วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

สื่อความความหวังของความปรองดอง? :: บทบก.หน้าหนึ่งนสพ.ม.เนชั่น

สื่อความความหวังของความปรองดอง?

บทบรรณาธิการหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ N JOURNAL ฉบับที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2556 


"ท่ามกลางปัญหาการเมืองที่พัฒนามาสู่ความขัดแย้งอย่างเร้าราวลึกในประเทศไทยที่ได้ดำเนินมากว่า 10 ปี เราต่างก็รู้กันดีว่าคนที่เสียประโยชน์มากที่สุดก็คือประชาชน และประเทศชาติ ที่ผ่านมาเชื้อของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากสื่อมวลชน

การต่อสู้ทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานทำให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับมวลชนของตนด้วยการตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับตัวเองนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งเร้าลึกมากขึ้น นอกจากทีวีการเมืองแล้ว เราสามารถจำแนกสื่อที่มีแนวโน้มว่าจะสร้างความขัดแย้งได้ดังต่อไปนี้

1. สื่อของรัฐบาลที่มักออกมาแก้ต่างให้กับรัฐบาล กลายเป็นเครื่องมือชั้นยอดที่สร้างความน่าเชื่อถือแก่ข่าวสารของฝ่ายตนและไม่เสนอข้อมูลของอีกฝ่าย

2. สื่อเอกชนที่มีอคติต่อฝ่ายตรงข้าม เพราะเคยเสียประโยชน์มาก่อน ก็มีการเลือกข้างที่ชัดเจนและมีการแสดงความคิดเห็นที่มีอคติต่ออีกฝ่ายอย่างโจ่งแจ้ง และ 3. สื่อเอกชนที่มีนายทุนเป็นนักการเมืองรายงานข่าวแบบมีวาระซ้อนเร้น ไม่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมืองฝั่งตน

ที่น่ากลัวก็คือว่าสื่อเหล่านี้ล้วนมีภาพลักษณ์ของความเป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ พวกเขาต่างนำความน่าเชื่อนั้นมาสร้างวาทกรรม สร้างความชอบธรรม และสร้างความเชื่อในฝ่ายตนอย่างสุดโต่ง เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

เมื่อทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นเราหวังว่าช่องข่าวทั้ง 7 ช่องจะตระหนักในเรื่องนี้และมีแนวทางในการรายงานข่าวที่เป็นกลางอย่างเป็นรูปธรรม อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด 7 ช่อง แต่ช่องข่าวที่เป็นผู้เล่นรายใหม่และไม่มีปูมหลังทางการเมืองมาก่อน เมื่อมาทำช่องข่าว เราคาดหวังว่าท่านเหล่านั้นจะรายงานข่าวได้ดีเป็นพิเศษ และแน่นนอนเมื่อท่านทำดี สิ่งที่ท่านจะได้รับก็คือความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน

เรามีความหวัง และความหวังสุดท้ายของเราก็อยู่ที่ตัวเราเอง อยู่ที่ตัวนักศึกษานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ที่กำลังจะจบและจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่สื่อสารมวลชน เราหวังว่าถ้าวันหนึ่งพวกเราโตขึ้น และอยู่ในฐานะที่สามารถกำหนดวาระข่าวสาร หรือบริหารพื้นที่ในสื่อใดสื่อหนึ่งได้ เราจะช่วยกันทำข่าวในแนวทางที่ดีงาม ไม่สร้างความขัดแย้ง และเดินหน้าตรวจสอบทุกฝ่าย นำเสนอทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค แล้วให้คนดูเป็นผู้ตัดสิน"

ท่านสามารถอ่านในรูปแบบหนังสือพิมพ์อิเล็คโทรนิค (E-Newspaper) ได้ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น