วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

เตือนผู้ปกครอง! ระวังลูกแอบเล่นพนันออนไลน์ช่วงปิดเทอม

เตือนผู้ปกครอง! ระวังลูกแอบเล่นพนันออนไลน์ช่วงปิดเทอม

เครือข่ายครอบครัวหวั่นเยาวชนแอบเล่นพนันออนไลน์ช่วงปิดเทอม ด้วยรูปแบบการแข่งขันทาง Social Network และจำนวนเงินในการใช้เล่นการพนันไม่ต้องมาก ทำให้เข้าถึงเยาวชนง่าย แนะครอบครัว ควรดูแลบุตรหลานอย่างไกล้ชิด

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 เม.ย 2556  มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ตั้งวงเสวนา “พนันออนไลน์ ภัยร้ายช่วงปิดเทอม” ที่โรงแรม VIC3 กรุงเทพมหานคร นางศิริพร ยอดกมลศาสตร์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานของการพนันออนไลน์ การพนันบอลและการพนันผ่าน SMS ใช้อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้กลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งมีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆนี้ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ประกอบกับนโยบายของรัฐไม่มีความชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองป้องกันผลกระทบจากการพนันกับเด็กและเยาวชน

พนันออนไลน์มีการแข่งขันกันทาง Social Network ซึ่งเป็นรูปแบบที่นำไปสู่การเล่นการพนันได้อย่างเสรี อย่างเช่น Facebook ที่จะเปิดให้บริการเกมส์ออนไลน์ใหม่ในชื่อ Bingo & Slots Friendzy ซึ่งเป็นเกมส์พนันที่สามารถใช้เงินจริงเล่นได้ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ที่ให้บริการเกมส์ที่จำลองเสมือนการเล่นไพ่จริงๆ สามารถเชื่อมต่อเข้าไปเล่นในลักษณะที่เหมือนกับการเล่นไพ่ในบ่อน ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการพนันแอบแฝงที่มาในรูปแบบต่างๆแทบทั้งสิ้น รวมทั้งมีการแนะนำและสอนการเล่นพนันในลักษณะของการตั้งกระทู้ถาม หรือพูดคุยกันตามเว็บบอร์ดต่างๆ อย่างเปิดเผย

ด้วยจำนวนเงินเล่นการพนันที่ไม่ต้องมาก ก็สามารถเล่นการพนันได้ ทำให้เด็กและเยาวชนมีการลักลอบเล่นการพนันผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งจากสถิติพบว่าเด็กไทยอายุ 7 ขวบก็เข้าสู่วงจรพนันออนไลน์ได้แล้ว

“รูปแบบการเล่นการพนันที่มักแฝงตัวมาในลักษณะของร้านเกมส์มากขึ้น และส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา หรือเพียงแค่อยู่ในสถานที่ที่มีสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถเล่นพนันออนไลน์ได้ ซึ่งถ้าเยาวชนเริ่มเล่นการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย ก็มีสิทธิอยู่ในภาวะติดการพนันได้ในอนาคต” นางศิริพรกล่าว

จิตแพทย์แนะ สังเกตุพฤติกรรมบุตรหลาน
ด้านนายแพทย์ทวิศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่าผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานว่าอยู่ในภาวะติดการพนันหรือไม่ได้ดังนี้ 1. เริ่มพูดโกหก 2. ยืมเงินเพื่อน 3.ขาดเรียนผลการเรียนตกต่ำ 4.มีปัญหาในการใช้เวลา ชอบอยู่คนเดียว 5.เพิ่มปริมาณการใช้เงิน และ 6.มีปากเสียงกับคนในครอบครัว

นอกจากนี้ยังสามารถแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ และความคิดให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ อารมณ์ขึ้นลงเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย คิดว่าเล่นได้ แล้วจะนำมาหักลบกลบหนี้เก่า เล่นพนันเพื่อหนีปัญหา และคิดว่าจริงๆตนเองจะเลิกเล่นเมือไรก็ได้ แต่จริงๆแล้วเลิกไม่ได้

ส่วนปัจจัยส่งเสริมให้อยู่ในภาวะติดการพนันคือ 1. เป็นเพศชาย จากผลการสำรวจเพศชายเล่นการพนันมากกว่าเพศหญิงหลายเท่า 2. ครอบครัวมีปัญหา ดูแลไม่ทั่วถึง 3. ยุ่งเกี่ยวกับการพนันตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และ 4. กรรมพันธุ์ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
วธ.วอนผู้ประกอบการ-นายทุน มีจิตสำนึก
ขณะที่นางลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ต้องมีเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทรวงวัฒนธรรมเองก็มีส่วน แต่ทุกครั้งที่ลงไปตรวจร้านเกมส์ หรือวิดีทัศน์ต่างๆ ก็มักถูกผู้ประกอบการ และนายทุนคัดค้าน จึงอยากฝากให้ผู้ประกอบการและนายได้คิดถึงผลกระทบต่อเด็กและเยวชนด้วย อีกอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อตรงก็มีอยู่

“เคยมีผู้ประกอบรายหนึ่งมาบอกดิฉันว่า ตำรวจเป็นคนสั่งให้เปิดบ่อนเอง แล้วก็ให้ผู้ประกอบการส่งส่วย เพราะแบบนี้ปัญหาจึงยังไม่จบสักที แต่ก็ยอมรับว่าตำรวจดีดีก็มีเยอะ” นางลัดดา กล่าว

สำหรับแนวทางออกของปัญหาเยาวชนเสี่ยงติดการพนันออนไลน์ วงเสวนาเห็นตรงก็ว่าประการแรกสังคมต้องถกเถียงว่าการพนันแบบไหนรับได้ หรือรับไม่ได้ อย่างเช่นสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือแม้กระทั้งการส่งหมายเลขใต้ฝาชาเขียวชิงโชคก็ถือเป็นการพนัน แต่สังคมรับได้ ประการที่ 2 หากิจกรรมทดแทนอาจจะเป็นกีฬา หรือกิจกรรมผาดโผลเช่นการเดินป่า หรือบันจี้จั้มจะช่วยทดแทนกิจกรรมการเล่นการพนันได้ และประการสุดท้าย ครอบครัวต้องเลี้ยงลูกให้มีวุฒิภาวะ หรือเลี้ยงให้โต ช่วยเหลือตัวเองได้ รู้จักค่าของเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น