วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงคือทางรอดของธุรกิจ,กก.ผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยกล่าว

พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงคือทางรอดของธุรกิจ,ก.ผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยกล่าว
ขอบคุณภาพจาก อาจารย์อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กก.ผอ.บมจ.NBC


4 CEO หญิงชั้นนำของเมืองไทยร่วมสัมนาหัวข้อ “Beauty & The Boss ถอดรหัส CEO หญิงเก่ง ธุรกิจแกร่ง” เผยเคล็ดลับทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ความรักในองค์กรและการแบรนด์คือสิ่งสำคัญ ครอบครัวคือกำลังใจในการทำงาน
วิทยุเนชั่น และรายการ ลับคมธุรกิจ” FM.90.5 MHz.  โดยคุณนงค์นาถ ห่านวิไล จัดสัมนา CEO ลับคมธุรกิจ เป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ชั้น 7 Central World หลังการสัมนา 2  ครั้งแรก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้ฟังและบุคคลทั่วไป ทั้งวัยทำงาน คนรุ่นใหม่ และนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม   ซึ่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับความรู้ แนวทางการทำงาน การทำการตลาด และประสบการณ์ดี ๆ มากมาย  กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้จัดสัมนาต่อเนื่องสำหรับปีนี้  ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทเป็นผู้บริหารระดับสูง  ในองค์กรและภาคธุรกิจหลากหลายที่น่าจับตามอง จึงจะจัดสัมนา ในหัวข้อ  “Beauty & The Boss  :  ถอดรหัส CEO หญิงเก่ง ธุรกิจแกร่ง”  เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด และประสบการณ์ของ CEO หญิง  พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้นักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ โดยผู้หญิงเก่ง 4 ท่านคือคุณอนุสรา จิตต์มิตรภาพ  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน ) หรือ ETDA, ดร.เกศรา ธัญลักษณ์ภาคย์   ประธานกรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด  (มหาชน ) และคุณณัฐฑี จุฑาวรากุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัดไปรษณีย์ไทย ไม่ปรับก็พับฐานคุณอานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยว่าที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยพยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาตลอดระยะเวลาที่แปรรูปมาเป็นบริษัท ภาพของความทรงจำของคนทั่วไปมักคิดว่าไปรษณีย์ส่งจดหมาย ขายแสตมป์อย่างเดียว แถมบุรุษไปรษณีย์เมืองไทยยังเป็นภาพของลุงแก่ๆ มีกลิ่นเหล้าโชยมานิดๆ ถ้าใครเลือกส่งจดหมาย หรือพัสดุกับไปรษณีย์ก็ต้องทำใจว่ากว่าที่จะได้รับก็ใช้เวลายาวนาน การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงองค์กรจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้ไปรษณีย์ไทยดำเนินการอยู่ต่อไป อย่างไม่ขาดทุน“ผู้บริหารต้องลงไปคุยกับพนักงานของไปรษณีย์ที่อยู่ในสาขาต่างๆทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงการปรับตัวครั้งใหญ่  อธิบายถึงแผนธุรกิจที่จะทำ และชี้จุดแข็งของไปรษณีย์ ความรักในองค์กรเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราทุกคนร่วมด้วยช่วยกันในการปรับตัว และบทบาทของผู้นำก็คือการสร้างแรงจูงใจและเป็นตัวอย่างที่ดี” คุณอานุสรา บอกถึงกลยุทธในการบริหารองค์กรกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย บอกว่าปัจจุบันการเขียนจดหมายส่งถึงกันแทบไม่มีให้เห็น เพราะมีอินเตอร์เน็ต และมือถือที่สามารถส่งข้อความ หรือ Email ถึงกันได้ทุกที่ทุกเวลา รายได้หลักของไปรษณีย์ไทยในวันนี้มาจากการส่งจดหมายธุรกิจ การส่งจดหมายและพัสดุด่วน (EMS) เป็นต้น การปรับตัวของไปรษณีย์ไทยคือทำให้มีความทันสมัย รวดเร็วมากขึ้น น่าสนใจว่าทุกวันนี้ไปรษณีย์ไทยส่งมอเตอร์ไซต์ในฐานะพัสดุ 800 คันต่อปี นอกจากนี้การส่งธนาณัติแบบออนไลน์ 10 นาทีปลายทางได้รับเงิน เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ไปรษณีย์ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
คุณอานุสราเปิดเผยถึงธุรกิจใหม่ของไปรษณีย์ในอนาคตอันไกล้นี้ว่าการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นอีกอย่างที่เราให้ความสนใจ ต่อไปนี้จะมีแอพพลิเคชั่นในมือถือ ชื่อว่า “อร่อยทั่วไทย” ท่านสามารถสั่งของกินขึ้นชื่อจากภูมิภาคต่างๆในประเทศ เช่นแหนมเนืองหนองคาย แคบหมูเชียงใหม่ หรือไข่เค็มไชยาสุราษธานีได้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตามจะได้รับในวันรุ่งขึ้น“การส่งจดหมาย และพัสดุที่รวดเร็วมากขึ้นเป็นผลมาจากการร่วมมือกับสายการบินต่างที่เราจะฝากของใต้ท้องเครื่องบินไปด้วยโดยที่เราไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องบินเอง และปี 2558 ภูมิภาคเราจะรวมเป็นประชาคมอาเซียนทำให้มีเพื่อนบ้านไกล้เคียงเดินทางมาทำงานหรือมาเทียวมากขึ้น เรากำลังจะพัฒนา EMS ให้เป็น Super EMS ที่ส่งแบบด่วนๆ เพื่อรองรับความต้องการที่ไม่ใช่แค่คนไทย แต่รอบรับในระดับอาเซียน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ระบุหลอมระบบราชการกับบริษัทคุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA บอกว่าองค์กรของเธอมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ หรือคน Gen Y เป็นจำนวนมาก ปัญหาที่พบคือกลุ่ม Gen Y มักชอบเปลี่ยนงานบ่อย คิดเป็นร้อยละ 30 ต่อปี บางทีเราก็ต้องการวิศวะจุฬาฯ ให้ทำงานอยู่ในองค์กรของเรา การสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำแป็นต้องทำ แม้ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่องค์กรของรัฐแบบเชยๆ“การหลอมรวมคน 2 ระบบเป็นเรื่องยากที่เราพบ ETDA มีสัดส่วนจำนวนของคนในระบบราชการ และคนในระบบบริษัทแบบครึ่งต่อครึ่ง ข้าราชการจะชินกับกฎระเบียบ และระบบ ในขณะที่พนักงานบริษัทไม่ต้องการระบบและความยุ่งยาก เราหลอมรวมคนทั้ง 2 ประเภทนี้ด้วยการกำกนดเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน” คุณสุรางคณากล่าวผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA  บอกว่าในกรณีคน Gen Y ที่ลาออกไปกว่าร้อยละ 30 ต่อปีวิธีที่ใช้ดึงคน Gen Y ให้กลับมาก็คือการสร้างความรักในองค์กร ปรับโครงสร้างเงินเดือน หางานที่ท้าทายให้ทำ สร้างบรรยากาศที่ทำงานให้ทันสมัย
สำหรับภาพรวมการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทย คุณสุรางคณาบอกวว่า จากสถิติที่รวบรวมข้อมูลในปี 53 พบว่า อีคอมเมิร์ซไทย มีมูลค่ารวม 608,000 ล้านบาท  จึงยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปีที่แล้ว มีจำนวนผู้ใช้รวมประมาณ 24 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ มีจำนวน 87 ล้านเลขหมายอีคอมเมิร์ซของไทย จึงยังคงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยในช่วงที่ผ่าน ๆ มา อัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ  10 ต่อปี ปัจจุบันอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงร้อยละ  20 ต่อปีนี้ คาดว่า อนาคตอันใกล้จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นมาเป็นระดับร้อยละ 40 ต่อปี  จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการประเทศอื่น ๆ ต้องการเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทย และในอนาคตการที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฮับของบริการทางการแพทย์จึงยังมีโอกาสที่อีคอมเมิร์ซจะเติบโตได้อีกมาก
“อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นใจในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตยังคงมีอยู่ สำหรับอีคอมเมิร์ซ ผู้จด DOMAIN ที่ลงท้ายด้วย .co.th จะปลอดภัยกว่า จด DOMAIN ที่ลงท้ายด้วย .com เพราะ .co.th ต้องยืนยันตัวตนก่อน” ผู้อำนวยการ ETDA ระบุคนเก่าแก่คือคุณค่าขององค์กรดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เล่าเธอรับช่วงต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี้มาจากพ่อมาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในยุคนี้คนเลือกทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพราะเพียงแค่มีเงินซื้อที จ้างคนมาก่อสร้างแล้วก็ขายก็ได้ ธุรกิจแบบนี้สำคัญที่ทำเลในการก่อสร้าง“เมื่อก่อนพ่อขายลอดช่องสิงคโปร์ ก่อนจะมาขายไม้ส่งให้กับบริษัทก่อสร้าง พ่อเห็นว่าสร้างบ้านขายนี่น่าจะรวยเพราะเป็นของไม่เน่า ไม่เปื่อย” ดร.เกษราเล่าย้อนอดีตในครอบครัวของตนกรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์บอกว่าหนักใจอยู่เหมือนกันหลังจากที่รับไม้ต่อจากพ่อให้บริหารธุรกิจ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ คนเก่าคนแก่ก็ยังคงทำงานอยู่ในขณะที่ต้องรับคนรุ่นใหม่มาเพื่อทำงานด้วย มีหลายครั้งที่ความคิดเห็นของคนรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ไม่ตรงกัน เราแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการเห็นคุณค่าของคนที่เท่ากันกัน คุณค่าของคนเก่าคนแก่ที่อยู่มายาวและผ่านโลกมาเยอะ จะช่วยเป็นโค้ชชั้นดีที่จะฝึกคนรุ่นใหม่ไฟแรงมาทำหน้าที่แทน“การรับคนเข้ามาทำงานเราจะทยอยรับมาทีละ 2 3 คนคือค่อยๆโต และสอนให้รู้จักคุณค่าของคนเก่าแก่ว่าคนเหล่านี้มีคุณต่าสำหรับองค์กร บริษัทอื่นอาจไม่มีแบบเรา” ดร.เกษราย้ำ
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ บอกอีกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการเข้าถืงข้อมูลมากขึ้นเลือกมากขึ้นทำให้สถานภาพของบริษัททวีความสำคัญมากขึ้น เพราะการได้รับข่าวสารส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์จากผู้ที่ทำธุรกิจจริงจัง เป็นรายใหญ่ และทำธุรกิจมานานมากกว่ารายใหม่ ๆ
“ปัจจุบันคนไทยเป็นเจ้าของบ้านร้อยละ 60 โดยบ้านแต่ละหลัง มีอัตราผู้พักอาศัย หลังคาเรือนละ 3 คน แต่ปัจจุบันจำนวนผู้อาศัยในบ้านลดลงเหลือ 2 คน เพราะมีแนวโน้มว่า บ้านแต่ละหลังจะมีผู้อาศัยเพียงคนเดียวมีมากขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก แต่ธุรกิจนี้ต้องอาศัยสายป่านที่ยาว” ดร.เกษรา ระบุทั้งนี้ บริษัทมีมุมมองในการทำธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งบริษัทเลือก กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลาง เพราะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 80 ของฐานผู้มีรายได้ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ธุรกิจครอบครัวที่อบอุ่นคุณณัฐฑี จุฑาวรากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาสิค โกลด์  ฟิวเจอร์ จำกัด (มหาชน) บอกว่าธุรกิจของเธอเป็น ธุรกิจครอบครัวรุ่นคุณปู่ มาจากเมืองจีนเริ่มเปิดร้านทอง รุ่นพ่อขยายธุรกิจจากร้านทองเป็นบริษัท และรุ่นลูกหรือรุ่นของเธอนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะทองคำปัจจุบันได้รับการยอมรับให้เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมากขึ้น จากเดิมเป็นเพียงเครื่องประดับเท่านั้น และมีการเก็งกำไรราคาทองคำมากขึ้นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาสิค โกลด์  ฟิวเจอร์ เล่าบอกเธอเริ่มทำงานต่อจากพ่อตอนอายุยังไม่ถึง 26 ปี ตอนนี้ก็อายุ 28 ปีแล้วด้วยความที่ยังเด็กและอ่อนประสบการณ์ก็มีล้มบ้าง แต่ลุกขึ้นเร็วอาจเพราะอายุยังน้อย และบางทีถ้าอายุมากกว่านี้อาจไม่กล้าทำอะไรหลายๆอย่าง พ่อบอกว่า การลองผิดลองถูกเป็นการเรียนรู้ คุณพ่อเองก็ให้โอกาสและไม่เคยตำหนิทุกครั้งที่ได้รับทานอาหารร่วมกันก็จะร่วมปรึกษาหารือ อภิปรายเรื่องธุรกิจภายในครอบครัวกันเป็นประจำ การทำธุรกิจต้องทำให้โต และขยับขยายทำให้ครบทั้งวงจร” คุณณัฐฑี ระบุ//////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; Nation U News Cluphttps://www.facebook.com/cheepjonkhao

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เส้นทางแมวไทย สู่แมวโลก

เส้นทางแมวไทย สู่แมวโลก


เจ้าทองแดง หรือศุภลักษณ์ เป็นชื่อเรียกขานของแมวไทยพันธุ์แท้ มีสีทองแดงหรือน้ำตาลแดงเข้มตลอดตัว  แมวทองแดงมีรูปร่างขนาดกลาง สง่า น้ำหนักตัวพอประมาณ ขายาวเรียว ฝ่าเท้าอวบ ศีรษะค่อนข้างกลมกว้าง มีตาสีออกสีเหลือง หรือ สีอำพัน หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง แมวพันธุ์ศุภลักษณ์มีสีสันสะดุดตาและสวยงามสมกับคำว่า "ศุภลักษณ์" ที่แปลว่าลักษณะที่ดี

แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวโบราณที่บุคคลชั้นสูงมักจะเลี้ยงกัน เพราะเชื่อว่า ผู้ใดได้ครอบครองจะร่ำรวย มีความสุข สุขภาพดี และการงานรุ่งเรื่อง

ลุงปรีชา พุคคะบุตร เจ้าของศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่าหลักฐานจากสมุดข่อยโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา บันทึกไว้ว่าแต่เดิมเรามีแมวสายพันธุ์ไทยแท้ที่เป็นแมวมงคลอยู่ 17 สายพันธุ์ ทุกวันนี้เรามีแมวพันธุ์ไทยแท้หลงเหลืออยู่เพียง 4 สายพันธุ์เท่านั้น โดยที่ 3 สายพันธุ์ ได้รับการจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกไปแล้วโดยชาวต่างชาติ

อย่างแมววิเชียรมาศ (Siamese Cat) มีสีขาวงาช้างมีแต้ม 9 จุดทั่วร่างกายคือที่จมูกครอกไปถึงปาก ที่หู ที่ขา ที่หาง และที่อวัยวะเพศ แมววิเชียรมาศถูกจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธ์แท้ของโลก โดยประเทศอังกฤษ แมวโคราช (Korat cat) มีลักษณะขนเหมือนสีดอกเลา ถูกจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกโดยประเทศ สหรัฐอเมริกา แมวโกนจา (Bombay Cat) มีสีดำตลอดตัว จดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกโดยประเทศอินเดีย กลายเป็นว่า แมวไทยไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกโดยคนไทยเลยสักตัว จะเหลือก็แต่เพียงแมวศุภลักษณ์ ที่ยังไม่มีชาติใดนำไปจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลก ลุงปรีชาจึงมีความตั้งใจที่จดทะเบียนให้แมวศุภลักษณ์ เป็นสัตว์พันธุ์ของโลกในนามของคนไทย

ขณะที่ข้อมูลจากวิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่าชาวต่างชาติได้นำแมวศุภลักษณ์ไปจดทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์หนึ่งของโลกไปแล้ว โดยใช้ชื่อว่า เบอร์มีส (Burmese) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทย

ด้านดร.กัลยา บุญญาบุญญานุวัฒน์ นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ และหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่าเบอร์มีส กับศุภษลักษณ์ มีความแตกต่างกันโดยเบอร์มีสเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนา ไม่ใช่พันธุ์ดั่งเดิมอย่างศุภลักษณ์ ดังนั้นเราจึงสามารถจดทะเบียนให้แมวศุภลักษณ์เป็นแมวสายพันธุ์แท้ ของโลกได้อีกสายพันธุ์หนึ่ง โดยใช้ชื่อจดทะเบียนว่า “ศุภลักษณ์”

ทั้งนี้จะต้องมีใบรับรองพันธุ์ประวัติ (Certificate Pedigree) ที่บ่งบอกถึงบรรพบุรุษ (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) ซึ่งแสดงคุณภาพของลูกแมว ที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรม ลักษณะเด่น ด้อย มาจากบรรพบุรุษมากน้อยเพียงใด ถ้ามีตั้งแต่ 3 ช่วงอายุ จนถึง 5 ช่วงอายุขึ้นไปก็จะถือว่าเป็นพันธุ์แท้

ดร.กัลยากล่าวอีกว่า ได้เจอกับคุณลุงปรีชา พุคคะบุตร  เจ้าของศูนย์อนุรักษ์แมวไทยแล้ว ทราบว่าตอนนี้คุณลุงกำลังสนใจแมวไทยพันธุ์ศุภลักษณ์ เป็นพิเศษ และได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แท้ เพื่อจะยื่นเรื่องขอจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลก เราจะไปช่วยลุงปรีชาให้ได้ใบการรับรองพันธุ์ประวัติแมวศุภลักษณ์ของคุณลุง

แต่สำหรับเกษตรกร ผู้เลียงสัตว์พื้นบ้านทั่วไป ถ้ามีกรณีคล้ายลุงปรีชา เบื้องต้นอยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์พื้นบ้านแสดงความเป็นเจ้าของพันธุ์สัตว์ โดยการนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ที่อยู่ในท้องถิ่น หลังจากนั้นได้จะช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แท้ และจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกต่อไป
ส่วนขั้นตอนในการจดทะเบียนแมวให้เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกนั้น ปัจจุบันสามารถยื่นเรื่องจดทะเบียนได้ที่สมาคมแมวโลก ซึ่งมีอยู่ 2 แห่งคือสมาคมแมวโลกที่ประเทศอังกฤษ และสมาคมแมวโลกที่สหรัฐอเมริกา ผู้ที่สามารถยื่นเรื่องถึงสมาคมแมวโลกได้ จะต้องเป็นสมาคมหรือชมรมแมวในแต่ละประเทศเป็นผู้ยื่นเรื่อง โดยพวกเขาจะมีหน้าที่ดูลักษณะ และทำใบรับรองพันธุ์ประวัติในแมวแต่ละรุ่น อย่างในประเทศไทยก็จะมีสมาคมสายพันธุ์แมวโคราชพิมาย และชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย ซึ่งขึ้นทะเบียนกับสมาคมแมวโลกที่สหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมืองเพื่อเป็นการคุ้มครองและป้องกันไม่ให้ผู้ใดนำสัตว์พื้นเมืองของไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือนำไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาติ รวมทั้งป้องกันไม่ให้พันธุ์สัตว์ต่างถิ่นบางชนิดเข้ามาปะปนกับพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของไทย อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบซึ่งเป็นอันตรายต่อพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของไทย

ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัตินี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกฤษฎีกา ซึ่งตีกลับมาให้เราดูบางมาตราที่ซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และอนุสัญญาไซเตส ซึ่งเราจะนำมาแก้ไขปรับปรุงและส่งกลับให้คณะกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง

“การขึ้นทะเบียนแมวศุภลักษณ์ ให้เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกกับสมาคมแมวโลก นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์แมวไทยไม่ให้สูญหายไป และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจว่าสายพันธุ์แมวไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมีคนไทยเป็นเจ้าของในฐานะผู้จดทะเบียนแล้ว นอกยังนี้ย่อมส่งผลให้แมวศุภลักษณ์มีมูลค่าการขายที่สูงขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงแมวก็จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย”

สอดคล้องกับนางสุนันท์ โซวประเสริฐสุข ประธานชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขึ้นทะเบียนสายพันธุ์แมวไทย โดยใช้ชื่อสายพันธุ์เป็นของประเทศไทยเอง ระบุว่าปัจจุบันแมวศุภลักษณ์มีราคาขายอยู่ 6,000 บาทต่อตัว หากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลก จากสมาคมแมวโลก จะทำให้มีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ 10,000 – 30,000 บาทต่อตัว

แมวไทยเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากทั้งคนไทยเอง และชาวต่างชาติ ด้วยอุปนิสัยแมวไทยที่ฉลาด ประจบ รักบ้าน รักเจ้าของ และเหนืออื่นใด คือรักความอิสระของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ อิสระที่จะกิน หรือจะไปไหนตามที่ใจชอบ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่ทำให้แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่น สีสันตามตัวของแมวไทย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักรักแมวรู้สึกสุขใจยามได้มอง ไม่ว่าจะเป็น แมววิเชียรมาศ เก้าแต้ม ขาวมณี นิลรัตน์ หรือแม้แต่แมวศุภลักษณ์เองก็ตาม

ลุงปรีชาผู้กอบกู้แมวไทย

ลุงปรีชา พุคคะบุตร วัย 77 ปี ชอบแมวและเลี้ยงแมวมาตั้งเด็ก เขาได้เปิดบ้านของตนเองเป็นศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปีพ.ศ.2544 ปัจจุบันมีแมวอยู่ 100 กว่าตัว เขามีความพยามที่จะยื่นเรื่องขอจดทะเบียนให้แมวไทยพันธุ์ศุภลักษ์ เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกในนามของคนไทย

“ผมกำลังพยายามหาแมวไทยศุภลักษณ์ที่หลงเหลืออยู่มารวมกันให้ออกมาเป็นพันธุ์แท้มากที่สุด ตอนนี้มีชาวฝรั่งเศสมาขอซื้อศุภลักษณ์ในมูลค่าสูงถึง 7,000 ยูโร หรือประมาณ 300,000 บาท ผมก็ไม่ขาย” ลุงปรีชา กล่าว

ไม่ขายเพราะภารกิจที่จะต้องนำแมวศุภลักษณ์ จดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกยังไม่สำเร็จ ทุกวันนี้ลุงปรีชาเพราะพันธุ์แมวศุภลักษณ์มาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว มองดูเผินๆอาจคิดว่ารุ่นที่สามนี้ มีลักษณะเป็นแมวศุภลักษณ์พันธุ์แท้แล้ว หากมองในร่มอาจไม่ชัดเจนเท่ากลางแจ้ง จะพบว่าแมวศุภลักษณ์รุ่นที่สาม ของลุงปรีชายังมีจุดเข้ม จุดอ่อนไม่เท่ากัน

การที่ลุงปรีชาจะสามารถนำแมวศุภลักษณ์นี้ ไปจดทะเบียนกับสมาคมแมวโลกได้นั้น ต้องทำให้แน่ใจเสียก่อนว่า เป็นแมวพันธุ์แท้จริงๆ วิธีการที่ลุงปรีชานำมาใช้ก็คือ การเพาะพันธุ์โดยใช้วิธีการสืบสายเลือด แต่ป้องกันสายเลือดชิด การเพาะพันธุ์แมวด้วยวิธีนี้ คือการทำให้แมวเป็นแมวพันธุ์แท้ด้วยวิธีการกระจายโครโมโซม นั่นคือจะต้องทำให้โครโมโซมแมวที่มีอยู่ 36 คู่ให้นิ่งเหลือเพียงคู่เดียวโดยต้องใช้เวลาทั้งหมด 8 ปีหรือ 4 ชั่วอายุแมวถ้าทำได้ก็จะได้ลูกแมวที่ไม่ว่าเกิดมากี่ตัว จะมีลักษณะเหมือนกันเป๊ะ
ลุงปรีชาพยายามทำให้แมวศุภลักษณ์เป็นแมวพันธุ์แท้มานานถึง 5 ปีเต็ม จึงเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีก็จะทำสำเร็จ แม้จะเป็นเวลาที่ไม่นานนัก แต่หนทางของลุงปรีชากลับยาวไกล เพราะมีเพียงแมวศุภลักษณ์ที่เป็นแมวพันธุ์แท้ กับตัวและหัวใจของลุงปรีชา ที่ต้องการให้โลกได้บันทึกไว้ว่า ประเทศไทยได้จดทะเบียนแมวศุภลักษณ์เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกนั้นยังไม่พอ การจดทะเบียนสัตว์พันธุ์แท้จะต้องยื่นจดในนามของสมาคม

“การจดทะเบียนเราจะต้องรวมตัวเป็นสมาคมก่อน ระเบียบในการตั้งสมาคมจะต้องมีผู้ยื่นเรื่องตั้งสมาคมไม่ต่ำกว่า 13 คน ผมชวนพวกไว้ 20 คน แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนมาคัดค้าน เพราะไปขัดผลประโยชน์เขา ซึ่งขายแมววัด เช่นว่าเอาแมววิเชียรมาศตัวผู้ไปปล่อยในวัดให้พระเลี้ยง เช้ามาพระออกบิณฑบาต ชาวบ้านก็ใส่กับข้าวบ้าง ปลาทูบ้าง พระท่านก็เอาปลาทูคลุกข้าวให้แมวกิน มีตัวผู้ตัวเดียวไปผสมพันธุ์กับแมวทั่ววัด เมื่อลูกออกมาเป็นวิเชียรมาศ เขาก็โทรติดต่อกันเอาไปขายต่อ ส่วนผมเพาะแมวพันธุ์แท้ขายก็ไปขัดผลประโยชน์เขา” ลุงปรีชา กล่าว

ไม่ใช่เพียงเรื่องสมาคมที่ยังจัดตั้งไม่ได้ เพราะมองว่าไปขัดผลประโยชน์เท่านั้น ทุกวันนี้ลุงปรีชายังต้องควักเนื้อแบกรับภาระค่าอาหารของแมวอีกด้วย แมวที่ที่กินอาหารวันละ 2 มื้อ ตกวันละ 800 บาทที่ต้องจ่ายไปกับแมวร้อยกว่าตัว หนึ่งเดือนก็ตกประมาณ 24,000 บาท และนี่ก็คือความยากลำบากของลุงปรีชาในการหาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ลุงปรีชา บอกว่า “ถ้าผมทำเป็นธุระกิจผมเลิกไปแล้ว นี่ผมทำเพราะสนุก ผมชอบผมก็ทำ ผมมีความคิดอยู่ว่าเราเกิดมาชาติหนึ่ง เราได้ทำอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อย่างน้อยผมก็ตอบตัวเองได้ว่าผมได้อนุรักษ์แมวไทย รักษามรดกของชาติเอาไว้ให้ลูกหลานดู”

หมายเหตุ : "ศูนย์อนุรักษ์แมวไทย" ตั้งอยู่ที่ 2/1 หมู่ 7 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 08.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-3473-3284, 0-3475-2628, 08-4003-4194

/////////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กไม่ถูกยุบ... การสอนคละชั้นจึงเป็นทางออก? (ชมคลิป)

เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กไม่ถูกยุบ... การสอนคละชั้นจึงเป็นทางออก? (ชมคลิป)

<<<(ชมคลิป) >>>



ตอนเช้าเสียงเจื้อยแจ้วของนักเรียนท่องสูตรคูณดังขึ้น ในขณะที่ช่วงบ่ายจะถูกแทนที่ด้วยเสียงกระทบจากกี่ทอผ้า นี่เป็นวิถีการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาแคววัวดำ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย มีจำนวนนักเรียนเพียง 39 คนและครูอีก 3 คน นวัตกรรมการเรียนการสอนแบบคละชั้น ที่ออกแบบโดย สพฐ.จึงถูกนำใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และมีจำนวนเด็กน้อยของโรงเรียนแห่งนี้อย่างจริงจัง



การเรียนแบบคละชั้นของที่นี่ก็คือ ป.1 เรียนรวมกับ ป.2, ป.3 เรียนรวมกับ ป.4 และป.5 เรียนรวมกับป.6 ในชั้นเรียนจะมีการตั้งข้อตกลงในการทำงานกลุ่ม ทำงานเดี่ยว และการใช้สัญญาณเพื่อสื่อสารในการลงลึกเนื้อหาของแต่ละระดับชั้นที่ต่างกัน อาจให้งานเด็กเล็กให้ทำการบ้าน แล้วก็ผลัดมาสอนเด็กโต ดังนั้นจะมีตารางกิจกรรมที่บูรณาการทุกชั้นเรียน แบ่งเป็นเรียนภาคเช้าเน้นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนภาคบ่ายจะเน้นให้เป็นห้องเรียนชุมชนฝึกทักษะอาชีพ โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามาช่วยสอน


เลอพงศ์ พรพินินวรกิจ รักษาการแทน ผู้อำนวยการโรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาแคววัวดำ บอกว่าเนื้อหาการเรียนการสอนในบางวิชาสามารถสอนร่วมกันได้  เช่นจำนวนนับ ในวิชาคณิตศาสตร์ แต่บางเนื้อหาก็ไม่สามารถสอนรวมกันได้เช่นนักเรียน ป.6 กำลังเรียนเรื่องสมการ ในขณะที่นักเรียนป.5 ยังเรียนไม่ถึง ก็ต้องให้นักเรียน ป.5 นั้งทำการบ้านไปก่อน เราจะไม่ให้การบ้านกับนักเรียนไปทำที่บ้าน เพราะบ้านของนักเรียนเหล่านี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ ผู้ปกครองก็ไม่สามารถสอนการบ้านได้ จึงให้ทำให้เสร็จที่โรงเรียนเสียทีเดียว

“ผมยอมรับว่าการสอนแบบคละชั้นทำให้การเดินเนื้อหาในแต่ละวิชาเป็นไปอย่างเชื่อมช้า เพราะไม่สามารถทำการสอนแบบม้วนเดียวจบเฉพาะเด็กชั้นเดียวได้ ต้องสอนรอ และผลัดกันระหว่างชั้นหนึ่งกับอีกชั้นหนึ่ง และถ้าจะให้เรียนผ่าน ครูตู้ (การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) เด็กๆที่นี่ก็เรียนตามไม่ทันที่ครูตู้สอน นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็กที่นี่ก็เป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะว่าเด็กๆเหล่านี้พูดไทยแค่เฉพาะตอนมาเรียนหนังสือ ในขณะที่สิ่งแวดล้อมที่บ้านของเขาพูดภาษากระเหรี่ยง เราจึงจัดกิจกรรมรักการอ่าน เพื่อแก้ไขการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ในทุกๆเช้า หลังกิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมโฮมรูมเป็นเวลา 50 นาที ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้” เลอพงศ์ กล่าว



ชุมชนบริเวณโรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาแคววัวดำ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าคือกระเหรี่ยง ลาหู่ และอาข่า ทุกๆเช้าเด็กในระแวกนี้จะเดินข้ามสะพานแขวนที่คนญี่ปุ่นสร้างไว้มาโรงเรียน นักเรียนที่นี่มีฐานะยากจนไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่อื่นได้ ผู้ปกครองทำอาชีพเกษรกรรมทำไร่ทำสวน ส่วนใหญ่ทิ้งลูกบุตรหลานให้ผู้สูงอายุดูแล เนื่องจากครอบครัวแตกแยก บิดามารดาเสียชีวิต หรือต้องโทษคดีค้ายาเสพติดบริเวณชายแดน

“ถ้าไม่มีโรงเรียนแห่งนี้เด็กๆที่นี่ก็เสี่ยงที่จะเข้าไปพัวพันกับขบวนการยาเสพติดบริเวณชายแดน อย่างที่พ่อแม่ของเด็กหลายคนเคยประสบมา” เลอพงศ์กล่าวด้วยความกังวลใจ

นาก่อ วากู หญิงชราชาวลาหู่ไม่ทราบอายุตนเอง และไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ พูดได้แต่ภาษากระเหรี่ยง เธอเลี้ยงหลานสาวตามลำพัง โดยที่พ่อแม่ของเด็ก รับจ้างทำไร่ - รับจ้างทั่วไปเพราะไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เธอบอกว่า อยากให้หลานได้เรียนหนังสือ จะได้พูดภาษาไทยได้ และไม่ต้องโง่แบบเธอที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำมาค้าขาย หรือสื่อสารกับคนอื่นได้  ส่วนตัวไม่อยากให้มีการยุบโรงเรียนนี้ เพราะหลานเรียนได้ที่นี่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าเทอม ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน เพราะมีให้กินฟรี และนอกจากนี้หลานก็ยังเล็กอยู่ยังไม่อยากส่งไปเรียนโรงเรียนไกลบ้าน เพราะการเดินทางที่ยากลำบาก



ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินทางไปกลับ มายังโรงเรียนที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา ริมแม่น้ำกกแห่งนี้ ถ้าเริ่มนับระยะทางจาก สพป.เชียงรายเขต 1 ถึงโรงเรียนก็มีระยะไกลกว่า 35 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นทางขึ้นเขา สลับกับถนนลาดยาง และลูงรัง  ใช้เวลาเดินโดยรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที และถ้ารวมเวลาไปกลับก็ร่วม 3 ชั่วโมง

โรงเรียนที่ใกล้ที่สุดกับโรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาแคววัวดำ ก็คือโรงเรียนผาขวางวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ของโรงเรียนสาขาที่ว่านี้ ระยะทางอยู่ห่างออกไป 12 กิโลเมตร ถนนหนทางเป็นสภาพลาดยางสลับกับทางลูกรังเช่นเดียวกัน มันจึงสะดวกกว่าที่ชาวบ้านจะเลือกให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน และถ้ายุบโรงเรียนใกล้ ก็เป็นไปได้ว่าชาวบ้านจะไม่ส่งลูกหลานไปโรงเรียนไกลๆอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกันกับโรงเรียนบ้านป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ การเดินทางเข้ามายังโรงเรียนแห่งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากไม่ต่างจากโรงเรียนที่ว่ามาแล้ว เพราะตั้งอยู่บนภูเขาหลังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ต้องนั่งรถจากตัวอำเภอดอยสะเก็ดออกมาด้วยระยะทาง 8 กิโลเมตร จนถึงสันเขือนแล้วนั่งเรือต่อไปอีกฟากหนึ่งของเขื่อน ใช้เวลา 25 นาที จากนั้นนั่งรถกะบะต่อเข้ามาที่โรงเรียนแห่งนี้อีก 3 กิโลเมตร รวมระยะเวลาการเดินทางกว่า 1 ชั่วโมง

ที่นี่เปิดการเรียนการสอนในระดับป.1 – ป.6  มีจำนวนนักเรียนเพียง 9 คน ครู 2 คนและผู้อำนวยการ 1 คน ถ้าโรงเรียนบ้านป่าสักงาม ถูกยุบรวมกับโรงเรียนที่ไกลที่สุดในระแวกนี้ ก็เห็นจะเป็นคือโรงเรียนชลประทานผาแตก ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษามีจำนวนนักเรียน 455 คนและครูอีก 21 คน ถ้าเป็นเช่นนี้เด็กๆจากโรงเรียนบ้านป่าสักงาม ก็จะต้องนั่งเรือข้ามเขื่อมแล้วต่อรถไปโรงเรียนดังกล่าวอีก 5 กิโลเมตร

สุริยน สุริโยดร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าสักงาม บอกว่าที่นี่มีการเรียนการสอนแบบคละชั้น คือจัดให้ป.1 ป.2 ป.3 เรียนรวมกันและ ป.4 ป.5 ป.6 เรียนร่วมกัน จึงทำให้เรียนนี้มีเพียง 2 ห้องเรียน กับครู 2 คน
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจัดการเรียนการสอน แต่อยู่ที่ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆอย่างไฟฟ้าที่ไม่ค่อยเสถียร ติดๆดับๆ ทำให้การเรียนการสอนที่ต้องใช้เทคโนโลยีไม่สามารถทำได้ และสำหรับเรื่องจำนวนครูผู้สอนจริงอยู่ที่จำนวนครู 2 คนกับนักเรียนอีก 9 คนเป็นจำนวนที่สมดุลในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงการจัดการเรียนการสอนในแต่ละวิชา ถือว่ายังไม่เพียงพอ” สุริยน บอก

อย่างไรก็ตามทรัพยากรแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุน เพราะมีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วเช่นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ของศูนย์การศึกษาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมากจากพระราชดำริ และการเข้ามาเป็นครูอาสาของชาวบ้านสอนการปลูกผัก และเลี้ยงไก่ไข่เป็นต้น เท่านั้นยังไม่พอชาวบ้านเองนี่แหละที่มาช่วยลงแรงสร้างเล้าไก่ให้กับโรงเรียน อย่างน้อยในช่วงที่ไข่ไก่มีราคาแพง ไข่ไก่โรงเรียนก็พอช่วยลดรายจ่ายได้บ้าง ส่วนโครงการอาหารกลางวันก็มีมูลนิธิต่างๆเข้ามาให้การสนับสนุน

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าสักงาม อธิบายถึงสาเหตุที่เด็กที่นี่ลดลงเหลือเพียง 9 คน ก็เพราะว่าผู้ปกครองย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองแล้วเอาลูกไปด้วย เนื่องจากในชุมชนไม่มีงานให้ทำ ไม่สามารถหารายได้ได้ ชาวบ้านที่เหลือคือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ที่มีรายได้ที่ไม่แน่นอน  แต่กระนั้นในปีการศึกษาหน้าศูนย์เด็กเล็กของอบต.จะส่งเด็กมาเรียนที่นี่อีก 4 คนในขณะที่เด็กป.6 จะเรียนจบและไปเรียนต่อที่โรงเรียนชลประทานผาแตก อีก 4 คน ก็ยังคงเหลือจำนวนเด็กอยู่ 9 คนเท่าเดิม

ศรีเรือน ไทยย้อย ชาวชุมชนบ้านป่าสักงาม ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป อายุ 35 ปี ให้ความเห็นว่าการสร้างสะพานข้ามเขื่อนแม่กวงอุดมธาราในระยะทาง 4 กิโลเมตรจะทำให้อะไรอะไรในชุมชนดีขึ้น ทั้งการเดินทางไปเรียนหนังสือของเด็กที่จบป.6 แล้วต้องไปเรียนต่อมัธยมในตัวเภอ และการเดินทางไปประกอบอาชีพของชาวบ้าน

ชาวชุมชนบ้านป่าสักงาม เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นชุมชนบ้านป่าสักงามเป็นชุมชนขนาดใหญ่ติดต่อกับชุมชนอื่นๆ แต่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทันที เมื่อมีการสร้างเขื่อนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านที่นี่ไม่ยอมให้ถูกเวนคืนที่ดิน จึงต้องจำยอมกับการถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเช่นนี้ แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามขอร้องไปยังอำเภอและจังหวัดให้มีการสร้างสะพานข้ามเขื่อน แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ

สำหรับผลการทดสอบทางการศึกษา ของนักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนบ้านป่าสักงามเมื่อปี 2555 ที่มาผ่านมามีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 45.8 ซึ่งเมือเทียบกับโรงเรียนอื่นๆก็ถือว่าไม่น้อยหน้า แต่มีข้อสังเกตุว่าอาจเพราะมีเด็กที่ทำการทดสอบ และวัดค่าเพียงคนเดียวจึงทำให้ค่าไม่กระจาย และมีค่าเฉลี่ยที่ค้อนข้างสูง



พงษ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าการติดตามคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กจะดูที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทุกๆปีจะมีการสอบ O-net ดังนั้นเราสามารถทราบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละที่ได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนนั้น

“อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการ จะให้การสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ถูกยุบต่อไปเพื่อให้มีคุณภาพ อย่างแรกคือการส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากสถานีโทรทัศน์โรงเรียนไกลกังวล และสถานีโทรทัศน์ OBEC TV (ทีวีสพฐ.) ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาชีพ เช่นการทอผ้า จักรสานเพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ อีกทั้งส่งครูสัญจรมาช่วยสอนเสริมในวิชาที่ครูประจำโรงเรียนไม่ถนัด”  พงษ์เทพ กล่าว

ทว่าครูสัญจรก็คือครูที่ประจำในโรงเรียนต่างๆ มีภาระงานสอนเหมือนกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอธิบายว่าการบริหารจัดการที่ดี จะทำให้หลายโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนร่วมกันได้ เดิมใช้อาจใช้ครู 12 คนพอบริหารจัดการร่วมกันใช้อาจใช้ครูแค่ 5 คน ที่เหลือก็ไปช่วยสอนให้โรงเรียนขนาดเล็กได้

“เวลามองเรื่องคน เราต้องมองในภาพรวมของประเทศก่อน สมมติว่าเรามีครูอยู่ 500,000 คน ไม่ใช่ว่าเราจะขอเพิ่มเป็น 600,000 - 700,000 คนได้ เมื่อถูกจำกัดเพียง 500,000 คน ครู 500,000 คนก็ต้องสอนเด็กสมมติว่า 7,000,000 คน ความจริงวันนี้เฉลี่ยครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าครูถูกดึดไป ไปอยู่ในโรงเรียนที่ครู 5 คน นักเรียน 7 คนครูก็จะขาดแคลนในโรงเรียนอื่น”  พงษ์เทพ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องส่งเสริมพัฒนาครู รวมทั้งพัฒนาแผนจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ, ส่งเสริมสื่อการเรียนการสอน เช่นแท็บเล็ตนี้ช่วยได้มาก ยุคนี้เด็กไม่ต้องเข้าห้องแล็บภาษาเหมือนแต่ก่อน เพียงแค่มีเทียบแท็บเล็ตก็สามารถเรียนรู้ภาษา สำเนียงอังกฤษได้, ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรม เข้ามาเติมเต็ม

ส่วนเรื่องงบประมาณรายหัวนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กจะถูกเพิ่มขึ้นเป็น 500 บาท แต่เมื่อนำเงินรายหัวของนักเรียนมาคูณกับจำนวนเด็กไม่กี่คน จำนวนเงินก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ในส่วนของภาครัฐเราก็ให้ได้ในส่วนที่ได้รับจัดสรรมาให้ แต่โดยปกติการจัดการศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐอย่างเดียว เป็นเรื่องของชุมชน การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนร่วมด้วย ที่ต้องช่วยกัน

“การควบรวมโรงเรียนเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2536 เป็นเวลา 20 ปีแล้วและมีการดำเนินการมาโดยตลอด เพราะมันเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้การศึกษาดีขึ้น สมัยคุณชินวร (พรรคปชป.) ก็มีการควบรวมโรงเรียน อย่างไรก็ตามสำหรับกระแสคัดค้านการยุบโรงเรียนที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ เป็นการหยิบประเด็นของคนบางกลุ่มแล้วนำมาตีความไปต่างๆนาๆ ซึ่งตนขอยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีการตั้งเป้าจะยุบโรงเรียน เป้าหมายของเราคือจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างไร” พงษ์เทพ ระบุ

เจ้ากระทรวงศึกษาย้ำประเด็นที่ว่ายุบโรงเรียนแล้วจะไม่มีการเรียนการสอนนั้นไม่เป็นความจริง มีโรงเรียนหลายแห่งที่ได้รับการควบรวม หลังจากนั้นปรากฎว่าผลการเรียนการสอนดีขึ้น ครูเองก็พอใจ นักเรียนพอใจ ผู้ปกครองพอใจ เพราะผมเชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนไม่ได้สักแต่ว่าได้ไปส่งลูกไปเรียนเพียงอย่างเดียว แต่อยากได้ไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพด้วย

เหตุผลหลักของการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็เพราะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพการศึกษาได้ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ต้องยุบรวมไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งไกลๆกัน ซึ่งมีนักเรียนมากกว่า เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างครูกับนักเรียนให้สามารถทำการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น สำหรับชุมชนที่อยู่กลางป่า กลางเขา การยุบโรงเรียนในชุมชนนั้น อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก แต่การคิดนวัตกรรมการเรียนการสอนให้เข้ากับโรงเรียนขนาดเล็ก และมีการติดตาม ส่งเสริมอย่างไกล้ชิด ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้ชุมชนรอบโรงเรียนมีความคึกคักขึ้นมา พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นอีกด้วย

//////////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation

ข่าวที่เขียนลง THE NATION ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2556

สือมวลชนที่ร่วมลงพื้นที่ไปทำข่าวนี้ด้วยกัน

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

10 สิ่งที่ได้จากการฝึกงาน THE NATION

“อยู่เนชั่นมา 3 ปี แต่เพิ่งรู้ว่าของดีอยู่ที่ชั้น 31” และนี่คือ 10 สิ่งที่ได้จากการฝึกงาน THE NATION

หลังจากนี้คงจดเลคเชอร์อาจารย์เร็วขึ้น
.... เพราะทำข่าวไม่มีใครมาพูดทวนให้เราจด
หลังจากนี้คงทำการบ้านส่งก่อนเพื่อน
... เพราะต้องส่งข่าวให้ทันหนังสือพิมพ์ปิดหน้า
หลังจากนี้คงไม่มาเรียนสาย
... เพราะมันก็เหมือนออกหมายที่ต้องตรงเวลา
หลังจากนี้คงเข้าใจอะไรอะไรมากขึ้น
... เพราะพี่ๆสอนเสมอว่าต้อง Get to the point
หลังจากนี้คงฟังมากขึ้น
... เพราะการรอให้แหล่งข่าวตอบให้จบโดยไม่แทรกทำให้เรารู้ความรู้สึกที่แท้จริง
หลังจากนี้คงชั่งใจในหลายสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น
... เพราะความจริงไม่ได้มีด้านเดียว เรื่องๆเดียวคนก็พูดต่างกัน
หลังจากนี้คงมีความรอบคอบมากขึ้น
... เพราะข่าวผิดไม่ได้
หลังจากนี้คงรับผิดชอบมากขึ้น
... เพราะเราต้องแน่ใจว่าข่าวที่เราเขียนต้องไม่มีความเห็นตัวเอง
หลังจากนี้คงอ่อนน้อมมากขึ้น
... เพราะไม่มีแหล่งข่าวคนไหนตอบคำถามกับนักข่าวแข็งกระด้าง
หลังจากนี้คงโลกคงกว้างขึ้น
... เพราะมีคนมากหน้าหลายตา ที่เราได้ทำความรู้จัก แล้วรักเลย

รอติดตามบทความซีรี่ย์ ที่จะเล่าถึงการฝึกงานครั้งนี้ เร็วๆนี้ที่ OK Nation ครับ