วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

“ย้ายสุสานจีนวัดพนัญเชิง” อ้างความเจริญ บนความขัดแย้ง !

“ย้ายสุสานจีนวัดพนัญเชิง” อ้างความเจริญ บนความขัดแย้ง !

(NOTE:- ต้องแจ้งคุณผู้อ่านทุกท่านก่อนครับว่าตอนนี้ ผม “ทัศน์ เนชั่น” ขอไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวกลายเป็น “ทัศน์ ไทยพีบีเอส” เป็นเวลา 3 เดือนนะครับ แล้วจะกลับมาสู่อ้อมอกอันอบอุ่นของเครือเนชั่นอีกครั้ง แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนผมก็ยังทำหน้าที่นักข่าวตัวน้อยเหมือนอย่างเคยครับ)

ตรงข้ามวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีสุสาน 20 ไร่ เป็นที่ฝังศพบรรพบุรุษชาวจีนกว่า 1,600 หลุม แต่ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ศพทั้งหมดจะต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ เพราะทางวัดมีโครงการที่จะพัฒนาที่ดินผืนดังกล่าวเป็นลานจอดรถโดยอ้างว่าเพื่อรับประชาคมอาเซียน และสร้างอาคารปฏิบัติธรรม  ลูกหลานชาวจีนจึงรวมตัวกันคัดค้านเพราะมีความเชื่อว่า การขุดศพบรรพบุรุษขึ้นมาจากหลุมจะส่งผลร้ายต่อลูกหลานในตระกูล  ผมไปสอบถามเหตุผลของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มลูกหลานชาวจีน ในวันที่ 5 เมษายนที่ผ่าม ซึ่งเป็นวันเช็งเม้ง (ชมคลิป)

ThaiPBS Video - ชาวไทยเชื้อสายจีนคัดค้านย้ายสุสานบรรพบุรุษ



ร่างไร้วิญญาณกว่า  1,600 ศพ  นอนสงบนิ่งอยู่ในสุสานวัดพนัญเชิง สุสานที่บรรพบุรุษชาวจีนและอดีตเจ้าอาวาสได้ร่วมกันสร้างเพื่อเป็นสาธารณะกุศลเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

ร่างของเหล่ากงเหล่าม่า ของครอบครัวสุนทรหิรัญเลิศ และครอบครัวลัญน์ตระกูล ถูกฝังไว้ที่นี่ตั้งแต่ที่ดินผืนนี้ถูกสร้างเป็นสุสาน ลูกหลานที่แยกย้ายกันไปทำงานในที่ต่างๆ จะกลับมารวมตัวกันที่นี่ทุกปีเพื่อแสดงความกตัญญูในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง แต่ประเพณีที่ทำกันทุกปีมาโดยตลอดนี้ กำลังถูกสั่นคลอนหลังจากที่ ...มีข่าวว่าวัดพนัญเชิงจะไล่รื้อสุสานออก

ประทีป ธนเพทาย หรือเจ็กเส็ง เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านศาสตร์ฮวงจุ่ย เขากังวลว่าการรื้อสุสาน จะเป็นการลบหลู่บรรพชน และ อาจนำสิ่งไม่ดีมาสู่ลูกหลานในครอบครัว

ทั้งนี้วัดพนัญเชิง ให้เหตุผลของการย้ายสุสานว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำ  และมีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี  จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเป็นลานจอดรถ อาคารปฏิบัติธรรม และตึกอาพาธสงฆ์
ทุกวันนี้ทายาทที่มีหลุมสุสานอยู่ในสุสานสาธารณะวัดพนัญเชิงจะต้องจ่ายค่าดูแลสุสานให้แก่มูลนิธิวัดพนัญเชิงถึง 2,500 บาทต่อปี ดังนั้นหากสุสานนี้มีจำนวนหลุมสุสาน 1,600 หลุม ก็เท่ากับว่าในหนึ่งปีจะมีเงินหมุ่นเวียนภายในมูลนิธิถึง 4 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมผู้ที่ต้องการซื้อหลุมใหม่ในราคาหลุมละ 250,000 บาท



เมื่อย้อนดูสาเหตุที่แท้จริงว่าเหตุใดวัดพนัญเชิงจึงตัดสินใจรื้อสุสานแห่งนี้ก็จะพบว่าเมื่อปี 2543 วัดต้องการให้กรรมการของมูลนิธิวัดพนัญเชิง มีตัวแทนจากทางวัดและข้าราชการบำนาญรวมอยู่ด้วย และถ้ามีการล้มเลิกมูลนิธิ  ทรัพย์สินของมูลนิธิต้องตกเป็นของวัด แต่ว่ามูลนิธิไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวเมื่อปี 2545 วัดจึงมีหนังสือแจ้งมูลนิธิไม่ให้ใช้ที่ดินของวัดเป็นที่ตั้งของสุสาน จนนำมาซึ่งเดดไลน์ที่วัดจะทำการรื้อสุสานในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

ล่าสุดทางวัดพนัญเชิงมีข้อเสนอจ่ายเงินชดเชยให้กับทายาทรายละ 3 หมื่นบาท พร้อมทำพิธีกรรมตามประเพณีหากยินยอมย้ายศพออกจากสุสาน  พร้อมจัดเตรียมสถานที่เก็บอัฐิในวัดให้ด้วย  แต่สำหรับฝ่ายลูกหลานชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงยืนยันที่จะใช้สุสานเดิมต่อไป  และมีการนัดหมายที่จะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 5 เมษายน ซึ่งป็นวันเช็งเม้ง เพื่อร่วมกันคัดค้านการรื้อสุสานบรรพบุรุษแห่งนี้

ใครถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินสุสานวัดพนัญเชิง

สมาน ศิริพฤกษ์พงศ์ ประธานกลุ่มลูกหลานชาวจีนคัดค้านรื้อสุสานวัดพนัญเชิง พาเราไปดูป้ายหินอ่อนที่จารึกประวัติการสร้างสุสานสาธารณะแห่งนี้ พวกเขากำลังจะใช้เป็นหลักฐานในการอ้างสิทธิใช้ที่ดินแปลงนี้เป็นสุสานสาธารณะต่อไป หลังจากที่วัดพนัญเชิงจะรื้อสุสานออก
เนื้อหาในป้ายหินอ่อนนี้ระบุชัดเจนว่า อดีตเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงองค์ก่อน พระโบราณคณิศร พร้อมกับพนักงานศาสนจังหวัด ขุนศารทประภาศึกษากร และรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น นายวิโรจน์ กมลพันธ์ ตกลงร่วมกันว่าจะใช้ที่ดินของวัดแปลงนี้เพื่อเป็นสุสานสาธารณะกุศลแก่ลูกหลานชาวจีน (ชมคลิป)



เดิมที... ที่ดินตรงนี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าของวัดขอมซึ่งมีสถานะเป็นวัดร้างในสมัยอดีต ก่อนจะมีการยกที่ดินผืนนี้ให้กับวัดพนัญเชิงฯ และเริ่มสร้างสุสานชาวจีนเมื่อปี 2495 หรือ 62 ปีก่อน

อีกด้านหนึ่งวัดพนัญเชิงก็มีหลักฐานอ้างกรรมสิทธิในที่ดินสุสานสาธารณะด้วยเช่นกัน นี่เป็นแผนที่รังวัด ที่ทางวัดพนัญเชิงได้ลงพื้นที่สำรวจ เส้นทึบๆที่เห็นอยู่นี้เป็นพื้นที่ของสุสานสาธารณะ ที่ผนวกอยู่กับพื้นที่ของวัด หมายความว่าในทางกฎหมายวัดมีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินในสุสานแห่งนี้



ขณะที่นายวินัย อัศวราชัน ประธานมูลนิธิวัดพนัญเชิงก็มีโฉนดที่ดินของสุสานนี้ด้วยเหมือนกัน แต่มีเพียง 7 ไร่ ดังนั้นวัดจะอ้างกรรมสิทธิในที่ดินสุสานทั้งหมดไม่ได้

ในระหว่างที่วัดกับมูลนิธิกำลังขัดแย้งกันอยู่ ดูเหมือนคนที่ได้รับผลกระทบก็คือ “กลุ่มลูกหลานชาวจีน” ที่มีร่างของบรรพบุรุษฝังอยู่

ผมไปคุยกับนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมสิทธิมุนษยชน เขาบอกว่ากรณีที่เกิดขึ้นชาวบ้านสามารถอ้างสิทธิชุมชนที่มีอยู่รัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 7 โดยกฎหมายได้ให้ความคุ้มครองเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานของชุมนุมไว้ด้วย



ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน บอกอีกว่าถ้าชาวบ้านจะร้องเรียนปัญหานี้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ยินดีรับเรื่อง โดยให้ทางกลุ่มลูกหลานชาวจีนคัดค้านการรื้อสุสานวัดพนัญเชิงร้องเรียนเข้ามายังสำนักงานโดยตรง จะถือเป็นการใช้กลไกขององค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบและเป็นตัวกลางหาข้อยุติ

เมื่อความเจริญรุกคืบเข้ามาก็ย่อมสั่นคลอนวิถีชีวิตดั่งเดิมของชาวบ้าน  แต่ในกรณีนี้ “ความเจริญ” ก็ถูกอ้างเพื่อสร้าง “ความขัดแย้ง” ให้เกิดขึ้น

เรื่องราวปัญหาไล่รื้อสุสานที่วัดพนัญเชิงนับเป็นเพียงหนึ่งในร้อยปัญหาแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยอยู่ในเวลานี้

Tanpisit Lerdbamrungchai ::  Thai  PBS  ///////////////////////////