วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

เตาถ่านทำกับข้าวอร่อยกว่าเตาแก็ส: บุกบ้านคนทำเตาถ่าน

เตาถ่านทำกับข้าวอร่อยกว่าเตาแก็ส: บุกบ้านคนทำเตาถ่าน



เคยได้ยินมั้ยครับว่า “เตาถ่านทำกับข้าวอร่อยกว่าเตาแก็ส” ไม่นานนี้ผมมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านคนทำเตาถ่านขายครับ พวกเขายืนยันว่าเตาถ่านทำกับข้าวได้อร่อยกว่าเตาแก็สจริง โดยให้เหตุผลว่าจะมีความหอมจากฟืนมากกว่า และไฟที่เกิดจากการการเผาไม้จากไม้ยอมมีความเป็นธรรมชาติ มากกว่าการเผาไหม้ที่เกิดจากแก็สอยู่แล้ว การใช้เต่าถ่านทำกับข้าว ก็เท่ากับมีว่าความละเมียดละมัยในการทำกับข้าวด้วยเช่นเดียวกัน

นี่อาจเป็นเหตุผลแบบสวยๆที่เต่าถ่านยังคงขายออก ท่ามกลางเทคโนโลยีที่รุดหน้า มีทั้งเตาไฟฟ้า เตาแก็สที่ทันสมัย
ตารุน วัย 78 ปี กับยายบัว วัย 74 ปี ชาวบ้านท่าเจ้าสนุก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยายังคงเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในการผลิตเตาถ่านส่งขาย ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมไปเยียนโดยบังเอิญ ใครเลยจะคิดว่าบ้านไม้เก่าๆ 2 ชั้นอยู่ริมแม่น้ำป่าสักเก๋ๆ จะเป็นที่ผลิตเตาถ่านที่ใครๆในย่านนั้นก็รู้จัก


ที่นี่ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีเตาเผาใหญ่ๆ ไม่ใช่โรงงานอะไร แต่เป็นบ้านของสองตายายที่ทำเตาถ่านขาย ตั้งแต่ร่วมแต่งงานกันมาราวๆ 40 กว่าปี จริงๆแล้วตายายคู่นี้ก็มีลูกหลาน แต่ว่าที่งานลำบากๆอย่างนี้ ลูกหลานคงไม่ทำ และหันหน้าเข้ากรุงเทพเป็นมนุษย์เงินเดือน จะดีกว่า
การทำเต่าถ่านตารุนกับยายที่มากไปกว่าการหารายได้เล็กๆน้อยๆ แก้เหงาตามประสาคนแก่ก็คือทำเพราะใจรัก

ตารุนบอกวิธีการทำเตาถ่านว่า นำดินเหนียวที่หาได้ตามท้องนามาแช่น้ำไว้ 1 คืน ก่อนจะนำมาผสมกับขี้เถ้า เพราะจะทำให้เกิดความเหนียวเป็นพิเศษ หลังจากนั้นก็จะนำมาปั้นเป็นรูปเตา และตากแดดนานถึง 3 วัน จึงจะนำมาเข้าไปเผาด้วยกองฟืน และสุดท้ายจะนำมาอัดใส่เปลือกสังกะสี

ขณะที่ตารุนทำเตา ยายบัวจะทำรังผึ้งหรือที่วางถ่านในเตา มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมพอดีกับเตา และมีรูกลมๆหลายรู คล้ายรังผึ้ง วิธีการทำก็คล้ายกัน คือนำดินเหนียวผสมขี้เถ้า ผสมน้ำแล้วทำมาใส่แม่พิมพ์แห้งก็แคะออก และนำมาเผากับฟืน

แม้วิธีการทำเตาถ่านของสองตายายจะง่ายๆ และไม่ใช่วิธีการผลิตในโรงงานใหญ่ แต่การเผาเตาแบบสุ่มฟืนเผานี้ ตารุนกับยายบัวก็การันตีว่าเตาถ่านของแกทนทาน และสวยกว่าเตาจากโรงงานจริงๆ

ตารุนเผยชีวิตเบื้องหลังครั้งยังหนุ่มว่า เคยทำงานในโรงงานผลิตเตาถ่านของคนจีนยานสำเหร่ กรุงเทพฯ ตารุนแอบครูพักลักจำวิธีการทำเตาถ่าน ที่ชาวจีนเรียกว่า เตาอั้งโล่มาโดยตลอด

เป็นเวลากว่า 10 ปีที่คลุกคลีอยู่กับการปั้นเตาที่โรงงานแห่งนี้ ก่อนจะพบรักกับยายบัว จึงตัดสินใจออกจากการเป็นลูกจ้างที่โรงงานนั้น มาตั้งเนื้อตั้งตัวฉันสามีภรรยา กับยายบัวริมแม่น้ำป่าสัก บ้านท่าเจ้าสนุก และด้วยวิชาทำเตาที่ติดตัวมาก็สามารถหาเลี้ยงชีพได้จนชราแก่เฒ่า

การทำเตาที่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ ไม่อิงเครืองจักร และเครื่องทุ่นแรง ตารุนถึงกับอวดว่าเคยมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาศึกษารายละเอียดการทำเต่าถ่านโบราณแบบนี้เอาไว้อย่างละเอียดด้วย

ทุกวันนี้แม้อายุของทั้ง 2 จะเกือบ 80 ปีแล้วแต่ยังมีสุขภาพแข็งแรง เคลื่อนไหวคล่องแคล้ว ทำต๊อกๆแต็กๆไปเรื่อยๆ แต่รายได้จากการส่งเตาขายต่อเดือนเฉียดหมื่นบาทเลยทีเดียว โดยจะมีหลายๆเจ้ามารับไปขายต่อ ราคาเตาต่อใบก็ตามขนาด ตั้งแต่ราคา 100  200 300 บาท


อย่างไรก็ตามเตาถ่าน หรือเตาอั้งโล่มีแนวโน้มความนิยมใช้ที่ต่ำลงเรื่อยๆ เพราะเด็กรุ่นใหม่คงไม่อดทนมากนัก ที่จะก่อฟืนทำกับข้าวด้วยเตาถ่าน วิถีชีวิตดังเดิมแบบบ้านๆ ที่มีถ่านเตาเป็นพระเอกในการทำกับข้าว อาจจะเลือนหายไปไม่ช้า ก็เป็นไปตามกาลเวลา ตารุนกับยายบัวไม่ได้คิดอะไรมาก กับความเปลี่ยนแปลง เพราะอาจไม่นานก็คงตายจากกัน

อนิจจัง !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น