วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

เชียงราย – แม่ฮ่องสอน ฝุ่นละอองวิฤตเสี่ยงมะเร็งปอด

เชียงราย – แม่ฮ่องสอน ฝุ่นละอองวิฤตเสี่ยงมะเร็งปอด

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA เผยผลวิจัยศึกษาฝุ่นละอองในอากาศ หลังเกิดวิกฤตหมอกควันภาคเหนือ ระบุเชียงราย แม่ฮ่องสอน หนักสุดฝุ่นเพิ่ม 5 เท่า ประชาชนเสี่ยงมะเร็งปอด จี้ภาครัฐสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบจากการเผาป่าพร้อมเพิ่มบทลงโทษ และเข้มงวดในการใช้กฎหมาย

Dr.Siwatt Pongpiachan Associate Professor Director of NIDA Center for Research & Devenlopment of Disaster Prevention & Management กล่าวว่าจากการลงพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนประกอบไปด้วยจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน เพื่อศึกษาความเข้มข้นของปริมาณฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และพบว่าจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองหลังเกิดวิกฤตหมอกควันเพิ่มขึ้นจากก่อนเกิดวิกฤตมากที่สุด คือ จังหวัดเชียงราย และแม่ฮ่องสอน

"เชียงราย และแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่น่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์หมอกควันในชั้นบรรยากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มสูงถึง 5 เท่าจากช่วงก่อนเกิดวิกฤต และเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของ US-EPA ซึ่งกำหนดค่าของฝุ่น PM2.5 ควรมีไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลับพบว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน กำลังประสบกับปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควัน อยู่ในขั้นวิกฤต และแน่นอนมันมีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ” รศ.ดร.ศิวัชกล่าว

เชียงใหม่มีค่าผุ่นละอองน้อยสุด
สำหรับจังหวัดเชียงรายมีปริมาณฝุ่นละอองก่อนเกิดวิกฤต 14.97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 91.82 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 513% และแม่ฮ่องสอนมีปริมาณฝุ่นละอองก่อนเกิดวิกฤต 34.48 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 209.85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 509% รองลงมาได้แก่ จังหวัดพะเยา ที่มีปริมาณฝุ่นละออง 17.73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 99.70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่จังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตเพิ่มสูงขึ้นในระดับปานกลางได้แก่ ลำพูน นาน และลำปาง โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในอากาศหลังเกิดวิกฤตหมอกควันเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติคิดเป็น 262%, 221% และ172% ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นเพียงเล็กน้อยได้แก่อุตรดิตถ์ แพร่ ที่มีปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้น 100% และ 90% ตามลำดับ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่นละอองในช่วงหมอกควันเพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยที่สุด คือเพิ่มขึ้นเพียง 87% เท่านั้น

พบสารก่อมะเร็งในวิกฤตหมอกควัน
ผู้อำนวยกรศูนย์วิจัย และพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ ยังได้ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง (PAHs) ในฝุ่น PM2.5 ในชั้นบรรยากาศของ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่าค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็งรวมทั้ง 9 จุด (Total PAHs) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 613 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีค่า Total PAHs สูงสุดที่ 3,864 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาได้แก่ จังหวัดลำพูนมีค่า Total PAHs อยู่ที่ 886 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่จังหวัดแพร่มีค่า Total PAHs ต่ำสุด อยู่ที่ 54 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“ข้อมูล Total PAHs สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในภาคเหนือที่มีเป็นจำนวนมากกว่าภาคอื่นๆ อาจจะไม่ใช่เพราะคนภาคเหนือชอบสูบบุหรี่ แต่ฝุ่นละอองที่มีในอากาศเกินค่ามาตรฐานก็มีส่วน แม้จะนั่งเฉยๆแต่หายใจเอาฝุ่นละอองเหล่านี้เข้าไป เป็นเวลาหนึ่งเดือน ก็เท่ากับสูบบุหรี่ไปถึง 79 มวน” ผู้อำนวยกรศูนย์วิจัย และพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA กล่าว



นักสังคมศาสตร์จี้ทั้งรัฐและประชาชนต้องร่วมมือ
ด้านดร.จุฑารัตน์ ชมพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ NIDA แนะวิธีการแก้ปัญหาคือการมีส่วนร่วนของภาคประชาชน และหน่วยงานราชการท้องถิ่นที่ต้องรณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมออกกฎหมาย ข้อห้าม การเฝ้าระวัง การเพิ่มบทลงโทษ เพื่อหยุดการเผาป่า รวมถึงสร้างความเข้าใจถึงอันตรายจากการสูดดมเอาสารก่อมะเร็งจากการเผาป่าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ หมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและมีปริมาณสูงสุดในเดือนมีนาคม สาเหตุหลักเกิดจากไฟป่า ฝุ่นละอองจากถนน การก่อสร้าง และเขม่าจากน้ำมันดีเซล ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง ประกอบกับสภาพภูมิประเทศซึ่งมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้มลพิษต่าง ๆ ถูกกักไว้และแผ่ปกคลุมทั่วเมือง


--------------------------- ข่าวนี้เขียนขึ้นตอนฝึกงานที่เดอะเนชั่น 5/4/2556 ------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น