วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ต้องชำแหละเนื้อหาการสอนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน ! รับอาเซียน

ต้องชำแหละเนื้อหาการสอนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียน ! รับอาเซียน



สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย จี้ศธ.ชำแหละเนื้อหาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ถากถางชาติเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมพร้อมด้านทัศนะคติสู่อาเซียน ขณะเดียวกันได้ร่อนจดหมายถึงรมว.ศธ.คนล่าสุดให้ปฎิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง พัฒนาคุณภาพครู และเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น
6 ก.ค. 2556 ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยได้จัดวงเสวนา “ทิศทางนักเรียนไทยในอนาคต” โดยนายกิตติ วิวัฒน์สัตยา นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นผู้ดำเนินการสนทนาได้กล่าวว่า ปัจจุบันเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ยอมระบุไว้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบ ไม่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ในแง่ลบของชาติตนเอง เช่นการที่ไทยเคยตีเมืองลาว และกัมพูชาด้วยความรุนแรง หนักยิ่งกว่าพม่าตีกรุงกรุงอยุธยาจนทำให้เสียกรุงครั้งที่ 2 อีกทั้งเรื่องที่พม่ารีดทองจากกรุงศรีอยุธยากลับไปบ้านเมืองของตนยังถูกพูดถึงในสังคมไทย และในชั้นเรียนกันอยู่ ขณะที่อีก 2 ปีข้างเราก็ต้องเป็นหนึ่งกับประชาคมอาเซียน เราจึงควรมีความรู้สึกกับประเทศเพื่อนบ้านที่ดีมากกว่านี้
“ประวัติศาสตร์มักถูกเขียนขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเล่าประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันต่อไปอีกหน่อย อาจทำลายผลประโยชน์ของคนกลุ่มนั้นลงทันที อย่างประวัติศาสตร์ที่ไกล้ๆยุคเราเช่น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 หรือไกล้เข้ามาอีกเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เรายังเล่าต่างกัน และต่างฝ่ายก็เล่าไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็ควรวิพากย์วิจารณ์และตั้งคำถามกับตัวละครที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้ ควรศึกษาความผิดพลาดในอดีต เพื่อเป็นบทเรียนกับเราทั้งในปัจจุบัน และอนาคต” กิตติ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าว
ด้านนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย กล่าวว่าภาครัฐต้องหยุดยัดเยียดอุดมการณ์รักชาติ หรือความเป็นไทยต่างๆ ต้องสอนให้นักเรียนกล้าตั้งคำถาม แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะรัฐต้องการควบคุมคน จึงเป็นไปได้ยากที่จะสอนให้เด็กกล้าตั้งคำถาม นักเรียนและผู้ปกครองผู้ตื่นรู้จึงควรรวมมือกัน เพื่อให้ลูกหลานในอนาคตมีสติปัญญา มีวิจารณญาณโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้ใหญ่ตลอดเวลา
ขณะที่นายภัสนัย จิรฤกษ์มงคล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าวเสริมถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าว่านักเรียนไทยยังไม่รู้จัก AEC มากพอในแง่ของการศึกษาจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย หนึ่งในนั้นคือด้านภาษาอังกฤษ เมื่อภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารแต่ว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทย ยังเรียนไวยากรณ์เพื่อใช้สอบ คนที่ทำข้อสอบไวยากรณ์ได้ แต่กลับพูดสื่อสารไม่ได้มีให้เห็นมากมาย
“เราเคยไปดูการศึกษาประเทศอื่นหรือไม่ ว่าเขาจัดการศึกษากันอย่างไร ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาถึง 28% ของงบประมาณทั้งปี แต่ทำไมการศึกษาของเรามันไปไม่ถึงไหน งบประมาณที่ใช้ไปเป็นจำนวนมากมันเหมือนสูญเปล่า” ภัสนัย นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าว
ในวันเดียวกันตัวแทนสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย ได้อ่านแถลงการณ์ของสมาพันธ์ฯ ฉบับล่าสุดเขียนถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรียนร้องให้ปฎิรูปการศึกษาไทยอย่างจริงจัง ทั้งการปลูกฝังให้เยาวชนกล้าตั้งคำถาม และกล้าถกเถียงด้วยเหตุผล
เยาวชนกลุ่มนี้มองว่า การศึกษาไทยควรปรับปรุงตั้งแต่บุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากผลการสอบครูผู้ช่วย  เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สอบผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 7.06 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า คุณภาพของครูรุ่นใหม่ตกต่ำมาก เพราะฉะนั้นควรมีการส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพครู โดยอาจจัดสวัสดิการที่ดีให้แก่ครู เพื่อจูงใจให้คนเก่งมาทำอาชีพนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับในต่างประเทศ
สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ข้อสอบ ยังไม่มีความไม่เป็นธรรมกับเด็กทั้งประเทศ   เพราะข้อสอบยากเกินไป จนจำเป็นต้องเสียเงินกวดวิชาอีกทั้งข้อสอบยังเกิดความผิดพลาดทุกปี และไม่ได้ค่อยตรงตามเนื้อหาในชั้นเรียน
 “ในข้อสอบ O-Net วิชาสุขศึกษา ผมต้องทำข้อสอบแบบคนดี และตอบแบบโกหก ซึ่งบางคำถามก็สามารถตอบได้หลายทาง แต่ละคนก็มีความคิดเห็น มุมมองที่ต่างกัน ไม่มีใครถูกใครถูก แค่ข้อสอบก็จำกัดสิทธิเสรีภาพแล้ว” กิตติ วิวัฒน์สัตยา นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าว
ด้านเลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเริ่มเห็นความพยายามจากภาครัฐ ในการปฎิรูประบบการศึกษาไทยหลายอย่าง เช่น กรณีทรงผมนักเรียน และการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ที่จะมีความชัดเจนในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ คือความกล้าตั้งคำถาม  กับกฎระเบียบเดิม ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย
ทั้งนี้ สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษจิกายน 2555 โดยมีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  รับหน้าที่เลขาธิการสมาพันธ์ฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้  สังคมเปิดรับความคิดเห็นของเยาวชนมากขึ้น  ส่งเสริมให้เยาวชน  ตระหนักถึงความเท่าเทียมของมนุษย์ และส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการเมือง สังคม การศึกษา และประวัติศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาของสมาพันธ์ฯ เช่น นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์  นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์  ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนางสาวรสนา โตสิตระกูล

/////////////////////////////////////// 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น