วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เสียงของชาวบ้านกับแนวทางแก้ไขน้ำท่วม

น้ำท่วมท่าเรือ
ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวชุมชนท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยาต้องประสบมาแทบทุกปี สร้างความเดือดร้อนเสียหายมากน้อยต่างกันไปตามแต่ระดับน้ำที่ท่วมให้แต่ละปี คำถามที่ชาวบ้านมีคือเพราะอะไร ทำไมน้ำจึงท่วมท่าเรือแทบทุกปี ชาวบ้านบางคนบอกว่าท่าเรือเป็นที่ผันน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังคงคิดหาวิธีทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีก

นายอดิศัย วัฒนาวณิช ชาวชุมชนท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

นายอดิศัย วัฒนาวณิช ชาวชุมชนท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ของตนอยู่แทบทุกปีได้เสนอถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า ควรมีการขุดลอกแม่น้ำลำคลองต่างๆให้มีความลึกมากขึ้น โดยเปรียบเทียบกับโอ่งน้ำ ถ้าโอ่งน้ำมีขนาดใหญ่ก็จะสามารถบรรจุน้ำได้ในปริมาณมาก แต่ถ้าโอ่งน้ำขนาดเล็กก็บรรจุน้ำได้ในปริมาณน้ำที่น้อย เช่นเดียวกับแม่น้ำถ้าลึกก็สามารถรับน้ำได้มาก นี่เป็นความคิดของชาวบ้านซึ่งอาจไม่มีฐานความรู้ด้านวิศวะมากนัก นอกจากการขุดลอกคลองแล้วนายอดิศัย แนะต่ออีกว่าควรบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้ดีกว่านี้ ส่วนในพื้นที่เองควรมีการจัดการระบบระบายน้ำอย่างเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น น้ำมักจะมาตามท่อ ทำให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและในระยะเวลาอันรวดเร็วดังนั้นควรมีประตูเปิด-ปิดที่ปากท่อระบายน้ำเพื่อเป็นยืดเวลาให้น้ำเอ่อท่วมช้าลงหรือไม่ท่วมเลย 
สุดท้ายนายอดิสัยเสนอว่าควรมีการออกข้อกำหนดให้เกษตรกรผู้มีพื้นที่ทำกิน  10 ไร่ขึ้นไปจัดสรรพื้นที่เพื่อรองรับน้ำ นอกจากจะรับน้ำในช่วงหน้าน้ำได้แล้ว ยังสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งได้อีกด้วย
นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ผู้จัดการโครงการประเทศไทย IUCN
สำหรับกรณีวิธีการขุดลอกแม่น้ำลำคลองถ้ามองอย่างรอบด้านก็มีผลกระทบเช่นกัน นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ผู้จัดการโครงการประเทศไทย IUCN- องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ บอกว่าการขุดลอกคลองจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำลำคลองอย่างถาวร เพราะการขุดเอาดิน หิน ทราย ต้นไม้ ตามพื้นคลองขึ้นมาจะทำให้น้ำไหลแรงและเร็วขึ้น ทำให้เกิดตลิ่งคลองพังทะ ลายหนัก และสูญเสียที่ดินปีละมากๆ การเก็บกักน้ำตามธรรมชาติจะมีน้อยเพราะไหลลงสู่ทะเลหมด และเป็นการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชน้ำและสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำและพืชน้ำหมดไปหรือหายากมากขึ้น ในคลองที่มีการขุดลอกจะไม่พบการทำมาหากินในลำคลองของชุมชน เช่น การจับปลาด้วยวิธีการต่างๆ การเก็บหาพืชน้ำเพื่อเป็นอาหาร เป็นต้น เกิดน้ำทะเลหนุนได้ไกลกว่าเก่า ทำให้เกิดปัญหาดินเค็มและน้ำเค็มรุกราน นอกจากนั้นการขุดลอกจะทำลายต้นไม้ตามตลิ่งคลอง เช่น มีการนำดินและหินตามพื้นคลองมาถมทับไว้ที่สองตลิ่ง หรืออาจจะมีกา รขุดและทำลายสองตลิ่งไปด้วย และในการนี้จะทำให้เกิดการพังทะลายและกัดเซาะสองฝั่งคลองมากขึ้นกว่าเดิม ในปัจจุบันนี้ มีหลายๆ คลองเกิดปัญหาสองตลิ่งพังถูกกัดเซาะอย่างหนักและต้องสูญเสียที่ดินปีละมากๆ ทำให้ยากอย่างยิ่งต่อการป้องกันและการฟื้นฟูให้ดีดั่งเดิมได้

ความยากลำบากในการใช้ชีวิตช่วงน้ำท่วม
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมคงจะต้องมีการถกเถียง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ดีที่สุด และบางทีเสียงของชาวบ้านอาจดังไม่มากพอที่จะทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ยิน และลงมาแก้ไขปัญหา แต่เสียงของชาวบ้าน ผู้ซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้น น่าจะรู้ต้นสายปลายเหตุ และรู้จักวิธีการแก้ไขได้ดีที่สุด ซึ่งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรลงมารับฟังเสียงจากชาวบ้านด้วยเช่นกัน ภาครัฐควรมีนโยบายแก้ไขที่ต้นเหตุในระยะยาว ไม่ควรแก้ไขที่ปลายเหตุโดยการแจกเงินให้กับผู้ประสบภัย เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน และเยียวยาได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ภาพบรรยากาศน้ำท่วม






///////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น