วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บันทึกการเดินทาง ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS :: ตอนที่ 1 เราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป


บันทึกการเดินทาง  ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS
ตอนที่ 1 เราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป



เราไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป” เป็นคำพูดของชาวบ้านที่มาอบรมนักนักข่าวพลเมือง จังหวังตรัง ณ นาทีนั้นผมสามารถรับรู้ได้ทันทีถึงความรู้สึก และความหมาย ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่ขยายกว้างไปถึงความเป็นสื่อสาธารณะ ของ ThaiPBS เลยทีเดียว เพราะครั้งหนึ่งผมก็เคยมีความรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน

ภารกิจแรกของพี่โต้ง ในการลงมาภาคใต้ครั้งนี้คือการอบรมนักข่าวพลเมืองในจังหวัดตรังที่ห้องประชุมของมูลนิธิอันดา-มัน ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ชาวบ้านพากันมาเป็นกลุ่มๆ แบ่งตามพื้นที่ของตนเอง บางกลุ่มมาจากจังหวัดสุราษธานี  บางกลุ่มขี่มอเตอร์ไซค์ลงมาจากเทือกเขาบรรทัด คำถามเกิดขึ้นในใจของผมคือ เหตุใดพวกเขาจึงอยากมาอบรมนักข่าวพลเมืองขนาดนั้น

ผมมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านหลายคน แต่ละคนมีปัญหาในชุนชนของตนเองทั้งนั้น ทั้งปัญหาที่ดิน ปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านกับนายทุน และปัญหาสิทธิชุมชน ซึ่งมีอยู่ในชุมชนของพวกเขามาอย่างยาวนาน

ชาวบ้านทำทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเหล่านั้น ทั้งการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแม้ว่าจะเป็นแค่ชาวบ้าน เป็นเพียงเกษตรกรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นตาสี ตาสา จะไปสู้อะไรกับภาครัฐ กับนายทุน แต่สิ่งที่ผมเห็นกลับตรงกันข้าม พวกเขามีความรู้ และมีการหาข้อมูลเพื่อต่อสู้กับภาครัฐ หนึ่งในนั้นคือการเป็นนักข่าวพลเมือง สื่อสารเรื่องราวของตนเองสู่สาธารณะ หวังให้อิทธิพลของสื่อกระแสหลัก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นของชุมชน แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม

Thai PBS ประกาศตัวว่าเป็นสื่อสาธารณะ ได้รับภาษีจากประชาชนเพื่อทำทีวีดีดีสักช่อง เปิดพื้นที่ให้ประชาชนในฐานะเจ้าของได้ใช้ในการสื่อสารร่วมกัน และมีภารกิจจะต้องทำประโยชน์เพื่อสังคม ผมคิดว่านักข่าวพลเมืองตอบโจทย์ได้มากที่สุดสำหรับการเป็นสื่อสาธารณะของ Thai PBS แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยงานหรือบุคคลที่เป็นคนขับเคลื่อน หรือเป็นศูนย์กลางของนักข่าวพลเมืองมีจำนวนไม่มากนัก หรืออาจจะมีมากแต่ด้วยระบบและโครงสร้างของ สสท.หรือ Thai PBS ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างฝ่ายข่าว กับฝ่ายเครือข่ายสื่อภาคพลเมือง ก็ทำให้ดูสับสนและไม่เป็นระบบสักเท่าไหร่นัก

ผมสังเกตเห็นว่า มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำงานเพื่อชาวบ้านจริงๆ และกระตุ้นให้ชาวบ้านเริ่มสื่อสารเรื่องราวของชุมชนด้วยตนเองในนามนักข่าวพลเมือง แม้พวกเขาอาจไม่ถูกพูดถึงบ่อยนัก แต่เขาเหล่านี้แหละคือผู้ปิดทองหลังพระ ผู้ปิดทองหลังทีวีสาธารณะ ให้เป็นทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น