบริเวณดังกล่าวเปิดเผยว่า ร้อยละ 40 ของพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอด คือผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ ที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดและบางส่วนเป็นคนเร่ร่อนไร้ที่พักพิง ผู้อาศัยในที่สาธารณะเหล่านี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยโดนไล่จากสนามหลวง หมดหนทางทำมาหากิน แสดงให้เห็นถึงหลักคิดของกทม.ที่แก้ไขปัญหาโดยยึดเอาสถานที่เป็นที่ตั้ง และละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนซึ่งอาศัยอยู่มาก่อน

คุณนทีเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขนี้ร่วมกันกับประชาชน ที่ผ่านมากทม.จัดระเบียบอะไรอย่างไร ไม่เคยมาสอบถามเลย อย่างน้อยก็ควรมาคุย มาเจรจาหาจุดร่วมร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

“ต้องยอมรับว่าคนเร่รอนที่ผันตัวเองมาทำอาชีพค้าขายในคลอดหลอดกว่าครึ่งมีประวัติอาชญากรรมมาก่อนทั้งนั้น และเมื่อมีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนี้ ซึ่งกระทบกับแนวทางทำมาหากิน เมื่อพวกเขาไม่มีอาชีพ ก็อาจจะกลับมาก่ออาชญกรรมได้อีก” คุณนที บอก

เราสังเกตุพบว่า ในช่วงบ่ายบริเวณคลอดหลอดไม่พบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ตั้งร้านขายของแต่อย่างใด พบเพียงผู้ค้าที่เข็นรถเข็น มาขายกับข้าวจึงเข้าไปสอบถาม ชื่อนางเวียงสวรรค์  แก้วสาลี อายุ 38 ปี ขณะกำลังประกอบอาหารเป็นข้าวไข่เจียวให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นคนเร่ร่อน และรถเข็นของเธอ ติดป้ายไว้ด้วยว่า บริจาค 25 บาทเอื้อเฟื้อข้าวไข่เจียวให้คนเร่รอนไร้บ้านได้ 1 จาน



คุณเวียงสวรรค์ บอกว่า ตนเป็นเคยคนเร่ร่อน มาก่อนจะทำอาชีพค้าขาย ตอนนี้เช่าบ้านอาศัยอยู่ในย่านนี้ แม้ว่าจะมีการระเบียบหาบเร่แผงลอย แต่ตนใช้รถเข็นขายของ เข็นไปเข็นมาไม่ได้ปักหลักอยู่เป็นที่ทาง เป็นทาง เวลาเทศกิจมาก็เข็นหลบออกไป ที่ต้องทำแบบนี้เพราะยังต้องการรายได้ ยิ่งช่วงนี้ลูกไกล้เปิดเทอม จึงมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องเร่งสร้างรายรับ

ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามผู้ที่สัญจรไปมาย่านนั้น อย่างคุณธี นักศึกษา อายุ 20 ปี บอกว่าก่อนหน้านี้ทั้งคนเร่ร่อน และหาบเร่แผงลอยมีเกลื่อนเต็มพื้นที่คลอดหลอดสร้างความสกปรกมาก และ เคยได้ข่าวว่าคนเร่ร่อนแถบนี้อุจจาระ ปัสสาวะลงคลองหลอด แล้วพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ก็เอาน้ำในคลองหลอดมาล้างภาชนะต่อ ก็นับว่าสมควรให้มีการจัดระเบียบให้เรียบร้อย จะได้เป็นหน้าเป็นตาแก่ประเทศ เพราะบริเวณนั้นก็มีนักท่องเทียวเป็นจำนวนมากและอยู่ไกล้กับพระบรมมหาราชวัง

ด้านคุณปริม นักศึกษา อายุ 19 ปีบอกว่า ตอนกลางวันอากาศร้อนๆ ผู้สัญจรแถวนี้ก็ต้องการเครื่องดื่มเย็นๆ อาหารกลางวันก็ต้องทาน ให้ย้ายไปขายกลางคืนก็อันตรายต่อตัวแม่ค้าด้วย ไหนจะไปแย่งเจ้าถิ่นขาย ไหนจะเรื่องโจรผู้ร้าย ถ้าจะแก้ปัญหาที่ดีก็ควรพัฒนาปรับปรุงพื้นที่สำหรับขายของตอนกลางวันดีกว่า แบ่งเป็นช่วงเวลา จัดสัดส่วนให้ดีๆ เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและคนขายมากกว่าอีก

กทม.เดินหน้าจักระเบียบทุกพื้นที่

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  บอกว่าตลาดคลองหลอดเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสกปรกอยู่มาก ดังนั้น จึงจะต้องมีการจัดระเบียบ เพื่อให้มีความสะดวกสบายแก่ประชาชน และตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ผู้ค้าต้องเก็บอุปกรณ์ริมคลองคูเมืองเดิมออกไปให้หมด กทม.ไม่อนุญาตให้ขายสินค้าในเวลากลางวันเด็ดขาด กำหนดเวลาขายตั้งแต่ 19.00- 03.00 น. ส่วนบริเวณหน้าศาลฎีกา จะเลื่อนเวลาให้ขายได้ตั้งแต่ 20.00-03.00 น. จากเดิม 22.00-03.00 น. ส่วนผู้ค้าที่ขายช่วงกลางวัน ต้องไปขายช่วงกลางคืนทั้งหมด

“อย่างไรก็ตาม กทม.ได้หารือร่วมกับศาลฎีกา จะผ่อนปรนให้ผู้ค้าวางอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ริมรั้วและด้านหลังของศาลฎีกาได้ในระยะนี้ แต่ต่อไปต้องทยอยเก็บออกไปให้หมด เพื่อไม่ให้กีดขวางทางจราจร หากมีการฝ่าฝืน กทม.จะบังคับใช้กฎหมาย ครั้งแรกๆ จะตักเตือน แต่ถ้ามีครั้งต่อไปจะเปรียบเทียบปรับและแจ้งความดำเนินคดี” พล.ต.ต.วิชัย ระบุ

ด้าน ผศ.ดร.ผุสดี ตามไทย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านประชาสังคม บอกว่าการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่คลอดหลอด กทม.ได้เริ่มจากการคัดกรองตรวจสุขภาพให้ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งพบผู้มีอาการวัณโรคระยะแพร่เชื้อ 3 คน โดยกทม.จะติดตามดูแลเฝ้าระวังบุคคลกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ส่วนผู้ไร้ที่พักพิงที่สมัครใจ จะจัดให้เข้าสู่ที่พักบ้านอิ่มใจ บริเวณแยกแม้นศรี ซึ่งสามารถรองรับได้ถึง 200 คน ส่วนผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบการจากจัดระเบียบ ตนจะหารือในที่ประชุมอีกครั้ง แต่ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้กทม.จะจัดหาพื้นที่ค้าขายให้ใหม่ แต่ผู้ค้าก็มักไม่ยอมไปขายในที่ที่จัดหาไว้ให้ ตนขอยืนยันว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของกทม.คือการเจรจา ด้วยสันติ ไม่มีการใช้กำลังแต่อย่างเด็ดขาด ก็ต้องค่อยๆคุยกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้จุดที่ยอมรับร่วมกันได้ สำหรับกรณีม็อบกลุมธรรมาธิปไตย ที่มาชุมชนอยู่บริเวณสนามหลวง กทม.ก็ได้ใช้วิธีการเจราเช่นกัน และตอนนี้ก็เริ่มมีทยอยกลับไปบ้างแล้ว

“ขอย้ำว่า กทม.ดูแลทุกชีวิตอย่าเท่าเทียมกัน ไม่มี 2 มาตรฐานแน่นอน พื้นที่บริเวณคลอดหลอดก็ต้องประเมินทั้ง 2 ด้านทั้งด้านประชาชนที่สัญจรอยู่ในบริเวณนั้น ก็ต้องเอาใจใส่ด้วยว่าเขาจะได้รับความปลอดภัยหรือไม่ พื้นที่คลองหลอด มีการก่อเหตุอาชญกรรมบ่อยครั้ง และมีทั้งคนเร่รอน และผู้ค้าของวางกันระเกะระกะ ก็จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบโดยสันติวิธีและการเจรจา สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน”  ผศ.ดร.ผุสดี กล่าว

สำหรับการประกาศจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบริเวณคลองหลอดของกทม.ครั้งนี้ นับเป็นการไล่รื้อพื้นที่บริเวณคลองหลอดครั้งแรก หลังจากเมื่อปี 2553 มีการจัดระเบียบและไล่รื้อพื้นที่บริเวณสนามหลวงเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ ทำให้คนเร่ร่อน ไร้บ้าน และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยกว่า 1 พันชีวิตได้รับผลกระทบ ขณะที่บางส่วนได้ย้ายมาอาศัยอยู่บริเวณริมคลองหลอดนับจากนั้น

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จึงจะจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในอีก 4 จุด ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สยามสแควร์ ตลาดโบ๊เบ๊ และปากคลองตลาด โดยเบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ พร้อมขอความร่วมมือกับผู้ค้า เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ทางเท้า และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจ เข้มงวดเรื่องการค้าขายบนสะพานลอย และสกายวอล์ก รวมทั้งขอทานทุกพื้นที่โดยห้ามค้าขายอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

///////////////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation

รถโมบายของมูลนิธิอิสรชน ที่กำลังให้บริการแก่คนเร่รอนที่คลองหลอด

ผู้ชายที่นั่งอยู่ด้านขวามือ คือคุณนที ผู้ขับเคลื่อนประเด็นผลกระทบของคนเร่รอน จากนโยบาย กทม.

คนเร่รอน ที่ทำอาชีพขายลูกโปง เป็นอาชีพ เพื่อหารายได้

รถเข็นขายกับข้าว ของคุณเวียงสวรรค์ที่ยังขายอยู่หลังมีนโยบายจัดระเบียบของ กทม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น