วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทำทีวีให้คนอื่นมาก็เยอะ ถึงเวลาที่เราจะทำทีวียี้ห้อ “เนชั่น” เองเสียที (1)

ทำทีวีให้คนอื่นมาก็เยอะ  ถึงเวลาที่เราจะทำทีวียี้ห้อ “เนชั่น” เองเสียที (1)


ผมไม่แปลกใจเลยที่คุณสุทธิชัย หยุ่น และผู้บริหารคนอื่นๆในเครือเนชั่น ตื่นตัว ตื่นเต้นกับการประมูลทีวีดิจิทัลอกันย่างคึกคัก จนมีข่าวออกหนังสือพิมพ์ในเครือไม่ซ้ำในแต่ละวัน


ย้อนกลับไปเมื่อ 42 ปีก่อน “สุทธิชัย หยุ่น” จากคนทำหนังสือหนังสือพิมพ์ ที่มีสำบัดสำนวนชวนให้ผู้อ่านติดตาม ใช้คำเขียนอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เมื่อได้มีโอกาสมาทำทีวีโดยการชักชวนของช่อง 3 ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียร์ “สุทธิชัย”ก็ ได้นำสไตล์แบบคนหนังสือพิมพ์ที่เขียนเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร มาผ่านน้ำเสียงคำพูดแทน 

ยุคนั้น ผมคิดว่าการนำเสนอข่าวในแต่ละช่องคงคล้ายๆกัน คือการนั้งอ่านข่าวแข็งๆ ในขณะที่ “สุทธิชัย” เล่าให้ฟังว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร กางแผนที่ให้ดูในทีวี ชี้ที่นั้น ที่นี้ เป็นแบบนี้ ถ้าระเบิดลงตรงนี้ จะยังไง ซึ่งทำให้คนดูชอบและติดใจ กลายเป็นรูปแบบการนำเสนอข่าวที่ยุคนี้นิยมกันเหลือเกิน 

เมื่อเริ่มมีคนดูและมีคนรู้จักเนชั่น ในวงกว้าง ทั้งหนังสือพิมพ์ และรายการทีวี ตอนเลิกทำรายการที่ช่อง 3 แล้ว ช่อง 9 ก็ชวน “สุทธิชัย” มาทำรายการต่อ โดยเป็นรายการสัมภาษณ์ “Nation News Talk” ว่ากันว่านักข่าวหนังสือพิมพ์ เวลาถามแหล่งข่าว จะมีชั้นเชิงในการถามที่ลึกซึ้ง ซักไซร้ไล่เรียงจนได้คำตอบ ขณะที่นักข่าวทีวี (ในยุคนั้น) ถามคำถามปลายเปิดเพื่อให้แหล่งข่าวพูดออกมา และนำมาปล่อยเสียงในรายการ จึงไม่แปลกที่การสัมภาษณ์แบบ “สุทธิชัย” คนหนังสือพิมพ์ จะน่าติดตาม น่าสนใจมากกว่า

ครั้นปี 2537 มีการประมูลคลื่นฟรีทีวี ที่จะมาทำทีวีเสรี (ไอทีวี) กลุ่มเนชั่นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะชนะการประมูล เพื่อเปิดทางให้ตนได้ทำทีวีแบบไม่ต้องไปพึ่งช่องนั้นที ช่องนี้ที่ แม้จะมีทุนในการประมูลไม่มาก แต่ด้วยความที่มีเนื้อหา (Content) ดี ก็มีความมั่นใจ

แต่โลกไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เมื่อทุนมีค่ามากกว่าเนื้อหา (content) ผู้เข้าร่วมการประมูล มี 2 กลุ่มที่มีเนื้อหา (content) คือกลุ่มแปซิฟิก ที่ทำรายการสารคดี และกลุ่มเนชั่น ที่มีข่าวเป็นจุดแข็ง และที่เหลือเป็นกลุ่มทุน ท้ายที่สุดธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ชนะการประมูล ด้วยการเทวงเงินจำนวนมหาศาล ที่กลุ่มเนื้อหา (content) อย่าง เนชั่น และแปซิฟิกไม่สามารถสู้ได้

นั่นเป็นจุดกลายเป็นจุดจบของทีวีเสรี ทั้งๆที่ยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น โดยที่ยังไม่มีใครรู้ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีเงินพร้อมที่จะลงทุน แต่ไม่มีเนื้อหา (Content) จึงได้ชวนกลุ่มเนชั่น และแปซิฟิก มาทำด้วยกัน “สุทธิชัย” ก็ใจดีและเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ของความเป็นทีวีเสรี ของไอทีวี โดยลืมนึกถึงความเป็นกลุ่มทุนของธนาคารไทยพาณิชย์

“สุทธิชัย” พาทีม A ของเนชั่นในยุคนั้นทั้ง เช่น เทพชัย หย่อง, ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ และคนอื่นๆ มาร่วมทำไอทีวี ทีวีเสรี ส่วนแปซิฟิกมีกิตติ สิงหาปัด และเพื่อนๆ ที่เข้ามาสมทบ ความพยายามของคนข่าวกลุ่มนี้  คือปฏิวัติการงายงานข่าวสารแบบเดิมๆ ที่มีเพียงการตามนักการเมืองไม่กี่คน และหันเริ่มการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน, ทำสกู๊ปข่าวที่ให้ข้อมูลข่าวอย่างรอบด้าน, การเล่าข่าว และการวิเคราะห์ที่ตรงไปตรงมา 

เวลาผ่านไปเพียง 5 ไอทีวีก็ประสบความสำเร็จ มีคนรู้จักในวงกว้างประชาชนมีความเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวสาร แต่นี่คงไม่ถูกใจกลุ่นทุนการเมืองมากนัก ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ กลุ่มทุนธนาคารไทยพาณิชย์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูไอทีวีอีกต่อไป เมื่อมีกลุ่มทุนอีกกลุ่มเสนอผลประโยชน์ที่จะเข้ามาครอบครองไอทีวี น่าเสียดายที่กลุ่มทุนนั้นเป็นกลุ่มทุนการเมือง “ชิน คอร์ป” ว่ากันว่าไอทีวี ได้หมดความเป็นทีวีเสรีลงแล้วอย่างสิ้นเชิง พนักงานในฝ่ายข่าวส่วนหนึ่งออกมาต่อต้าน จนได้ชื่อว่าเป็น “กบฎไอทีวี”  ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับการแทรกแซงของกลุ่มทุนนี้

ขณะเดียวกันกลุ่มเนชั่นที่เข้าไปทำ ทีวีเสรีก็ถูกผลักออกมาพร้อมๆ กับการเริ่มต้นของ เนชั่น แชนแนล ที่เป็นช่องทีวีดาวเทียมของเครือเนชั่นเอง หารายได้เอง “สุทธิชัย” ตั้งใจให้เนชั่นแชนแนล เป็นแบบ CNN ช่องเคเบิ้ลข่าวที่โด่ดดังของอเมริกา เป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง “สุทธิชัย” มอบหมายงานนี้ให้กับ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ที่เฝ้ามอง และเก็บข้อมูล การทำไอทีวีของเครือเนชั่น อยู่ห่างๆ เมื่อเมื่อถึงคราวที่เนชั่นต้องทำทีวีของตนเอง “อดิศักด์” จึงรับหน้าที่นี้ โดยไม่ต้องสงสัย

แต่ความเหลือมหล้ำของฟรีทีวี กับทีวีดาวเทียมอย่างเนชั่นแชนแนล ในการเข้าถึงคนดูก็มีความต่างกันอยู่มา ค่าโฆษณาของช่องจะสูงเท่าฟรีทีวีไม่ได้  และในเชิงอิทธิพลของสื่อในการต่อรองและสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็มีไม่มากเท่าฟรีทีวี  โชคยังดีที่อัตราการเติบโตของทีวีดาวเทียมในไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนชั่นแชนแนลกลายเป็นสถานีข่าวทีวีดาวเทียมที่มีคนดูเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นผลมาจากรูปแบบการนำเสนอข่าว แบบเล่าข่าว ที่เข้าใจง่าย พิธีกรข่าวของทีนี่ กลายเป็นจุดขายของช่อง ที่แม้แต่ฟรีทีวีถึงกับต้องซื้อตัวพิธีกรข่าวของเนชั่น ไปเล่าข่าวที่ช่องของตนเอง หรือถ้าดีหน่อยคือผลิตรายการร่วมกัน หารค่าโฆษณากัน อย่างรายการเช้าข่าวข้นคนข่าวเช้า และข่าวข้น คนข่าว ที่เคยออกอากาศที่ช่อง 9 และได้ค่าโฆษณาจากการออกอากาศฟรีทีวี มหาศาล แต่เมื่อหมดสัญญา และมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การร่วมผลิตรายการระหว่างเนชั่น กับ ช่อง 9 ก็สิ้นสุดลง ทีมงานของเนชั่นทั้งพิธีกรและโปรดิวเซอร์ทั้งหมด ต้องขนของกลับเนชั่น บ้านอันแสนอบอุ่นของพวกเขา


เหตุการณ์ปิดตำนานทีไอทีวี (ไอทีวี) ในคืนของวันที่ 14 มกราคม ปี 2551 ช่วงรอยต่อระหว่างยุคเสื่อมถอยของทีวีเสรี ที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน และการเปิดฉากครั้งสำคัญของทีวีสาธารณะเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุก “เทพชัย หย่อง” น้องชายแท้ๆ ของ “สุทธิชัย” ถูกเชิญให้เป็นผู้อำนวยการทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) “เทพชัย” ขายหุ้นในเครือเนชั่นที่มีอยู่ทั้งหมด พร้อมนำทีมจากเนชั่นจำนวนหนึ่งไปบุกเบิก ทีวีสาธารณะ เป็นอีกครั้งที่เนชั่นเข้าไปมีบทบาทในหน้าประวัติของวงการโทรทัศน์ไทย ทำให้นึกย้อนไป ในยุคไอทีวีที่เนชั่นก็เคยมีส่วนในการก่อการด้วยเช่นกัน แต่คราวนี้ ทีวีสาธารณะมีความแต่จากครั้งที่แล้วอยู่มาก การเข้าไปครั้งนี้ ต้องเข้าไปแต่ตัว และอุดมการณ์  ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง  เพราะไทยพีบีเอสเป็นทีวีสาธารณะ มีพระราชบัญญัติรองรับ มีเงินทุนจากภาษีบาป  ปราศจากกลุ่มทุนและการเมือง คราวนี้ “เทพชัย” เข้าปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ทีวีสาธารณะในฐานะ “เทพชัย” ที่ไม่ได้อยู่ใต้เงาของเนชั่น เมื่อภาระหน้าที่สิ้นสุดลง เมื่อไม่นานนี้ “เทพชัย” กลับมาเครือเนชั่นอีกครั้งในตำแหน่ง บรรณาธิการอำนวยการ

วันหนึ่ง กสทช.องค์กรที่มีหน้าที่จัดสรรคคลื่นความถี่  คิดจะเปลี่ยนระบบการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินของคนไทยทั้งประเทศ จากระบบอนาล็อกที่เป็นอยู่ ไปสู่ระบบดิจิทัล ที่ทำให้ภาพคมชัดขึ้น และประเด็นสำคัญคือทำให้เกิดช่องสัญญาณฟรีทีวีเพิ่มขึ้นอีกถึง 48 ช่อง จากระบบอนาล็อกที่มีช่องสัญญาณเพียง 6 ช่อง กสทช.ในฐานะองค์กรอิสระมีความพยายามที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม จึงมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ และด้วยจำนวนช่องที่มีถึง 48 ก็มากพอที่มีสักช่อง ที่เนชั่นจะประมูลคลื่นนั้น นำมาทำทีวียี้ห้อ “เนชั่น” จริงๆ เสียที

“เนชั่น” มั่นใจเหลือเกินว่าตน พร้อมท้าชนกับพี่บิ๊กในวงการฟรีทีวีที่มีอยู่ก่อน  ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ช่อง 7 หรือช่อง 9 ก็ตาม จากประสบการณ์ที่เคยไปร่วมทำทีวี และรายการทีวีต่างๆ ที่ผ่านมา มีการยกอย่างว่า รายการเช้าข่าวข้น คนข่าวเช้า กับรายการข่าวข้น คนข่าว ที่เนชั่น เคยร่วมผลิตรายการกับช่อง 9 สามารถสร้างเม็ดเงินโฆษณาได้ถึง 30% ของรายได้ทั้งช่อง  ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่า หากเนชั่นเป็นฟรีทีวีจะต้องรุ่งอย่างแน่นอน  ประกอบกับตอนนี้ หัวกะทิของเนชั่น ก็กลับมารวมกันที่เครือหมดแล้ว ผมได้ข่าวมาว่า นักทำสารคดีอิสระมือฉมัง อย่างอาจารย์พิภพ พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการแผนกสารคดี ของเนชั่น ที่ลาออกไปทำ Homeschool เลี้ยงลูก ก็กำลังจะกลับมาสร้างสารคดีแบบฉบับเนชั่น อีกครั้ง

ตอนนี้เนชั่นกำลังระดมทุนให้ถึง 2100 ล้านบาท เพื่อทำเงินมาประมูลคลื่นความถี่คาดว่าจะประมูลแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมปีนี้ หลังประมูลได้แล้ว  จะเริ่มออกอากาศทันที เรียกว่าตอนนี้เนชั่นคึกมาก ที่จะทำทีวีดิจิทัล “สุทธิชัย” บอกว่ารอวันนี้มานานแล้ว และจากบทเรียนต่างๆในอดีตที่ผ่านมา จะทำให้ครังนี้ “เนชั่น” จะพลิกเกมในวงการโทรทัศน์ไทย

_____________________

ตอนหน้า เนชั่นจะประมูลถึง 3 ช่อง แปลว่าเนชั่นจะทำฟรีทีวีถึง 3 ช่องหรือ ? มีความน่ากังวลอะไรบ้างสำหรับเนชั่นในการทำฟรีทีวี ในความคิดเห็นของผม จะเล่าให้ฟังครับ
_____________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น