วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปลดล็อคฟรีทีวี : คนดูเสรีเพราะมีทีวีดิจิทัล


ปลดล็อคฟรีทีวี : คนดูเสรีเพราะมีทีวีดิจิทัล


+ ทีวีดิจิทัลคืออะไร อยากให้อธิบายอย่าง  
   ง่ายๆ ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจ ?
อดิศักดิ์: เปรียบเทียบนะ ปัจจุบันประเทศไทยที่ผ่านมามีตลาดเก่ามีอยู่ 6 แผง ก็คือ 6 ช่อง มีมา 50 ปีแล้ว ไอ้แผงที่ 6 คือ Thai PBS เกิดขึ้นหลังสุด แต่ก็ขายของไม่ได้ ได้แต่โชว์ แผงที่ขายของดี คือ ช่อง 3 ช่อง 7 ครองส่วนแบ่งตลาด 70-80 เปอร์เซ็นต์ คนดูเยอะ มีละครดราม่า คนดูเยอะ
     ต่อมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วเกิดการบูมของจานดาวเทียมกับเคเบิลท้องถิ่น เปรียบเสมือนหาบเล่แผงลอย เกะกะมีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง เนื้อหาที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มี แต่เนื้อหาที่ดีมันถูกจำกัด เพราะตลาดมีแผงขายอยู่แค่ 6 แผง ขณะที่คนผลิตเยอะมันก็ต้องออกไปที่อื่น 
     ในช่วงระหว่างนั้นมีการออกกฎหมาย เรียกว่า พรบ.วิทยุโทรทัศน์ ระบุว่าให้จัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นมา เพื่อจัดระเบียบ จึงทำให้เกิดตลาดใหม่ เป็นระบบดิจิทัล ก็เหมือนกับปรับปรุงตลาดเก่าให้เป็นระเบียบอย่างดี  ติดแอร์ให้คนมาประมูล 24 แผงขาย ก็คือ 24 ช่องเป็นช่องธุรกิจ และอีก 12 ช่องที่เป็นสาธารณะของหน่วยงานราชการ และยังมีอีก 12 ช่องที่อยู่ในชุมชนคือขายสินค้าโอท็อปเรียกว่าทีวีชุมชน ออกอากาศในรัศมี 50 กิโลเมตร แต่ 24 ช่องธุรกิจกับ 12 ช่องสาธารณะ สามารถดูได้ทั่วประเทศ แต่ช่องสาธารณะไม่ต้องประมูล เขาก็จัดสรรที่ให้เลย ส่วนชุมชนเขาก็ให้เฉพาะชุมชน ฉะนั้นตอนนี้น่าจับตาที่การประมูล 24 ช่องธุรกิจนี้

+ จะเกิดประโยชน์กับผู้บริโภค อย่างไร ?
อดิศักดิ์ : เกิดแน่นอน เพราะผู้บริโภคจากเดิมเขามีทางเลือกน้อยไป  ได้ซื้อของแค่ 6 แผง สินค้าก็จำเจ เปรียบเหมือนผังรายการของ 6 ช่องที่เหมือนเดิมตลอด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ละครก็น้ำเน่าเหมือนเดิม

+ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้อง   
    เปลี่ยนเป็นทีวีดิจิทัล ?
อดิศักดิ์ : มีความจำเป็นมาก เพราะจากเดิม 1 คลื่นความถี่มีได้ 1 ช่องแต่ถ้าเป็น 1 คลื่นความถี่ของดิจิทัลมีได้ 4 ช่อง 6 ช่อง ซึ่งคุ้มค่ากว่า และมีความคมชัดมากกว่า ระบบทีวีดิจิทัลเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะระบบทีวีอนาล็อกเขาผลิตแล้ว อุปกรณ์ในปัจจุบันนี้มันก็ไม่ได้เป็นแบบอนาล็อก

+ คิดว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนมาดูใน
   ระบบดิจิทัลหรือไม่เพราะส่วนใหญ่ติด 
   จานดาวเทียมกันอยู่แล้ว ?
อดิศักดิ์ : จานดาวเทียมมีข้อจำกัดเข้าถึงได้ประมาณ 50 -60 เปอร์เซ็นต์กับเคเบิล และไม่สามารถที่จะยกออกมาจากนอกบ้านได้ แต่ดิจิทัลทีวีเป็นเหมือนคลื่นความถี่ภาคพื้นดิน เอาทีวีมาก็เปิดได้เลย ทีวีที่รองรับระบบดิจิทัลจะมีจูนเนอร์ ที่สามารถเปิดและดูได้ อย่างนี้มันก็ดูง่ายขึ้น ดูในรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงก็ดูได้ ถ้าเป็นระบบดิจิทัลทีวีดูได้หมด ถ้าเป็นทีวีดาวเทียมมันดูไม่ได้

+ แล้วตลาดดาวเทียมจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ?
อดิศักดิ์ : พูดง่ายๆพอดิจิทัลทีวีมา กสทช.ก็จะเข้ามาจัดระบบดาวเทียมเหมือนหาบเล่ แผลงลอยจะถูกขีดเส้นว่าเอาขายเฉพาะตรงนี้นะ ห้ามออกมานอกเส้นนะมีข้อจำกัด 
     ก็ดีถ้าเขาไปเล่นงานช่องที่ขายยา ขายอะไร หรือนำเสนอภาพที่รุนแรง หรือยั่ว
กามรมณ์ 
     การจัดระเบียบขีดเส้นเช่นนี้เป็นเรื่องดี แต่เป็นห่วงเพราะช่องขายของมันเยอะ และไม่มีกำลังคนที่ตรวสอบกำกับดูแลเพียงพอ สำหรับบ้านที่ติดจานดาวเทียมอยู่ เขาก็ยังดูต่อไปไม่เป็นไรเมื่อทีวีดิจจิทัลเกิดขึ้น ก็ยังคงดูผ่านดาวเทียมได้ 

+ ผู้บริโภคจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง
    เพื่อรับระบบทีวีดิจิทัล ?
อดิศักดิ์ : ถ้าบ้านไหนมีเสาก้างปลา มีโทรทัศน์แบบเดิมอยู่ก็เพียงแต่ซื้อท็อปบล็อกราคาประมาณ 1,000 บาท ซึ่งกสทช.จะแจกคูปองส่วนลดหลังประมูลเสร็จ แต่จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นเท่าไหร่หรอก เพราะว่าถ้าจะเปลี่ยนโทรทัศน์เครื่องใหม่ มันก็มีโทรทัศน์ที่เป็นจูนเนอร์ที่ถูกบิวท์อิน (ใส่เครื่องรับสัญญาณในตัวเครื่อง) เข้าไปแล้ว นั่นหมายความว่าเราซื้อมาเราสามารถดูในระบบดิจจิทัลได้เลย 

+ ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อะไรบ้างกับ
   ทีวีดิจิทัล ?
อดิศักดิ์ : ผู้ผลิตรายการจากเดิมต้องไปอ้อนวอนพวกช่อง 3 7 9 จ่ายเงินใต้โต๊ะ ต่อไปนี้ช่องต้องมาง้อผู้ผลิตรายการดีๆให้ไปทำรายการ เพราะช่องมีเยอะขึ้น และยังมีหน่วยราชการที่อาจจะมาจ้างอีก ในขณะที่เอเจนซี่โฆษณาจากเดิมต้องไปง้อช่อง 3 5 7 9 เพื่อลงสื่อโฆษณาของตน ราคาโฆษณาก็แพง 
     การที่ราคาโฆษณาแพงทำให้ผู้บริโภคไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วเวลาไปซื้อของมักถูกบวกค่าโฆษณาไปด้วย แต่ถ้าค่าโฆษณามันต่ำลง
ราคาของก็อาจจะลดลง เป็นผลตามกลไกการตลาด เมื่อราคาโฆษณาต่ำลง ก็ทำให้ต้นทุนโดยรวมต่ำลงด้วย 
     ทุกวันนี้ช่อง 3 กับช่อง 7 บงการได้ทุกอย่างเลย ไม่ถูกใจค่ายละครนี้ก็ไม่ให้ทำ ละครฉายไปครึ่งเรื่องปิดไปเฉย-เซ็นเซอร์ปิดไม่ให้ดู ผมเชื่อว่าการมี 24 ช่องธุรกิจทำการแข่งขันกัน จะทำให้แต่ละช่องใช้วิจารณญาณของตัวเอง ยกตัวอย่างซีรีย์ ฮอร์โมน ผมฟังผู้บริหารของช่อง 3 7 และผู้บริหารของ  RS และ GMM คุยกันว่าซีรีย์อย่างนี้มันออกฟรีทีวีได้ไหม ในทัศนคติของช่อง 3 และช่อง 7 เขาบอกว่าออกไม่ได้หรอกแรงไป แต่ถามฝั่ง RS และ GMM เรื่องนี้มันเด็กๆมากเลย ถ้าเราได้ทำเราจะทำมากกว่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องจริง
ช่อง 3 ช่อง 7 เป็นระบบสัมปทานการตัดสินว่าคุณทำผิดหรือไม่ บางทีมันใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลของรัฐมนตรี ของผบ.ทบ. ผอ.ช่อง 5,ผอ. ช่อง 9 ที่กลัวผิดสัมปทาน กลัวถูกถอนออกจากช่องเพราะระบบสัมปทานที่ถูกผูกขาด 
     การมีกลไกทางกฎหมายรองรับว่า กสทช.จะออกคำสั่ง ยุติรายการนั่นนี่ทำได้โดยมีกระบวนการ ไม่ได้ใช้การตัดสินส่วนบุคคล  พอเป็นอย่างนี้คนที่ได้เป็นคนรับอนุญาต เขาก็จะไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่มั่นคง แต่จะรู้สึกโอเคว่ามีกฎหมาย 
   ประเทศที่เจริญแล้วมันต้องมีกฎหมาย ถ้าเดินตามกฎหมายทุกคนก็โอเค และสามารถโต้แย้งได้เพราะมีศาลปกครอง เราก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเชื่อคุณร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าช่อง 3 ช่อง 7 ไม่มีใครกล้าหือ ผอ.ช่อง 9 บอกผิดเป็นถูกก็ต้องนั่นแหละถูกต้องแล้ว 
     การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อก สู่ดิจิทัลจะเป็นผลดีในระยะยาว ถึงแม้ระบบสัมปทานของช่อง 3 และช่อง7 ยังไม่หมด แต่เมื่อมันมีช่องใหม่เข้ามาแข่งขัน เขาจะอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว จะทำละครแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะมันมีทางเลือกมากขึ้น อาจจะได้ในระยะต้นๆ เพราะโครงข่ายมันยังไปไม่ถึงเท่าไหร่ แต่ในระยะยาวเมื่อประชาชนมีทางเลือก ทีนี้กลไกทางการตลาดมันจะทำงาน

+ รู้สึกเป็นห่วงอะไรหรือไม่กับการเปลี่ยน
   ผ่านจากระบบทีวีอนาล็อกมาเป็น
   ทีวีดิิจิทัลในครั้งนี้ ?
อดิศักดิ์ : ผมกังวลที่ทำงานของ กสทช. ตอนนี้ออกกฎระเบียบเยอะเหลือเกิน ที่ออก
กฎระเบียบเยอะก็เพื่อให้ตัวเองดูมีอำนาจ บางเรื่องมันไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. อย่างศูนย์กลางเซ็นเซอร์ จริงๆรัฐธรรมนูญเขาออกระบบไม่ให้มีการเซ็นเซอร์แล้ว คุณก็พยายามที่จะใช่อำนาจ เดี๋ยวเรียกคนทำฮอร์โมนไป เดี๋ยวเรียกคนทำนั่นนี่ไป มันเป็นการใช้อำนาจที่เยอะเกินไป นี่ก็คือความเสี่ยง 
     ในต่างประเทศองค์กรแบบ กสทช. ไม่มีแล้วนะ เขากำกับดูแลกันเอง องค์กรแบบ กสทช.มีหน้าที่แค่ออกใบอนุญาต เขาออกใบอนุญาติให้เพราะคลื่นมันเป็นสมบัติสาธารณะใช่ไหม? คุณออกใบอนุญาติคุณให้ผลประโยชน์แก่รัฐเท่าไหร่ นี่คือหลักสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น