วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เส้นทางแมวไทย สู่แมวโลก

เส้นทางแมวไทย สู่แมวโลก


เจ้าทองแดง หรือศุภลักษณ์ เป็นชื่อเรียกขานของแมวไทยพันธุ์แท้ มีสีทองแดงหรือน้ำตาลแดงเข้มตลอดตัว  แมวทองแดงมีรูปร่างขนาดกลาง สง่า น้ำหนักตัวพอประมาณ ขายาวเรียว ฝ่าเท้าอวบ ศีรษะค่อนข้างกลมกว้าง มีตาสีออกสีเหลือง หรือ สีอำพัน หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง แมวพันธุ์ศุภลักษณ์มีสีสันสะดุดตาและสวยงามสมกับคำว่า "ศุภลักษณ์" ที่แปลว่าลักษณะที่ดี

แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวโบราณที่บุคคลชั้นสูงมักจะเลี้ยงกัน เพราะเชื่อว่า ผู้ใดได้ครอบครองจะร่ำรวย มีความสุข สุขภาพดี และการงานรุ่งเรื่อง

ลุงปรีชา พุคคะบุตร เจ้าของศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่าหลักฐานจากสมุดข่อยโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา บันทึกไว้ว่าแต่เดิมเรามีแมวสายพันธุ์ไทยแท้ที่เป็นแมวมงคลอยู่ 17 สายพันธุ์ ทุกวันนี้เรามีแมวพันธุ์ไทยแท้หลงเหลืออยู่เพียง 4 สายพันธุ์เท่านั้น โดยที่ 3 สายพันธุ์ ได้รับการจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกไปแล้วโดยชาวต่างชาติ

อย่างแมววิเชียรมาศ (Siamese Cat) มีสีขาวงาช้างมีแต้ม 9 จุดทั่วร่างกายคือที่จมูกครอกไปถึงปาก ที่หู ที่ขา ที่หาง และที่อวัยวะเพศ แมววิเชียรมาศถูกจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธ์แท้ของโลก โดยประเทศอังกฤษ แมวโคราช (Korat cat) มีลักษณะขนเหมือนสีดอกเลา ถูกจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกโดยประเทศ สหรัฐอเมริกา แมวโกนจา (Bombay Cat) มีสีดำตลอดตัว จดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกโดยประเทศอินเดีย กลายเป็นว่า แมวไทยไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกโดยคนไทยเลยสักตัว จะเหลือก็แต่เพียงแมวศุภลักษณ์ ที่ยังไม่มีชาติใดนำไปจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลก ลุงปรีชาจึงมีความตั้งใจที่จดทะเบียนให้แมวศุภลักษณ์ เป็นสัตว์พันธุ์ของโลกในนามของคนไทย

ขณะที่ข้อมูลจากวิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่าชาวต่างชาติได้นำแมวศุภลักษณ์ไปจดทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์หนึ่งของโลกไปแล้ว โดยใช้ชื่อว่า เบอร์มีส (Burmese) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทย

ด้านดร.กัลยา บุญญาบุญญานุวัฒน์ นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ และหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่าเบอร์มีส กับศุภษลักษณ์ มีความแตกต่างกันโดยเบอร์มีสเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนา ไม่ใช่พันธุ์ดั่งเดิมอย่างศุภลักษณ์ ดังนั้นเราจึงสามารถจดทะเบียนให้แมวศุภลักษณ์เป็นแมวสายพันธุ์แท้ ของโลกได้อีกสายพันธุ์หนึ่ง โดยใช้ชื่อจดทะเบียนว่า “ศุภลักษณ์”

ทั้งนี้จะต้องมีใบรับรองพันธุ์ประวัติ (Certificate Pedigree) ที่บ่งบอกถึงบรรพบุรุษ (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) ซึ่งแสดงคุณภาพของลูกแมว ที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรม ลักษณะเด่น ด้อย มาจากบรรพบุรุษมากน้อยเพียงใด ถ้ามีตั้งแต่ 3 ช่วงอายุ จนถึง 5 ช่วงอายุขึ้นไปก็จะถือว่าเป็นพันธุ์แท้

ดร.กัลยากล่าวอีกว่า ได้เจอกับคุณลุงปรีชา พุคคะบุตร  เจ้าของศูนย์อนุรักษ์แมวไทยแล้ว ทราบว่าตอนนี้คุณลุงกำลังสนใจแมวไทยพันธุ์ศุภลักษณ์ เป็นพิเศษ และได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แท้ เพื่อจะยื่นเรื่องขอจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลก เราจะไปช่วยลุงปรีชาให้ได้ใบการรับรองพันธุ์ประวัติแมวศุภลักษณ์ของคุณลุง

แต่สำหรับเกษตรกร ผู้เลียงสัตว์พื้นบ้านทั่วไป ถ้ามีกรณีคล้ายลุงปรีชา เบื้องต้นอยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์พื้นบ้านแสดงความเป็นเจ้าของพันธุ์สัตว์ โดยการนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ที่อยู่ในท้องถิ่น หลังจากนั้นได้จะช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แท้ และจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกต่อไป
ส่วนขั้นตอนในการจดทะเบียนแมวให้เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกนั้น ปัจจุบันสามารถยื่นเรื่องจดทะเบียนได้ที่สมาคมแมวโลก ซึ่งมีอยู่ 2 แห่งคือสมาคมแมวโลกที่ประเทศอังกฤษ และสมาคมแมวโลกที่สหรัฐอเมริกา ผู้ที่สามารถยื่นเรื่องถึงสมาคมแมวโลกได้ จะต้องเป็นสมาคมหรือชมรมแมวในแต่ละประเทศเป็นผู้ยื่นเรื่อง โดยพวกเขาจะมีหน้าที่ดูลักษณะ และทำใบรับรองพันธุ์ประวัติในแมวแต่ละรุ่น อย่างในประเทศไทยก็จะมีสมาคมสายพันธุ์แมวโคราชพิมาย และชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย ซึ่งขึ้นทะเบียนกับสมาคมแมวโลกที่สหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมืองเพื่อเป็นการคุ้มครองและป้องกันไม่ให้ผู้ใดนำสัตว์พื้นเมืองของไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือนำไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาติ รวมทั้งป้องกันไม่ให้พันธุ์สัตว์ต่างถิ่นบางชนิดเข้ามาปะปนกับพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของไทย อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบซึ่งเป็นอันตรายต่อพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของไทย

ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัตินี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกฤษฎีกา ซึ่งตีกลับมาให้เราดูบางมาตราที่ซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และอนุสัญญาไซเตส ซึ่งเราจะนำมาแก้ไขปรับปรุงและส่งกลับให้คณะกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง

“การขึ้นทะเบียนแมวศุภลักษณ์ ให้เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกกับสมาคมแมวโลก นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์แมวไทยไม่ให้สูญหายไป และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจว่าสายพันธุ์แมวไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมีคนไทยเป็นเจ้าของในฐานะผู้จดทะเบียนแล้ว นอกยังนี้ย่อมส่งผลให้แมวศุภลักษณ์มีมูลค่าการขายที่สูงขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงแมวก็จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย”

สอดคล้องกับนางสุนันท์ โซวประเสริฐสุข ประธานชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขึ้นทะเบียนสายพันธุ์แมวไทย โดยใช้ชื่อสายพันธุ์เป็นของประเทศไทยเอง ระบุว่าปัจจุบันแมวศุภลักษณ์มีราคาขายอยู่ 6,000 บาทต่อตัว หากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลก จากสมาคมแมวโลก จะทำให้มีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ 10,000 – 30,000 บาทต่อตัว

แมวไทยเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากทั้งคนไทยเอง และชาวต่างชาติ ด้วยอุปนิสัยแมวไทยที่ฉลาด ประจบ รักบ้าน รักเจ้าของ และเหนืออื่นใด คือรักความอิสระของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ อิสระที่จะกิน หรือจะไปไหนตามที่ใจชอบ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่ทำให้แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่น สีสันตามตัวของแมวไทย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักรักแมวรู้สึกสุขใจยามได้มอง ไม่ว่าจะเป็น แมววิเชียรมาศ เก้าแต้ม ขาวมณี นิลรัตน์ หรือแม้แต่แมวศุภลักษณ์เองก็ตาม

ลุงปรีชาผู้กอบกู้แมวไทย

ลุงปรีชา พุคคะบุตร วัย 77 ปี ชอบแมวและเลี้ยงแมวมาตั้งเด็ก เขาได้เปิดบ้านของตนเองเป็นศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปีพ.ศ.2544 ปัจจุบันมีแมวอยู่ 100 กว่าตัว เขามีความพยามที่จะยื่นเรื่องขอจดทะเบียนให้แมวไทยพันธุ์ศุภลักษ์ เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกในนามของคนไทย

“ผมกำลังพยายามหาแมวไทยศุภลักษณ์ที่หลงเหลืออยู่มารวมกันให้ออกมาเป็นพันธุ์แท้มากที่สุด ตอนนี้มีชาวฝรั่งเศสมาขอซื้อศุภลักษณ์ในมูลค่าสูงถึง 7,000 ยูโร หรือประมาณ 300,000 บาท ผมก็ไม่ขาย” ลุงปรีชา กล่าว

ไม่ขายเพราะภารกิจที่จะต้องนำแมวศุภลักษณ์ จดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกยังไม่สำเร็จ ทุกวันนี้ลุงปรีชาเพราะพันธุ์แมวศุภลักษณ์มาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว มองดูเผินๆอาจคิดว่ารุ่นที่สามนี้ มีลักษณะเป็นแมวศุภลักษณ์พันธุ์แท้แล้ว หากมองในร่มอาจไม่ชัดเจนเท่ากลางแจ้ง จะพบว่าแมวศุภลักษณ์รุ่นที่สาม ของลุงปรีชายังมีจุดเข้ม จุดอ่อนไม่เท่ากัน

การที่ลุงปรีชาจะสามารถนำแมวศุภลักษณ์นี้ ไปจดทะเบียนกับสมาคมแมวโลกได้นั้น ต้องทำให้แน่ใจเสียก่อนว่า เป็นแมวพันธุ์แท้จริงๆ วิธีการที่ลุงปรีชานำมาใช้ก็คือ การเพาะพันธุ์โดยใช้วิธีการสืบสายเลือด แต่ป้องกันสายเลือดชิด การเพาะพันธุ์แมวด้วยวิธีนี้ คือการทำให้แมวเป็นแมวพันธุ์แท้ด้วยวิธีการกระจายโครโมโซม นั่นคือจะต้องทำให้โครโมโซมแมวที่มีอยู่ 36 คู่ให้นิ่งเหลือเพียงคู่เดียวโดยต้องใช้เวลาทั้งหมด 8 ปีหรือ 4 ชั่วอายุแมวถ้าทำได้ก็จะได้ลูกแมวที่ไม่ว่าเกิดมากี่ตัว จะมีลักษณะเหมือนกันเป๊ะ
ลุงปรีชาพยายามทำให้แมวศุภลักษณ์เป็นแมวพันธุ์แท้มานานถึง 5 ปีเต็ม จึงเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีก็จะทำสำเร็จ แม้จะเป็นเวลาที่ไม่นานนัก แต่หนทางของลุงปรีชากลับยาวไกล เพราะมีเพียงแมวศุภลักษณ์ที่เป็นแมวพันธุ์แท้ กับตัวและหัวใจของลุงปรีชา ที่ต้องการให้โลกได้บันทึกไว้ว่า ประเทศไทยได้จดทะเบียนแมวศุภลักษณ์เป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกนั้นยังไม่พอ การจดทะเบียนสัตว์พันธุ์แท้จะต้องยื่นจดในนามของสมาคม

“การจดทะเบียนเราจะต้องรวมตัวเป็นสมาคมก่อน ระเบียบในการตั้งสมาคมจะต้องมีผู้ยื่นเรื่องตั้งสมาคมไม่ต่ำกว่า 13 คน ผมชวนพวกไว้ 20 คน แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนมาคัดค้าน เพราะไปขัดผลประโยชน์เขา ซึ่งขายแมววัด เช่นว่าเอาแมววิเชียรมาศตัวผู้ไปปล่อยในวัดให้พระเลี้ยง เช้ามาพระออกบิณฑบาต ชาวบ้านก็ใส่กับข้าวบ้าง ปลาทูบ้าง พระท่านก็เอาปลาทูคลุกข้าวให้แมวกิน มีตัวผู้ตัวเดียวไปผสมพันธุ์กับแมวทั่ววัด เมื่อลูกออกมาเป็นวิเชียรมาศ เขาก็โทรติดต่อกันเอาไปขายต่อ ส่วนผมเพาะแมวพันธุ์แท้ขายก็ไปขัดผลประโยชน์เขา” ลุงปรีชา กล่าว

ไม่ใช่เพียงเรื่องสมาคมที่ยังจัดตั้งไม่ได้ เพราะมองว่าไปขัดผลประโยชน์เท่านั้น ทุกวันนี้ลุงปรีชายังต้องควักเนื้อแบกรับภาระค่าอาหารของแมวอีกด้วย แมวที่ที่กินอาหารวันละ 2 มื้อ ตกวันละ 800 บาทที่ต้องจ่ายไปกับแมวร้อยกว่าตัว หนึ่งเดือนก็ตกประมาณ 24,000 บาท และนี่ก็คือความยากลำบากของลุงปรีชาในการหาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ลุงปรีชา บอกว่า “ถ้าผมทำเป็นธุระกิจผมเลิกไปแล้ว นี่ผมทำเพราะสนุก ผมชอบผมก็ทำ ผมมีความคิดอยู่ว่าเราเกิดมาชาติหนึ่ง เราได้ทำอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อย่างน้อยผมก็ตอบตัวเองได้ว่าผมได้อนุรักษ์แมวไทย รักษามรดกของชาติเอาไว้ให้ลูกหลานดู”

หมายเหตุ : "ศูนย์อนุรักษ์แมวไทย" ตั้งอยู่ที่ 2/1 หมู่ 7 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 08.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-3473-3284, 0-3475-2628, 08-4003-4194

/////////////////////////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น