วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วัดปทุมวนาราม ความสงบกลางเมืองใหญ่


ความสับสนวุ่นวาย เร่งด่วน และรวดเร็ว ดูเหมือนว่านี่... จะเป็นวิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่วันวันหนึ่งมีคนพลุกพล่านมากตาหลายตา ความเจริญทางวัตถุทั้งตึกระฟ้า โรมแรมที่หรูเริด และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่ชวนให้เราหลงไหล และเพลิดเพลินไปกับมัน

เราโหยหาความสะดวกสบายจากสินค้า และบริการต่างๆ ที่ชวนให้เราฟักเงินในกระเป๋าอย่างไม่ยั้งคิด เพื่อแลกกับความต้องการที่เกิดขึ้น การแข่งขัน เพื่อเข้าสังคมเป็นสิ่งที่ตามมา

ดูเหมือนว่า ชีวิตนี้เราใช้ชีวิตบนฐานของความคิดผู้อื่น จนลืมกลับมาหาบ้านที่แท้จริงในจิตใจ

...วัดปทุม 2012 ความสงบมีอยู่จริง....



เป็นเรื่องธรรมดาที่ในทุกๆวันบนสถานีไฟฟ้า BTS จะเต็มไปด้วยผู้คน  และคงเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นเดียวกันที่ผู้ใช้บริการ BTS จะต้องเตรียมใจมาเบียดเสียดกับคนจำนวนมาก   ระหว่าง BTS ชิดลมกับสยาม ถือว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่มีผู้คนคึกคักเป็นพิเศษ มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และตึกสำนักงานเต็มไปหมด ขณะเดียวกันเมื่อมองลงจากบน BTS ในช่วงนั้น ก็ต้องสะดุดตากับวัดที่อยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีต ... ถูกแล้วครับเรามุ่งหน้ามาที่นี่ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร 

ความวุ่นวายกับความสงบ ร่มเย็นดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกัน แต่วันนี้ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ท่ามกลางความวุ่นวายนั้น ยังคงหาความสงบ ซึ่งที่วัดปทุมแห่งนี้น่าจะเป็นพื้นที่ความสุขเล็กๆ ในย่านเศรษฐกิจ ดงป่าคอนกรีต ผู้คนมากมาย แห่งได้ อย่างเหลือเชื่อครับ

น่าสนใจว่าวัดปทุมวนาราม ตั้งอยู่ริม ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน  กรุงเทพ อยู่ระหว่างศูนย์การค้าสยามพารากอนและห้างเซ็นทรัลเวิลด์  เป็นยังไงล่ะครับ ไม่ธรรมดาจริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีศูนย์การค้าใหญ่ยั่วกิเลสขนาบข้าง แต่ที่นี่ก็สามารถสวนกระแสความวุ่นวาย สู่ความสงบได้อย่างชัดเจนทีเดียวครับ

แม้บรรยารอบข้างวัดจะเปลี่ยนไป แต่บรรยากาศบริเวณพุทธาวาส อันเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ และพระเจดีย์กลับไม่ต่างอะไรกับเมื่อ 150 ปี ก่อน ข้อมูลที่วัดจัดให้แก่สาธารณชนบอกว่า วัดนี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2400 หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรมณียสถานนอกพระนครเพื่อเป็นที่แปรพระราชฐานตามพระราชอัธยาศัย

ที่แห่งนี้ก่อนที่จะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าที่สำคัญในปัจจุบัน เมื่อร้อยกว่าปีก่อน พื้นที่บริเวณนี้เป็นทุ่งนา อยู่ริมคลองบางกะปิ ในพื้นที่ทุ่งพญาไท เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี และมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวลาว มีอาชีพทำนา ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์

การสร้างวังสระปทุมและวัดปทุมวนารามนั้น ได้เสร็จสิ้นลงในปลายปีพุทธศักราช 2400 เผอิญสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีได้ทรงสิ้นพระชนม์ลง และประจวบกับเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเกี่ยวกับการบ้านเมืองหลายด้านด้วยกัน งานฉลองวัดปทุมวนารามจึงมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2410

ปี 2553 เหตุวุ่นวายทางการเมือง การชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดงในบริเวณแยกราชประสงค์ สถานการณ์เลวร้ายลงเร็ว จนทำให้รัฐต้องสลายการชุมนุม วัดปทุมวนารามฯ เป็นวัดที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากแยกราชประสงค์ และเป็นพื้นที่เขตอภัยทาน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเลือกที่หลบภัยที่นี่ แต่สถานการณ์ที่สับสนวุ่นวาย ทุกวันนี้จะหาความจริงกันไม่ได้ ก็ว่ากันว่า แม้จะเป็นพื้นที่ในวัดแต่ก็ยังคงมีการใช้ปืนยิ่งกันในบริเวณนี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ ของพระเสริม และพระใสซึ่งประดิษฐสถานอยู่ในวิหารแห่งนี้นั่นเองครับ

วัดปทุมวนาราม เขตอภัยทาน ระหว่างการสลายม็อบคนเสื้อแดง แม้จะมี 6 ศพ ผู้เสียชีวิตซึ่งยังคงเป็นปริศนาว่าใครยิง

แต่สภาพทั่วไปภายในวัดก็ไม่มีร่องรอยความเสียหาย มีคนไม่มากที่จะรู้ว่าภายในวัดนี้ มีพระพุทธรูปโบราณระดับคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่

ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จากหนังสือมิติลี้ลับในพงศาวดาร (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) โรม บุนนาค เขียนไว้เป็นตอนหนึ่งในเรื่องพระแก้ว กับพระบางเป็นคู่อริกันว่า

เมื่อปี พ.ศ.2407 เหล่าเสนาบดีพากันเข้าชื่อกราบทูลรัชกาลที่ 4 ว่า พระบางรวมทั้งพระเสริม พระใส และพระแสน เป็นพระที่ชาวลาวนับถือ และเป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้เกิดฝนแล้งหนัก ข้าวยากหมากแพง ทรงสดับแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นด้วย ครั้งนถึง ณ ปีขาล อัฐศก เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางมาเผ้าฯ จึงโปรดให้รับเอาพระบาง ไปไว้ ณ เมืองหลวงพระบางตามเดิม ส่วนพระเสริม และพระใส โปรดให้ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม ฯ

แต่เรื่องราวของพระเสริม และพระใส ไม่ได้มีแต่เพียงเท่านี้ครับ ตามประวัติศาสตร์บอกว่าพระพุทธรูปที่เกี่ยวพันกันถึง 3 องค์ คือพระเสริม พระสุก และพระใส เป็นพระพุทธรูปของอาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาวในปัจจุบัน

ในสมัยกรุงธนบุรี ทัพไทยยกไปตีเวียงจันทร์ ชาวล้านช้างก็นำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ 3 องค์ไปซ่อน แต่พอถึงสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิ์พลเสพ ทรงนำทัพไปตีเวียงจันทร์อีกครั้ง โปรดให้เชิญพระเสริม พระสุก พระใส ลงแพข้ามแม่น้ำโขง

ระหว่างทางพระสุกพลัดตกจมลงในแม่น้ำ คงเหลือแต่พระใส และพระเสริมที่เดินทางมาถึง เมืองหนองคาย พอในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้นำพระเสริม และพระใส อัญเชิญมาไว้ที่กรุงเทพ แต่ ขณะเดินทางเกวียนที่อัญเชิญพระใส หัก ณ วัดโพธิ์หลายครั้งชาวบ้านจึงอัญเชิญพระใสไว้ที่วัดโพธิ์ชัย และกลายมาเป็นพระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองหนองคายมาจนถึงปัจจุบัน

คำถามคือ แล้วพระใสองค์ที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพ หรือ พระใส องค์ที่วัดโพธิ์ชัย หนองคาย องค์ใดเป็นพระใสองค์จริง

แต่แก่น เนื้อหาสาระของวัดปทุมวนาราม จริงๆ ในวันนี้ คงไม่ใช่เรื่องราวความศักดิ์ของพระพุทธรูปอีกต่อไปแล้วครับ เพราะแก่นของที่นี่จริงๆ คือกิจกรรมต่างๆ ที่ชักชวนคนเมืองที่คุ้นชินกับความวุ่นวายให้เข้ามาสัมผัมกับความสงบในจิตใจ


ผมเป็นอีกคนหนึ่งครับที่มักเข้ามาหาความสงบในวัดปทุมอยู่บ่อยๆ  เดินเข้ามาจากหน้าวัดถึงหลังวัด ก็จะเจอสวนป่าร่มรื่น ซึ่งทำให้เราแปลกใจมากว่าท่ามกลางป่าคอนกรีตขนาดใหญ่ ยังคงมีป่าธรรมชาติ ที่ยังคงไว้ทั้งความสดชื่น และความสงบไว้ได้ ทันทีที่เราก้าวเท้าเข้ามาในเขตสวนป่งแห่งนี้ อากาศที่นี่ดูเย็นลง พาทำให้ใจเราเย็นลงตามไปด้วยครับ  ปกติเรามักจะทำตัวไม่ถูกเมื่อจะเข้ามานั่งสมาธิในวัดตามปกติทั่วไป ความเขินอาย ความไม่แน่ใจก็เกิดขึ้นตามมา แต่ที่นี่เรื่องเหล่านี้จะไม่ไช่อุปสรรคอีกต่อไปครับ เพราะว่าบรรยากาศที่นี่ไม่ต่างอะไรจากบ้านของเรา และผู้คนต่างเป็นกันเอง

และในช่วงเย็นของทุกวันก็จะมีการทำวัตรเย็น และเดินเวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย

ถ้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แห่งนี้ สามารถยืนอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายได้ ก็คงไม่ต่างอะไรจากตัวเราที่ถึงแม้ภายนอกจะวุ่นวายเพียงใด แต่ภายในจิตใจต้องร่มเย็นตลอดเวลา ...





















________________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น