วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชาวท่าเรือ จ.อยุธยา หน่ายน้ำท่วมหวังหน้าน้ำปีนี้จะไม่ท่วมอีก

ชาวท่าเรือ จ.อยุธยา หน่ายน้ำท่วมหวังหน้าน้ำปีนี้จะไม่ท่วมอีก


อดิศัย วัฒนาวณิช
เป็นปัญหาที่ชาชินและคุ้นเคยกันดีจนสามารถปรับตัวรับกันได้สำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต.ท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ต้องลุ้นกันปีต่อปีว่าจะท่วมหรือไม่... ไม่ใช่วิสัยปกติของชาวบ้านทำมาค้าขายที่จะนั่งต้องเช็คระดับน้ำในเขื่อนบ่อยๆ เยี่ยงวิศวกรกรมชลประทาน แต่เพราะปัญหาที่เรื้องรังมานาน ก็ทำให้ “อดิศัย วัฒนาวณิช” เจ้าของโกดังรับฝากรถมอเตอร์ไซค์ หน้าสถานีรถไฟท่าเรือต้องเปิดเว็บของกรมชลฯเช็คระดับน้ำในเขื่อน ยิ่งหน้าน้ำที่ผนตกหนักแบบนี้ ก็ยิ่งเช็คแบบวันต่อวันกันเลยทีเดียว

เพราะปัญหาน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับอาชีพที่ต้องทำมาหากินแบบรายวัน หากวันไหนไม่รับฝากรถก็จะเสียรายได้ไปเยอะ ไม่ต้องพูดถึงช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ท่วมขังอยู่นานนับเดือน รายได้หดหายมากมิใช่น้อย โชคดีที่ครอบครัวของอดิศัย รู้จักอดออมจึงมีเงินเก็บ สามารถดึงออกมาใช้ในยามคับขัน

ชายวัย 50 ปีร่างท่วมผู้นี้วิเคราะห์ให้เราฟังว่าปัญหาน้ำท่วมทุกวันนี้เกิดจากการบริหารน้ำที่ไม่ดีพอ และน้ำป่าไหลหลากจึงแนะว่าควรขุดบ่อพักน้ำป่าในจุดที่เหมาะสมใกล้ตีนเขา และหยุดทำลายป่าไม้ที่ทุกวันนี้ยังพบเห็นได้ทั่วไปว่ามีการลับลอบตัดไม้ทำลายป่าตามข่าวที่ออกอยู่บ่อยๆ

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ก็คือบริหารน้ำในเขื่อน เรื่องง่ายๆอย่างการระบายน้ำในก่อนที่น้ำจะมา อาศัยข้อมูลอากาศของกรมอุตุวิทยาให้เป็นประโยชน์ เคยได้ยินข่าวว่ามีอยู่ปี ที่เขื่อนแห่งหนึ่งเร่งระบายน้ำจนท่วมพื้นที่ชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่ใส่ใจ และขาดวางแผนที่ดี

เจ้าของโกดังรับฝากรถมอเตอร์ไซค์ หน้าสถานีรถไฟท่าเรือเปรียบเทียบคลองและแม่น้ำเหมือนกับโอ่งน้ำ ถ้ามีขนาดใหญ่ก็จะสามารถบรรจุน้ำได้ในปริมาณมาก แต่ถ้าโอ่งน้ำขนาดเล็กก็บรรจุน้ำได้ในปริมาณน้ำที่น้อย เช่นเดียวกับแม่น้ำถ้าลึกก็สามารถรับน้ำได้มาก ดังนั้นควรขุดลอกแม่น้ำลำคลองต่างๆให้มีความลึกมากขึ้น

เมื่อราวต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเทศบาลท่าเรือได้หารือกับชาวบ้านในการป้องกันท่วมน้ำในพื้นที่ อดิศัยจึงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการรับรู้แนวทางการป้องกันน้ำท่วมของตำบลท่าเรือในครั้งนี้ด้วย เขาจึงเล่าในสิ่งที่ตนได้เห็นทุกครั้งก่อนที่น้ำจะเอ่อท่วมบ้านของเขาว่าน้ำมักมาตามท่อระบายน้ำ และเอ่อท่วมพื้นที่เป็นวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรสร้างประตูเปิด-ปิดปากท่อระบายน้ำ เป็นการยืดเวลาให้น้ำเอ่อท่วมช้าลงเพื่อให้มีเวลาขนของ หรือไม่ท่วมเลย

อดิศัยบอกว่าเทศบาลท่าเรือมีแผนจะสร้างผนังกั้นน้ำสูง 2 เมตรริมแม่น้ำป่าสัก และจะยกระดับถนนให้สูงขึ้นเพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม ซึ่งตนไม่มีปัญหา สำหรับระดับน้ำในเขื่อนเท่าที่ประเมินดูสถานการณ์น้ำยังไม่น่าเป็นห่วง

///////////////////////////// TANPISIT LEDBAMRUNGCHAI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น