วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตเด็กสลัมคลองเตยเมื่อวันใกล้เปิดเทอม

ชีวิตเด็กสลัมคลองเตยเมื่อวันใกล้เปิดเทอม

วันที่ 16 พฤษภาคมนี้จะเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2557 ของหลายโรงเรียนทั่วประเทศรวมทั้งโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ของชุมชนแออัดคลองเตยกรุงเทพมหานครด้วย (ชมคลิป )


เมื่อวันเปิดเทอมใกล้มาถึง “ทองเลื่อนทองเถื่อน” วัย 50 ปีผู้เป็นมารดาของลูกชายวัยกำลังเรียน 2 คนและอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดคลองเตย   จะมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเพราะต้องหาเงินเป็นค่าขนมส่งลูกไปโรงเรียนทุกวันบ้านของทองเลื่อนมีสมาชิกในครอบครัวประกอบด้วยเธอสามีลูกชายคนโตวัย 20 ปีกำลังศึกษาอยู่ในระดับปวศ. และลูกชายคนเล็กวัย 12 ปีที่จะขึ้นชั้นป.6 ในวันเปิดเทอมนี้


ปัจจุบันทองเลื่อนสามีและลูกไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองต้องเช่าบ้านในล็อก 4 5 6 ในย่านคลองเตยโดยเสียค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาททองเลื่อนและสามีประกอบอาชีพรับจ้างขนของที่ท่าเรื่อคลองเตยซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนบางวันอาจไม่มีงานค่าแรงรับจ้างครั้งหนึ่งเฉลี่ยอยู่เพียง 200 – 400 บาทเท่านั้นทุกคนในบ้านจะต้องออกไปหางานทำไม่เว้นแม้แต่ลูกชายคนโตที่กำลังเรียนปวศ.ก็ต้องช่วยพ่อแม่รับจ้างขนของเพื่อให้ได้เงิน

แต่สำหรับลูกคนเล็กอย่างเด็กชายศุภโชคทองเถื่อนที่วัยเพียง 12 ปียังเด็กเกินไปที่จะทำงานหนักเขาจึงเป็นคนเดียวในบ้านที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวในทางกลับกันก็อยู่ในวัยเรียนที่ช่วงเปิดเทอมจะต้องได้รับเงินไปโรงเรียนทุกวันศุภโชคบอกว่าเขาได้เงินไปโรงเรียนวันละ 30 บาทเขารู้ถึงปัญหาความขัดสนของครอบครัวตัวเองมาโดยตลอดสิ่งที่ศุภโชคทำได้ในเวลานี้คือการช่วยครอบครัวประหยัด

กระปุกออมสิน 2 ใบถูกวางอยู่บนหิ้งพระและบนหัวนอนทั้งหมดเป็นของศุภโชคเงินที่เขาได้รับไปโรงเรียนเพียง 30 บาทต่อวันจะถูกหักออก 10 บาทเพื่อหยอดลงกระปุกออมสินหลายครั้งที่การหยอดกระปุกออมสินของศุภโชคช่วยให้ตัวเองมีเงินไปโรงเรียนในวันที่แม่ไม่มีเงินให้

ทองเลื่อนแม่ของศุภโชคบอกว่าแม้ตนเองจะขัดสนอย่างไรแต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องประคับประคองไว้คือส่งลูกเรียนให้จบเท่าที่เขาจะเรียนได้

“ต้องอดทนบางทีชักหน้าไม่ถึงหลังก็ต้องไปกู้แขกมาใช้จ่ายดอกร้อยละ 20 ก็ยอมไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนฉันอยากให้ลูกได้เรียนสูงๆจะได้มีอาชีพรายได้ที่ดีเลี้ยงครอบครัวอยากเห็นใบปริญญาของลูก” ทองเลื่อนกล่าว

และในวัดเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึงทั้งเสื้อกระเป๋ารองเท้าที่ใส่ไปโรงเรียนของศุภโชคยังคงเป็นของเก่าของเดิมที่เคยได้ฟรีมาจากโรงเรียนเมื่อหลายปีที่แล้วแม้ว่าเสื้อจะหมองและคับตัวไปบ้างรองเท้าและกระเป๋าจะขาดไปบ้างก็ตาม

ยายช้วนเลี้ยงหลาน 4 คน


เช่นเดียวกับอีกครอบครัวในชุมชน 70 ไร่ย่านคลองเตยช้วนเกาะแก้วคือหญิงชราวัย 60 ปีที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูหลานและเหลนวัยกำลังเรียนถึง  4 คนคนแรกเรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 6 คนที่สองเรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 4 คนที่ 3 เรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3 และคนสุดท้ายอายุ 3 ขวบกำลังจะเข้าโรงเรียน

บ้านหลังเล็กบุสังกะสีกว้างเพียงวาครึ่งหลังคามีรอยน้ำรั่วซึมคือที่อยู่อาศัยของยายช้วนหลานและเหลนรวม 5 ชีวิตบ้านหลังหลังนี้เป็นบ้านเช่าที่ต้องจ่ายเดือนละ 1,500 บาท

ยายช้วนไม่ได้ทำงานเพราะสุขภาพไม่แข็งแรงเงินค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูหลานและเหลนทั้งหมดคือเงินที่ลูกของยายช้วนส่งให้เดือนละ 5,000 บาทไม่เกินนี้หากไม่พอก็ต้องไปกู้ยืมเสียดอกร้อยละ 20 วงรอบชีวิตของยายช้วนคือได้เงินมาเอาไปโปะหนี้เก่าไม่พอใช้ไปกู้ต่อวนอยู่อย่างนี้

ค่ากินอยู่ต่อวันของคนทั้ง 5 ชีวิตตกวันละ 300 บาทชาวบ้านร้านตลาดย่านนั้นรู้ดีว่าครอบครัวยายช้วนขัดสนเช่นไรจึงเอื้อเฟื้อข้าวราดแกงหรือก๋วยเตี๋ยวให้หลานๆของยายช้วนกีนฟรีไม่เสียตังค์

ปัญหาครอบครัวยายช้วนหนักถึงขนาดที่หลานวัย 14 ท้องในวัยเรียนต้องลาออกจากโรงเรียนไปหางานทำเมื่อคลอดลูกออกมาตนจึงต้องเลี้ยงดูก่อนหน้าเคยเลี้ยงลูกพอลูกมีลูกเอาหลานให้เลี้ยงหลานมีลูกเอาเหลนให้เลี้ยงยายช้วนเลี้ยงคนมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว

“หลานอดไม่ได้บางวันฉันกินพริกป่นละลายน้ำปลาแต่ให้หลานกินไข่ถ้ามีเงินก็ซื้อหมูซื้อไก่ใส่ตู้ไว้คนข้างบ้านเขาเอากับข้าวมาให้ก็ได้กินบ้างเด็กมันเกิดมาแล้วให้ทำอย่างไรถ้าเราไม่เลี้ยงแล้วใครจะเลี้ยงก็คิดว่าชาติก่อนเคยเอาลูกเอาหลานให้เขาเลี้ยงชาตินี้เลยต้องมาเลี้ยงลูกหลานเขาคิดปลงไปอย่างนี้นั่งหลังพิงฝาน้ำตาไหลคิดอ๋อกรรมเวรมองหลานนอนกางมุ้งเรียงกันเนี่ยโถ่ถังเอ้ยถ้ากูเป็นอะไรไปจะทำยังไงเนี่ยลูกเอ้ยก็คิดนะไม่ใช่ไม่คิด” ยายช้วนกล่าว

หลาน 3 คนเรียนอยู่ที่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา  ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครและอยู่ในชุมชนแออัดคลองเตยจึงมีสวัสดิการต่างๆเป็นชุดนักเรียนฟรีและมีอาหารกลางวันฟรียายช้วนบอกว่าในช่วงประถม – มัธยมในโรงเรียนหากยังมีสวัสดิการจากรัฐที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลานก็จะได้ไปโรงเรียนแต่หากจะต้องเสียเงินส่งเสียให้ระดับที่สูงกว่านี้คงไม่ปัญญาชีวิตที่ยากจนและปัญหาภายในครอบครัวที่รุมเร้าก็ทำให้ยายช้วนไม่คาดหวังกับการส่งหลานเรียนถึงปริญญาแค่คิดว่าวันหนึ่งจะหาข้าวสารกรอกหม้อก็ยากแล้ว

โรงเรียนสถานที่บริสุทธิ์และไม่มีพิษภัยกับเด็กที่นี่


ชุมชนแออัดหรือสลัมคลองเตยมีขนาดพื้นที่ 816  ไร่ประกอบด้วย  42 ชุมชนย่อยถือเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 87,000 คนในจำนวนนี้ 30,000 คนเป็นเยาวชนที่นี่มีปัญหาเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาที่ตั้งอยู่กลางชุมชนคลองเตยดูเหมือนจะเป็นสถานที่ที่บริสุทธิ์และไม่มีพิษมีภัยกับเยาวชนที่นี่มากที่สุด


ก่อนวันที่ 16 พฤษภาคมซึ่งจะเป็นวันเปิดเทอมที่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนามีคุณครูมาช่วยกันจัดเตรียมห้องเรียนจัดบอร์ดตกแต่งห้องให้ดูสวยงามเพื่อต้อนรับนักเรียนในช่วงเปิดเทอม
ด้วยความที่เป็นโรงเรียนกลางสลัมคุณครูที่นี่คุ้นชินกับปัญหาเด็กออกกลางคันมาเรียนวันแรกวันต่อๆมาหายเงียบและพฤติกรรมเด็กที่ก้าวร้าวอยู่เป็นประจำ

นางสาวพรณิชาชาตะพันธุ์ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาบอกว่าครูที่นี่ต้องใช้ความพยายามสูงมากและต้องใช้ความอดทนมากในการตามเด็กเข้าชั้นเรียนเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากชุมชนโดยรอบเป็นชุมชนแออัดที่แต่ละบ้านล้วนมีปัญหาครอบครัวด้วยกันทั้งสิ้นเด็กๆที่นี่เป็นเด็กยากจนครอบครัวแตกแยกอยู่กับตายายบางคนเป็นเด็กก้าวร้าวครูต้องใช้จิตวิทยาในการพูดคุยเพื่อให้กลับเข้าชั้นเรียนมีการเชิญผู้ปกครองเด็กมาพบแทบทุกวันหรือบางทีก็ไปหาที่บ้านจนเป็นเรื่องปกติ

“มาเรียนที่นี่แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรียนก็ฟรีข้าวฟรีนมฟรีไม่ต้องเอาเงินมาโรงเรียนก็อยู่ได้ขอแค่เดินมาเรียนยอมรับว่าปัญหาที่นี่หนักกว่าที่อื่นๆเราต้องให้กำลังครูอยู่เสมอๆแต่ครูที่นี่ก็ใจสู้เอาเด็กอยู่เราตามเยี่ยมบ้านตามทุกที่ที่มีเด็กอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจและส่งลูกมาเรียนการที่เด็กอยู่ในระบบการศึกษาจะทำให้ปัญหาสังคมลดลง” ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนากล่าว

/////////////////////////////////////////////////// ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น