วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

เรื่องระหว่าง ผม – เนชั่น และ ไทยพีบีเอส

เรื่องระหว่าง ผม เนชั่น และ ไทยพีบีเอส

“ปี 2556 นี้ เป็นปีที่ผมมีอายุครบ 20 ปีเต็ม 2 3 ปีที่ผ่านมาผมถือว่าโชคดีมากที่ได้เข้ามาคลุกคลีกับสิ่งที่ตนเองฝันไว้ตั้งแต่เด็ก บทความนี้เป็นบทความที่ยาวที่สุดเท่าที่ผมเคยเขียนมา มันสรุปทุกสิ่งที่อย่างที่เข้ามาในชีวิตได้เป็นอย่างดี  เป็นการประมวลข้อมูลของชีวิตในอดีต เพื่อก้าวต่อไป”
_________________________________

เริ่มมาจาก ปิดไอทีวี

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วตอนนั้นอยู่ม. 5 โรงเรียนพนัสพิทยาคาร จังหวัดชลบุรี ชอบดูรายการของคุณสรยุทธมาตั้งแต่ ป.4 ก็เริ่มดูข่าวมาตั้งแต่ตอนนั้น จำได้ว่าจนกระทั้งตัวเองอยู่ม.3 ในยุคที่มีการปฏิวัติรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ที่บ้านเปิดดูแต่ไอทีวี ผมดูแล้วชอบโลโก้ของช่องไอทีวีมาก ชอบเสียงข่าวของไอทีวี ชอบการนำเสนอข่าวของไอทีวี แล้วก็คิดไว้ว่าโตขึ้นอยากจะเป็นนักข่าวไอทีวี ความชอบนี้ถูกแสดงออกมาผ่านเรียงความที่ครูให้เขียน และกิจกรรมวิชาแนะแนวในช่วงเวลานั้น

ผมเฝ้าดูการทำงานของไอทีวี จนมีเรื่องเกี่ยวกับทีวีสาธารณะของยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ตอนนั้นไอทีวีไม่สามารถเสียค่าปรับสัมปทาน กรณีปรับผังรายการผิดรูปแบบทีวีเสรี มีจำนวนข่าวที่ลดลง แต่ให้ความสำคัญกับสาระบันเทิงเพิ่งมากขึ้น


ผมเห็นการต่อสู้ของพนักงานไอทีวีผ่านหน้าจอโทรทัศน์ที่บ้าน จนเปลี่ยนมาเป็นทีไอทีวี ผมติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างใกล้ชิด จนจำชื่อผู้ประกาศ และนักข่าวไอทีวีได้ทุกคน

การปิดตัวลงอย่างกระทันหันของทีไอทีวี และการเกิดขึ้นของไทยพีเอส ทำให้ผมสนใจมันอย่างมาก ผมใช้ช่วงเวลาของการทดลองออกอากาศของไทยพีบีเอส ที่มีแต่ข่าวพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพี่นางฯ ที่เพิ่งทรงสวรรคต  และสารคดีจากต่างประเทศ ศึกษาความเป็นมาของไอทีวี และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นั่นทำให้ผมรู้จัก “เนชั่น” พร้อมๆกับบุคคล 2 ท่านผ่านตัวหนังสือที่อ่านในวิกิพีเดีย คือสุทธิชัย หยุ่น และเทพชัย หย่องผู้ร่วมก่อตั้งไอทีวี เรียกได้ว่าในโรงเรียนพนัสพิทยาคาร ไม่มีใครที่จะรู้เรื่องไอทีวี ทีไอทีวี และไทยพีบีเอส ดีไปมากกว่าผม
_________________________________

ร่วมกิจกรรมทีวีสาธารณะ

ไทยพีบีเอส ประกาศตัวว่าเป็นทีวีสาธารณะ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ตามกฎหมายไทยพีบีเอสจะต้องมีสภาผู้ชม และผู้ฟังรายการ เป็นกลไกหลักในช่วงนั้นที่ทำให้ไทยพีบีเอสเป็นทีวีสาธารณะชัดขึ้น ผมยังจำได้ดีว่าการสรรหาสมาชิกสภาผู้ชม และผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ถูกจัดขึ้นที่ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ เขตหลัก 4 และผมได้มีส่วนเข้าดูการสรรหาสมาชิกสภาผู้ชมครั้งนี้ด้วย และได้พบคุณเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสในขณะนั้น

ผมกลับมาศึกษาประวัติของของคุณเทพชัย อีกครั้งก็พบว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งไอทีวียุคแรก และเป็นคนที่มาจากเครือเนชั่น เป็นหนึ่งในกบฏไอทีวี ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม หลังกลุ่มธุรกิจชินคอเปอเรชั่น เข้าอุ้มไอทีวี ต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่กำลังขาดทุนจากการทำไอทีวี
การเข้ามาอุ้มไอทีวีของกลุ่มชิน ทำให้พนักงานไอทีวีในฝ่ายข่าว ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าไอทีวี ทีวีเสรี จะถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง กลุ่มพนักงานเหล่านี้ถูกเชิญออก คุณเทพชัยถูกแขวนเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในฝ่ายข่าว และพนักงานที่ออกมาเรียกร้องถูกเชิญออก ทำให้มีการต่อสู้ในชั้นศาล จนพนักงานกลุ่มนี้ชนะ แต่ทนกับการกดดันจากฝ่ายบริหารไม่ไหว จึงจำใจลาออก ว่ากันว่า ไอทีวี ไม่ใช่ทีวีเสรีอีกต่อไปหลังจากนั้น


การเกิดขึ้นของทีวีสาธารณะทำให้กลุ่มกบฏไอทีวีบางส่วนกลับมาทำข่าวอย่างจริงจังอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือ ณาตยา แวววีรคุปต์ เธอคือผู้ดำเนินรายการคนแรกในวันเกิดขึ้นของทีวีสาธารณะ
_________________________________

ทีวีพ.พ. ทีวีสาธารณะในโรงเรียน
ความเข้มข้นทั้งจากอดีต และปัจจุบันของทีวีเสรี กับทีวีสาธารณะ มีมากขึ้นหลังจากได้ค้นคว้าประวัติเก่าๆ ก็เห็นถึงความกล้าหาญของนักข่าวในยุคนั้น ผมไม่รอแล้วที่จะเรียนจบ มหาวิทยาลัย แล้วจึงได้มีโอกาสทำข่าว ด้วยเทคโนโลยี ต่างๆในยุคผม เอื้ออำนวยให้เราทำทีวีในโรงเรียนได้


ถึงวันนี้ผมไม่เคยลืมบุญคุณของโรงเรียนพนัสพิทยาคารเลย ที่เปิดโอกาสให้ผมได้ทำทีวีตามที่ได้เขียนโครงการเสนอไป แม้จะใช้งบประมาณหลายบาทก็ตาม

และแน่นอนเพื่อจะให้ทีวีโรงเรียนช่องนี้ เป็นไปในรูปแบบทีวีสาธารณะ ต้องผมเท่านั้น ! ทว่าการเกิดขึ้นของทีวีโรงเรียน ก็มีหลายฝ่ายจับจ้อง และอยากทำ นี่จึงเป็นการต่อสู้ครั้งแรกในชีวิตที่ต้องหาเหตุผลมากมาย เพื่อทำให้ทีวีสาธารณะเกิดขึ้นในโรงเรียน เรียกว่าเป็นการเมืองย่อมๆก็ว่าได้ แต่สุดท้ายผมก็ได้ทำ ได้ทำเพราะความบริสุทธิใจจริงๆ ไม่คิดหาผลประโยชน์อื่นใดจากทีวีโรงเรียน นอกจากประสบการณ์

ผมทำทีวีพ.พ. เหมือนการแกะแบบมาจากไทยพีบีเอสทุกอย่าง ถ้าย้อมกับไปดูเอกสาร วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์แทบไม่ต่างกัน เพียงแต่ปรับให้เข้ากับสังคมเล็กๆในโรงเรียน ทีวีช่องนี้อากาศในระบบวงจรปิด คือออกตามสายเคเบิ้ลของโรงเรียนเท่านั้น ครูท่านหนึ่งที่ผมลืมไม่ได้ คือครูธนงค์ เอี่ยมบำรุงทรัพย์ ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด



ตลอดระยะเวลาของการมีอยู่ของทีวีพ.พ. โรงเรียนแห่งนี้คึกคัก และสนุกมากเลยทีเดียว ทีวีพ.พ.เป็น ประตูแรกที่ทำให้ผมกับเพื่อนมัธยมได้เข้าไปดูการทำงานของไทยพีบีเอส (ชื่อทีวีไทย ในเวลานั้น) ในรายการสถานีประชาชน





การเดินทางย่อมมีวันสิ้นสุด ความสนุกสนานของผมกับเพื่อนๆในทีวีพ.พ.จบลงพร้อมๆกับการจบม.6 ถ้าจะบอกว่านี่คือความฝัน วันที่จบม.6 ก็คงเป็นวันที่ตื่นจากฝัน แล้วเข้าสู่โลกของความเป็นจริง
_________________________________

นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส

ไทยพีบีเอสเป็นทีวีสาธารณะ มีความต้องการให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการสื่อสาร นักข่าวพลเมืองถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะนักข่าว

ชุมชนหนองตำลึง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เป็นชุมชนของผม  แต่ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนจากการที่มีโรงงานเข้ามาตั้งในพื้นที่ แล้วส่งเสียง กลิ่นเหม็นรบกวน แม้จะมีกรมอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบ แต่ดูเหมือนว่าโรงงานจะตั้งทำให้เสียง และกลิ่นน้อยลงกว่าที่เคยทำอยู่ และชาวบ้านก็เคยร้องเรียนไปที่หน่วยงานราชการท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

ผมมีทั้งกล้อง VDO มีอินเตอร์เน็ต มีโปรแกรมตัดต่อที่จะสามารถส่งข่าวนี้ไปออกอากาศทางไทยพีบีเอส แต่มันคงไม่ง่ายนัก ผมโฟสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวของคุณเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสในขณะนั้น เพื่อให้ท่านช่วยแนะนำ และทำให้มั่นใจได้ว่าเรื่องนี้จะได้รับการออกอากาศ จากนั้นผมจึงได้เบอร์ของโปรดิวเซอร์นักข่าวพลเมือง คือพี่โต้ง ภูมิพัฒน์ บุญเลี้ยง ตอนนี้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการกลุ่มข่าวนโยบายสาธารณะไทยพีบีเอส

พี่โต้งบอกว่านักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสต้องมีการเล่าเรื่องที่แยบยล และมีเสน่ห์ ผมซึ่งไม่เคยผ่านการอบรมนักข่าวพลเมือง อาจยังไม่เข้าใจในกระบวนการหลายอย่าง แต่พี่โต้งก็ให้คำแนะนำ ปรับแก้งานจนได้รับการออกกาศ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนเพราะโรงงานยอมย้ายฐานการผลิตจากข่าวชิ้นนี้





ต่อมาในช่วงวิกฤตน้ำท่วม ปี 2554 ผมได้ทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองอีกครั้ง โดยรายงานข่าวน้ำท่วมในช่วงนักข่าวพลเมือง ข่าวค่ำไทยพีบีเอส (ตอนนั้นเข้าเรียนที่ม.เนชั่นแล้ว)





_________________________________

จบม.6 ฝึกงานที่เนชั่น

มันคงจะเร็วไปสำหรับเด็กม.6 ที่จะฝึกงาน แต่ถ้าเราเริ่มต้นก่อนมันก็น่าจะดีกว่าไม่ใช่หรือ ต่อมความอยากรู้อยากเห็นเกิดขึ้น เพราะตลอดช่วงเวลาที่ทำทีวีพ.พ. ตนเองรู้สึกว่ามันคือของสมมติ ยังไม่ใช่ของจริง ของจริงคือสำนักข่าวจริงๆ สถานีโทรทัศน์จริงๆ การฝึกงานมันคงไม่เร็วไปสำหรับผม แต่ปัญหาคือ ที่ไหน? เขาจะให้เราฝึก

ผมส่งจดหมายพร้อมแนบเอกสารที่ข้อร้องให้โรงเรียนเป็นผู้ส่งตัว แนบไปกับผลงานที่ตนเองทำในช่วงทีวีพ.พ. ส่งไปที่ไทยพีบีเอส กับเนชั่น ถ้าทั้งสองที่นี้ไม่ให้ฝึก ก็จะไม่ฝึก ที่ไทยพีบีเอสปฏิเสธ เพราะกำลังอยู่ในช่วงย้ายที่ทำการสถานี ไม่มีนโยบายรับเด็กฝึกงาน ความหวังจึงตกมาอยู่กับเนชั่น ทีแรกก็เงียบไป จริงๆผมถอดใจแล้ว แต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 พี่ฝ่ายบุคคลที่นั่นโทรมาถามว่าพร้อมฝึกเมื่อไหร่ ผมตอบไปทันทีว่าพรุ่งนี้ คือ 1 เมษายน 2554 วันนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเพราะต้องย้ายชลบุรีมาอยู่ที่กรุงเทพทันที มาใช้ชีวิตตามลำพัง แบบไม่มีคนที่บ้านคอยทำกับข้าวให้กิน เราต้องหากินเอง แต่ก็ยอม ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้ชอบการเปลี่ยนแปลง

เด็กนักเรียนผมสั้นเกรียนใส่ชุดนักเรียน กางเกงขาสั้น  เดินขึ้นมาพร้อมกับพี่ฝ่ายบุคคล มุ่งหน้ามาที่โต๊ะข่าวอาชญากรรม พี่ๆที่โต๊ะถามคำแรก “ลูกใคร” พี่ฝ่ายบุคคลตอบ “อ๋อ เด็กคนนี้ไงที่มาขอฝึกงาน” พี่ๆ ยิ้ม แต่ในใจก็คงงงๆ พี่คนหนึ่งที่โต๊ะบอกว่า “พรุ่งนี้ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนมานะ ใส่ชุดธรรมดามา ใส่แบบนี้ไปทำข่าวไม่มีใครกล้าให้ข่าวหรอก” พี่คนนั้นพูดติดตลก


อาทิตย์แรกนั้งอ่านหนังสือพิมพ์เฉยๆ แต่หลังจากที่บก.ปรีชา สอาดสอน บก.โต๊ะข่าวอาชญากรรมเนชั่นเห็นสกู๊ปน้ำมันไบโอดีเซลของผมสมัยมัธยมในยูทูป จึงลองให้ทำสกู๊ปในวันถัดมา



ต้องยอมรับว่าที่เนชั่นให้เด็กฝึกงานแม้จะเพียง ม.6 ก็ให้ทำงานจริงๆ อายุไม่เกี่ยวเลย


อันที่จริงชื่อ “เนชั่น” เป็นชื่อที่ผมคุ้นพร้อมๆกับ “สุทธิชัย หยุ่น” มาตั้งแต่เริ่มศึกษาประวัติไอทีวีอย่างจริงจัง มันก็ถือว่าเร็วมากที่ทำให้เราได้สัมผัสกับที่นี่จริงๆ แต่ไม่ต้องคิดถึงระดับเซเล็บอย่าง สุทธิชัย หยุ่น พนักงาน / เด็กฝึกงานคงเข้าไม่ถึง

ในระหว่างฝึกงานก็เห็นอะไรหลายอย่างในนั้น เช่นคนนั้นไม่ถูกกับนี้ คนนี้ไม่ชอบคนนั้น คนนั้นไม่ชอบเรา บางทีผมเก็บเอามาคิดก็ถึงกับต้องโทรไปร้องไห้กับเพื่อน และไม่คงจะไม่แปลกเพราะเราพึ่งออกมาจากรั้วโรงเรียน สังคมมันแตกต่างกัน

ผมเรียนรู้จริยธรรมสื่อด้วยจิตใต้สำนึก ผมเห็นนักข่าวรับตังค์ มีแหล่งข่าว (นักการเมืองท้องถิ่น) ให้ตังค์ผมเป็นพัน ผมปฏิเสธทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่ได้เรียนหลักจริยธรรมสื่อ ของแบบนี้บางทีตำราเล่มใหญ่โต ก็ไม่ได้ทำให้คนปฏิบัติตาม มันอยู่ที่สิ่งแว้มล้อมและเงื่อนไงของแต่ละคน

ผมไม่ชอบ กราฟฟิก CG ของเนชั่น ไม่ชอบการวางผังรายการของเนชั่น ไม่ชอบโปรดักชั่นที่ทำแบบขอไปที ไม่ชอบที่ที่นี่ไม่ยอมลงทุนอะไรเลย แต่ชอบสารคดีที่เนชั่นทำ โดยเฉพาะ ZEN 2010 จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม ที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ดำเนินรายการ ชอบรายการจุดชนวนความคิด ของคุณธนานุช สงวนศักดิ์ บรรณธิการสารคดีเชิงข่าวของเนชั่น และที่แน่ๆชอบอุดมการของที่นี่ เพราะว่ามีบรรณาธิการจริยธรรมคอยดูแล อย่างคุณจักร์กฤษ เพิ่มพูล บุคคลที่กล่าวมานี้อยู่ในระดับผู้บริหาร เราเพียงแต่แอบชื่นชมอยู่ห่างๆ ว่าที่นี่ยังคงมีคนเก่งๆ และดีอยู่ ตลอดระยะเวลาที่ฝึกงาน มีทั้งที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ และผมมักจะเปรียบเทียบที่นี่กับ ไทยพีบีเอสอยู่ตลอดเวลา 
_________________________________

เครือเนชั่นเปิดมหาวิทยาลัย

หลังจากฝึกงานที่เนชั่นมาจวนจะครบ 3 เดือน ก็ทำให้ต้องคิดต่อว่าชีวิตจะเอาอย่างไร ผมแอดมิชชั่นไม่ติดมหาวิทยาลัยของรัฐเลย มหาวิทยาลัยเอกชนจึงเป็นตัวเลือกหลัก เครือเนชั่นถือว่ามีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค ผมมั่นใจว่าถ้าผมเลือกที่นี่ ผมเลือกไม่ผิด


มหาวิทยาลัยแห่งนี้ถ้าอยู่ให้เป็น ก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ด้วยความที่ผมเคยฝึกงานที่เนชั่นมาก่อนหน้านั้น ก็ทำให้รู้จักคนที่นี่ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรียนที่นี่ ก็น่าจะอบอุ่น และไม่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงอะไรมาก  ผมไม่ซีเรียสว่ามหาวิทยาลัยนี้จะไม่มีบรรยากาศเป็นมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ผมเข้าออกเนชั่นเป็นว่าเล่นในฐานะนักศึกษา มันเหมือนได้ทำงานจริงๆ

ย้อนกลับไปในวันปฐมนิเทศนักศึกษาเนชั่นรุ่นแรกที่พัทยา ผมพึ่งรู้ว่าคนที่รับผมเข้ามาฝึกงานก็คือ คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการบมจ.NBC ซึ่งได้ข่าวว่าเป็นผู้บริหารที่กล้าได้กล้าเสียมากในเครือเนชั่น

มหาวิทยาลัยเนชั่น เดิมคือมหาวิทยาลัยโยนก ที่ลำปาง แล้วเครือเนชั่นไป Take Over มาเพราะโยนกมีสถานะทางการเงินไม่ค่อยดีนัก ประจวบกับเป็นความไฝ่ฝันของผู้บริหารในเครืออย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น
_________________________________

ปี 1 ฝึกงานที่ไทยพีบีเอส

เร็วกว่าที่คิดที่ปี 1 จะฝึกงานที่ไทยพีบีเอส ต้องขอบคุณพี่โต้ง ภูมิพัฒน์ บุญเลี้ยง ที่แนะนำให้ผมรู้จักกับพี่แวว ณาตยา แวววีรคุปต์ แล้วได้เบอร์โทรศัพท์ โทรไปบอกตรงๆว่าอยากฝึกงานที่ไทยพีบีเอส คราวนี้ ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่แวว ผู้ดำเนินรายการตอนเปิดทีวีสาธารณะวันแรก ตัวเป็นๆ จากที่เคยเห็นในทีวี


ทว่าการฝึกงานที่ไทยพีบีเอส ก็ทำให้เราพบชุดความจริงอีกอย่าง เรื่องความขัดแย้งภายในองค์กรมีอยู่ เรื่องการชิงดีชิงเด่นมีอยู่ ความรู้สึก อารมณ์ไม่ได้ต่างอะไรจากสังคมทำงานที่เนชั่น เวลานั้นเริ่มทำให้ผมอดเปรียบเทียบทั้ง 2 แห่งไม่ได้ ว่าที่ไหนดีกว่ากัน แต่ไม่ต้องการคำตอบ เพราะสับสนและตอบตัวเองไม่ถูกเหมือนกัน

กลับมาพิจารณาก็คิดได้ว่า ทุกที่มีทั้งดี และเสียปะปนกันไป พี่โต้งแนะแนวทางให้ว่า อยู่ที่การวางตัวของแต่ละคน เพราะนี่คือสังคมในชีวิตจริง ที่ดูเหมือนจะโหดร้าย แต่จริงๆมันไม่มีอะไร

พี่แวว เอาหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งให้ผมอ่าน ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ “เราจะเดินไปไหนกัน” (จำชื่อผิด ขออภัย) คำตอบเมื่ออ่านจบคือ เราล้วนแต่เดินไปหาความตายด้วยกันทั้งนั้น ชีวิตช่วงนั้นของผมดูดราม่า แต่นี่เป็นครั้งที่ 2 กับโลกของการทำงานจริง

นี่ผมมาฝึกงาน หรือมาฝึกการใช้ชีวิตที่ไทยพีบีเอส ตอบชัดๆเลยครับว่ามาฝึกการใช้ชีวิต ด้วยความที่ไทยพีบีเอสเป็นช่องฟรีทีวี ทุกอย่างต้องเป๊ะ ไม่แปลกที่เราอาจไม่ได้หยิบจับอะไรมากนัก แต่เพียงเรานั่งสังเกตุพวกพี่เขาทำงานก็เป็นประโยชน์แล้ว



โชคดีที่ก่อนจบการฝึกงาน พี่โต้งพาผมลงพื้นทำข่าวที่ภาคใต้ อย่างลับๆ เพราะไทยพีบีเอสห้ามนักศึกษาฝึกงานออกต่างจังหวัด ครั้งนั้นผมได้ความรู้และประสบการณ์มาก
_________________________________

ชีพจรข่าว ความหมายที่ลึกซึ่งของม.เนชั่น

ชีพจรข่าว คืออะไรให้นึกกลับไปที่ทีวีพ.พ. นี่เป็นชื่อรายการที่ผมกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งทำลงยูทูปตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยเนชั่นแรกๆ ชีพจรข่าว เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างเนชั่น (ที่เรียน) กับ ไทยพีบีเอส (ที่ชอบ) แน่นอนว่ามหาวิทยาลัย มีคนที่หลากหลาย นั่นหมายความว่าแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน และถ้านึกถึงเนชั่น คือข่าว มหาวิทยาลัยเนชั่นก็คือมหาวิทยาลัยข่าว ชีพจรข่าวจึงดูได้รับโอกาส และโดดเด่นมากเป็นพิเศษ ผมเชื่อว่าผมทำชีพจรข่าว ให้พ่วงกับความหมายของม.เนชั่นไปแล้ว เพราะมีชิ้นงานเป็นรูปธรรม มีการพัฒนา ขยายจากทำรายการลงยูทูป มาทำหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ชีพจรข่าวจึงเป็นกลุ่ม หรือชมรมที่คึกคักมากที่สุดในม.เนชั่น


ในเมื่อทุกที่ย่อมมีความยัดแย้ง ทุกที่มีการเมือง ที่ม.เนชั่นก็คงไม่ต่างอะไรจากสังคมอื่นๆ ที่มีคนรวมกันอยู่มากๆ ความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นเรื่องธรรมชาติ  การเมืองมีทั้งผู้ใหญ่และนักศึกษาเองก็มี
นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างของมหาวิทยาลัยที่มีผู้บริหาร “สื่อ” ลงมาบริหาร “การศึกษา” ก็คงแปลก และนั่นทำให้ที่นี่แตกต่างในทางโครงสร้างการบริหารงาน เป็นไปอย่างบริษัท ซึ่งเชื่อว่ามหาวิทยาลัยอื่นไม่เป็น นั่นทำให้ที่ม.เนชั่น มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยงแปลงตรงนี้คือ ไม่นิ่ง เปลี่ยนโน้นปรับนั้น อาจารย์ออก ยังไม่ลงตัวสักที ที่เคยให้สัญญาไว้ ทำบ้างไม่ทำบ้าง นักศึกษาที่นี่คุ้นชินกับการ PR แบบพลุระเบิด สักพักก็เงียบไปแล้ว ก็คงจะทำนองว่าใครอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ซิ่ว หรือว่ามันคงเป็นกันทุกที่ นี่ผมพยายามมองอย่างเป็นกลาง

เมื่อก่อนผมชอบโวยวาย กับการเปลี่ยนโน้น ปรับนี่ ของม. แต่ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ผมมีเวลาเหลืออยู่อีก 2 ปีก็จะจบ ผมเลิกบ่นแล้ว เพราะคงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเรียกร้อง ทำไปเพียรแต่จะเข้าเนื้อตัวเอง คนที่นี่หลายคนไม่ชอบผมมากนัก

ชีพจรข่าวทำให้ผมพบกับอาจารย์ ที่ผมเชิญมาเป็นที่ปรึกษา 2 ท่านคือ อาจารย์จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เคยเป็นบรรณาธิการจริยธรรมของเครือเนชั่น ตอนผมยังอยู่ม.6 และฝึกงานที่เนชั่น กับอาจารย์ธนานุช สงวนศักดิ์ หรือครูอ้อย บรรณาธิการสารคดีเชิงข่าวเนชั่น ที่ทำรายการจุดชนวนความคิด และสนิทกับอาจารย์ทั้ง  2 ตอนเรียนวิชาที่ท่านสอนช่วงปี 1

อาจารย์จักร์กฤษ เพิ่มพูลต่อมาเป็นคณบดีที่คณะนิเทศ ม.เนชั่น ทำให้ได้พบอาจารย์บ่อยมากขึ้น งานหลายชิ้น อาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา  อาจารย์เคยบอกกับทีมงานชีพจรข่าวว่า “พวกคุณต้องอย่าทำให้ข่าว หายไปจากม.เนชั่น” นั่นหมายความว่า พวกเราต้องไม่หลุดที่จะทำโน้น ทำนี่ ให้ทำต่อไป เพราะเราจะเป็นความหมายที่ลึกซึ่งของที่นี่

ส่วนอาจารย์ธนานุช สงวนศักดิ์ หรือครูอ้อย เป็นครูที่ผมสนิทด้วยมากๆ ครูอ้อยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องงานและเรื่องชีวิต เป็นครูที่ออนไลน์ ใน App Line 24 ชั่วโมง จริงๆ ครูอ้อยย้ำเสมอว่า “เราต้องอย่าดูถูกคนดู อย่าตัดสินแทนคนดู เราทำหน้าที่บันทึก และให้ข้อมูลที่รอบด้าน แล้วคนดูตัดสินเอง เวลาเขียนงานพยายามใช้คำที่มีพลัง แต่เข้าใจง่ายๆ สำคัญคือส่งสารให้เข้าใจง่าย”
_________________________________

เนชั่นยูทีวี ทีวีเพื่อการเรียนรู้
อาจเพราะชีพจรข่าวมีความคึกคัก และทำคลิปลงยูทูปมาก่อนหน้า ผู้ใหญ่เห็นว่าชีพจรข่าวน่าจะทำทีวีเล็กๆสักช่องให้ไปรอด ผู้ใหญ่ที่ว่านั้น เป็นคนคนเดียวกันกับที่ตัดสินใจให้ผมเข้ามาฝึกงานที่เนชั่น ในตอนม.6 อาจารย์อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.NBC


แน่นอนว่าความรู้สึกเก่าๆกลับมาอีกครั้ง ในสมัยทำทีวีพ.พ. วันนี้ได้มีโอกาสมาทำเนชั่นยูทีวี ทำนองเดียวกับประวัติศาสตร์ซ้ำรอย


ความต่างของเนชั่นยูทีวี กับทีวีพ.พ.คือ เนชั่นยูทีวี ทำยากกว่าเพราะเนื้อหา เราต้องเป็นผู้ผลิตเอง จัดสรรเอง เป็นสถานีโทรทัศน์จำลองที่ทำให้ผมเป็นงานทุกอย่างตั้งแต่บริหารสถานี จนกระทั้งเจ้าหน้าที่เทคนิค เป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่ให้ความรู้ด้านการทำงานจริงๆ อย่างไม่ได้จบ รู้สิ้น

ที่สำคัญคือมันทำให้เราฝึกการแก้ไขปัญหา เพราะไม่มีวันไหนเลยที่เทคนิคของเนชั่นยูทีวี จะไม่มีปัญหาเดี๋ยวกล้องดับ เครื่องแฮ้ง เสียงไม่ออก ไฟเสียง ลื่อนๆ  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ผมรู้จักพี่ๆในเครือเนชั่นมากขึ้น โดยเฉพาะกับฝ่ายเทคนิคที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาทางเทคนิค

ด้านเนื้อหา เนชั่นยูทีวีเป็นเหมือนครูที่คอยกดดันให้เราผลิตชิ้นงานให้ทันการออกอากาศ ทำให้เราได้ฝึกการผลิตรายการ และพัฒนาเนื้อหา พัฒนาการนำเสนอ และฝึกความรับผิดชอบ

เนชั่นยูทีวีอยู่ในสถานะทีวีมหาวิทยาลัย สังคมคาดหวังว่านี่จะเป็นพื้นที่ของทุกคน ผมเคยคิดว่าผู้ใหญ่เขาอาจจะคิดผิดก็ได้ที่ให้ผมทำเพราะ เมื่อผมเป็นคนทำ คนอื่นๆ ก็อาจจะตีความไปต่างๆนาๆ และไม่กล้าที่จะเข้ามาใช้พื้นที่สื่อนี้ ผมพยายามทำความเข้าใจกับสังคม และผมเชื่อว่าเนชั่นยูทีวีจะได้รับการยอมรับจากสังคมในอนาคต โดยวัดกันผลของงาน

เนชั่นยูทีวีเป็นสะพานสำคัญที่ทำให้ผมได้เข้าไปคลุกคลีกับทั้งคุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณเทพชัย หย่องในฐานะที่ท่านเป็นที่ปรึกษา ครั้งหนึ่งตอนเครือเนชั่นประชุมแผนกลยุทธ์ ทีวีทุกช่องของเครือ  เนชั่นยูทีวี เป็นทีมหนึ่งที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมการประชุม และนำเสนอแผนกลยุทธของเนชั่นยูทีวีต่อที่ประชุม

มันคงจะไม่ง่ายนักที่โอกาสแบบนี้จะมาเยือน เนชั่นยูทีวีกลายเป็นใบเบิกทางให้ผมทำในหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากทำ เป็นก้าวที่เร็วมากของชีวิต บ้างครั้งก็คิดว่าเร็วเกินไป

วันแรกของการออกอากาศเนชั่นยูทีวี ผมไม่แน่ใจว่ามีคนดูผ่านอินเน็ตอยู่กี่คน ขณะเดียวกัน ความเป็นมือใหม่ฝ่ายเทคนิคยังไม่คล่องแคล้ว ก็ทำให้เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคอยู่หลายครั้ง คิวพิธีกรตกหล่น แต่กระนั้นผู้บริหารที่นี่ ในฐานะครูก็ยืนดูลูกศิษย์ลองผิด ลองถูกด้วยใจระทึก !

ใครเลยจะคิดว่าผมกับคุณเทพชัย หย่อง อดีตผู้อำนวยการไทยพีบีเอส จะกลับมาเนชั่น ในฐานะครู


คืนเดียวกันนั้น ประวัติศาสตร์ของเครือเนชั่นถูกถ่ายทอด ผ่านปากของผู้ก่อตั้งเครือนี้ พร้อมกับผู้บริหารที่ใครๆก็ยอมรับว่าบริหารเก่งมาก กล้าได้กล้าเสีย ในรายการชีพจรข่าว ช่วงสนทนา







นอกจากนี้ เนชั่นยูทีวีเปิดทางให้เราทำข่าวกระแสหลักในแง่มุมที่แตกต่าง



นี่เป็นเพราะเงื่อนไข และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมกันจนมีวันนี้ แต่ผมยอมรับว่าเรายังทำได้ไม่ดีนัก การเรียนรู้ยังพึ่งเริ่มต้น และคงไม่มีที่สิ้นสุด
_________________________________

บทสรุปของ 2 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ผมรู้ว่า มีขาว มีดำ มีมืด และมีสว่าง ไม่มีอะไรดีทีสุด ความจริงมีหลายชุด และอย่าตัดสินคนเร็วเกินไป  หันกลับมาดูตัวเอง จัดการชีวิตของตัวเองให้ดี

A: ชอบดูบอลมั๊ย

ผม: ก็ดูบ้างครับแต่ไม่ถึงกับชอบ
A: ทีมไหนเล่นเกมตัวเองได้ ...ทีมนั้นก็มีโอกาสชนะ คือเล่นตามที่ทีมตัวเองวางแผนมา ฝึกซ้อมมา แต่ถ้าไม่สามารถเล่นตามเกมของตัวเองได้ โอกาสแพ้มีสูง ...เปรียบเหมือนชีวิตเราไง ต้องเล่นเกมของตัวเอง ที่ตัวเองวางแผน ควบคุมได้ หากเราเล่นเกมของคนอื่น ...โอกาสที่เราจะแพ้ก็มีเยอะ


ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผมไปสวดมนต์ข้ามปีที่วัดปทุมวนาราม ศาลาพระราชศรัทธา พระท่านเทศน์ว่า “ปีหน้าให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลา รู้ว่าเรากำลังทำอะไร สติเท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่รอด พระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานท่านทิ้งท้ายว่า จงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ผมอายุครบ 20 บริบูรณ์ในปีนี้ ก็ตั้งใจว่า ผมจะเล่นเกมชีวิต ด้วยสติ และความไม่ประมาท
_________________________________


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น