วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

15 ปี 660 ล้านรั้งแพนด้า คุ้มได้ไม่คุ้มเสีย?

15 ปี 660 ล้านรั้งแพนด้า คุ้มได้ไม่คุ้มเสีย?




มูลนิธิเพื่อนช้างตั้งคำถามคุ้มไม่คุ้มรั้ง “หลินปิง” อยู่ไทยกับการเทงบวิจัย 15 ปี 660 ล้าน แล้วช้างไทยอยู่ไหน? ด้านที่คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรฯ เห็นผลพลอยได้จากการลงทุนโครงการวิจัยแพนด้า ต่อยอดงานวิจัยพันธุ์สัตว์ชนิดอื่น ขณะสัตวแพทย์กรมอุทยานแนะทำข้อตกลงยกระดับช้างไทยเทียบแพนด้าจีน
ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร ศูนย์วิจัยป่าไม้ ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดประเด็นในวงเสวนาวิชาการสังคมไทย ได้-เสีย อะไรจากโครงการวิจัยหมีแพนด้า ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า กรมป่าไม้ของไทยได้หารือกับรัฐมนตรีสำนักงานป่าไม้แห่งชาติของจีน เพื่อหาข้อสรุปให้แพนด้าอยู่ที่ประเทศไทยต่อไป โดยหลังจากที่หลินปิงกลับไปหาคู่ที่ประเทศจีนในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ แล้วจะกลับมาอยู่ที่ไทยพร้อมคู่อีก 15 ปี โดยไทยจะต้องจ่ายค่าสนับสนุนแพนด้าให้กับรัฐบาลจีนปีละ 44 ล้านบาท 15 ปี 660 ล้านบาท

“พอเอาเรื่องเงินมาจับก็ดูเยอะกับสัตว์เพียงไม่กี่ตัว ทำให้สังคมบางส่วนคลางแคลงใจกับงบประมาณที่ลงทุนไปสูงเช่นนี้ ถ้ามองในเชิงสัตว์สัญลักษณ์ก็ถูกเปรียบเทียบกับช้างไทยซึ่งรับการดูแลที่ไม่เท่าเทียมกับแพนด้า ในขณะที่ถ้ามองในมุมอนุรักษ์ ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะแพนด้าใกล้สูญพันธุ์” ผศ.ดร.ขวัญชัยกล่าว

วิจัยแพนด้าจำเป็น

รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีโครงการวิจัยแพนด้า เพราะว่าแพนด้าเป็น Flagship Species สามารถดึงดูดความสนใจของสังคมได้ และในฐานะทูตแห่งการอนุรักษ์ ก็ทำให้สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่นๆไปด้วย ที่ผ่านมามีการเจียดงบประมาณจากโครงการวิจัยแพนด้ามาทำการวิจัยเพาะพันธุละมั่งในหลอดแก้ว กวางผา และสมเสร็จ

ส่วนในเชิงเศรษฐกิจ สังคมต่างสนใจเข้าชมแพนด้า สร้างการหมุ่นเวียนทางเศรษฐกิจในกับจังหวัด และสร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์ หากมีการเปรียบเทียบรายได้ของสวนสัตว์เชียงซึ่งมีแพนด้า กับสวนสัตว์สงขลาซึ่งไม่มีแพนด้า รายได้ของสวนสัตว์เชียงใหม่ถึงว่ามีสูงกว่าหลายเท่า

“หลินปิงเกิดขึ้นท่ามกลาง ความวุ่นวายทางการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดงจากการนำเสนอข่าวหลินปิงของสื่อมวลชน ทำให้คนไทยพอยิ้มได้บ้าง ผมคิดว่าแพนด้าไม่ผิดอะไร แพนด้าไม่ใช่ปัญหา แต่เราจะทำอย่างไรให้โครงการวิจัยแพนด้าไปช่วยต่อยอดงานวิจัยชิ้นอื่นๆ” รศ.ดร.นริศ บอก

เอาแต่พลพลอยได้

อย่างไรตาม ดร.สุรพล ดวงแข มูลนิธิเพื่อนช้าง เห็นแย้งว่าการรอผลพลอยได้จากงบวิจัยแพนด้า เป็นการแก้ไขปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ในการบริหารจัดการงบวิจัยพันธุ์สัตว์ ขณะเดียวกันการทุ่มงบประมาณที่สูงมากในการจ่ายให้แพนด้าอยู่ต่อ และตามมาด้วยงบประชาสัมพันธ์อีกมหาศาลก็ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และเป็นที่น้อยอกน้อยใจของคนที่เห็นว่าช้างก็เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทย แต่เหตุใดจึงไม่ได้รับการดูและที่เท่าเทียมเสมอกับแพนด้าซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจีน

ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนช้าง บอกอีกว่าเรื่องค่านิยมการโชว์สัตว์แปลกในสวนสัตว์ควรจะยกเลิกไปได้แล้ว วันนี้สวนสัตว์ต้องอนุรักษ์สัตว์ควบคูไปด้วย แม้ว่าสวนสัตว์จะหารายได้จากการโชว์สัตว์แปลกๆ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องให้ทุนในการอนุรักษ์สัตว์อื่นๆ

“ไม่ได้อยากเกี่ยวโยงเรื่องการเมืองแต่สังเกตุดูจากจังหวัดที่มีพรรคการเมืองคอยหนุนอยู่ก็มีการสร้างสวนสัตว์ อย่างที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคชาติไทย และจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์” ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนช้าง ระบุ

ยกระดับช้างไทยเทียบแพนด้าจีน

ขณะที่นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชบอกว่าสัตว์ป่าเป็นสัตว์ไรพรมแดน ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ ทุกประเทศในโลกต้องช่วยดูแลกันอย่างเท่าเทียม ด้วยสภาพร่างกาย และวิธีการใช้ชีวิตแบบแพนด้า ที่กิน กับ นอน ก็ทำให้เสี่ยงต่อการถูกล่า และสูญพันธุ์มากพออยู่แล้ว มนุษย์ก็พยายามหาวิธีการช่วยรักษาแพนด้าเอาไว้ เราก็เป็นหนึ่งในนั่น

อย่างไรก็ตามเรื่องช้างไทย ตนเห็นว่าก็ควรมีการยกระดับให้เท่าเทียมกับแพนด้าของจีน โดยนำโมเดลการดูแลแพนด้าของรัฐบาลจีนมาเป็นตัวอย่าง เช่นการทำระเบียบข้อตกลงโครงการความร่วมมือในการวิจัยและอนุรักษ์แพนด้า เราก็ใช้ข้อกำนดเดียวกันแต่เปลี่ยนจากแพนด้า มาเป็นช้างไทย เราต้องแสดงความเป็นเจ้าของ ช้างทุกเชือกรวมทั้งลูกช้างที่เกิดจากการตกลูก เป็นสมบัติของไทย ลูกที่เกิดจะต้องกลับประเทศไทยเมื่ออายุได้ 5 ปี และทุกชิ้นส่วนรวมทั้งผลิตผลของช้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และที่ได้รับจากไทยรวมทั้งชิ้นส่วนที่ CITES ได้อธิบายไว้ เป็นสมบัติของไทย ของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ได้

นายสัตวแพทย์ภัทรพล บอกอีกว่าสำหรับโครงการวิจัยแพนด้า ที่ผ่านมานักวิจัยไทยได้โอกาสในการศึกษาเกี่ยวกับโฮโมนของแพนด้า และคนไทยเองก็สามารถผสมเทียมแพนด้าได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความหลากหลายทางชนิดไผ่ในไทย ที่แพนด้าสามารถกินได้ ส่วนห้องแล็บที่เกิดขึ้นจากงบวิจัยแพนด้ายังสามารถใช้วิจัยเพาะพันสัตว์ชนิดอื่นได้อีก

///////////////////////////////////////////////////////

ข่าวที่เขียนลง The Nation ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น