วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

‘ปะการังเทียม’ ช่วยแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

‘ปะการังเทียม’ ช่วยแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง


ม.สงขลาฯ เผยผลวิจัยปะการังเทียมเถ้าลอยลิกไนต์ สามารถแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลได้จริง กฟผ.หนุนงบวิจัย 10 ล้านบาท นำร่องหาดชะอำ ขณะที่ชาวเพชรบุรียังไม่วางใจรอพิสูจน์ช่วงมรสุม


ผศ.ดร.พยอม รัตนมณี หัวหน้าโครงการวิจัย  ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ บอกว่าจากการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พบว่าทั้งประเทศญี่ปุ่น หมู่แคริเบียน และรัฐฟอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างใช้ปะการังเทียมวางซ้อนกันเป็นแนวในทะเลที่มีความลึก 2 - 3 เมตร จำนวน 3 แถวบ้าง 5 แถวบ้าง ปรากฎว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งได้จริง

หัวหน้าโครงการวิจัย  ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์  เล่าให้ฟังว่า ได้ศึกษา แบบปะการังเทียม ทั้ง 30 แบบทั่วโลก จึงได้เลือกมา 1 รูปที่เหมาะสมกับพื้นที่ทะเลอ่าวไทย เป็นลักษณะโดมระฆังคว่ำ มีรูรอบข้าง 16 รู โดยเพิ่มฐานสี่เหลียมเข้าไปเพื่อให้วางตั้งในทะเลได้ง่าย หลังจากนั้นทำการทดลองในห้องแล็บเป็นเวลา 2 ปี ก็พบว่าสามารถชะลอคลื่นและลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้จริง

“ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย และอันดามันกำลังเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งการทำเขื่อนกันคลื่น การสร้างรอดักทราย และการก่อกำแพงกันคลืน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังทำลายทัศนียภาพของชายหาดอีกด้วย แม้จะมีมาตรการแก้ไขเชิงอนุรักษ์อย่างการปลูกป่าชายเลน ก็ไม่สามารถปลูกในพื้นทรายได้ และการแก้ไขโดยการถมทราย บนชายหาดก็เป็นการถลุงงบชั้นดี เพราะท้ายที่สุดน้ำทะเล ก็กวาดเอาทรายที่ถมเพิ่มลงทะเลเช่นเดิม” อาจารย์พยอมบอก

ทำไมต้องปะการัง “เถ้าลอยลิกไนต์”

คุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อธิบายว่า ปะการังเทียมเถ้าลอยลิกไนต์ เป็นการนำเถ้าลอยลิกไนต์ ซึ่งเป็นวัสดุพลอยได้จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งมีมากถึง 3 ล้านตันต่อปี นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำเถ้าลอยลิกไนต์ในอัตราส่วนร้อยละ 30 ผสมกับซีเมนต์ในอัตราส่วนร้อย 70 จะได้คอนกรีตที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อนจากความเค็มในน้ำทะเล (ซัลเฟต) ได้มากกว่าปะการังเทียมชนิดอื่นๆที่เคยใช้ในประเทศไทย



 ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บอกอีกว่า ต้นทุนของเถ้าลอยลิกไนต์ มีราคาถูกกว่าซีเมนต์ (เถ้าลอยลิกไนต์ ราคา 30 สตางค์ต่อกิโลกรัม / ซีเมนต์ราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม) จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตปะการังเทียมมีราคาต่ำกว่า ทั้งนี้ โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในลาว ล้วนนำเถ้าลอยลิกไนต์เป็นส่วนผสมในการก่อสร้างเขื่อน เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มคุณสมบัติของเขื่อนให้มีความคงทนแข็งแรง ไม่มีปัญหาการซึมผ่านของน้ำ นอกจากนี้คุณสมบัติของเถ้าลอยลิกไนต์ยังใช้เป็นส่วนผสมของงานด้านโยธา ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เช่นเสาเข็ม คอนกรีตแผ่น ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อีกด้วย

คุณสุทัศน์ บอกถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงว่า  ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการประมงชายฝั่ง ซึ่งกฟผ.ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้มอบทุนสนับสนุนโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการศึกษาและทดลองประยุกต์ใช้ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยนำล่องที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นจำนวนเงิน 10.67 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552-ปัจจุบัน)

ทั้งนี้ผลวิจัยยังพบด้วยว่าปะการังเทียมที่มีส่วนผสมของเถ้าลอยลิไนต์อยู่นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อทะเล และไม่มีการปล่อยมลสารใดๆ จึงได้ทำการทดลองในพื้นที่นำล่องคือที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ชาวบ้านยังไม่วางใจ

คุณชัยรัตน์ ทับทอง รองประธานชุมชนบ่อแขมใต้ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี บอกว่ายังไม่วางใจว่าจะปะการังเทียมเถ้าลอยลิกไนต์จะช่วยแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ เพราะที่ผ่านมาเห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหานี้มาหลายแนวทาง ยาวนานมาหลายสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตามต้องรอดูช่วงมรสุมคือตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะมีคลื่นลมแรง จะเป็นการพิสูจน์ปะการังเถ้าลอยลิกไนต์ ทนทานและสามารถชะลอคลื่นได้มากน้อยแค่ไหน ตนขอเสนอว่าในปีหน้า (2557) ขอเชิญนักข่าว และนักวิจัยมาติดตามดูอีกทีว่า มันแก้ไขได้จริงหรือไม่


ด้านนายสมใจ น้อยสะอาด ประธานชุมชนบ้านห้วยใสเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี บอกว่ารู้สึกดีใจที่เห็นม.สงขลานครินทร์ กับกฟผ.เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ที่ผ่านมาเห็นทั้งการสร้างเขื่อนกันคลื่น สร้างกำแพงกันคลื่น น้ำทะเลก็เซาะพังหมด ปะการังเทียมนี้ มันอยู่ใต้น้ำ น้ำก็เซาะไม่ได้ และหวังว่ามันจะช่วยชะลอคลื่นทะเลและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ตามที่อาจารย์พยอมบอก

สำหรับการวางแนวปะการังเทียมกันคลื่นใต้น้ำ ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ประกอบด้วยแท่งปะการัง จำนวน 286 แท่ง มี 3 ขนาดด้วยกัน คือขนาดเล็ก 114 แท่ง ขนาดกลาง 116 แท่ง และขนาดใหญ่ 59 แท่ง โดยนำมาวางซ้อนกันในทะเลที่มีความลึก 2-3 เมตร จำนวน 5 แถว ยาวประมาณ 100 เมตร แนวปะการังเทียมจะทำหน้าที่เป็นกำแพงใต้น้ำกั้นคลื่นให้สลายตัวก่อนกระทบชายฝั่ง เป็นบ้านอยู่อาศัยของสัตว์ทะเล เป็นที่เกาะเกี่ยวและขยายพันธุ์ของปะการัง เป็นสถานที่อนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ทะเล อีกทั้งเป็นท่ี่หลบภัยของสัตว์ทะเลอีกด้วย หากการทดลองวางปะการังเทียมเถ้าลิไนต์สามารถแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้จริง จะนำไปใช้ในพื้นที่ที่ประสบปัญหานี้ เริ่มจาก ปัตตานี กระบี ตรัง และสตูลตามลำดับ

คลิปวางปะการัง


/////////////////////////////////////// Tanpisit Lerdbamrungchai; The Nation (15/5/56) เรียบเรียงใหม่ (24/5/56)
ข่าวที่ผมเขียนลง The Nation ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2556

ผมร่วมเดินทางไปทำข่าวนี้ ถ่ายรูปกับปะการังเทียมเป็นที่ีระลึก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น