วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ท่าเรือริมฝั่งบางปะกง กระทบวิถีชุมชน - สิ่งแวดล้อม

ท่าเรือริมฝั่งบางปะกง กระทบวิถีชุมชน - สิ่งแวดล้อม


“อยากจะฝากว่าให้ช่วยรักษาลมหายใจของเราไว้ด้วยนะคะ ถ้าคุณทำแบบนี้เหมือนกับว่าคุณทำลายลมหายใจของคุณเอง เพราะทั้งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทุกสิ่งทุกอย่าง จะเปลี่ยนไปหมด ทำลายทัศนียภาพ ระบบนิเวศ การเป็นอยู่ วิถีชีวิต” น้องศิ ศิริรัตน์ พลทำ ประธานชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ฝากไปถึงผู้ใหญ่ และนายทุนที่กำลังรุกที่ดินริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม

เดินทางออกจากโรงเรียนพุทธิรังสีพิบูลไปราว 1 กิโลเมตรจะถึงแม่น้ำบางปะกงที่นับวันจะถูกลุกล้ำโดยการสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และโกดังเก็บสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ

คุณครูอรวรรณ เรืองนภารัตน์ ครูที่ปรึกษาชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ
โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่วัดกระทุ่ม ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง โดยอีกฝั่งหนึ่งพบว่ามีการก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าอย่างขมักเขม้น และมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 30 แล้ว
คุณครูอรวรรณ เรืองนภารัตน์ ครูที่ปรึกษาชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูลบอกว่าปัญหาท่าเรือขนส่งสินค้าก็เป็นอีกปัญหาเรื่องที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ หลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง และที่ผิดสังเกตุคือเอกชนที่เข้ามาทำการก่อสร้างพยาพยามหลีกเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตามที่กฎหมายกำหนด

“การหลีกเลี่ยงการทำรายการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ของเอกชนที่เข้ามาสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าคือใช้ช่องโหว่งทางกฎหมายที่ระบุว่าการสร้างท่าเรือที่มีขนาด 995 ตารางเมตรขึ้นไปต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เมื่อเป็นเช่นนี้เอกชนก็สร้างท่าเรือให้มีขนาน 831 ตารางเมตร เพียงเท่านี้ก็ต้องไม่ทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว และยิ่งน่ากังวลต่อไปอีกหลังจากได้ยินว่ามีเอกชนเตรียมแผนสร้างอีก 7 ท่า โดยเริ่มกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านริมแม่น้ำบางปะกงเอาไว้แล้ว” คุณครูอรวรรณ กล่าวด้วยความวิตกกังวล...

ครูที่ปรึกษาชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ บอกอีกว่าลำน้ำบางปะกงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพราะเป็นน้ำก่อยอยู่ไกล้ทะเล จึงมีสัตว์น้ำหลายชนิดขึ้นมาวางไข่ สัตว์อนุบาลตัวอ่อนๆ อาศัยอยู่ ดังนั้นหากมีการเดินเรือขนส่งสินค้าก็จะทำให้เกิดคลื่น และทำให้ผิวของก้นแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำกว่า 200 ชนิดหายไปด้วย

น้องศิ ศิริรัตน์ พลทำ ประธานชมรมนักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ
โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล จังหวัดฉะเชิงเทรา 
“น้องศิ” ประธานชมรมนักรบสิ่งแวดล้อมนักสืบสายน้ำ สะท้อนถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิติของชาวชุมชนลาดขวาง ลุ่มแม่น้ำบางปะกงว่า วิถีชีวิตแบบชาวประมงของคนที่นี่เปลี่ยนไปแน่นอน เมื่อมีท่าเรือก็ต้องมีเรือบรรทุกสินค้าลำใหญ่ลอยลำเข้ามา ส่งผลให้เกิดคลื่น ที่อาจเซาะตลิ่งให้ทรุดลงมาได้

“หนูกังวลว่าถ้ามีการเดินเรือเข้าออกหลายครั้งจะทำให้เกิดปัญหามลพิษทางเสียง และถ้าเกิดเรือรั่วทำให้น้ำมันไหลออกมา ก็จะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำอย่างที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ตรงโรงไฟฟ้าบางปะกง ย่านนั้นกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมไปแล้ว”

ห่างจากวัดกระทุ่ม ออกไปอีกราว 10 กิโลเมตรบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงพบว่าทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเต็มไปด้วยท่าเรือขนส่งสินค้า และเรือบรรทุกสินค้าลอยลำอยู่เต็มไปหมด มีการระบายน้ำเสียลงแม่น้ำอย่างโจ่งแจ้ง และได้กลิ่นแป้งหมักที่อยู่บนเรือบรรทุกสินค้าเหม็นคละคลุ้มเป็นวงกว้าง ชาวบ้านแถบนั้นอยู่ด้วยความชินชา และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

วิถีชุมชุนของชาวจังหวัดฉะเชิงเทราได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ จากวิถีเกษตรกรรม เป็นวิถีอุตสาหกรรม แต่เดิมจังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นฐานด้านการเกษตร มีประชาชนร้อยละ 70 ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 27,681 ล้านบาทต่อปี ผลผลิตที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดในด้านพืช ได้แก่  ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน มะพร้าว มะม่วง และหมาก เป็นต้น ด้านประมง มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิเช่น กุ้งขาวแวนนาไมท์ กุ้งกุลาดำ ปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และกิจการประมงทะเล

ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทราได้รับอิทธิพลการขยายตัวของสังคมเมือง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม มีการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลต่อการจ้างแรงงานในภาคเกษตรกรรมให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ประเภทอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนและมีแนวโน้มในการลงทุนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากเหล็กและโลหะ และอุสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่จะสนใจลงทุนในเขต อำเภอบางปะกง อำเภอเมือง อำเภอพนมสารคาม อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางคล้า และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จะมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่หนาแน่น เพราะมีวัตถุดิบและเส้นทางคมนาคมที่สะดวก

แม้วันนี้ภาพของความเสื่อมโทรมของธรรมชาติที่เกิดขึ้นบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ยังไม่ได้เกิดขึ้นในชุมชนลาดขวาง แต่ด้วยระยะทางที่ห่างเพียง 10 กิโลเมตร ประกอบกับมีสัญญาณของการคืบคลานของเอกชน ที่เริ่มรุกล้ำเข้ามาให้พื้นที่ นอกจากความเข้มแข็งของชุมชน และข้อมูลที่รวบรวมอยู่ในมือ เยาวชนกลุ่มนี้กำลังถามถึง “สิทธิชุมชน” ที่มีอยู่ในกฎหมายว่ายังให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาได้อยู่หรือไม่


///////////////////// TANPISIT LERDBAMRUNGCHAI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น